ในวันๆ หนึ่งเราอาจเคยนั่งแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันมากกว่า 2-3 ครั้ง แน่นอนว่ามันสะดวกสบาย ย่นเวลาและแก้ปัญหาในการเดินทางภายใต้ข้อจำกัดร้อยแปดของเมืองหลวง การเข้ามาของแพลตฟอร์มเหล่านี้เสนอบริการที่มีประโยชน์และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ ได้จนได้รับความนิยมสูง
แต่นอกเหนือไปจากความสะดวกสบาย ความพร้อมจ่าย และรอยยิ้มของผู้บริโภคที่ได้ส่วนลดค่าส่ง เบื้องหลังของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้มีระบบที่สมควรถูกตั้งคำถามอยู่บ้างไหม? การ disrupt วงจรเดิมของแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์มีช่องโหว่เรื่องความไม่เป็นธรรมสอดแทรกอยู่หรือเปล่า? แล้วเราในฐานะผู้บริโภครับรู้ข้อเท็จจริงอะไรบ้างจากการกดสั่งอาหารหนึ่งครั้ง หรือรีวิวหนึ่งดาวให้กับการรอรถ การส่งอาหารที่ล่าช้า
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบความเป็นไปได้ที่จะสร้าง ‘แพลตฟอร์มในอุดมคติ’ เพื่อให้ผู้สนใจเสนอขายสินค้า/บริการ โดยผู้ซื้อสินค้า/บริการ และตัวเจ้าของแพลตฟอร์มมีอำนาจในการต่อรองอย่างเป็นธรรมต่อกัน
อรรคณัฐจึงกำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘ตามสั่ง–ตามส่ง’ ในบริเวณซอยลาดพร้าว 101 ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองการทำงานแบบ community-based ทำเว็บฯ แอพพลิเคชันส่งอาหารและส่งคนในบริเวณนี้โดยการสำรวจชุมชน ร้านค้า มอบอำนาจให้วินมอเตอร์ไซค์ร่วมกันตั้งค่าโดยสารและกฎเกณฑ์ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ สร้างทางเลือกให้กับวินมอเตอร์ไซค์ ร้านค้า และเกลี่ยข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภคภายใต้ระบบการบริหารที่โปร่งใส
เขาและทีมงานกำลังศึกษาวิจัยประเด็นสภาพปัญหาการเข้าถึงระบบสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคมของแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มและข้อเสนอเชิงนโยบาย กรณีศึกษาแรงงานในธุรกิจบริการเรียกพาหนะและธุรกิจการขนส่งสินค้าและค้นพบว่าการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำอาชีพเดิม เช่น วินมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่ที่ถูกกำกับดูแลโดยรัฐ แต่อาชีพเดียวกันนี้ในรูปแบบใหม่กลับไม่ถูกกำกับดูแล และในขณะเดียวกันก็เป็นแรงงานนอกระบบที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากแพลตฟอร์ม
ในช่วงเวลาที่โรคไวรัส COVID-19 ระบาด ยิ่งเป็นช่วงเวลาทองของแพลตฟอร์มเหล่านี้ที่จะเจริญเติบโต เพราะผู้ใช้บริการอยู่ติดบ้านตลอดเวลาและพร้อมสั่งอาหารเสมอ อรรคณัฐได้งบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทดลองทำแพลตฟอร์มตามสั่ง–ตามส่ง เพื่อตรวจสอบว่าโมเดลธุรกิจที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สร้างรายได้และอำนาจต่อรองให้กับวินมอเตอร์ไซค์และร้านค้า จะสามารถเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน
คำถามสำคัญไปกว่านั้นก็คือระบบนี้จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบนิเวศที่ดีในการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบอาชีพ การเข้าถึงข้อมูลของแพลตฟอร์ม รวมถึงแรงงานปัจเจกจะผนวกกันเข้ามาเป็นกลุ่มก้อนที่พร้อมต่อสู้และสร้างอำนาจต่อรองเพื่อคัดคานกับรัฐหรือโครงสร้างได้อย่างไรบ้าง
แพลตฟอร์มตามสั่ง-ตามส่ง ต่างจากแพลตฟอร์มสั่งอาหารอื่นอย่างไร
ต่างกันที่แก่นกลางเลย โมเดลของตามสั่ง–ตามส่งไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจ แต่เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างโอกาส คนที่อยู่บนแพลตฟอร์มมีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว คือร้านค้า วินมอเตอร์ไซค์ เขาจะสามารถเข้าถึงโอกาสในการทำกำไรในธุรกิจของเขาได้มากขึ้น ตัวแพลตฟอร์มไม่ได้ทำกำไร ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการของแพลตฟอร์ม จะเฉลี่ยกันโดยผู้ที่ได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม คือร้านค้า วินฯ และผู้บริโภค ในขณะนี้เรายังไม่ได้เก็บจากใครเลย แต่เราจะต้องเก็บเขาแน่นอนในภายภาคหน้า ซึ่งเราคุยกับมอเตอร์ไซค์ ร้านค้า ผู้บริโภค ว่าเรากำลังศึกษาว่าต้นทุนดำเนินการจริงๆ เป็นเท่าไร ผู้ที่ได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มก็ต้องมา contribute ร่วมกัน ผู้บริโภคอาจไม่ต้องจ่าย เพราะผู้บริโภคทำให้มอเตอร์ไซค์กับร้านค้าได้ประโยชน์ทางการค้าอยู่แล้ว โจทย์ใหญ่คือจะต้องสร้างสำนึกของความเป็นเจ้าของร่วมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน ที่เราเรียกว่า solidarity economy หรือ ‘เศรษฐกิจสมานฉันท์’
