The Buried Giant (ยักษ์ใต้พิภพ) เป็นนิยายลำดับที่เจ็ดของ คาสึโอะ อิชิกุโระ (Kazuo Ishiguro) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2015 หลังจากว่างเว้นไปถึงสิบปีจาก Never Let Me Go (แผลลึก หัวใจสลาย) ครั้งนี้เขาพาเราย้อนกลับไปยังโลกของเวทย์มนตร์ เทพนิยาย มังกร ยักษ์ และอัศวินของยุคกลางในดินแดนที่เป็นประเทศอังกฤษในปัจจุบัน

เรื่องราวของ The Buried Giant เริ่มต้นขึ้นในหมู่บ้านริมบึงของชาวไบรตัน (Briton) ที่คู่รักชราชื่อแอกเซิลและบีทริซอาศัยอยู่ ทั้งสองมีปัญหาเรื่องความทรงจำบางส่วนที่หายไปอย่างผิดปกติ แต่ความผิดปกตินี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นกับทุกคนในหมู่บ้าน พวกเขามีลูกชายหนึ่งคนที่หายสาบสูญไป วันหนึ่ง สองสามีภรรยาตัดสินใจออกจากหมู่บ้านเพื่อตามหาเขา

ระหว่างการเดินทางคืนแรก แอกเซิลและบีทริซเข้าพักในหมู่บ้านของพวกแซกซัน (Saxon) ที่อยู่ใกล้เคียง การค้างแรมนี้ พวกเขาได้พบกับวิสตัน นักรบชาวแซกซันผู้ซึ่งเพิ่งประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือเอดวิน เด็กชายที่ถูกสัตว์ประหลาดที่ดูเหมือนยักษ์จับตัวไป แต่ในความสำเร็จนั้นก็มีจุดพลิกผันของเหตุการณ์ ร่างกายของเอดวินมีร่องรอยของบาดแผลที่เหมือนรอยกัด คนในหมู่บ้านจึงต้องการฆ่าเอดวินเพราะเชื่อว่า ถ้าเด็กโดนยักษ์หรือสัตว์ประหลาดกัด เด็กจะกลายร่างเป็นตัวประหลาดที่กัดและออกอาละวาดทำร้ายคนในหมู่บ้าน วิสตันจึงวางแผนพาเอดวินหนีออกจากหมู่บ้านของพวกแซกซันโดยออกเดินทางร่วมกับคู่รักชรา

นอกจากเรื่องของวิสตันและเอดวินที่เข้ามาเกี่ยวข้องบนเส้นทางการออกตามหาลูกชายที่พลัดพรากแล้ว แอกเซิลและบีทริซยังรับรู้ถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุของอาการหลงลืมที่เกิดกับทั้งชาวไบรตันและชาวแซกซัน เชื่อกันว่าความหลงลืมนั้นเกิดจากหมอกที่มีต้นกำเนิดมาจากนางมังกรเควริก

หลังจากทั้งสี่ร่วมทางกันออกจากหมู่บ้าน พวกเขาพบกับเซอร์กาเวน อัศวินเฒ่าของกษัตริย์อาเธอร์ผู้ล่วงลับ ที่ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชะตากรรมจากการผจญภัยที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์สงครามระหว่างชาวไบรตันและชาวแซกซัน

คาสึโอะ อิชิกุโระในสวนของเขาที่ลอนดอน 

จากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า The Buried Giant เป็นนิยายที่มีฉากอยู่ในยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ชัดเจน ในความไม่ชัดเจนนี้เองที่เว้นพื้นที่ว่างเปล่าให้อิชิกุโระจัดวางที่ทางทางความคิดเกี่ยวกับการใช้รูปแบบของแฟนตาซีและนิยายประวัติศาสตร์เพื่อสร้างเรื่องแต่งที่โลดแล่นอยู่บนการขีดเขียนความทรงจำ

ความทรงจำที่อิชิกุโระจัดวางมาในเรื่องเล่าเพื่อสร้างประเด็นมีสองระดับ

ระดับแรก คือ ความทรงจำร่วม เขาเลือกใช้การลืมและการจำมาตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อขัดแย้ง ที่ฝังไว้ใต้พื้นผิวของความทรงจำที่เกิดจากสงคราม ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า อะไรทำให้สองชนเผ่าที่เคยสู้รบกันจึงอยู่ร่วมกันได้ และอะไรที่ว่านั้นมีรูปร่างลักษณะอย่างไร เกิดจากอะไร ด้วยวัตถุประสงค์ใด

