ดูเหมือนว่า บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) จะเตรียมตัวพร้อมสำหรับการเดินทางสู่ความตาย ระหว่างถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลในสภาพสวมหน้ากากออกซิเจน หลังจากอาการโรคตับแข็งกำเริบ เธอเหลือยอดเงินในบัญชีธนาคารแค่ 70 เซนต์ พยาบาลที่โรงพยาบาลเมโทรโพลิแทน ในนิวยอร์ก พบเงินธนบัตร 50 ดอลลาร์จำนวน 15 ใบ ม้วนไว้อย่างดีและใช้เทปกาวแปะติดไว้ที่ขาของเธอ

หรือนักร้องวัย 44 จะมีเงินซุกซ่อนอยู่ในอวัยวะเพศของเธออีกนะ วิลเลียม ดัฟตี (William Dufty) เพื่อนนักข่าวของเธอตั้งคำถามทีเล่นทีจริง

ไม่เพียงโมงยามสุดท้ายของบิลลี ฮอลิเดย์เท่านั้นที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าขาน หากช่วงชีวิตสั้นๆ ของเธอก็ยังมากไปด้วยเรื่องราวไม่แพ้กัน ทั้งจากคำบอกเล่าของคู่ชีวิต เพื่อนฝูง รวมถึงจากฝ่ายศัตรู ฟังดูคล้ายจะขัดแย้งกัน แถมเจ้าตัวยังบิดเบือนความจริงเสียอีก คาร์ล ดริงการ์ด (Carl Drinkard) นักเปียโน เป็นคนหนึ่งละที่กล่าวถึงหนังสืออัตชีวประวัติ Lady Sings the Blues ของเธอว่า เธอชอบเล่าเรื่องที่เธอแต่งขึ้นเองซ้ำๆ จนตัวเธอเองเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง

แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครกังขาคือ บิลลี ฮอลิเดย์สามารถร้องเพลงได้ดีอย่างหาใครเทียบได้ยาก

บิลลี ฮอลิเดย์ หรือชื่อเดิม อีเลียนอร์ แฮร์รีส (Eleanor Harris) เกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 1915 ในฟิลาเดลเฟีย ซาดี (Sadie) แม่วัย 19 ปีเป็นพนักงานเสิร์ฟบนขบวนรถไฟ ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก เช่นเดียวกับแคร์เรนซ์ ฮอลิเดย์ (Clarence Holiday) พ่อวัย 16 ปี ทั้งสองจึงมอบเธอให้กับคนแปลกหน้าจากบัลติมอร์ชื่อ มาร์ธา มิลเลอร์ (Martha Miller) ซึ่งนอกจากจะเลี้ยงดูไม่ดีแล้ว ยังข่มเหงและรังแกเธอ

เนื่องจากอีเลียนอร์โดดเรียนบ่อยครั้ง เธอจึงถูกส่งตัวไปอยู่โรงเรียนดัดสันดาน ตอนอายุได้ 11 ขวบ เธอก็ถูกชายข้างบ้านข่มขืน ตำรวจโยนความผิดให้เธอ กล่าวหาว่าเธอไปยั่วยวนเขา ไม่นานจากนั้นเธอก็ถูกส่งตัวเข้าสถานสงเคราะห์อีกครั้ง

อีเลียนอร์กลายเป็นเด็กสาวขี้ขโมย เธอขโมยทุกสิ่งที่อยากได้ และมักแอบย่องเข้าไปในโรงหนังทางประตูหลัง เธอชื่นชอบนักแสดงหญิง-บิลลี โดฟ (Billie Dove) ที่ต่อมาเธอนำมาใช้เป็นชื่อตัว ในซ่องที่เธอทำงานเป็นคนทำความสะอาดนั้น เธอมีโอกาสค้นพบดนตรีของหลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) และเบสซี สมิธ (Bessie Smith) ไอดอลทางดนตรีของเธอ

เงินก้อนแรกที่เด็กสาวอายุ 12 ปีได้จากอาชีพหญิงทางโทรศัพท์ เธอนำไปซื้อชุดผ้าไหมและรองเท้าหนังมันส้นเตี้ย กระทั่งเมื่อเธอปฏิเสธที่จะรับแขก เธอก็ถูกจับตัวส่งโรงเรียนดัดสันดานอีกครั้ง แต่คราวนี้เธอถูกขังในห้องที่มีกลิ่นสาบหนู

