ป่านนี้นักแสดงจากเรื่อง Black Panther คงทำท่าเอามือไขว้อก พร้อมกล่าวคำว่า Wakanda Forever! ดังๆ อย่างพร้อมเพรียงกันไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากออสการ์ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้เข้าชิงในสาขาต่างๆ สำหรับงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 91 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ตามเวลาบ้านเรา ซึ่งหนึ่งในผู้เข้าชิงสาขารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้ก็คือภาพยนตร์เรื่อง Black Panther
ในขณะเดียวกันคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) อาจจะค้อนขวับ เนื่องด้วยหนังซูเปอร์ฮีโร่ของเขาซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญอย่าง The Dark Knight ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขา ยกเว้นก็แต่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม รวมไปถึงแพตตี้ เจนกินส์ (Patty Jenkins) ผู้กำกับฯ Wonder Woman ก็อาจจะยืนถอนหายใจอยู่ข้างๆ เพราะหนังของเธอไม่ได้แม้กระทั่งการเสนอชื่อเข้าชิง
ทำไมออสการ์ถึงมีพื้นที่สำหรับหนังซูเปอร์ฮีโร่น้อยนัก? หรืออาจจะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า ทำไมออสการ์ถึงรักหนังดราม่ามากนัก จากสถิติผลรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ผ่านมาทั้ง 90 ครั้ง พบว่า ภาพยนตร์ดราม่าสามารถคว้ารางวัลออสการ์ไปได้ 46 ครั้ง คิดเป็น 51.11% (คำว่าดราม่านี้รวมไปถึงหนังประวัติศาสตร์ หนังอัตชีวประวัติ หนังพีเรียด ฯลฯ) รองลงมาคือภาพยนตร์คอมเมดี้ 11 ครั้ง ภาพยนตร์มิวสิคัล 10 ครั้ง ภาพยนตร์แนวสงคราม 9 ครั้ง ภาพยนตร์แนวคาวบอยตะวันตก 4 ครั้ง ภาพยนตร์แนวกีฬาและเรื่องลึกลับอย่างละ 3 ครั้งเท่ากัน ภาพยนตร์แนวทริลเลอร์สยองขวัญ 2 ครั้ง และภาพยนตร์แนวแฟนตาซีไซไฟ 1 ครั้ง (คงเดาไม่ยากใช่ไหมล่ะว่าเรื่องอะไร ก็ The Shape of Water นั่นไง)
ข้อมูลที่ทำให้เห็นว่าหนังสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดราม่า แลดูเป็นลูกเมียน้อยที่พ่อๆ กรรมการออสการ์ไม่ค่อยรัก มีให้เห็นเรื่อยๆ เมื่อการได้รับรางวัลของหนังบางเรื่องได้ถูกจดจำในฐานะ ‘สถิติ’ หนังผีสยองขวัญในตำนานอย่าง The Exocist (1973) ถือเป็นหนังประเภทสยองขวัญเรื่องแรกที่มีโอกาสได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่ได้แค่รางวัลปลอบใจอย่างสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมและบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ในขณะที่หนังประเภทสยองขวัญสั่นประสาทแนวจิตวิทยา (Thriller) เรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปได้ก็คือ The Silence of The Lambs (1991) และยังสามารถเก็บตุ๊กตาออสการ์ไปได้ครบทั้ง 5 ตัวที่เรียกว่า The Big Five ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม ดารานำชายยอดเยี่ยม ดารานำหญิงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (ในขณะที่หนังสยองขวัญเรื่องแรกที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็คือ The French Connection ในปี 1971) จากนั้นความปังบนเวทีออสการ์ของหนังตระกูลสยองขวัญก็ทิ้งช่วงไปนาน ก่อนที่เราจะได้ตื่นเต้นอีกครั้งกับ Get Out ในปี 2018 ที่ได้เสนอชื่อเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (และผู้กำกับยอดเยี่ยม) แต่ไม่ได้รางวัล
