เมื่อเฟรดดี้ เมอร์คิวรีบอกว่าเขาจะเขียนเพลงให้แก่ผู้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง (For the outcast in the back) เขาก็ได้รวมตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนั้นด้วย เมอร์คิวรีมักโดนคนอื่น โดยเฉพาะคนขาวบอกว่าเขาเป็นพวก ‘ปากี’ ตั้งแต่เด็ก และเขาก็พยายามดิ้นรนออกจากการเป็นคนนอกของสังคมด้วยการเปลี่ยนชื่อตัวเองจาก ฟารุค บัลซารา เป็นเฟรดดี้ เมอร์คิวรี (แม้จะต้องบาดหมางกับพ่อตัวเองเรื่องเปลี่ยนนามสกุล) เขาท้าทายตัวเองด้วยการออกไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ คือการร้องเพลงตั้งแต่ยังหนุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องโชคดีที่ฟันหน้าที่เกินมาสี่ซี่ของเขาทำให้ช่วงเสียงของเขากว้างกว่าคนอื่นๆ และก็เป็นเขาเองที่เสนอให้ใช้ชื่อวงว่า ‘ควีน (Queen)’

ร็อกกับความขบถ

แต่ไหนแต่ไร ดนตรีร็อกเป็นตัวแทนของคนนอกสังคมอยู่แล้ว มันเป็นประเภทดนตรีที่เติบโตขึ้นจากร็อกแอนด์โรลในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ซึ่งมีไอค่อนอย่างเอลวิส เพรสลีย์ เป็นสัญลักษณ์แห่งการแหกขนบแบบร็อกแอนด์โรล ความโด่งดังของเพรสลีย์ในหมู่เยาวชนทำให้ถึงขั้นมีผู้ใหญ่ห้ามเด็กๆ ที่บ้านของพวกเขาฟังเพลงและดูการแสดงของเพรสลีย์เพราะกลัวว่าเด็กพวกนั้นจะ ‘ใจแตก’

อันที่จริงแล้ว ร็อกแอนด์โรลไม่ได้เกิดขึ้นจากชนชั้นกลางผิวขาวชาวอเมริกัน แต่เกิดจากกลุ่มคนผิวสีทางตอนใต้ ซึ่งยากจนและถูกข่มเหง โดยมันปรากฏในรูปของส่วนผสมระหว่างบลู เพลงโบสถ์ และคันทรี่ โดยได้ถ่ายทอดการดิ้นรน ความทุกข์ทรมานของการตกเป็นทาส ชนผิวสีใช้ดนตรีนี้เพื่อหลีกหนีความโหดร้ายในชีวิตประจำวันของการเป็นคนนอกสังคม ความเป็นขบถของร็อกชัดเจนขึ้นในช่วงปี 1960 ช่วงที่ร็อกแอนด์โรลแตกแขนงออกเป็นหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งพัฒนาไปเป็นวัฒนธรรมม็อด (mods) หรือวัยรุ่นที่รวมตัวกันแต่งตัวเก๋ ขี่สกู๊ตเตอร์ กับอีกส่วนกลายเป็นร็อกเกอร์ (rockers) แก๊งชายนักบิดสวมชุดหนัง ที่เป็นต้นตอของภาพลักษณ์ชาวร็อกในปัจจุบัน

เนื้อของเพลงร็อกมักเน้นความรักโรแมนติก แต่ก็พูดถึงธีมอื่น ด้วยเช่นเรื่องทางสังคมและการเมือง ร็อกถูกใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมและการเมืองตั้งแต่ยุค 60s เรื่อยมาจนถึง 70s ร็อกกลายเป็นเพลงที่ใช้ในการประท้วง โดยเฉพาะในสายพังก์ร็อก เพลงร็อกยังพูดถึงความเปลี่ยนแปลงแนวคิดในด้านชาติพันธุ์ เซ็กส์ และการใช้ยาเสพติด รวมถึงการต่อต้านลัทธิบริโภคนิยมและการทำตามกรอบสังคมของเหล่าวัยรุ่น สิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกนำมาพูดถึงในช่วงวัฒนธรรมแหกขนบเฟื่องฟู

