ในช่วงปี 30 ปลายๆ ผมมีชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมเขมรที่จังหวัดสุรินทร์ วงมาลีฮวนน่าโด่งดังขึ้นมา และเพลง โมรา ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจเพื่อนๆ มาก ถ้าสายเพื่อชีวิตก็ไม่มีใครไม่ชอบเพลงนี้ เพราะสังคมที่ผมอยู่เป็นสังคมชายล้วน (บวชเรียน)

แต่ผมรู้สึกเฉยๆ กับเพลงนี้

นั่นอาจเพราะผมเป็นลาว ในแวดล้อมของวัฒนธรรมเขมรจึงพยายามแตกต่าง ชะตากรรมของคนในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการที่แม้แต่อาหารที่ครบหมู่ให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ ประเทศที่ไม่มีการลงทุนทางการศึกษาเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ไม่มีการกระจายการศึกษาที่ดีอย่างทั่วถึง เราจึงระเหระหนพลัดพ่อแม่พี่น้องไปหาที่เรียน ความแปลกแยกในวัฒนธรรมที่แตกต่างจึงมีขึ้น ซึ่งความแตกแยกเหยียดหยันนี้ถ้าศึกษาดูให้ลึกๆ แล้วก็เพราะรัฐนี่แหละ ที่ทำให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน

แต่เหตุผลจริงๆ ที่ผมไม่รู้สึกอินกับเพลงนี้ก็เพราะได้ฟังเทปบันทึกการแสดงสดของวงดนตรีลูกทุ่งพูดอีสานเพชรพิณทอง ชุด โมราห์พาซิ่ง ก่อนหน้าที่จะย้ายจากวัดที่จังหวัดชัยภูมิมาเรียนหนังสือที่จังหวัดสุรินทร์ เพชรพิณทองนี่ฟังทุกชุด เปิดเทปแล้วนั่งนอนล้อฟังกันทั้งกุฏิ แต่ชุดนี้เป็นหนึ่งในชุดที่ฟังหลายรอบมากๆ

ในขณะที่มาลีฮวนน่านำเสนอเรื่องราวของนางโมราตามตัวบทแบบทางการที่รับรู้โดยทั่วกัน แล้วใส่ความรู้สึกต่อโศกนาฏกรรมของการฆ่าผัวของนางโมราเพื่อทำให้เกิดความสะเทือนใจต่อผู้ฟัง

แต่ นพดล ดวงพร และวงเพชรพิณทองกลับวิเคราะห์เรื่องนี้จากสภาพจริงของเหตุการณ์ กล่าวคือจังหวะการต่อสู้กันแบบนั้นระหว่างผัวและโจร นางโมราก็ต้องตื่นตกใจและอาจควบคุมสติไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วเมื่อผัวเรียกให้นางโมราเอาดาบมาให้ โจรก็ย่อมต้องได้ยิน นางก็ยื่นดาบให้ด้วยความตื่นตกใจ และระหว่างที่ผู้ชายสองคนกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันอยู่นั้น จังหวะที่นางยื่นดาบไปให้มันก็อาจจะพอดีกับจังหวะที่โจรได้เปรียบและคว้าดาบไป บทวิเคราะห์นี้ฝังใจและมีอิทธิพลต่อความคิดของผมอย่างมาก ประกอบกับตอนนั้นก็อ่านหนังสือมามากพอสมควรแล้ว

แต่คนส่วนใหญ่เวลาพูดถึงหรือวิเคราะห์เรื่องนี้ เหมือนว่าได้ถ่ายภาพนิ่งตรงที่นางโมรายื่นดาบไปแล้วโจรคว้าดาบไปฆ่าผัวของนาง แล้วตัดมาที่อีกภาพที่นางโมรากลายไปเป็นเมียของโจรแทน แล้วก็สำทับว่านางไม่รักผัวอยากไปเป็นเมียโจร

คำถามคือ เราเอาอะไรไปบอกว่านางโมราไม่รักผัว ทั้งก่อนเหตุการณ์และหลังเหตุการณ์?

