เรามีความทรงจำมากมายกับ 7 ปีรัฐประหารที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มีแต่ด้านที่แย่ แม้จะมีการประกอบพิธีเลือกตั้งจนได้รัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ความจริงก็คือ ทุกองคาพยพล้วนอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของการรัฐประหารโดยทหารและเครือข่ายนั่นเอง

สำหรับรัฐประหารในปีพุทธศักราช 2557 เป็นครั้งแรกที่คนในวงการหนังสือเห็นดีเห็นงามด้วยมากที่สุด ถือเป็นปรากฏการณ์เลยก็ว่าได้ ถ้าจะมีคำๆ หนึ่งที่ใช้รวมเรียกคนสายนี้ได้ครอบคลุมที่สุด ก็น่าจะเป็นคำว่า Liberal แต่การเห็นดีเห็นงามกับการทำลายหลักการประชาธิปไตยและสถาปนาระบอบเผด็จการทหารนั้น เท่ากับการทำลายตัวตนและจิตวิญญาณอิสระของตัวเอง นี่จะหมายความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากความป่วยไข้บิดเบี้ยวในกระแสสำนึกของคนในสายนี้

เอาง่ายๆ ลองนึกถึงชื่อนักเขียนระดับโลกที่เราเคยอ่านงานเขียนของเขา มีกี่คนกันที่สนับสนุนระบบเผด็จการที่ลิดรอนเสรีภาพ 

เช่นเดียวกับในส่วนของร้านหนังสืออิสระ และนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เมื่อมีการยึดอำนาจรัฐประหาร แล้วทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าไปคุกคามร้านหนังสืออิสระ จนบางร้านต้องยุติบทบาทและกิจการลงไปชั่วคราว (ลองย้อนไปเช็กข่าวร้านหนังสืออย่าง Book Re:public, บูคู, ฟิลาเดลเฟียได้) 

และเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงแรกของการรัฐประหาร ร้านหนังสืออิสระที่ยืนยันในหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ถกเถียงประเด็นแหลมคมทางสังคมการเมือง กลับถูกเย้ยหยัน รังเกียจ รุมทึ้ง จากคนในวงการหนังสือด้วยกันเอง 

อย่างน้อยที่สุด ในห้วงยามที่ทหารตำรวจเข้าบุกรุกคุกคามร้านหนังสืออิสระบางร้านที่ว่านั้น คนในวงการหนังสือกลับเงียบงัน ไม่แม้แต่จะออกมาปกป้อง เปล่า เราไม่ได้เรียกร้องให้ออกมากางแขนปกป้องแบบตรงตามรูปคำ แต่แค่ออกมาแสดงทัศนะท้วงติงว่า ที่เจ้าหน้าที่ทำนั้นมันผิดหลักการและอารยะประเทศที่เขาอ่านหนังสือออก และให้คุณค่าหนังสือในความหมายว่าเป็นแหล่งสร้างชาติสร้างปัญญาแก่พลเมืองนั้น เขาไม่ทำกัน

เช่นเดียวกับเทศกาลสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ (Thai Independent Booksellers Festival) สังเกตนะครับ ว่าตอนนั้นมีการตกลงร่วมกันว่าใช้คำภาษาอังกฤษ Independent Booksellers กำกับร้านหนังสือ ‘อิสระ’ แต่เรากลับยินดีโอนอ่อนไปตามอำนาจ ซึ่งก็เหมือนกับคนในสาย Liberal ซึ่งไม่มั่นคงในแก่นแห่งจิตวิญญาณตามความหมายของ Independent 

และร้านหนังสืออิสระที่ยืนยันในจุดยืนแห่งความอิสระก็ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้อย่างอิสระเลย ถ้าขืนจัดก็กลายเป็นแกะดำ และภายหลังรัฐประหารยังมีการจัดตั้งกลุ่มคน เช่น กลุ่มเก็บขยะแผ่นดิน ที่เที่ยวออกไปตามร้านหนังสือ และไปชี้ว่ามีหนังสืออะไรที่เข้าข่ายไม่จงรักภักดี ไม่ควรมีในร้านอะไรแบบนี้ โดยเฉพาะหนังสือจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกเรียกไปปรับทัศนคติ และหนักสุดอาจถึงต้องคดี ม.112 

ตอนนั้นหนังสือหลายเล่มวางในร้านไม่ได้ (ถ้ามีก็ต้องเก็บออกไปก่อน) ทั้งที่เป็นงานวิชาการที่ดีมาก หรือแม้แต่วรรณกรรมระดับโลกอย่าง 1984 ของสำนักพิมพ์สมมติ ที่เวลามีคนมาซื้อก็ต้องบอกเขาหรือเธอว่า ระวังอย่าเที่ยวไปอ่านในที่สาธารณะนะ และยิ่งต้องระวังให้มาก เวลาจะกินอะไรระหว่างอ่าน ถ้าเป็นแซนด์วิชด้วยนี่อาจโดนจับได้