การเป็นเจ้าของร่วมกันหมายความว่าอย่างไร
เราลงมาที่ลาดพร้าว 101 เพราะเป็นที่ตั้งของสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์แห่งประเทศไทย วินฯ ซอยลาดพร้าว 101 เองก็มีโครงสร้างที่เข้มแข็งอยู่แล้ว มีการรวมตัวกัน มีกรรมการบริหาร มีกลุ่มออมทรัพย์วินลาดพร้าว 101 ที่ขายหุ้นและกู้เงินกันในกลุ่ม มีวิสาหกิจชุมชนที่วินฯ เป็นเจ้าของร่วมกัน เรียกว่าเขามีสำนึกของการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว แต่โมเดลของ ตามสั่ง–ตามส่ง คือต้องมีร้านค้า วินฯ และผู้บริโภค ด้วย
เราเริ่มต้นทำงานกับกลุ่มวินฯ ก่อน โดยเริ่มจากอธิบายให้เขาฟังว่าเราต้องการเพิ่มความมั่นคงทางอาชีพ ที่ผ่านมาความมั่นคงทางอาชีพของกลุ่มวินฯ ถูกท้าทายจากแพลตฟอร์ม และอยากมีแพลตฟอร์มของตัวเอง เราคุยกันว่าเราจะลองสร้างแพลตฟอร์มกันเอง แต่แพลตฟอร์มเราจะไม่เหมือนแพลตฟอร์มอื่นที่ไปหักเปอร์เซ็นต์กับร้านค้าเยอะๆ ขนาด 30-35% ตัวแพลตฟอร์มไม่ต้องมีกำไร ทุกคนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างก็มีกำไรอยู่แล้ว ร้านค้าได้ประโยชน์จากการขาย กลุ่มวินฯ ได้ค่าจ้างจากการวิ่งไปส่งคนและอาหาร ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากราคาที่เป็นธรรม ทุกคนได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม แต่แน่นอนว่าการดำเนินการมีค่าใช้จ่าย ดังนั้นคนที่ได้ประโยชน์ก็ควรต้องร่วมกันจ่าย
ในฐานะนักวิจัย การดำเนินโครงการตามสั่ง–ตามส่ง เป็นการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการหรือ action research เพื่อที่เราจะหาโมเดลที่เหมาะสมว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม จะสามารถดำรงอยู่ในฐานะ ‘เครื่องมือ’ ในการสร้างโอกาส โดยที่ตัวมันไม่ได้ถูกขับเคลื่อนจากกำไรที่เกิดจากมูลค่าเพิ่มในฐานะที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้หรือไม่ การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้เรียกว่าการใช้รูปแบบที่เรียกว่า Transdisciplinary หรือที่เขาเรียกกันว่าข้ามสายข้ามศาสตร์ และให้คนที่เป็น stakeholder ทั้งหลายได้มาคิดและหาทางออกร่วมกันโดยที่มีนักวิชาการเข้ามาศึกษาวิจัยร่วมกันด้วย ไม่ใช่นักวิจัยเป็นผู้ศึกษา และกลุ่มร้านค้า วินฯ ผู้บริโภคเป็นผู้ถูกศึกษา แต่ทุกส่วนร่วมกันศึกษาหาทางออกร่วมกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริง Transdisciplinary approach กำลังเป็นเรื่องที่ในยุโรปตื่นตัวกันมาระยะหนึ่ง แต่จริงๆ ในประเทศไทยเรามีแนวคิดแบบนี้มานานพอสมควรแล้ว เราเรียกว่า ‘วิจัยไทบ้าน’
เราเชิญกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างซึ่งเป็น stakeholder มาอยู่ในกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ตั้งแต่ในการลงพื้นที่เพื่อที่จะคุยกับร้านค้า การช่วยกันออกแบบขั้นตอนการทำงาน การกำหนดราคาค่าบริการที่เขาคิดว่าเหมาะสม ร้านค้าเองก็มีส่วนร่วมตั้งแต่การพูดคุยเบื้องต้นว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไรบ้าง ตัวเราที่เป็นนักวิจัยเองก็ถือว่าเป็นผู้บริโภคด้วย เพราะเราก็สั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม ทั้งสามกลุ่มทำงานร่วมกัน ความเห็นอกเห็นใจในปัญหาที่แต่ละฝ่ายเจอก็เผยออกมาให้เห็นตั้งแต่กระบวนการทำงานเลย
ปัญหาหลักๆ ของแพลตฟอร์มยอดนิยมที่เราเห็นในปัจจุบันคืออะไร
