ปี 2531 บุญชู บ้านโข้ง เดินทางด้วยรถโดยสารจากสุพรรณบุรี มาลงที่ขนส่งสายใต้ รอพี่ชายมารับเข้าไปพักที่บ้าน เพื่อมาเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพ ปีนั้นเขาพบเพื่อนใหม่มากมาย และพบว่าตัวเองสอบไม่ติดจนต้องกลับบ้านไป
ปี 2561 ศักรินทร์ ออกจากบ้านที่อยุธยาตอนเช้ามืดทางเรือ เขานั่งเรือไปต่อรถไฟ แล้วอาจจะไปต่อรถใต้ดินหรือรถเมล์ เขาบอกแม่ว่าไปทำงานที่ธนาคาร เหมือนกับที่พ่อของเขาเคยทำ แต่อันที่จริงเขาเรียนจบแล้วแต่ไม่เคยสมัครงานผ่าน เขาแค่แต่งชุดธนาคารออกจากบ้านให้แม่สบายใจ แล้วไปเปลี่ยนในโรงหนังควบเก่าๆ แห่งหนึ่ง เขาประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ หาเลี้ยงปากท้องทั้งตัวเองและแม่
หนังสองเรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน นอกจากว่ามันสร้างห่างกันสามสิบปีพอดี ซึ่งก็เท่ากับว่าคนรุ่นบุญชูโตพอจะเป็นพ่อของคนรุ่นศักรินทร์ นอกจากว่าหนังทั้งสองเรื่องคือเรื่องของความสัมพันธ์ของกรุงเทพกับบ้านนอก นอกจากว่า หนังทั้งสองเรื่องขับเคลื่อนตัวเองด้วยมุกตลกเจ็บตัววิ่งหนีวิ่งไล่ไปเรื่อยๆ นอกจากว่าหนังทั้งสองเรื่องเปิดด้วยฉากการเดินทาง ‘เข้ากรุงเทพ’ ของสองหนุ่มจากจังหวัดนอกกรุงเทพ ด้วยวิธีการขนส่งมวลชนที่ยากลำบาก เชื่องช้า เพื่อเข้ามาสู่ชีวิตที่ดีกว่า
เราจะกลับมาหาบุญชูอีกครั้ง แต่เรามาเริ่มต้นที่ศักรินทร์กันก่อน ดังที่ได้กล่าวไป เขาเป็นคนหนุ่มลูกหลานชาวบ้าน พ่อที่เคยเป็นผู้จัดการแบงค์และเป็นเสาหลักของบ้านตายจากไปแล้ว พ่อที่เป็นเสมือนวีรบุรุษของบ้าน แม่ของเขาที่เคยเป็นอดีตนักร้อง ยังคงรับจ้างเป็นนักร้องงานเลี้ยง และรับจ้างซักผ้า อยู่บ้านกับย่าที่ป้ำๆ เป๋อๆ เพื่อนบ้านเป็นลุงหัวล้าน อดีตตำรวจที่ตอนนี้หันมาทำกิจการขายตุ๊กตาโดยเอาแม่ไปเป็นลูกมือ และคอยจับผิดทุกคนในชีวิตรวมถึงศักรินทร์ด้วย
ที่กรุงเทพ เขาทำงานวินมอเตอร์ไซค์ของพี่องอาจ วินมอเตอร์ไซค์ที่รักในงานที่ทำ ไปทุกที่ที่มีทาง และที่วินนี้เองเขาได้พบกับจ๋าย รักแรกสมัยประถม ที่สำคัญตอนนี้จ๋ายเป็นสาวแบงค์! ยิ่งกว่านั้นแฟนของจ๋ายก็เป็นผู้จัดการแบงค์ด้วย!!