บรรยากาศมันหลอนแบบนั้นเลย

แต่กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวตอบโต้ปรากฏการณ์อันผิดปกตินี้ กลับเป็นคนอ่านทั่วไป 

ผมยังจำได้ดี เมื่อเกิดการยึดอำนาจรัฐประหารขึ้นในวันแรกๆ คนอ่านหนังสือที่เป็นเพื่อนกันกับผมในเฟซบุ๊ก ขึ้นสเตตัสโละหนังสือของนักเขียนที่ไปเป็นนั่งร้านให้คณะรัฐประหารจากชั้นลงมากองกับพื้น ผมเข้าใจว่านั่นเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบความคับแค้นใจต่อการยึดอำนาจรัฐประหารครั้งนี้ ผ่านความผิดหวังรังเกียจต่อนักเขียนที่เขาเคยอ่านงาน เคยศรัทธา เติบโตมาทางความคิดกับตัวหนังสือของนักเขียนเหล่านั้น และไม่นานก็เกิดการโละหนังสือของนักเขียนเหล่านั้นมากขึ้น 

สุดท้ายก็หาทางเอาออกจากห้องหรือบ้านตัวเอง ส่วนหนึ่งถูกส่งมาที่ร้านหนังสือของผม โดยเจ้าของหนังสือเหล่านั้นอยากให้จัดกิจกรรมเอาคืนนักเขียนเหล่านั้น จึงได้เกิดกิจกรรม ‘โละหนังสือนักเขียนกวีที่ไม่เอาประชาธิปไตย’ เป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศการสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระในเดือนมิถุนายน เพื่อจะส่งลูกต่อการจัดเสวนาในประเด็นสำนึกแฝงอนุรักษ์นิยมและเผด็จการในงานเขียนของนักเขียนไทย 

ทันทีที่ข่าวนี้ถูกสำนักข่าวแห่งหนึ่งตัดต่อเผยแพร่ออกไป ก็มีกระแสโต้เถียงกันในวงการจนกลายเป็นข่าวใหญ่ สุดท้ายเฟซบุ๊กร้านถูกรายงานและถูกปิด ทำให้ฐานข้อมูลลูกค้าหายไปหมด ขอกู้คืนก็ไม่ได้ จนต้องเปิดเพจใหม่ มีการเขียนโจมตีจากนักเขียนบิ๊กเนมและคนในแวดวงหนังสือ เกิดการแชร์กันไปมากมายหลายร้อย กระทั่งทางมติชนออนไลน์และประชาไทเอาไทม์ไลน์และรายละเอียดต่างๆ มาลงอย่างตรงไปตรงมานั่นแหละ กระแสจึงตีกลับ ทำให้คนตาสว่างในเรื่องนี้ เกิดการแชร์ข่าวโจมตีกลับหลายพัน จนนักเขียนดังบางคนที่โจมตีเราต้องปิดเฟซบุ๊กหนี

ไม่นานต่อจากนั้น มีนายทหารชั้นพันโทนอกเครื่องแบบมาที่ร้าน เขาแนะนำตัวอย่างสุภาพ พร้อมแสดงหลักฐานสถานะ พูดคุยกับผมจนมืดค่ำ และหลายวันต่อมาก็มีรถตู้ติดฟิล์มหนา พาคนที่ค่อนข้างมีอายุทั้งหญิงชาย แต่งตัวดีในลักษณะเดียวกัน โดยให้ผู้ชายที่อายุน้อยสุดคุยกับผมถึงหนังสือ ถามหาหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ บางเล่มผมถามกลับว่าเป็นอย่างไรเมื่อเขาบอกว่าเคยอ่านมาแล้ว แต่คำตอบของเขาทำให้รู้ว่าเขาไม่ได้อ่านจริง แล้วสักพักเขาก็ถามถึงหนังสือบางเล่ม (ต้องห้ามในช่วงนั้น) ตามที่กลุ่มเก็บขยะแผ่นดินเที่ยวไปชี้ว่าไม่ควรมีในร้านหนังสือ ส่วนผู้หญิงอีกห้าหกคนนั่งตรงนิ่งจับจ้องอากัปกริยาผม และกวาดตามองสำรวจร้าน

 จากวันนั้นจนถึงหนึ่งปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีทหารนอกเครื่องแบบและสันติบาลมาร้านทุกวันในรูปแบบต่างๆ แต่เยอะสุดคือคนขายก๋วยเตี๋ยวแบบมอเตอร์ไซค์พ่วงกับหาบขนมตะโก้ขาย แต่นี่เทียบไม่ได้กับร้านหนังสืออย่างบูคูและ Book Re:public ที่มาทั้งเครื่องแบบและอาวุธครบมือ ซ้ำยังมาในช่วงที่มีลูกค้าหรือมีกิจกรรมในร้าน