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวจากชีวประวัติของเธอ จะจริงเท็จมากน้อยแค่ไหนไม่มีใครยืนยัน ที่แน่ๆ วัยเด็กของอีเลียนอร์คลุกคลีอยู่กับความยากจน ความรุนแรง และการเหยียดเชื้อชาติ อันเป็นปมติดตัวเธอไปตลอดทั้งชีวิต

อีเลียนอร์โชว์ความสามารถทางด้านดนตรีของเธอครั้งแรกในบัลติมอร์ มีนักเที่ยวคนหนึ่งจำได้ว่าขณะนั้นเธอทำอาชีพโสเภณี ปี 1929 เมื่อเธอย้ายไปอยู่กับแม่ที่ซ่องในฮาร์เล็ม เธอก็เริ่มเรียกตัวเองว่า บิลลี ฮอลิเดย์ และริสูบกัญชา ตระเวนร้องเพลงตามบาร์ ขับกล่อมผู้คนให้รู้สึกสะเทือนใจไปกับเสียงลูกคอสั่นทำนองเศร้าสร้อยของเธอ

“มีคนบอกฉันว่า ไม่มีใครร้องคำว่า ‘หิว’ ได้ดีเท่าฉัน เช่นเดียวกับคำว่า ‘รัก’ บางทีอาจเป็นเพราะฉันรู้ดีว่า สองคำนี้มีหมายความว่าอย่างไร …ทุกอย่างที่ฉันเป็นและที่ฉันต้องการในชีวิต คือคำสองคำนี้”

“มีคนบอกฉันว่า ไม่มีใครร้องคำว่า ‘หิว’ ได้ดีเท่าฉัน เช่นเดียวกับคำว่า ‘รัก’”

ฮอลิเดย์บรรยายสูตรความสำเร็จของเธอ และยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า “ให้เพลงฉันมาสักเพลงที่ฉันสามารถรู้สึกถึงมันได้ แล้วการร้องเพลงนั้นจะไม่เหมือนงานที่ฉันต้องทำเลย” อย่างไรก็ตาม ดนตรีเป็นแรงกระตุ้นทางอารมณ์สำหรับเธอเช่นกัน ทำให้บางครั้งเธอต้องถึงล้มฟุบน้ำตานองหน้าที่ด้านหลังเวที โดยเฉพาะเพลง ‘Strange Fruit’ ที่มักทำให้เธอเข่าอ่อนอยู่กลางเวที

Southern trees bear strange fruit / Blood on the leaves and blood at the root / Black bodies swinging in the southern breeze / Strange fruit hanging from the poplar trees”

เมื่อตอนที่อาเบล มีโรโพล (Abel Meeropol) ครูสอนภาษาอังกฤษชาวยิว นำเพลงนี้มามอบให้เธอในเดือนเมษายน 1939 นักร้องสาวตอบรับในทันที นั่นเพราะเพลง ‘Strange Fruit’ นี้-ที่ในปี 1999 นิตยสารไทม์สยกย่องให้เป็น ‘เพลงแห่งศตวรรษ’-เป็นเพลงเดียวซึ่งสะท้อนความรู้สึกของฮอลิเดย์ในเรื่องเหยียดเชื้อชาติที่เธอต้องเผชิญได้ดีที่สุด

บ่อยครั้งพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารมักปฏิเสธที่จะให้บริการเธอ และไม่ว่าขณะนั้นเธอจะตระเวนทัวร์ร่วมกับศิลปินดังอย่างเท็ดดี วิลสัน (Teddy Wilson) เคานต์ เบซี (Count Basie) และอาร์ตี ชอว์ (Artie Shaw) ก็ตาม นอกจากนั้นเธอยังถูกกีดกันไม่ให้ใช้สุขา หรือหลายครั้งเธอต้องเข้าทางประตูหลังของบาร์ที่เธอขึ้นแสดง

ครั้งหนึ่งในดีทรอยต์ ด้วยความที่ฮอลิเดย์ไปปรากฏตัวด้วยใบหน้าที่ซีดขาวจนเกินไป เจ้าของคลับจึงให้เธอแต้มครีมสีคล้ำเพิ่มเติมที่ใบหน้า จะได้ดูเหมือนคนผิวดำคนอื่นๆ “ต่อให้คุณสวมชุดผ้าไหมสีขาวปิดถึงลำคอ แซมผมด้วยดอกไม้เต็มศีรษะ คุณก็ยังคงดูเหมือนคนทำงานไร่อยู่ดี” นักร้องสาวบรรยายภาพความขมขื่นประจำวันของตัวเอง

