เรื่องราวของ ‘บลองแปง’ (Blancpain) แบรนด์นาฬิกาเก่าแก่ที่สุดของโลก เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1735 โดยฌอง-ฌาคส์ บลองก์แปง (Jehan-Jacques Blancpain) ที่ดัดแปลงชั้นล่างของโรงนาที่เมืองวิลเลอเรต์ ในสวิตเซอร์แลนด์ ให้เป็นเวิร์กช็อป เขาดำเนินกิจการเรื่อยมาจนสามารถขยายกิจการเป็นโรงงาน และในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 เริ่มผลิตนาฬิกาเต็มกำลังพร้อมส่งจำหน่ายไปทั่วยุโรป

แต่เหตุการณ์เกิดผันไปไปตามเวลา ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของบลองแปงมาโดดเด่นก็เมื่อสองร้อยปีนับจากการเริ่มต้นครั้งแรก บลองแปงเป็นที่รู้จักทั่วโลกจากนาฬิกาดำน้ำ Fifty Fathoms ซึ่งเป็นต้นแบบของนาฬิกาดำน้ำในเวลาต่อมา

ฌอง-ฌาคส์ ฟิชแตร์ (Jean-Jacques Fiechter)

ย้อนไปก่อนหน้านั้นสักเล็กน้อย บลองแปงยังอยู่ภายใต้การดูแลของลูกหลานในตระกูลบลองแปง กระทั่งเฟรเดริค-เอมิล บลองแปง (Frédéric-Emile Blancpain) ผู้สืบทอดกิจการคนสุดท้ายของตระกูลเสียชีวิต ในปี 1932 เบ็ตตี ฟิชแตร์ (Betty Fiechter) และอองเดร เลอัล (André Léal) รับช่วงกิจการต่อ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Rayville S.A., successeur de Blancpain จากนั้นฌอง-ฌาคส์ ฟิชแตร์ (Jean-Jacques Fiechter) ผู้เป็นหลาน ได้เข้ามาร่วมบริหารตั้งแต่ปี 1950

ตำนานต้นแบบนาฬิกาดำน้ำ

Fifty Fathoms ของบลองแปงผลิตออกมาในปี 1953 แม้ไม่ใช่เป็นนาฬิกากันน้ำเรือนแรก แต่เป็นนาฬิกาดำน้ำแบบร่วมสมัยเรือนแรกของโลก  อีกทั้งยังเป็นต้นแบบแบบของนาฬิกาดำน้ำในเวลาต่อมา ชื่อของรุ่นมีสองนัย หนึ่งคือวลีจากบทกวีของวิลเลียม เชคสเปียร์ อีกนัยหนึ่งคือหน่วยวัดความลึก ซึ่งก็คือ 50 ฟาธอม (1 ฟาธอมเท่ากับ 1.829 เมตร) มากกว่าระยะความลึกที่คนในยุคสมัยนั้นสามารถดำลงไปใต้น้ำได้ กระทั่งต่อมา Blancpain ได้พัฒนาให้ดำน้ำได้ลึก 300 เมตรเรื่อยไปจนถึง 1000 เมตร ลูกค้าของ Fifty Fathoms ในยุคแรกคือหน่วยดำน้ำของกองทัพฝรั่งเศส ก่อนจะกลายเป็นนวัตกรรม Tool Watch ประกอบอุปกรณ์ชุดดำน้ำในเวลาต่อมา

ตำนานของ Fifty Fathoms อีกแง่มุมหนึ่งยังมาจากแรงบันดาลใจของฌอง-ฌากส์ ฟีคแตร์อีกด้วย เนื่องจากเขาก็เป็นนักดำน้ำที่เคยเกือบเสียชีวิตจากกิจกรรมโปรดของตนเอง และตราบถึงปัจจุบัน Fifty Fathoms ก็ยังเป็นส่วนสำคัญของคอลเลคชัน นอกเหนือจากนั้นยังมีไลน์อื่นๆ ที่สร้างชื่อ ไม่ว่า, Villeret นาฬิกาแนวคลาสสิก,  Women นาฬิกาสำหรับสุภาพสตรีสุดสง่างาม หรือ Le Brassus นาฬิกาที่มีความซับซ้อน