การมาของแพลตฟอร์มทำให้คนที่อยู่ในอาชีพเดิม เช่น วินมอเตอร์ไซค์ได้รับผลกระทบ เขามีคู่แข่ง นอกจากจะมีคู่แข่ง เขายังรู้สึกว่ามันเป็นการแข่งที่ไม่ยุติธรรม เพราะเขาถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมาย แต่คนในอาชีพเดียวกันที่อยู่ในรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่กลับไม่ถูกกำกับดูแล นี่คือส่วนที่วินฯ เจ็บปวด ความมั่นคงทางอาชีพเขาถูกสั่นคลอน
ในขณะเดียวกัน แรงงานบนแพลตฟอร์มก็มีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ เพราะตัวบริษัทแพลตฟอร์มผลักภาระและความเสี่ยงต่างๆ มาให้คนทำงาน พยายามหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายเรื่องสิทธิแรงงาน สวัสดิภาพในการทำงาน โดยหันไปเรียกแรงงานว่า ‘พาร์ทเนอร์’ คือพยายามจะให้มีลักษณะการจ้างงานเป็นการจ้างงานนอกระบบ ซึ่งทำให้ไม่ต้องถูกกำกับภายใต้กฎหมายแรงงานต่างๆ
ในประเทศไทย นิยามของแรงงาน มีแค่แรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบ ดังนั้นในมุมมองของรัฐ ลักษณะการทำงานบนแพลตฟอร์มในทางกฎหมายจึงเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งการคุ้มครองแรงงานและหลักประกันทางสังคมอื่นๆ ก็มีน้อยมากๆ
แต่นั่นก็เป็นระบบทางธุรกิจอยู่แล้วหรือเปล่า จะมองได้ไหมว่าด้วยโครงสร้างและสภาพเศรษฐกิจหรือสังคมตอนนี้ นี่ก็เป็นช่องทางการหารายได้ที่ดีอย่างหนึ่ง
ใช่ ที่จริงแพลตฟอร์มมันมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ลดต้นทุนและข้อจำกัดในการเข้าถึงอาชีพได้ มีเรื่องความยืดหยุ่น เลือกเวลาในการประกอบอาชีพได้ ใช้ทรัพยากรที่อาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อมาหารายได้ แต่สิ่งที่ต้องแลกมากับโอกาสและความยืดหยุ่นเหล่านั้น คือการที่ตัวบริษัทแพลตฟอร์มสามารถสร้างสภาพควบคุมหลายประการในการทำให้แรงงานต้องทำตามที่เขากำหนด โดยบางครั้งก็ไม่รู้ตัวนะครับ เช่น ให้ค่าตอบแทนแบบจูงใจจากรอบที่วิ่ง ซึ่งคนทำงานไม่รู้ตัวว่าเขากำลังถูกแพลตฟอร์มสร้างสภาพควบคุม ให้เขาต้องทำงานในสภาวะที่จริงๆ แล้วเขาไม่ควรต้องทำงานมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ต้องทำตามที่ลูกค้าร้องขอแต่อยู่นอกขอบเขตของงานเพราะกลัวการประเมินผล ที่จะส่งผลต่อโอกาสในการได้งานในครั้งต่อไป
นักเศรษฐศาสตร์อาจจะบอกว่ามันคือ free will คนทำงานเขารู้ว่าจะมีสภาพการทำงานอย่างนี้และเขาเลือกที่จะทำ แต่ผมจะเถียงว่า free Will ต้องอยู่บนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลครบถ้วนก่อนการตัดสินใจเลือกใช่ไหม เขาต้องรู้ว่าเขาจะต้องเจอกับอะไรในอนาคตด้วย มันจึงเป็น free Will แต่ที่พบคือไม่บอกว่าจะเจอกับอะไร ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน การทำงานของแพลตฟอร์มก็เป็น black box ไม่มีใครรู้เลยว่ากลไกในการ matching งานกับคนทำงานคืออะไร ทั้งยังบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้เกิดอุปสงค์เทียม เช่นการให้ส่วนลดหรือโปรโมชั่นในช่วงแรก จนมีคนกระโจนเข้าสู่ฝั่งอุปทานมากขึ้นโดยไม่รู้ว่าเป็นอุปสงค์เทียม มีการเปลี่ยนงานจากงานประจำเดิมมาทำงานบนแพลตฟอร์มเพราะช่วงแรกมีรายได้ที่มากกว่า แบบนี้จะเรียก free Will ไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าต่อมาจะเกิดอะไร และเมื่อเปลี่ยนมาแลกก็เปลี่ยนกลับไม่ง่าย มันมีต้นทุนของการเปลี่ยน คือมี switching cost
ยกตัวอย่าง เช่น ตอนแพลตฟอร์มไปชวนร้านค้าเข้ามาก็ไม่เก็บส่วนแบ่งรายได้ แต่ไม่ได้บอกล่วงหน้าว่าในอนาคตจะเก็บหรือเก็บเท่าไร ร้านค้าก็เข้ามาร่วม พอร่วมแล้วก็เพิ่มช่องทางในการขาย ร้านก็ขายดี บางร้านจ้างคนเพิ่ม เพราะยอดขายเพิ่มขึ้น วันดีคืนดีแพลตฟอร์มก็บอกว่าต่อไปนี้จะเก็บ 30% ร้านค้าก็อยู่ในภาวะที่ว่าถ้าเขาไม่จ่าย ยอดขายก็จะหายไป อาจจะต้องเลิกจ้างพนักงาน โดยมากร้านที่อยู่บนแพลตฟอร์มอยู่แล้วก็ต้องยอมจ่ายเพื่อให้ตนอยู่บนแพลตฟอร์มต่อไป พอเห็นว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เขาก็ไปเพิ่มราคาอาหาร ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายมากขึ้น
พูดง่ายๆ คือไม่ค่อยโปร่งใส