อีกสาขาภาพยนตร์ที่น่าเศร้าพอๆ กันกับหนังซูเปอร์ฮีโร่ก็คือหนังไซไฟแฟนตาซี (หรืออาจจะมีความสยองขวัญนิดๆ ปนเข้ามาด้วย) หนังไซไฟแฟนตาซีเป็นประเภทของหนังที่เริ่มรุ่งเรื่องในยุค 70s พร้อมความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีหัวหอกของวงการฮอลลีวูดที่สำคัญอยู่สองคนก็คือสตีเฟ่น สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และจอร์จ ลูคัส (George Lucas) มีหนังเด่นๆ ที่เคยมีโอกาสได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่าง Jaws, Star Wars, Raiders Of The Lost Ark และ ET: The Extra-Terrestrial แต่ก็ได้แค่เข้าชิง และเคยมีแมตช์ที่ดุเดือดในสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1978 ซึ่งทั้งสปีลเบิร์กและลูคัสเข้าชิงพร้อมกัน จากหนังเรื่อง Star Wars และ Close Encounters Of The Third Kind ซึ่งเป็นหนังวิทยาศาสตร์ไซไฟแฟนตาซีทั้งคู่ แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็พ่ายแพ้แก่ Annie Hall ของคุณปู่วู้ดดี้ อัลเลน (ซึ่งตอนนั้นอาจจะยังไม่ถูกเรียกว่าปู่)
ความน่าตื่นเต้นบนเวทีออสการ์และสาขาหนังที่ไม่ใช่ดราม่าเกิดขึ้นในปี 2002 เมื่อหนังมหากาพย์แฟนตาซีอย่าง The Lord of the Rings : The Fellowship of the Ring เข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 12 สาขา รวมไปถึงรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม และแน่นอนอย่างที่รู้กันว่า…พลาดรางวัลไปใหญ่ไปทั้งหมด ได้เพียง 4 รางวัลออสการ์ในสาขาจิ๊บจ้อย ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าคณะกรรมการออสการ์คงจะไม่ปลื้มหนังแนวนี้เท่าไรมากนัก เพราะนอกจากนานๆ ทีจะได้เข้าชิงแล้ว พอเข้าชิงก็ยังชวดรางวัลใหญ่ไปเสียหมด (และยิ่งตอกย้ำให้ช้ำใจมากไปอีกเมื่อ The Lord of the Rings : The Return of the King ในปี 2004 ได้เข้าชิงออสการ์อีก 11 รางวัล แต่ได้เพียง 8 รางวัลในสาขาเทคนิคเท่านั้น)
จุดเปลี่ยนของออสการ์ที่ทำให้เห็นว่ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั้นมีความหลากหลายมากขึ้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2009 เมื่อออสการ์เปลี่ยนกฎให้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมีจำนวนหนังเข้าชิงได้สูงถึง 10 เรื่อง จากอดีตได้เพียง 5 เรื่อง และเมื่อดูสถิติระหว่างปี 2009-2017 สำหรับประเภทหนังที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะเห็นว่า แน่นอน…ดราม่ายังนำโด่งที่จำนวน 34 เรื่อง ตามมาด้วยคอมเมดี้ 11 เรื่อง แฟนตาซีไซไฟ (ปรบมือ! ) 7 เรื่อง หนังสยองขวัญและเขย่าขวัญสั่นประสาท 6 เรื่อง หนังสงคราม 5 เรื่อง หนังต่อสู้สไตล์คาวบอยตะวันตก 3 เรื่อง หนังแอนิเมชั่นและมิวสิคัลเท่ากันที่ 2 เรื่อง และหนังกีฬา 1 เรื่อง ซึ่งที่ผ่านมาหนังที่ได้รางวัลไปก็ยังเป็นหนังประเภทดราม่าอยู่ดี ทั้ง The King’s Speech, Argo, 12 Years a Slave, Spotlight หรือ Moonlight เพิ่งจะมีแฟนตาซีไซไฟก็ในปีที่ผ่านมาอย่าง The Shape of Water นี่แหละ