หลังจากนั้นหนังก็มุ่งหน้าไปเป็นหนังตลกที่เรียงรายไปด้วยฉากศักรินทร์หลบหนีคนรู้จัก จนราวกับว่าคนอยุธยาย้ายมาอยู่กรุงเทพกันถ้วนหน้า จนกระทั่งเล่นกับตลกเจ็บตัว ตลกโกหกไหลลื่นตามสถานการณ์จนพึงพอใจแล้ว หนังจึงอธิบายเหตุผลที่ศักรินทร์ต้องปิดแม่เรื่องไม่ได้ทำงานแบงค์ เรื่องของจ๋ายที่ไม่ได้อยากเป็นในสิ่งที่ศักรินทร์อยากเป็นแทบเป็นแทบตาย หรือเรื่องที่ว่าพวกเขาทั้งคู่และเกือบทุกคนในเรื่องเป็นเพียงชนชั้นกลางระดับล่างที่มีความฝัน แต่ฝันได้อย่างจำกัดจำเขี่ย กระทั่งฝันเล็กจ้อยแบบนั้นก็ยังเป็นไปได้ยากเย็นยิ่ง
สิ่งที่น่าเสียดายจริงๆ ของหนัง ก็คือการที่หนังใช้เวลาไปกับเหตุการณ์เดิมๆ ซ้ำๆ ศักรินทร์เจอแม่ เจอลุงข้างบ้าน เจอลูกลุงข้างบ้าน การเล่นซ้ำของสถานการณ์เดิมไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำให้หนังตลกขึ้น (เพราะจุดที่ตลกสุดๆ ในหนังจนคือการแสดงของน้าค่อม กับ น้าโรเบิร์ต สายควันที่แพรวพราวจนรู้สึกว่านี่คือหนึ่งในการแสดงที่น่าจดจำที่สุดในรอบปี) แต่ทำให้หนังเสียเวลาที่จะพูดเรื่องที่หนังควรจะพูดจริงๆ และพูดได้ดีเสียด้วย ซึ่งกลับดูเหมือนหนังอยากจะพูดเรื่องนี้น้อยกว่าเรื่องที่ว่าศักรินทร์จะหนียังไง เอาตัวรอดแบบไหนในแต่ละสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้ทำให้หนังน่าสนใจน้อยลงและถึงตอนนี้เราจะกลับไปหาบุญชูผู้น่ารักซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับหนังเรื่องนี้อีกครั้ง
เราอาจบอกได้ว่า บุญชูเป็นภาพแทน ‘ความใฝ่ฝัน’ ของหนุ่มสาวชนชั้นกลางระดับล่างลูกหลานชาวนาหรือคนหาเช้ากินค่ำในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980’s ต่อ 1990’s (อันที่จริงชีวิตของบุญชูก็ทำให้นึกไปถึงว่านี่คือลูกหลานของ สาย สีมา แห่ง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์) ช่วงที่ผู้คนหวังว่าจะเป็นเจ้าคนนายคนผ่านทางการเรียนมหาวิทยาลัย บุญชูเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อร่ำเรียน ในที่สุดจบไปพร้อมใบปริญญาและสาวงาม ไปสร้างบ้านแปงเมืองให้เจริญก้าวหน้า
ผ่านไปสามสิบปี อุดมคติของคนรุ่นนั้น ความใฝ่ฝันและสภาพสังคมเศรษฐกิจการเมืองที่รุ่งโรจน์และล่มสลาย ตัวละครที่เข้าเมืองมาเรียนหนังสืออย่างบุญชู ไม่ใช่ทุกคนจะได้ชีวิตแบบบุญชู ไม่ว่าจะมุ่งมั่นขนาดไหนโดยมากข้อจำกัดหลากหลายก็ทำให้เขาไปไม่ได้กว่า จ๋ายหรือศักรินทร์
เราอาจบอกว่าศักรินทร์คือคนรุ่นต่อมาที่การเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่เครื่องประกันความสำเร็จ และสำหรับชีวิตศักรินทร์ เขาต้องทำอะไรก็ได้เพื่อให้แม่และยายสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ที่เจ็บกว่าเจ็บคือกระทั่งความใฝ่ฝันของศักรินทร์ ก็เป็นเพียงการเป็นพนักงานแบงค์เพื่อเลี้ยงครอบครัว ไม่ใช่ความใฝ่ฝันของการเปลี่ยนแปลงโลกอะไรอีกต่อไป ในขณะที่จ๋ายแค่อยากไปให้พ้นจากงานแบงค์ แต่ยังไม่รู้จะไปไหนได้ และถึงจะมีฝันที่ใหญ่กว่าศักรินทร์ แต่การที่หนังไม่ให้น้ำหนักกับเรื่องของจ๋ายมากนักก็ไม่ยากจะคาดเดาว่าเธอไม่ได้มีทางเลือกมากกว่าศักรินทร์มากนัก (ฉากที่ดีมากๆ ในหนังคือฉากจ๋ายจับกิ๊ก เพราะเป็นฉากที่เราได้เห็นฤทธิ์เดชแบบสก๊อยบ้านๆ ของจ๋ายมากกว่าจะเป็นนางในฝันตามแบบแผนของหนังรอม-คอม หากแต่เป็น girl next door ที่มีปัญหาของตัวเอง มีชีวิตเป็นของตัวเอง ซึ่งฝน ธนันศฉัตร ให้การแสดงที่น่าจดจำมากๆ ในหลายๆ ฉาก)