ไม่มี transparency (ความโปร่งใส) ไม่มี accountability (ภาระรับผิดชอบ) ไม่มีทุกอย่าง และเขาต้องพยายามรักษาความไม่โปร่งใสนี้เอาไว้ เพราะถ้าไม่คลุมเครือ คนทำงานรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะได้งานเยอะ matching เยอะ เขาก็จะต้องเปลี่ยน algorithm ของตัวเองไปเรื่อยๆ มีคนเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น black box
สำหรับกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตอนพวกแอปพลิเคชันต่างๆ จะเข้าสู่ตลาด ก็เข้ามาพูดคุย ตอนใหม่ๆ ก็ให้ความหวังพวกเขา แต่พอแอปฯ ได้ข้อมูลที่ตัวเองต้องการแล้ว ก็ไม่เคยกลับมาทำประโยชน์อะไรให้เขาเลย อกหักซ้ำซาก ทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างวินฯ กับคนทำงานบนแพลตฟอร์ม เราได้ข่าววินฯ กับคนทำงานบนแพลตฟอร์มตีกันไม่เว้นแต่ละวัน แต่เราไม่เคยเห็นตัวบริษัทต้องรับผิดชอบอะไร เราก็เลยคิดว่าการเข้าไปช่วยร่วมกัสร้างโอกาส ทำสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อให้เขาต่อสู้ได้ พอเขามีช่องทางตัวเอง ความตึงเครียดเรื่องการสูญเสียความมั่นคงทางอาชีพก็จะน้อยลง
ถ้าเขามีช่องทางของตัวเองใครจะไปอยากดักตีกัน มันก็จะกลายเป็นการแข่งกันให้บริการ มาตรฐานการให้บริการจะสูงขึ้น กลไกตลาดมันก็จะทำงานได้ ต้องเข้าใจมุมของวินฯ ด้วย เขาอยู่ในตลาดมาก่อนก็ถูกกำกับดูแลด้วยกฎระเบียบต่างๆ มีต้นทุนมากกว่า เช่น วินมอเตอร์ไซค์ต้องตรวจสภาพรถให้เป็นไปตามข้อกำหนด ขนาดเครื่องยนต์ตามที่กำหนด ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ค่าโดยสารตามที่กำหนด แต่คนที่มาวิ่งบนแพลตฟอร์มไม่ได้ถูกกำกับแบบนี้ อาศัยช่องว่าง มันเลยสะท้อนออกมาในรูปแบบของการต่อสู้แบบยกพวกไปตีกัน ถ้าเกิดว่ามันมีช่องทางให้เขา การต่อสู้มันก็จะถูกเปลี่ยนจากการทำร้ายร่างกายไปสู่การทำงานแข่งกัน
วินมอเตอร์ไซค์พยายามที่จะต่อสู้กับการเข้ามาของแพลตฟอร์มหรือต่อสู้ในด้านอาชีพของเขาอย่างไรบ้าง
ผมศึกษาดูเขามีรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะ take action กับภัยคุกคามต่างๆ ที่เข้ามาเยอะมาก เช่น เขาเข้าไม่ถึงแหล่งทุน เขาไปกู้เงินไม่ได้ หรืองานที่เขาทำนั้นไม่ถูกยอมรับโดยสถาบันการเงิน เขาก็ต้องไปกู้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยมันแพง เขาก็เลยรวมกลุ่มกันทำกลุ่มออมทรัพย์ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เขาจึงสามารถกู้เงินจากธนาคารได้ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เอาเงินมาให้สมาชิกกู้แล้วปันผลดอกเบี้ย
อีกด้านหนึ่งคือวินมอเตอร์ไซค์เป็นอาชีพที่มีต้นทุนในเรื่องของวัสดุสิ้นเปลือง เช่น น้ำมันเครื่อง ผ้าเบรก วินฯ กลุ่มนี้ก็รวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร้านค้า แล้วก็ไปเจรจากับ supplier แล้วเอาสินค้าที่เขาจำเป็นต้องใช้กันบ่อยๆ มาขายกันเองในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดเพื่อลดต้นทุน
แต่เขาไม่ใช่นักวิชาการหรือนักวิจัย เขาไม่ได้มานั่งถอดบทเรียนว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ที่น่าทึ่งอยู่แล้ว เมื่อเทคโนโลยีใหม่ไป disrupt อาชีพของเขา เขาก็อยากที่จะมีแพลตฟอร์มของตัวเองแต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เขารู้นะครับว่าคนไม่เรียกวินฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าคนคาดหวังมาตรฐานการบริการที่สูงขึ้นด้วย เขาก็ต้องการยกระดับคุณภาพการให้บริการ อยากใช้เทคโนโลยีได้ อยากรับชำระเงินผ่านพร้อมเพย์หรือบัตรเครดิต อยากเข้าไปรับลูกค้าที่หน้าบ้านผ่านการที่ลูกค้าแชร์โลเคชั่นมาให้ แต่เขาทำกันไม่เป็น
แต่ผู้บริโภคมักจะมีภาพว่าวินมอเตอร์ไซค์ชอบคิดแพง
วินฯ ก็รู้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา เรายกประเด็นในฐานะที่เราก็เป็นผู้บริโภคขึ้นมาว่า ถึงแม้ว่าสิ่งที่แอปฯ เสนออาจจะไม่คงเส้นคงวา เช้าราคานี้ เย็นอีกราคา แต่อย่างน้อยเรารู้ว่าเราต้องจ่ายเท่าไร มันไม่ต้องเถียงกันหน้างาน นี่ก็เป็นหัวใจอย่างหนึ่งซึ่งตามสั่ง–ตามส่งก็รู้ว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา เราจึงมาพัฒนามาตรฐานร่วมกัน นี่คือการพยายามลดช่องว่างเรื่องมาตรฐาน ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดมันก็เป็นการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่ดี แต่อย่างน้อยคนที่อยู่บนแพลตฟอร์มรู้ว่าเขามีทางเลือกในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ความตึงเครียดที่เกิดจากความสั่นคลอนด้านความมั่นคงทางอาชีพก็จะลดลง