จนมาถึงปีนี้ หนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกอย่าง Black Panther ก็มีโอกาสได้เข้าชิงรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แข่งกับหนังดราม่าทั้งหลาย ทั้ง BlacKkKlansman, Bohemian Rhapsody, The Favourite, Green Book, Roma, A Star Is Born และ Vice ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์บนเวทีออสการ์ที่นำความตื่นเต้นมาให้กับทุกคน สื่อเอนเตอร์เทนเมนต์แทบทุกสื่อรายงานด้วยน้ำเสียงเดียวกันว่า นี่คือปรากฏการณ์การ ‘เปิดใจ’ ของกรรมการออสการ์ ที่ไม่ได้มองหนังซูเปอร์ฮีโร่เป็นแค่หนังที่โชว์ ‘เทคนิค’ และมองย้อนไปยังใบเบิกทางที่ชื่อ The Dark Knight ของโนแลน ที่สร้างสรรค์หนังซูเปอร์ฮีโร่ในด้านที่มีความซับซ้อนของความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่พลังวิเศษและการต่อสู้กับเหล่าร้าย จนได้รับการยอมรับจากกออสการ์ผ่านรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากบทโจ๊กเกอร์ ซึ่งแสดงโดยฮีธ เลดเจอร์ (Heath Ledger) แม้ว่าตัวหนังจะไปไม่ถึงฝั่งฝันในการเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ตาม แต่รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมก็ทำให้เห็นแล้วว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ก็ไม่ได้มีดีแค่ทาง ‘เทคนิค’
อันที่จริงเราอาจจะพูดไม่ได้เต็มปากหรอกว่าทำไมออสการ์ถึงเกลียดหนังซูเปอร์ฮีโร่มากนัก หรือทำไมออสการ์ถึงชื่นชอบหนังดราม่ามากนัก เพราะเมื่อเทียบจำนวนกันจริงๆ แล้ว หนังดราม่าที่ถูกผลิตขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็มีจำนวนมากกว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ ซึ่งเพิ่งจะมาบูมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง การที่หนังซูเปอร์ฮีโร่จะเข้าสู่เวทีรางวัลน้อยกว่าก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ ในขณะเดียวกันกฏเกณฑ์ที่เรียกว่า ‘หนังรางวัล’ ‘หนังดี’ หรือหนังที่จะเข้าสู่รางวัล ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ นั้นผูกไว้ด้วยมาตรฐานอย่างหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการมองศิลปะในการเล่าเรื่องอย่างเก่า ที่ไม่ได้เติบโตมาด้วยการใช้ ‘เทคนิค’
ความสวยงามสมบูรณ์ของศิลปะการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ในสายตาของคณะกรรมการหรือแม้แต่ผู้คนทั่วไปเอง จึงยังคงมองอยู่ที่ศิลปะการแสดง การแสดงออกซึ่งอารมณ์ของมนุษย์ หรือแม้กระทั่งสารของตัวเรื่องที่มีผลกระทบต่อจิตใจ หรือแม้แต่ประเด็นทางการเมือง ซึ่งก็มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งบนเวทีออสการ์ในการเลือกที่จะเชิดชูหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ได้รางวัล ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ เพื่อสร้างความสั่นสะเทือนบางอย่างทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังซูเปอร์ฮีโร่ไม่สามารถตอบโจทย์นั้นได้ เพราะถึงอย่างไรหนังซูเปอร์ฮีโร่ก็ยังมีพื้นฐานของการให้ความสนุกสนานแก่คนดูผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘แฟนตาซี’ ไม่เหมือนกับหนังดราม่าหหลายเรื่องที่สร้างมาจากเรื่องจริงบ้าง ประวัติศาสตร์บ้าง หรืออัตชีวประวัติบ้าง ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของคนดูและผู้คนในสังคมได้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘เรื่องจริง’
หลากหลายครั้งเราจึงเห็นรางวัลปลอบใจแด่หนังที่ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นหนังดราม่าด้วยรางวัล ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’ เช่น อัลฟองโซ กัวรอง (Alfonso Cuarón) จาก Gravity หรืออัง ลี (Ang Lee) จาก Life of Pi มุมมองที่คณะกรรมการหรือแม้กระทั่งเราเองที่มีต่อเทคนิค 3D การตัดต่อ กรีนสกรีน สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ฯลฯ ที่เกิดขึ้นในหนังที่ไม่ใช่หนังดราม่าทั้งหลาย โดยเฉพาะหนังไซไฟแฟนตาซีและหนังซูเปอร์ฮีโร่จึงยังเป็นมุมมองเรื่องเทคนิค ความเก่งของตัว ‘ผู้กำกับ’ ที่ก่อให้เกิดสิ่งนั้นได้ ไม่ใช่มุมมองในแบบหนังดีที่สร้างผลกระทบทางอารมณ์ จิตใจหรือแม้กระทั่งทัศนคติต่อสังคมผ่านตัวหนังจนสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
และนั่นเองเป็นโจทย์ที่ Black Panther ในฐานะหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เต็มไปด้วยการใช้เทคนิคนำมาแก้ไขในการสร้างสรรค์แก่นของเรื่องที่นำเอาเรื่องสีผิว ชาติพันธ์ุ วัฒนธรรม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนหนังทั้งในจอและนอกจอภาพยนตร์ จนทำให้พอที่จะเข้าเกณฑ์หนังที่กำลังจะเดินทางสู่รางวัล ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ ได้
ความโดดเด่นของ Black Panther อยู่ที่กระแสและรายได้ กระแสที่ว่าก็คือขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกกีดกันทางสีผิวที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยหลักๆ อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยข่าวและเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการแบ่งแยกสีผิว จนเกิดแคมเปญชื่อ Black Lives Matter ซึ่งมีคนดังร่วมรณรงค์มากมาย หรือแม้แต่บนเวทีออสการ์เองก็เกิดคำครหาที่ว่า Oscar So White เมื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาต่างๆ ส่วนมากคือคนผิวขาว และสิ่งที่เรียกว่าความหลากหลายทางสีผิว ชาติพันธ์ุ (diversity) ไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงบนเวทีออสการ์เสียที
และเมื่อ Black Panther ซึ่งใช้ประเด็นเรื่องหนังซูเปอร์ฮีโร่ผิวดำ รวมไปถึงโลกและวัฒนธรรมของคนผิวดำ (อ้างอิงมาจากรากวัฒนธรรมของแอฟริกา) มาเป็นตัวชูโรง ทั้งตัวนักแสดง แก่นของเรื่อง และกิมมิคของเรื่อง ซึ่งถูกนำเสนอผ่านสื่ออย่างโหมกระหน่ำในช่วงที่หนังเข้าฉาย มันจึงเป็นหนังที่เหมาะมาก หากออสการ์จะนำมาฉุดกระแสเรื่องการแบ่งแยกสีผิว ทั้งในสหรัฐอเมริกาเองและบนเวทีออสการ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ออสการ์ที่มีภาพลักษณ์เรื่องความหลากหลายย่ำแย่มาโดยตลอด เพียงแต่ว่าเมื่อนำเอากระแสกับความโดดเด่นของแก่นเรื่องในตัวหนังมาวางเทียบกัน มันจะทำให้ Black Panther มีราคามากพอที่จะได้สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในครั้งนี้ไปได้หรือเปล่า (ยังไม่นับว่าหนังเรื่องอื่นๆ ในสาขานี้ดีหรือไม่ดีมากน้อยกว่าอย่างไร)
หรือบางทีแค่การที่เป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ (ผิวดำ) และได้เข้าชิงรางวัลในสาขานี้ก็ถือว่ามากเพียงพอในการฟอกขาวให้กับออสการ์ได้แล้ว โดยไม่ต้องกลับไปดูสถิติและประวัติศาสตร์ของออสการ์ว่าขาดความหลากหลายมากเพียงใด แต่จะว่าไปหาก Black Panther สามารถคว้ารางวัล ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ บนเวทีออสการ์ครั้งนี้มาได้ ก็ยังถือว่าเป็นหนัง ‘ดราม่า’ อยู่ดี อย่าลืมว่า Black Panther ได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่านะจ๊ะ
Tags: Oscar, Black Panther, Best Movie