อาจเป็นได้ด้วยอุดมคติผัวเดียวเมียเดียว รักนิรันดร์ของเราที่อยากให้คนอยู่ซื่อสัตย์กับซากศพ ซื่อสัตย์รักมั่นคงหนึ่งเดียวกับคนที่ตายไปแล้ว ซึ่งเอาเข้าจริงคนเราส่วนใหญ่ก็ทำแบบนั้นไม่ได้ และยังไม่ต้องตั้งคำถามถึงว่า อุดมคติที่ว่านี้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ใครเป็นผู้สร้างขึ้นมา และมันครอบเราจนเราไม่ทันได้คิดว่ามันบริสุทธิ์ดีงามอยู่บนพื้นฐานความจริงหรือไม่

แต่เราไม่ควรลืมว่าคนเรามีเลือดเนื้อ มีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดและมีอนาคต นางโมราก็เช่นกัน

หรือถ้าจะพิจารณาในมิติทางจิตวิทยาหรือถึงระดับจิตวิญญาณแล้ว ไอ้คนที่กอดซากศพความฝัน กอดซากศพอุดมคติ กอดซากศพของความเศร้านั่นแหละ ที่เป็นการทำร้ายตัวเองและไม่เติบโตทางจิตวิญญาณ คือไม่เกิดใหม่เสียที

ต่อเรื่องนี้ ข้อเขียนเรื่อง ฤดูแล้ง ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในหนังสือ ผ่านพบไม่ผูกพัน สะท้อนไว้อย่างลึกซึ้งและงดงามมาก หรือในเทพนิยายตะวันตกอย่าง สโนว์ไวต์ หรืออีกหลายเรื่องที่ตายไปแล้วฟื้นตื่นด้วยจุมพิตของเจ้าชายก็ซ่อนปรัชญานี้ไว้อย่างดี

และนี่เป็นอะไรที่จริงมากๆ เลย สมจริงอย่างที่สุด

เอาเข้าจริง ถ้ามองจากบริบทนี้ วรรณกรรมที่ชี้ตรง มุ่งประเด็นจนเกินไป อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกหักล้าง เพราะพื้นที่ว่างในการจินตนาการและตีความไม่มีหรือมีน้อยและแคบ แต่วรรณกรรมที่มีลักษณะดรามาติกโดยให้คนอ่านมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่อง สุข เศร้าให้พอ แล้วพอถอนความรู้สึกขึ้นมาได้แล้วเกิดการชิ่งลูกให้เกิดแง่คิด จินตนาการต่างๆ อาจได้ผลในระยะยาวมากกว่า

แต่ถึงกระนั้น วรรณกรรมอย่างที่ว่าก็อาจจะไม่รอดพ้นการถูกท้าทายพิพากษาไปได้ เพราะเอาเข้าจริง นักเขียนหรือกวีที่สร้างสรรค์วรรณกรรมชิ้นนั้นขึ้นมาก็คือปัจเจกชนที่อยู่ในบริบทของสังคมนั้นๆ สังคมที่มีระบบคิดและกรอบโครงสร้างที่แข็งแรงที่ส่งอิทธิพลต่อกระแสความคิดความรู้สึกของเขาหรือเธอเช่นกัน

พูดง่ายๆ ก็คือ นักเขียนหรือกวีก็คือคน ไม่ใช่เป็นเทพเจ้าหรือศาสดาอะไร ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเขียนงานได้ในระดับมหากาพย์ก็ตาม