คุณค้นพบอะไรบ้างในการทำงานกับวินมอเตอร์ไซค์ในแพลตฟอร์มที่พยายามจะสร้างขึ้นใหม่
ตอนแรกเราคิดถึงความมั่นคงทางอาชีพในช่วงโควิด แต่พอเราทำไปจริงๆ พบว่ามีสาเหตุที่มันท้าทายมาก คือเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ร้านค้าบอกผมว่าว่าจะไปเชื่อวินฯ ได้ยังไง วินฯ โก่งราคา มี feedback แบบนี้มาตลอด เราก็คุยกับวินฯ ว่าเราต้องร่วมกันสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันนะ เพราะฉะนั้นโมเดลนี้จะสำเร็จหรือหรือไม่สำเร็จ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญเลย เราคิดว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จ สิ่งนี้มันจะเป็น by product ของโครงการ คือความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจะดีขึ้น ถ้าความสัมพันธ์ในชุมชนดีขึ้น สิ่งดีๆ จะตามมาอีกเยอะ
แพลตฟอร์มที่มีอยู่เดิมค่อนข้างใหญ่และมีทุนสนับสนุน ดังนั้นถ้าจะทำโมเดลนี้ให้ต่อเนื่อง และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้นมา ต้องทำอย่างไร
วินมอเตอไซค์จะมี tradition (ขนบธรรมเนียม) ซึ่งเป็น core value (ค่านิยมหลัก) ของเขาอยู่ คือการไม่รับผู้โดยสารข้ามเขตข้ามวินฯ เราต้องเข้าใจว่าธุรกิจแอปพลิเคชันจริงๆ ก็ไม่ได้ถูกพัฒนามาจากบริบทของประเทศไทย ดังนั้น tradition แบบที่ว่าใครมีคะแนนสูง ใครอยู่ใกล้ ได้รับงานก่อนมันจึงถูกนำมาใช้โดยที่มันไม่ได้ถูกพัฒนามาจากมาตรฐานการให้บริการแบบที่เมืองไทยเป็น ซึ่งก็ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกัน นอกจากที่แพลตฟอร์มของเราจะทำให้เขามีช่องทางที่มากขึ้น มันก็ต้องเป็นช่องทางที่ไม่ขัดกับ tradition แบบเดิมของเขาด้วย เช่น เรื่องความแฟร์ของเขาที่บอกว่าใครมาถึงก่อนก็มีโอกาสได้รับผู้โดยสารก่อน ไม่ใช่ว่าใครได้คะแนนมากกว่า ผมจึงคิดว่าสิ่งที่เราทำมันคงจะไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีอาณาบริเวณใหญ่โต แต่ต้องเป็นเรื่องเชิงพื้นที่ เป็น community-based เพื่อที่จะรักษา tradition แบบนี้เอาไว้ได้
แต่ tradition ควรจะต้องเปลี่ยนตามบริบทสังคมและยุคสมัยหรือเปล่า
นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องโต้เถียงกันว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คุณยังจะมาคิดถึงเรื่องนี้อยู่ไหม แต่เมื่อสิ่งนี้คือคุณค่าที่เขายึดถือมา เราก็ไม่ควรจะทำลายเลยในตอนแรก ต้องเปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรองระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ ไม่อย่างนั้นเขาจะปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่แรก เพราะสิ่งที่เข้ามาใหม่ นอกจากมันจะไปทำลายโอกาสในอาชีพของเขาแล้ว มันยังไปเขย่าความเชื่อเรื่องความแฟร์ในการเข้าถึงผู้บริโภคของเขาด้วย มันจึงเป็นหลายเรื่องซ้อนกันอยู่ ตอนแรกที่เราคิดจะทำแพลตฟอร์มเราก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ เพราะเราไม่ใช่วินฯ เราคิดแต่เรื่องความมั่นคงทางอาชีพ เรื่องโอกาส แต่พอเรามาทำงานจริงๆ การที่ใช้หลัก transdisciplinary approach คือการเชิญเอาตัววินฯ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาทำงานร่วมกัน ทำให้เราเห็นว่ามันมีเรื่องอื่นอีกตั้งเยอะที่เราละเลยไป เราเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สำหรับเขามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
คิดว่าผู้บริโภคมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนในการศึกษาเรียนรู้ tradition เหล่านี้
ในมุมผู้บริโภคเขาต้องการความสะดวก ราคาที่ถูก มาตรฐานในการให้บริการ เขาไม่ได้มาสนใจ tradition ของวินฯ และไม่จำเป็นต้องสนใจด้วย เราก็เลยพยายามเสนอสิ่งที่เราคิดว่าผู้บริโภคต้องการ แต่เมื่อเราทำงานโดยมีวินฯ เป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน เราจึงรู้ว่าอะไรคือคุณค่าของเขาที่เราไม่สามารถละเลยได้ เราก็ต้องหาทางแก้ปัญหาให้เขาบนพื้นฐาน tradition ของเขา