Quartz Crisis

และแล้วก็ถึงจุดเปลี่ยนของวงการ เมื่อมีการคิดค้นและผลิตนาฬิกาควอตซ์ หรือนาฬิกาแบบใส่ถ่าน ขึ้นมาบุกตลาดนาฬิกากลไก

ซีรีส์นาฬิกาควอตซ์ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อต้นทศวรรษ 1930s แต่ตอนนั้นมีราคาแพงมาก และเป็นนาฬิกาอ้างอิงที่มีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับห้องปฏิบัติการและอุตสาหกรรม จนต่อมา เริ่มทดลองและพัฒนากันอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1940s และ 1950s กระทั่งกลายมาเป็นคลื่นใหญ่ที่กระทบอุตสาหกรรมนาฬิกากลไกในช่วงทศวรรษ 1960-1970s โดยเฉพาะตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 

เวลานั้น เรียกได้ว่าวงการนาฬิกากลไกถูก ท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ แม้กระทั่งแบรนด์ต่างๆ อาทิ Patek Philippe, Audersmar Piguet หรือ Rolex ก็ต้องผลิตนาฬิกาควอตซ์ออกสู่ตลาด ขณะที่แบรนด์ Blancpain ภายใต้การดูแลของ SSIH (Société Suisse pour l’industrie horlogère S.A ซึ่งมีแบรนด์ดังอย่าง Omega และ Tissot ในความครอบครอง) ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต้องเก็บตัวเงียบ เนื่องจากยังคงยึดมั่นในปรัชญาที่แน่วแน่ในการเป็นนาฬิกากลไก

การกลับมาอีกครั้งของนาฬิกากลไก

กระทั่งปี 1983 ฌอง-คล็อด บีเวอร์ (Jean-Claude Biver) และฌาคส์ ปิเกต์ (Jacques Piguet) ได้พลิกฟื้นแบรนด์ Blancpain ใหม่อีกครั้ง รวมถึงโยกย้ายไปยัง เลอ บราสซุส และใช้โรงงานของ Frédéric Piquet ในเลอ ซองติเยร์เป็นฐานผลิต 

บลองแปงมาพร้อมกับหนึ่งในคอนเซ็ปต์ที่โด่งดังที่สุดในวงการนาฬิกาตลอดกาลคือ “Since 1735 there has never been a quartz Blancpain watch. And there never will be.” หรือ ตั้งแต่ปี 1735 บลองแปงไม่เคยผลิตนาฬิกาควอตซ์ และจะไม่มีวันผลิตมัน โดยนาฬิการุ่นแรกที่ปรากฏออกสู่ตลาดหลังจากร้างลาไปนานก็คือ นาฬิกาที่สามารถแสดงฟังก์ชันข้างขึ้นข้างแรม (Moon Phase) ได้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ดังกล่าว บลองแปงประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากภายในเวลาอันรวดเร็ว

เส้นทางสู่ Swatch Group

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1992 เมื่อฌอง-คล็อด บีเวอร์ และฌาคส์ ปิเกต์ ขายกิจการให้กับบริษัทเครือ SMH ในราคาที่สูงราวหนึ่งพันเท่าของราคาที่เขาเคยซื้อมาเมื่อต้นทศวรรษ 1980s และบีเวอร์ ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ บริหารงานให้กับ SMH ซึ่งต่อมากลายเป็น Swatch Group ในที่สุด

ต่อมาปี 2010 โรงงานเฟรเดริก ปิเกต์ในเลอ ซองติเยร์ก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานบลองแปง ความเป็นแบรนด์ดั้งเดิมของสวิสก็ถูกปลุกให้มีชีวิตชีวามากขึ้นอีก

ปัจจุบัน บลองแปงอยู่ภายใต้การบริหารของ มาร์ค เอ. ไฮแยค  (Marc A. Hayek) ซึ่งยึดมั่นในปรัชญา ‘Innovation is our tradition’ นั่นคือการไม่หยุดยั้งที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย รวมทั้งยังคงยึดมั่นและรักษาประเพณีของแบรนด์ดั้งเดิมตั้งแต่ปี 1735 ไม่ว่าแบรนด์จะเผชิญกับความท้าทายหรืออุปสรรคต่างๆ อย่างไรก็ตาม