ปี 1937 แคลเรนซ์-พ่อของเธอเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบ เนื่องจากโรงพยาบาลในดัลลัสไม่พร้อมที่จะรับผู้ป่วยผิวสี “เพลง Strange Fruit สะท้อนเรื่องที่พ่อของฉันต้องตายได้ดี” เพลงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติจากปี 1939 ที่บริษัทค่ายเพลงโคลัมเบีย เรคคอร์ดส์ไม่ยอมบันทึกเสียงนั้น นอกจากจะช่วยให้ฮอลิเดย์มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว มันยังทำให้เธอต้องประสบกับปัญหายุ่งยากเช่นกัน

“ฉันสร้างศัตรูไว้เยอะ ซึ่งมันไม่ได้ช่วยในการร้องเพลงของฉันเลย” บิลลี ฮอลิเดย์เคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งในปี 1947 หนึ่งในจำนวนศัตรูของเธอคือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด วันที่ 16 พฤษภาคม 1947 หลังจากเธอดื้อด้านนำเพลง ‘Strange Fruit’ ที่อยู่นอกเหนือการตกลง ขึ้นไปร้องบนเวทีโรงละครเอิร์ล ในฟิลาเดลเฟีย เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนักร้องติดเฮโรอีนเป็นครั้งแรกด้วยข้อหามียาเสพติดในครอบครอง

นับแต่นั้นมาก็เป็นช่วงขาลงของ ‘เลดี เดย์’ แทนที่จะสร้างฝันของตนเองให้เป็นจริงกับการมีบ้านสักหลังในชนบทไว้ฟูมฟักเด็กกำพร้า และเลี้ยงสุนัข เธอกลับไปเสียเวลากับการแจกความรักให้กับผู้ชาย ที่ทั้งตบตีและหลอกลวงเธอ จนต้องหนีไปพึ่งยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ไม่ช้าไม่นานสิ่งเหล่านั้นก็ทำลายเสียงของเธอ

แทนที่จะสร้างฝันของตนเองให้เป็นจริงกับการมีบ้านสักหลังในชนบทไว้ฟูมฟักเด็กกำพร้า และเลี้ยงสุนัข เธอกลับไปเสียเวลากับการแจกความรักให้กับผู้ชาย

โชว์สุดท้ายของเธอในวันที่ 25 พฤษภาคม 1959 ที่โรงละครฟีนิกซ์ ในนครนิวยอร์ก บิลลี ฮอลิเดย์อยู่ในสภาพผ่ายผอมและทรุดโทรม สตีฟ แอลเลน (Steve Allen) นักแสดงตลกเล่าถึงวันนั้นว่า เสียงของเธอแหบพร่า ไร้ชีวิตชีวา ไม่มีเสียงสูงเสียงต่ำ ไม่มีอะไรเลย

หกวันต่อมา ฮอลิเดย์ล้มฟุบคาโต๊ะอาหารเช้า ทั้งตับและหัวใจถูกโจมตีอย่างหนัก จนต้องถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล วันที่ 12 มิถุนายน เจ้าหน้าที่จากหน่วยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพากันมายืนรอที่ห้องคนไข้ พวกเขาสอบสวนเธอทั้งที่เธออยู่ในสภาพเหนื่อยอ่อน ทั้งยังค้นห้อง ยึดดอกไม้ โทรศัพท์ แผ่นเสียง และหนังสือการ์ตูนไป แม้ว่านักร้องจะนอนเหมือนใกล้ตาย แต่ในทางกฎหมายแล้วเธอถูกจับกุมด้วยข้อหามียาเสพติดในครอบครอง เจ้าหน้าที่สวมกุญแจมือเธอติดกับเตียง มีตำรวจหญิงสามคนเฝ้าที่หน้าห้องนักโทษหมายเลข 1669

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 1959 เวลา 03.10 นาฬิกา หัวใจของเธอหยุดเต้น มีผลให้บิลลี ฮอลิเดย์หลุดพ้นจากคดีความทั้งมวล

“ทุกอย่างที่ยาเสพติดจะช่วยคุณได้ก็คือ การฆ่าคุณ” เธอเคยให้สัมภาษณ์ “อย่างช้าๆ และทรมาน”

 

อ้างอิง:

  • Spiegel Online
  • ข้อมูลเพิ่มเติม:
  • ‘Lady Sings the Blues’, Billie Holiday & William Dufty, Harlem Moon Classic (2006)
  • ‘Lady Sings the Blues’ (1972) กำกับภาพยนตร์โดย ซิดนีย์ เจ. ฟิวรี (Sidney J. Furie), นำแสดงโดย ไดอานา รอสส์ (Diana Ross)
Tags: , , , , ,