เงื่อนไขทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในด้านของคนใช้งาน เขาไม่ได้มารับรู้เรื่องเหล่านี้ ด้วยวัฒนธรรมการใช้ชีวิตคนเมืองที่ยึดความสะดวกสบายเป็นหลัก โมเดลนี้ยังเป็นไปได้ไหม
เป็นไปได้ ถ้าโมเดลที่เป็น community platform มันใช้ได้ มันก็สามารถที่จะทำให้แต่ละชุมชนเชื่อมโยงกันได้ เทคโนโลยีมันทำได้หมด เช่น เรามีช่องทางในการเรียกวินฯ สำหรับลาดพร้าว 101-87-85 แล้วเราเป็นคนนอกพื้นที่ สมมติมาจากบางนา เมื่อเราต้องการเรียกรถ เราเปิดแอปฯ ดูแล้วเรารู้ว่าจุดที่เราอยู่ เราควรจะต้องเรียกวินฯไหน แล้วเราก็เลือกเพื่อที่จะเข้าไปเรียกรถจากวินฯ นั้น มันทำได้แน่นอน แต่ที่ผ่านมาแอปฯ ที่อยู่ในตลาดไม่ได้ทำงานแบบนี้ เพราะมันไม่ได้ถูกพัฒนามาในบริบทไทย เลยทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ถ้ามันถูกพัฒนามาในวัฒนธรรมของอาชีพเขา มันก็จะไม่เกิดความขัดแย้ง ผู้บริโภคก็ได้รับความสะดวกด้วย จริงๆ ใครจะมาทำธุรกิจตรงนี้ก็ทำได้ แต่ว่าไม่ควรจะเอาส่วนแบ่งมากจนเกินไป ผมคิดว่าผู้บริโภคโอเค วินฯ ก็โอเคเพราะเขาได้ประโยชน์มากขึ้น
ขอย้ำว่า ภาพใหญ่ปัญหาของการโดน disrupt ด้วยเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเรียกรถ มันคือความไม่เป็นธรรมต่อคนที่อยู่ในอาชีพมาก่อน เพราะเขาถูกกำกับดูแล แต่ในขณะที่คนเข้าสู่ตลาดใหม่ ไม่ถูกกำกับดูแล เขาก็รู้สึกว่าทำไมคู่แข่งของเขาถึงไม่ถูกกำกับดูแลเหมือนกัน
ก็คือเรื่องความเหลื่อมล้ำเต็มๆ
ใช่ เป็นความไม่มีประสิทธิภาพ แล้วก็เป็นเรื่องจริยธรรมของบริษัทผู้ประกอบการด้วย ถ้าเราจะ disrupt มันไม่ใช่ disrupt ด้วยการทำผิดกฎหมาย แต่เป็นการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการภายใต้กรอบของกฎหมาย นี่เป็นเรื่องจริยธรรมในการประกอบอาชีพแล้ว คุณเอาผู้บริโภคเป็นตัวประกัน คุณคิดว่าผู้บริโภคจะเลือกคุณเพราะเลือกความสะดวกสบายมากกว่า ราคาถูกกว่า โดยที่คุณไม่สนว่ากิจกรรมที่คุณทำมันผิดกฎหมายได้หรือ
ถ้าผู้บริโภคเองว่าเห็นว่ากฎหมายมันไม่ได้ถูกออกแบบมาดีตั้งแต่แรก แต่ธุรกิจลักษณะนี้มันตอบโจทย์ชีวิตได้ดีล่ะ
ก็ต้องแก้กฎหมายก่อน ไม่อย่างนั้นคุณก็ทำผิดกฎหมาย มันก็จบตั้งแต่ตรงนี้แล้ว จะบอกว่าทำผิดกฎหมายในนามของความสะดวกสบายของผู้บริโภคหรือ มันก็ไม่ใช่นะ กฎหมายคือ social contract (สัญญาของสังคม)ทุกคนมี commitment (ข้อผูกมัด) ร่วมกัน ถ้าคุณบอกว่าเรานำเสนอความสะดวกสบาย แต่ถ้าไม่ทำผิดกฎหมาย มันก็จะไม่สะดวกสบาย พอมันไม่สะดวกสบาย มันก็ไม่นำไปสู่การพัฒนาหรือการแก้กฎหมาย เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกที่จะทำผิดกฎหมายก่อนเพื่อที่จะนำไปสู่การแก้กฎหมาย มันก็จะเป็นปัญหาอย่างที่เราเห็น โอเค ถ้าคุณคิดจะสู้กับอำนาจรัฐด้วยการทำให้สิ่งที่มันผิดกฎหมายนำไปสู่การแก้กฎหมายที่ดีขึ้น แล้วเวลาที่เขาเกิดความขัดแย้งกันคุณรับผิดชอบหรือรับความเสี่ยงอะไรบ้างกับการที่วินมอเตอร์ไซค์กับคนขับในแพลตฟอร์มตีกัน ทุกวันนี้มีข่าวแต่เราไม่เคยเห็นตัวบริษัทออกมา take action ใดๆ เลย ปล่อยให้เขาตีกันเองโดยที่คุณได้ประโยชน์จากส่วนแบ่ง ค่าโดยสาร ถ้าคุณจะบอกว่าสิ่งที่เราขับเคลื่อนผลักดัน ยอมผิดกฎหมายก่อนเพื่อที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า คุณก็ต้องรับผิดชอบ ไม่อย่างนั้นมันคือการฉวยโอกาสโดยการเอาผู้บริโภคมาเป็นข้ออ้างในการทำธุรกิจ
ภาพของวินมอเตอร์ไซค์ที่เรามักจะเห็นในประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องความรุนแรง การประท้วง บางคนก็บอกว่าพวกเขาเองไม่ได้พยายามปรับตัวกับเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจะมองว่าเรื่องนี้คือความเหลื่อมล้ำได้อยู่ไหม
ผมว่าเราสรุปวินฯ ทุกคนแบบนั้นไม่ได้ เราลงไปทำงานมาเรารู้ว่าบางคนใช้เทคโนโลยีไม่เป็น แต่ถ้าเราไปสอนเขาว่าใช้งานแบบนี้ เขาก็ยินดีที่จะใช้และเรียนรู้ แต่พอไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นวินฯ ที่เป็นปัจเจก เราก็ต้องเข้าใจว่าคนที่มาเป็นวินฯ เขาไม่ได้มีทางเลือกในอาชีพมากนัก เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรที่มาสั่นคลอนความมั่นคงทางอาชีพ สิ่งที่เขาตอบโต้กลับมามันก็เป็นลักษณะนี้ ก็น่าจะเป็นแบบนี้ทุกอาชีพ