ยกตัวอย่างกรณีโฮเมอร์ ถ้าเราพิจารณาจากบริบทของสังคมกรีกโบราณที่นอกจากจะสร้างปรัชญาเมธีสำคัญของโลกมากมาย เอาที่ติดหูฝังหัวเราก็มี โสกราตีส, เพลโต, แอริสตอเติล และยังถือว่าเป็นจุดกำเนิดประชาธิปไตยด้วย แต่กรีกตอนนั้นแม้จะมีการปกครองกันแบบรัฐสภา มีการเลือกตั้ง แต่คนที่มีสิทธิเลือกตั้งก็มีแต่ผู้ชาย ผู้หญิงและชนชั้นอื่นไม่มีสิทธิ์เสียง และถ้าเราจะยุติธรรมกับเพลโตแล้ว ก็ใช่ว่าอยู่ๆ เขาจะตัดสิทธิ์ผู้หญิงและชนชั้นอื่น แต่มันก็คงมีวัฒนธรรมบางอย่างรองรับความคิดและการปฏิบัตินี้

เช่นเดียวกับที่กวีโฮเมอร์ก็คงได้รับผลของกระแสความคิดและวัฒนธรรมนั้นมา ซึ่ง อีเลียด และ โอดิสซี ของเขาถือเป็นต้นแบบของวรรณกรรมตะวันตกและแพร่ขยายมาถึงงานวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยด้วย

และกรอบคิดที่ให้ผู้ชายเป็นใหญ่นี้ก็ขยายอาณาเขตกว้างไกลมาก แทรกซึมไปทุกๆ องคาพยพของสังคมมนุษย์ และกินเวลาเป็นพันปี ดูได้จากการโปรยปกหนังสือเรื่อง อีเลียด (ILIAD) ปกนี้ ที่พิมพ์ครั้งที่สองขึ้นเมื่อมิถุนายน 2538 การรบครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่านักรบกรีก ณ กรุงทรอย ด้วยเหตุแห่งหญิงงามเพียงนางเดียว”

จะเห็นว่า แม้ผ่านมาแล้ว 3 พันปีจากที่มหากาพย์เรื่องนี้ถูกเขียนขึ้น ก็ยังมุ่งประเด็นปัญหาไปที่ผู้หญิงคนหนึ่ง โดยละเลยที่จะมองว่า ก็ผู้หญิงเธออยู่ของเธอดีๆ แต่สภาพจิตและความทะยานอยาก อัตตาบ้าอำนาจเพื่อปกป้องความเขลาขลาดกระจอกของผู้ชายต่างหากที่สร้างโศกนาฏกรรมอันยาวนานนี้ ทำให้คนจำนวนมากพลัดพรากจากคนรักและครอบครัว และทำให้คนบาดเจ็บล้มตายอย่างมโหฬาร

ตรงนี้ก็ย้อนกลับไปที่มุมมองในเรื่องของนางโมราที่กล่าวไว้แต่ต้นได้

แต่ถึงที่สุดแล้ว ความอมตะของมหากาพย์ของโฮเมอร์ก็โดนท้าทายจากหนังสือเล็กๆ บางๆ เล่มหนึ่ง Woman and Power: A Manifesto ของ Mary Beard หรือ ผู้หญิง l อำนาจ ในภาษาไทย ซึ่งแปลโดย นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน พิมพ์เดือนกันยายน 2563

Mary Beard ท้าทายมหากวีโฮเมอร์ตั้งแต่ย่อหน้าแรก 

ฉันขอเริ่มในช่วงใกล้กับจุดกำเนิดของขนบวรรณกรรมตะวันตก ว่าด้วยหลักฐานแรกที่มีการบันทึกเอาไว้ว่าผู้ชายบอกให้ผู้หญิง “หุบปาก” และยังบอกด้วยว่าเสียงของเธอนั้นไม่สมควรให้ใครได้ยินในที่สาธารณะ ฉันกำลังพูดถึงเหตุการณ์ที่จารึกไว้ในตอนต้นของมหากาพย์ โอดิสซี (Odyssey) ของกวีโฮเมอร์เมื่อเกือบ 3,000 ปีมาแล้ว

เรามักจะนึกถึง โอดิสซี ในฐานะเรื่องราวการผจญภัยและวิบากกรรมของโอดิสซิอัสระหว่างเดินทางกลับบ้านหลังจากสงครามกรุงทรอยจบลง ในขณะที่เพเนโลพีผู้เป็นมเหสีก็เฝ้ารอคอยพระสวามีอย่างซื่อสัตย์เป็นเวลานานหลายทศวรรษ โดยได้ปฏิเสธบรรดาชายที่พากันมารอสู่ขอพระนาง