ควีนเองเป็นวงร็อกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแบบนั้น นั่นคือยุค 1970s ที่ความขบถกลายเป็นดีเอ็นเอหลักของวงร็อก และควีนก็แสดงมันออกมาได้อย่างโดดเด่น ในทางหนึ่ง ดนตรีของพวกเขาเป็นกระบอกเสียงของประชาธิปไตยที่ช่วยให้คนนอกคอกได้มีสิทธิ์มีเสียง ควีนเป็นชื่อที่เมอร์คิวรีตั้งขึ้นเพื่อยั่วล้อชนชั้นสูง และแสดงความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร เพลงติดชาร์ตบางเพลง เช่น ‘We Will Rock You’ นั้นแต่งขึ้นโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ชมเป็นหลัก ดังที่เราจะเห็นได้ในหนัง ส่วนอีกเพลงก็คือ ‘We Are the Champions’ ที่ทุกคนน่าจะสามารถร่วมร้องได้อย่างพร้อมเพรียง

Bohemian Rhapsody กับความว่างเปล่าอันเหลือเชื่อของชีวิต

ในหนังเราจะเห็นว่าเมอร์คิวรีแต่งโบฮีเมียน แร็พโซดีขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากเพลงโอเปร่า (ที่แน่นอนว่ามีภาพลักษณ์ของชนชั้นสูงแปะติดอยู่) และเขาก็ทำเพลงออกมาด้วยความยาวกว่าหกนาที  โบฮีเมียน แร็พโซดีเป็นเพลงที่เขียนถึงชีวิตนอกสังคม โดยมีฉากหลังเป็นการฆาตกรรม และสุญนิยม (nihilism) หรือแนวคิดที่เห็นว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นความว่างเปล่า และชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่เจ็บปวด การเข้าถึงความจริงแท้เป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลย ควีนอธิบายว่า โบฮีเมียน แร็พโซดี เกี่ยวกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่ฆ่าคนโดยไม่ได้ตั้งใจ เขาได้ขายวิญญาณให้แก่ปีศาจ และได้รับวิญญาณคืนมาในคืนก่อนวันประหารด้วยความช่วยเหลือของเทวดา

นักวิจารณ์บางคนโยงเข้ากับนวนิยายเรื่อง คนนอก (The Stranger) ของอัลแบร์ กามู ซึ่งพูดถึงชายหนุ่มคนหนึ่งที่สารภาพบาปเกี่ยวกับการฆาตกรรมอันเกิดจากความวู่วามของเขา และได้เห็นการเผยแสดงของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในคืนก่อนถูกประหาร ขณะที่นักวิจารณ์หลายคนบอกว่าเนื้อเพลงไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไรเลย ตรงกับที่เมอร์คิวรีให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 1985 ว่า “มันเป็นแค่เพลงสามเพลงที่ผมต้องการเขียนออกมา และผมก็นำมันมารวมเข้าด้วยกัน”

ถ้าเราวิเคราะห์เนื้อเพลงตอนเริ่ม

Is this the real life? Is this just fantasy?
Caught in a landslide, no escape from reality
Open your eyes, look up to the skies and see
I’m just a poor boy, I need no sympathy
Because I’m easy come, easy go, little high, little low
Any way the wind blows doesn’t really matter to me, to me

และตอนจบ

Nothing really matters to me
Any way the wind blows

เราจะเห็นธีมของการปล่อยชีวิตให้เป็นไปโดยเลิกสนใจที่จะค้นหาสารัตถะของชีวิตอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของแนวคิดอัตถิภาวนิยม (Existentialism) โดยกามูก็เป็นหนึ่งในนักคิดสำนักนี้ เขาเป็นเจ้าแห่ง Theory of The Absurd ซึ่งมีแนวคิดว่าจักรวาลเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลและความหมาย แต่กระนั้น มนุษย์ก็ยังต้องการค้นหาเหตุผลและความหมาย ความขัดแย้งระหว่างข้อเท็จจริงทั้งสองอย่างนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดและความทุกข์ใจที่มนุษย์ต้องประสบ และนี่นำเขามาสู่ข้อสรุปที่ว่า “ชีวิตไม่มีความหมายอะไรเลย (Life is Absurd)” ซึ่งเพลงร็อกจำนวนมากก็สะท้อนแนวคิดดังกล่าวนี้ และส่วนมากภาวะแบบนั้นมักเกิดขึ้นหลังผ่านความเจ็บปวดสุดชีวิต