หมอมีใบประกอบโรคศิลป์ มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ คนอาจจะบอกว่ามันเป็นอาชีพทักษะสูงกับอาชีพทักษะต่ำ เปรียบกันไม่ได้ แต่ผมคิดว่าโดยคอนเซ็ปต์ของการกำกับดูแล เจตนารมณ์ของการกำกับดูแล มันเป็นเรื่องที่รัฐต้องดูแลปกป้องผู้บริโภค ดังนั้นต้องมั่นใจว่ามาตรฐานในการให้บริการได้รับการยอมรับ ถ้าเกิดว่ามีคนที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลป์มาประกอบอาชีพหมอ รัฐก็ต้องดำเนินการถูกไหม เช่นเดียวกัน คนขับในแพลตฟอร์มที่ไม่มีใบอนุญาต ก็ควรจะได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่เราจะมาบอกว่า อาชีพหมอคืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคน จริงๆ โดยหลักการ อาชีพวินฯ ก็เกี่ยวกับความเป็นความตาย การขี่มอเตอร์ไซค์มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกวินาที
ถ้าพูดถึงบทบาทของรัฐในการดูแลวินมอเตอร์ไซค์ รัฐควรจัดการอย่างไรเมื่อมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น
รัฐก็ต้องไปบังคับให้คนที่วิ่งในแพลตฟอร์มพวกนั้นอยู่บนมาตรฐานเดียวกันกับวินฯ คือไปจดทะเบียนรถสาธารณะ มีใบขับขี่สาธารณะ แล้วคุณก็วิ่งในแพลตฟอร์มไปเลย เรื่องค่าโดยสาร ถ้าวินฯ ถูกกำกับเรื่องกิโลเมตรในการวิ่ง แอปพลิเคชันก็ควรจะต้องถูกบังคับด้วยมาตรฐานเดียวกัน หรือถ้าคุณจะไม่กำกับดูแล คุณก็ยกเลิกไปเลย ไม่ต้องกำกับใครสักคน ต่อไปนี้ใครสมัครใจจะประกอบอาชีพนี้ก็ทำได้เลย สำคัญคือทำให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกัน
พอได้เริ่มทำ ‘ตามสั่ง-ตามส่ง’ คุณยังเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเด็นอื่นๆ บ้างไหมในเงื่อนไขการดำรงชีวิตของเขา
หนึ่งคือมันอาจจะมีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเยอะแยะไปหมด แต่นี่อาจจะไปอุดช่องว่างเล็กๆ ช่องหนึ่งเท่านั้น คือเขาอาจจะมีโอกาสที่จะถูกมองเห็นโดยคนที่พอใจที่จะใช้เทคโนโลยีในการเรียกรถ แต่จริงๆ ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เพราะมันเป็นเรื่องความสามารถทางการแข่งขันด้วย แพลตฟอร์มของเราไม่ได้มีความสามารถที่จะไปแข่งขันอะไรเลยถ้าเทียบกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ความสะดวกสบายที่ได้รับ เราต้องเข้าใจว่ามันมีต้นทุนของการเปลี่ยนจากแพลตฟอร์มหนึ่งไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งต้นทุนการ switching มันแก้ไม่ได้ง่าย ต้องมีอะไรบางอย่างที่จูงใจผู้บริโภค เช่น มันทำให้ต้นทุนการเรียกรถลดลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เขาจึงจะเปลี่ยน ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือเราเพิ่มการถูกมองเห็น
สองคือเราเพิ่มมาตรฐานเรื่องราคา การสร้างมาตรฐานเรื่องราคาเป็นเรื่องสำคัญมากเวลาที่เราพูดถึงเรื่องความพึงพอใจของผู้บริโภค ที่ผ่านมาผู้บริโภคเขาขี้เกียจไปทะเลาะกับวินฯ เรื่องราคาค่าโดยสาร
มองว่าการรวมตัวของวินมอเตอร์ไซค์สามารถเป็นตัวแทนที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหาเชิงโครงสร้างได้ไหม
เป้าประสงค์ปลายทางอาจจะเป็นแบบนั้นซึ่งมันอาจจะไกลมาก แต่ตอนนี้ถ้าทำให้วินฯ รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แล้วแพลตฟอร์มนี้เป็นแพลตฟอร์มที่ชุมชนจะต้องดูแลบริหารจัดการกันเอง ท้ายที่สุดมันจะพัฒนาจากการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของเขต เป็นส่วนหนึ่งของ กทม. เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ เชื่อว่ามันจะเป็นการสร้างสำนึกส่วนร่วมทางสังคมซึ่งเป็นส่วนย่อยสุดของความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเขาแสดงให้เห็นแล้วว่ามันมีผลจริงๆ แล้วมันอาจจะขยายผลให้คนในอาชีพอื่นได้เห็น การจะรอให้มันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติมันก็ยากเหมือนกัน การที่จะมีผู้นำโดยธรรมชาติที่ลุกขึ้นมาริเริ่มการรวมตัว คนที่ทำก็ต้องเป็นคนเสียสละมากๆ และแนวโน้มของคนที่ประกอบอาชีพแบบต้องหาเช้ากินค่ำ ซึ่งมีอำนาจในการต่อรองในสังคมน้อยอยู่แล้ว แต่ถ้ามีต้นแบบให้เห็น ก็อาจเป็นแรงกระตุ้นให้อาชีพอื่นได้รับแรงบันดาลใจ