แต่แท้จริงแล้วมหากาพย์โอดิสซี ยังเป็นเรื่องราวของเทเลมาคัส โอรสของโอดิสซิอัสและเพเนโลพีด้วยเช่นกัน เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ในมหากาพย์ได้เล่าเรื่องราวการเติบโตของเขาจากเด็กน้อยเป็นชายหนุ่ม โดยกระบวนการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่บรรพแรก เมื่อเพเนโลพีเสด็จจากที่ประทับส่วนพระองค์ลงมายังท้องพระโรงของวัง แล้วพบนักขับลำนำกำลังขับกล่อมบรรดาชายผู้มาสู่ขอพระนางด้วยเพลงที่พร่ำพรรณนาถึงความยากลำบากในการเดินทางกลับบ้านเกิดของเหล่าวีรบุรุษชาวกรีก เพเนโลพีไม่พอพระทัย และทรงสั่งนักขับลำนำต่อหน้าธารกำนัลให้ขับร้องเพลงที่รื่นเริงกว่านี้  

ทันใดนั้นเองหนุ่มน้อยเทเลมาคัสก็ขัดขึ้นว่า “ท่านแม่ จงกลับขึ้นห้องไปเสียเถิด กลับไปทำงานของท่านกับหูกและกระสวย…การปราศรัยเป็นเรื่องของบุรุษเท่านั้น เป็นเรื่องของบุรุษทั้งมวล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องของข้าพเจ้า เหตุเพราะในราชสำนักแห่งนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุด” จากนั้นเพเนโลพีก็กลับขึ้นห้องไป

แต่เรื่องน่าเศร้ากว่านั้นก็คือ อำนาจนิยมไม่ว่าจะอยู่บนฐานของอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายก้าวหน้า ก็ล้วนแต่ไม่นิยมให้มีการโต้เถียงขัดแย้ง ทั้งๆ ที่การโต้เถียงขัดแย้งนั้นจะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้และความเจริญก้าวหน้าใหม่ๆ

ในขบวนการต่อสู้ของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยในครั้งนี้ สำหรับผมแล้ว ขบวนการ LGBTQ+ คือประกายสีสันอันเรืองรอง แม้จะยังไม่เป็นกระแสหลักหรือคลื่นใหญ่นำ แต่ผมมองเห็นว่านี้คือจุดระเบิดครั้งใหญ่ที่สั่นคลอนทุกๆ ค่านิยมที่กดทับมนุษย์และสังคมไว้ และจะทำให้เกิดการปฏิวัติย้อนกลับอย่างถอนรากทัศนคติที่ผิดพลาดไปเป็นพันๆ ปี และพามนุษย์และสังคมพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างยาวไกล

และถ้าได้ไปร่วมการชุมนุมอีก ผมก็จะถือหนังสือเล่มบางๆ นี้ไปด้วย แม้จะอ่านจบไปหลายเดือนและอ่านซ้ำหลายรอบแล้ว เพราะนอกจากมันจะมีพลังเหลือเกิน หนังสือเล่มนี้ยังถูกส่งต่อมาจากลูกสาวคนโตหลังจากที่เธออ่านจบตอนเข้าเรียนชั้นมัธยมหนึ่งใหม่ๆ

อดสงสัยไม่ได้ว่าการที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งในอ่านหนังสือที่ท้าทายมหากาพย์ ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมานาน จะสะเทือนความคิดผู้อ่านและสร้างแรงกระเทือนเมื่อเติบโตขึ้นมากเพียงใด

 

Fact Box

ผู้หญิง | อำนาจ (Women & Power : A Manifesto) แมรี เบียร์ด (Mary Beard) เขียน, นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน แปล, สำนักพิมพ์ bookscape ราคา 185 บาท

Tags: , , ,