หากแต่ในทางหนึ่ง แม้เนื้อเพลงจะกล่าวถึงความเจ็บปวดและเหนื่อยหน่ายกับชีวิต (I sometimes wish I’d never been born at all) อันนำไปสู่หนทางมองชีวิตแบบอัตถิภาวนิยม วิธีรังสรรค์งานดนตรีกลับเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยแพสชั่นและความมุ่งมั่นซึ่งบางครั้งบ้าบิ่นจนถูกตั้งคำถาม แต่ผลออกมากลับประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ซึ่งในชื่อเสียงที่พวกเขาแหวกว่ายอยู่ก็สะท้อนความเป็นอัตถิภาวนิยมเช่นกัน

อัตถิภาวนิยมกับเส้นเรื่องชีวิตของเมอร์คิวรี

หนังนำเสนอชีวิตของเมอร์คิวรีเสมือนบุรุษผู้ท้าทายโชคชะตา และท้าทายทุกสถาบันของสังคมไปพร้อมๆ กับการกรุยทางสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง ฉากเด่นฉากหนึ่งคือฉากที่เขาบอกเพื่อนร่วมวงว่าเขาเป็นเอดส์ แต่เขากลับบอกให้เพื่อนๆ อย่าเวทนาเขา เพราะสุดท้ายแล้ว เขาเลือกจะเป็นสิ่งที่ตัวเองเกิดมาเพื่อเป็น นั่นคือ เป็นตำนาน

ในแง่หนึ่ง ตามนิยามของนักคิดอีกคนอย่าง ฌ็อง ปอล ซาร์ต อัตถิภาวนิยมนั้นคือภาวะที่มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ และถูกสาปให้ต้องเลือกชะตาชีวิตของตัวเอง รวมทั้งรับผิดชอบในผลของการกระทำของตนเองด้วย ในแง่นี้มนุษย์ควรใช้ชีวิตเพื่อสร้างหลักปรัชญาของตนเอง เพื่อรู้จักความเป็นตัวของตัวเอง และไม่ให้ยอมรับเรื่องใดๆ เป็นสัจธรรม ส่วนการทำตามแนวคิดใดๆ หรือสถาบันทางสังคมอย่างมืดบอดนั้นถือเป็น ‘ความเชื่ออันเลวร้าย’ (mauvaise foi หรือ bad faith) และมนุษย์ก็ถูกปล่อยให้กำเนิดขึ้นมาจากความเปลือยเปล่า อย่างโดดเดี่ยว (We are left alone, without excuse.) โดยที่ไม่มีผู้สร้าง ที่ทำให้มนุษย์มีแก่นสารใดๆ ในตัวเองเลย

เพราะสำหรับซาร์ตแล้ว “การดำรงอยู่มาก่อนแก่นสาร (existence precedes essence) เราเพียงแต่ดำรงอยู่เพื่อเลือกทางเลือกชีวิตของตัวเองโดยไม่ให้อะไรมาชี้นำ แม้กระทั่งสถาบันทางศาสนา  เมอร์คิวรีในเรื่องได้กล่าวถึงการใช้ชีวิตปาร์ตี้ไปเรื่อยๆ ของเขาว่า มันเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจไปจาก ‘ช่วงเวลาคั่นกลาง’ ก่อนที่ ‘ความมืดกลับเข้ามาครอบงำอีกครั้ง’ และอธิบายการใช้ยาเสพติดของตัวเองว่า “การเป็นมนุษย์เป็นสภาพที่ต้องใช้สารระงับความรู้สึก” เราจะเห็นความเจ็บปวดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ที่เปล่าเปลือยได้จากถ้อยคำเหล่านี้ และท้ายที่สุดก็เห็นได้ว่าเมอร์คิวรีได้ยืนหยัด ‘เลือก’ ในสิ่งที่เป็นตัวเขาจนวาระสุดท้ายของชีวิตจริงๆ  

Tags: , , ,