สำนึกและการรวมกลุ่มแบบนี้จะสามารถสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมได้อย่างไร
เมื่อเขารู้ว่าการรวมกลุ่มมันเพิ่มอำนาจต่อรอง ก็จะมีความเห็นอกเห็นใจคนที่ประกอบอาชีพเดียวกันหรืออาชีพอื่นๆ มีสำนึกการต่อสู้คล้ายๆกัน มันก็จะนำไปสู่การหาสิ่งที่เป็นความสนใจร่วม เพื่อสร้างพลังการต่อรองที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของ new social movement เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ LGBTQ กระบวนการสร้าง collective bargaining (การรวมกันเพื่อเจรจาต่อรอง) มาจากการหาอัตตลักษณ์ร่วม ที่ผ่านมาถ้าเราคุยกับกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างเมื่อ 3-5 ปีก่อน เขาก็ยังไม่มีความรู้สึกร่วมว่าตัวเขาเป็นแรงงานนอกระบบ ตอนหลังพอมีภาคประชาสังคมลงไปทำงานกับเขาเยอะขึ้น ทางตัวแกนนำก็ได้ไปเป็นตัวแทนสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ เขาจะค่อยๆ มีเซนส์ที่รู้สึกว่าเขาเป็นแรงงานนะ เขาต้องไปร่วมต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับแรงงานนอกระบบกลุ่มอื่นด้วย เพราะพวกเขาต่างก็เป็นแรงงานนอกระบบเหมือนๆ กัน
ทุกปัญหาในประเทศมันมุ่งไปสู่จุดเดียวคือ democratization (การทำให้เป็นประชาธิปไตย) เพราะการเมืองมันไม่ฟังก์ชัน ไม่สามารถแก้ไขด้วยกลไกที่มันควรจะเป็น ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้มันผลักดันให้สำนึกร่วมบางอย่างค่อยๆ เกิด ถ้ามาดูตอนเขาทำงาน ไม่น่าเชื่อว่าวินฯ เขามีความเข้าใจและความสำคัญของในการมีส่วนร่วมมาก ซึ่งดี เพราะการมีส่วนร่วมมันเป็นปัจจัยพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย
ในระยะยาว ถ้าแพลตฟอร์มนี้พัฒนาตัวเองไปได้ มันน่าจะทำให้การใช้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้นไหม และเขาควรจะทำอย่างไรต่อไปพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐ
ชีวิตอาจจะง่ายขึ้นเพราะต้นทุนลดลง และนี่เป็นแค่โมเดลหนึ่งที่อาชีพอื่นเอาไปทำได้ วินฯ ไม่ได้ไม่โอเคกับการที่รัฐกำกับดูแล เพราะเขาอยู่ในเงื่อนไขแบบนั้นมาตลอด มันไม่เป็นปัญหาเท่ากับการที่ต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งขนส่ง ทั้งตำรวจ ทั้งเจ้าหน้าที่เขต เพราะมันถูกกำกับดูแลจากหลายหน่วยงานเหลือเกิน เขารู้สึกว่าเขาไม่มั่นคง ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้มันมั่นคงก็คือการจ่ายเงินใต้โต๊ะ ช่วงที่เรานั่งมาทำงานอยู่ในสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนตร์รับจ้าง เราเห็นวินฯ เข้ามาร้องเรียนสมาคมเยอะมาก เราก็เพิ่งรู้ว่าพวกเขาถูกกดขี่ในหลายระดับ คือกดขี่ทั้งส่วนที่เป็นกฎหมาย ทั้งเรื่องการที่เขาต้องจ่ายค่าคุ้มครอง ซึ่งมันเป็นต้นทุนของการประกอบอาชีพ
ดังนั้นการมีอยู่ของสมาคม ซึ่งการรวมตัวกันเพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐและอื่นๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมากและสามารถที่จะทำได้ พวกเขารวมตัวกันทำกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่จะต่อสู้เรื่องการเข้าถึงทุน รวมตัวกันทำวิสาหกิจชุมชนของวินฯ เพื่อต่อสู้เรื่องค่าครองชีพ มันทำให้เห็นว่าการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองมันทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น และนี่คือส่วนประกอบพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสียงของเขา การเรียกร้อง มันได้รับการเหลียวแล เขาก็ยิ่งตระหนักว่าเสียงของเขามันมีคุณค่า ถ้าเราทำโมเดลลักษณะนี้ได้ในทุกอาชีพ สามารถรวมตัวเป็นสมาคมวิชาชีพหรือสหภาพแรงงาน ก็ย่อมทำให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงค่านิยมประชาธิปไตยและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์