ระดับต่อมา คือ ความทรงจำในเชิงปัจเจก เขาตั้งคำถามไปที่การใช้ชีวิตคู่ โดยเลือกใช้วิธีการแสร้งลืมทั้งที่ยังจำและย้อนกลับมาจำในสิ่งที่เคยลืม การเปิดเผยเรื่องราวความเป็นไปของชีวิตคู่ที่ผ่านร้อนหนาวมาด้วยกัน เมื่อความรักที่ร้อนแรงจืดจางลงจากความเคยชิน เมื่อความเข้าอกเข้าใจถูกท้าทายด้วยพฤติกรรมและความทรงจำที่ปวดร้าวยอกย้อน

ผมอ่าน The Buried Giant อย่างหิวกระหาย เหตุผลหนึ่งเพราะมีเพื่อนคนหนึ่งให้ความเห็นไว้ว่า ในบางช่วง เธอรู้สึกว่า The Buried Giant นั้นเหนือชั้นกว่า The Remains of the day (เถ้าถ่านแห่งวารวัน) และ Never Let Me Go ที่เธอคิดว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดของอิชิกุโระ ตัวผมเองเคยอ่านหนังสือทั้งสองเล่มและค่อนข้างที่จะชื่นชอบในฝีมือของอิชิกุโระ จึงเก็บความสงสัยไว้ในใจจนกระทั่งมีโอกาสได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง

ระหว่างการอ่าน อย่างแรกที่รู้สึกได้คือภาพบรรยากาศของ Game of Thrones ที่ช่วยอย่างมากในการคิดถึงสภาพแวดล้อมของเรื่องเล่า ตอนอ่านก็แอบคิดว่า ไม่รู้ว่าตอนเขียนต้นฉบับอิชิกุโระจะดู Game of Thrones ไปด้วยรึเปล่า

ต่อมา สิ่งที่ทำให้ผมต้องหยุดคิดเป็นระยะ คือเรื่องการตั้งคำถามเกี่ยวการจัดการประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งแย่งชิง เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าประวัติศาสตร์ถูกเขียนโดยผู้ชนะ อิชิกุโระค่อยๆ โยนคำถามลงมาช้าๆ ว่า แล้วประวัติศาสตร์ที่ผู้ชนะเขียนนั้นมันลบความทรงจำของผู้แพ้ได้อย่างไร และการลบนั้นทิ้งร่องรอยไว้หรือไม่ และร่องรอยนั้นอ่อนจางอย่างไร

คำถามต่อมาที่ผมรู้สึกได้คือ ภายใต้ความบางและเบาที่เหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั้น  แท้จริงแล้ว ความหนักหน่วงของความจริงนั้นอยู่ตรงไหน อยู่อย่างไรในสายตาของทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ

จากการหยุดคิดนี้เองที่ ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะเอาประเด็นในเรื่องมาวางลงบนเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ที่มีมากว่าทศวรรษ แน่นอนว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่สำหรับการมาพูดถึงเหตุการณ์และอุดมการณ์ว่าใครถูกใครผิด แต่อย่างหนึ่งที่สลัดทิ้งไปจากความคิดไม่ได้ คือคำว่า ‘ปรองดอง’ ที่น่าสงสัยว่ามันงามและง่ายแบบที่ปลูกฝังกันเรื่อยมาจริงหรือ

สำหรับความทรงจำในเชิงปัจเจกที่เกิดขึ้นในเรื่อง สิ่งที่ผมสนใจที่สุดคือการเลือกจำทำลืมของตัวละครเอกอย่างแอกเซลและบีทริซ เพราะมีบางอย่างที่ทำให้เห็นเค้าลางของความทรงจำร่วม ว่ามีการจัดการปัญหาความขัดแย้งของความทรงจำร่วมในระดับครอบครัวจากมุมมองของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

แต่อิชิกุโระก็ไม่ได้ให้คำตอบที่เบ็ดเสร็จจากมุมมองของเขา สิ่งที่เขาเลือกใช้คือการทิ้งความสงสัยให้ค้างคาไว้กับผู้อ่าน ให้ผู้อ่านเลือกพิจารณาจุดด้อยจุดเด่นของความคิดตัวเองจากประสบการณ์ที่มี ไปบนเส้นเรื่องที่เขาปูทางไว้ให้