Blancpain ในสังคมโลก

คงไม่ใช่เรื่องผิดหากจะกล่าวว่า นาฬิกาเป็นศิลปะของการใช้ชีวิต และคงไม่แปลกเช่นกันที่ Blancpain จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเกี่ยวกับอาหาร เพราะมันคือความปรารถนา อารมณ์ และความสุนทรี อันเป็น ‘Art of Living’ อย่างหนึ่ง

บลองแปงเริ่มมีส่วนร่วมกับกิจกรรมสรรหา ‘เชฟฝีมือดีที่สุดในโลก’ มาตั้งแต่ปี 1986 เรื่อยมาตราบถึงปัจจุบัน บลองแปงมีเพื่อนเป็นเชพชั้นนำที่มีมิชลินสตาร์รวมกันมากกว่า 100 ดวง แถมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Relais & Chateaux และ Leading Hotels of the World อีกทั้งยังสนับสนุนการประกวด Bocuse d’Or Suisse รวมทั้ง Auction Napa Valley ในการประมูลไวน์ที่ดีที่สุดของโลก

(ซ้าย) Dani García: Michelin Star Chef  / (ขวา) Martín Berasategui: Michelin Star Chef

หรือกิจกรรมด้านกีฬาแข่งรถ ซึ่งถือเป็นอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความชื่นชอบในกีฬาประเภทนี้ของผู้บริหาร มาร์ค เอ. ไฮแยค เขาเคยขับ Lamborghini GT ลงแข่งขันในรายการ ADAC GT-Masters, FIA GT1 World Championship และ Blancpain Endurance Series มาแล้ว และระหว่างปี 2009-2016 บลองแปงก็เคยเป็นสปอนเซอร์หลักของลัมบอร์กินีด้วย ปัจจุบันบลองแปงเป็นสปอนเซอร์หลักของมาร์ค เอ. ไฮแยค ผู้บริหารของแบรนด์ ไม่เพียงแต่เป็นนักแข่งรถ หากเขายังหลงใหลในการดำน้ำเช่นกัน

อีกทั้งบลองแปงในฐานะที่เป็นผู้ผลิต Fifty Fathoms นาฬิกาดำน้ำแบบร่วมสมัยเรือนแรกของโลก ทางแบรนด์จึงต้องการที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ภายใต้ชื่อ Blancpain Ocean Commitment โดยมีจุดประสงค์ที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการสำรวจใต้น้ำ รวมถึงดูแลรักษาและพิทักษ์สื่งแวดล้อมทางทะเล 

ขณะที่นาฬิกา Fifty Fathoms ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างบลองแปงและท้องทะเลผ่านผลงานอันสร้างสรรค์นับตั้งแต่รุ่นแรก Fifty Fathoms Bathyscaphe Flyback Chronograph Ocean Commitment I ปี 2015 ตามมาด้วยรุ่น II และ III ซึ่งทั้งสามซีรีส์ถูกผลิตขึ้นจำกัดเพียง 250 เรือน ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนาฬิกาซีรีส์พิเศษนี้ได้นำไปสมทบทุนเพื่อส่งเสริมกิจการรมด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย

 

ตลอดกว่า 300 ปีของประวัติศาสตร์นาฬิกา บลองแปงไม่เพียงเป็นผู้ริเริ่มนาฬิกากลไกแบรนด์แรก แต่ยังมีส่วนสำคัญที่สร้างมาตรฐานคุณภาพของนาฬิการะดับโลก ที่แม้จะผ่านความท้าทายมาหลายช่วงเวลา แต่ก็สามารถปรับตัว สร้างสรรค์ และพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมของบลองแปงเอาไว้ได้ตราบจนปัจจุบัน

Fact Box

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของบลองแปงได้ทาง https://www.blancpain.com/en

 

Tags: , , ,