ถือเป็นช่วงยากลำบากของร้านหนังสืออิสระที่แสดงจุดยืนประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐประหารอย่างแท้จริง แต่ข้อดีก็คือเราได้เพื่อนใหม่ๆ ที่มีจุดยืนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ทำให้ร้านหนังสือเกิดฐานลูกค้ากลุ่มใหม่และแนบแน่นมั่นคงช่วยพยุงมาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นฐานลูกค้าที่ทำให้ร้านมั่นคงเท่าทุกวันนี้

แล้วร้านหนังสืออิสระอื่นๆ ล่ะ 

สารภาพตามตรง ผมตอบไม่ได้ เพราะช่วงนั้นไม่มีโอกาสแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นสำรวจตรวจตราดู อีกอย่างมันเกิดความไม่ไว้วางใจไปหมด และลำพังแค่จะเอาตัวเองให้รอดก็ยากเย็นพอแล้ว 

แต่ที่ผมสามารถตอบได้แน่ๆ คือภายหลังการเข้ามาของ คสช. นั้น ร้านหนังสืออิสระทุกร้านทุกจุดยืนต่างประสบภาวะตกต่ำทางรายได้เหมือนกัน กระทั่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่ฟื้น คือลำพังจำนวนคนอ่านหนังสือและมีอำนาจซื้อนั้นก็จำกัดอยู่แล้ว ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้การซื้อขายยิ่งยากขึ้น

แต่มีปรากฏการณ์แปลกประหลาดอย่างหนึ่ง ถ้าวัดจากประสบการณ์ตรงของร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย คือตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งมาถึงก่อนโควิดรอบล่าสุดนี้ เกิดกระแสตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงคนวัยทำงานช่วงแรก

หนังสือวรรณกรรมเข้มข้น หนังสือวิชาการในเชิงวิพากษ์โครงสร้างสังคมและหนังสือนอกกระแสการเรียนการสอน (ที่ส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะอนุรักษนิยมหรือราชาชาตินิยม) ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นหนังสือที่ขายยากมากๆ กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ดัชนีชี้วัดได้ดีที่สุดคือสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ที่สำคัญ คนอ่านหนังสือเหล่านี้ข้อมูลเขาแน่นและเร็วมาก กล่าวคือไม่มีนักเขียน นักวิชาการคนไหนสามารถตีเนียนได้อีกต่อไป แค่คุณเคยแสดงท่าทียินดีกับการรัฐประหาร เคยมีประวัติไปร่วมเป่านกหวีด เคยแซะเคยกัดสายประชาธิปไตยแม้นิดเดียว เขาก็เช็กข้อมูลได้ และปฏิเสธงานของคุณทันที หรือถ้าจะเอามาอ่านก็จะเป็นในลักษณะเอามาวิพากษ์อย่างเจ็บแสบในโลกโซเชียลซึ่งเราก็เห็นอยู่บ่อยๆ กระทั่งนักเขียนที่ทำตัวอิกนอร์ก็ยังถูกเหมารวมว่าอยู่ในฝ่ายอนุรักษ์นิยม

และหน้าที่ของร้านหนังสืออิสระก็คือหาหนังสือดีๆ เหล่านั้นมาให้คนอ่าน เพื่อตอบสนองความต้องการการอยากรู้อยากเห็น อยากทันเทรนด์ของเขา

และที่น่าดีใจที่สุดคือนักอ่านรุ่นใหม่เหล่านี้ (ซึ่งนับวันจะมากขึ้นๆ) พวกเขาเลือกร้านที่จะเข้า เลือกร้านที่จะซื้อ เช่นเดียวกับที่เขาคัดกรองนักเขียนนักวิชาการว่าคนไหนควรอ่านไม่ควรอ่าน

จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียขายงานซีไรต์ไม่ได้มาหลายปีแล้ว แม้แต่นักเขียนที่อยู่ในสายประชาธิปไตยที่ได้รางวัลนี้หรือรางวัลไหนก็ตามในประเทศนี้ก็ยังขายยากมากๆ ผมเคยถามว่าทำไม คำตอบที่ทำให้ผมตกใจมากก็คือ เขาไม่เชื่อในสำนึกประชาธิปไตยของคณะกรรมการ

แล้วเชื่ออะไร ผมถาม และคำตอบที่ผม ในฐานะคนขายหนังสือได้รับแทบจะกับนักอ่านรุ่นใหม่ทุกคนที่ทำให้ร้านหนังสืออิสระของผมอยู่ได้มั่นคงในวันนี้ก็คือ เชื่อตัวเอง เชื่อข้อมูลของตัวเอง เชื่อมั่นในสติปัญญาของตัวเอง

ประเทศนี้มาไกลมากแล้วจริงๆ โดยเฉพาะทัศนคติของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ 

Tags: , , ,