หลังอ่านจบ ผมลองหยิบหนังสือเล่มอื่นๆ ของอิชิกุโระมาลองเปิดย้อนดูความทรงจำอีกครั้ง และลองคิดเปรียบเทียบว่ารู้สึกรวมๆ อย่างไรกับ The Buried Giant ถ้ามองจากภาพรวม หนังสือเล่มนี้ไม่ด้อยกว่าสองเล่มที่เอ่ยถึงก่อนหน้าแน่ๆ แต่ถ้าให้ตัดสินว่าเหนือชั้นกว่านั้น ผมคิดว่าตัวผมและความคิดตอนนี้ยังตัดสินไม่ได้

ผมคิดว่า The Buried Giant มีส่วนปลีกย่อยที่ทำได้ดีไม่เท่ากับอีกสองเล่ม คือในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงของตัวเอกในเรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นได้ว่า บทสนทนาหรือการบรรยายความรู้สึกของส่วนนี้ในเรื่องไม่สร้างความสั่นไหวมากนักสำหรับผม (แต่ประเด็นของเรื่องนี่เล่นเอาเซ)

มีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้จากการพิจารณาชั้นเชิงของอิชิกุโระย้อนหลัง คือ หากเปรียบผลงานของเขาเป็นกลหมากรุก และผู้อ่านเป็นคู่ต่อสู้ที่เคยประมือกันมาแล้วหลายครั้ง อิชิกุโระยังแสนร้ายกาจในการใช้เครื่องมือคุ้นเคยอย่าง ความทรงจำ และ ความสัมพันธ์ของความรัก ในการควบคุมกลเกมบนกระดาน

เขายังคงวางกับดักอย่างประณีต ช้า แต่มั่นคง เมื่อถึงจุดหนึ่ง โดยไม่รู้ตัว เราจะถูกต้อนเข้าสู่มุมที่โดนความโศกตรมสุดเยียบเย็นอันเป็นไม้ตายของเขาโจมตีจนหมดหนทางต่อสู้ และต้องย้อนกลับไปคิดอยู่เสมอว่า เขามองเห็นแง่มุมในการหลอกล่อเหล่านั้นได้อย่างไร

ในการประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2017 อิชิกุโระได้รับการยกย่องว่า “who, in novels of great emotional force, has uncovered the abyss beneath our illusory sense of connection with the world” (นิยายที่เต็มไปด้วยพลังทางอารมณ์ของเขา ได้เผยให้เห็นเหวลึกที่อยู่ข้างใต้มายาของความรู้สึกที่เราเชื่อมโยงกับคนอื่น)

ในความเห็นของผม The Buried Giant ก็เป็นอีกคำยืนยัน ตามที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลเคยกล่าวเอาไว้ข้างต้น

หมายเหตุ

ในฉบับแปลภาษาไทย แปลคำว่า Briton ว่า ‘ชาวอังกฤษ’ และเรียก Saxon ว่า “แซกซอน”

Fact Box

  • ก่อนที่จะมาเป็นนักเขียน คาสึโอะ อิชิกุโระ อยากเป็นนักดนตรี เขาเคยช่วยเขียนเพลงให้กับสเตซี่ เคนท์ (Stacey Kent) ในอัลบั้ม Breakfast on the Morning Tram (2007) เป็นอัลบั้มขายดีในฝรั่งเศส
  • คาสึโอะ อิชิกุโระ เกิดที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เขาย้ายตามครอบครัวมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเมื่ออายุห้าขวบ
  • นอกจาก The Buried Giant ผลงานของคาสึโอะ อิชิกุโระที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วมีดังนี้
    • The Remains of the Days (เถ้าถ่านแห่งวารวัน) แปลโดยนาลันทา คุปต์ จัดพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์
    • Never Let Me Go (แผลลึก หัวใจสลาย) แปลโดยนารีรัตน์ ชุณหชา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์
    • Nocturnes (เพลงรัตติกาลรักในห้วงคะนึง) แปลโดยนารีรัตน์ ชุณหชา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์

 

 

 

Tags: , , ,