แน่นอนว่าชีวิตของศักรินทร์และจ๋ายไม่ใช่ชีวิตของคนยากจนจำนวนมากในประเทศนี้ เอาเข้าจริงก็ถือว่าสะดวกสบายใช้การได้แล้ว แต่สิ่งที่พวกเขาเป็นก็ห่างไกลจากชีวิตของเด็กร่วมรุ่นชนชั้นกลางที่ทำงานในเมืองมากๆ —พวกเขาคือใคร พวกเขาคือพนักงานระดับล่าง เดินตลาดนัด กินหมูกระทะ ฝันอย่างจำกัดและมีชีวิตโดยแบกแอกของครอบครัวข้างหลังติดตัวมาด้วย เขาคือกลุ่มคนที่จะออกไปแตะขอบฟ้า แต่ดูเหมือนโชคชะตาไม่เข้าใจจนเขาต้องหดขอบฟ้าลงมาเรื่อยๆ
เลยพ้นไปจากนั้น สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือบทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
จากการรวบรวมข้อมูลตอนนี้ มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นทะเบียนแล้ว 130,000 คน โดยเฉลี่ยจะรับผู้โดยสารวันละ 40-50 คน หากคิดทั้งระบบจะมีผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 6 ล้านคนต่อวัน ซึ่งก่อเกิดรายได้วันละ 65-130 ล้านบาทต่อวัน หรือปีละ 23,000-40,000 ล้านบาท
ผู้มีอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่เป็นชาย อายุราว 20-40 ปี เป็นคนต่างจังหวัดที่ทำงานส่งเสียครอบครัวที่ต่างจังหวัด หลายคนให้เหตุผลที่ทำอาชีพนี้ว่า เพราะมีความอิสระ หมายถึงอิสระจากคำสั่งต่างๆ และอิสระที่จะไป-มา ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดได้ รวมถึงความรู้สึกว่าตนมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม
เคลาดิโอ โซปรานเซตติ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้พูดถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างในฐานะเป็น ‘Mediator’ หรือตัวกลาง-ตัวเชื่อม ในหลายๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่จากการที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างความความสัมพันธ์แน่นแฟ้นแบบเชื่อใจกันกับคนที่พื้นที่ ทำให้พวกเขาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูงหรือ ‘ผู้ใหญ่’ ในพื้นที่นั้นๆ เช่นมีคนที่ลูกเรียนเก่งแต่ไม่มีเงินศึกษาต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็จะเป็นตัวกลางคอยช่วยหยิบยืมจากคนที่มีเงิน แม้มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะเป็นชนชั้นล่างในเมืองแต่ก็มีความสัมพันธ์กับชนชั้นกลาง-ชนชั้นสูง ทำให้ถึงพวกเขาจะไม่มีอำนาจสาธารณะ แต่ก็มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากชนชั้น นั่นคืออำนาจของเครือข่าย (Network)
จากข้อความที่ยกมา ดูเหมือนว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เป็นงานซึ่ง (อย่างน้อยก็ในความคิดของศักรินทร์) ถูกมองว่าเป็นเพียงงานต๊อกต๋อย เป็นงานที่ไม่โก้เก๋เหมือนเจ้าหน้าที่ธนาคาร ในข้้อนี้มีความน่าสนใจในหลายระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูเหมือนหนังแสดงให้เห็นว่า วินมอเตอร์ไซค์ของพี่องอาจมีความมุ่งมั่นในการบริการ ในการที่จะรับผิดชอบผู้โดยสาร อันที่จริงหนังเกือบจะเป็นหนังสายตระกูล ‘ทุกอาชีพมีหลักการและทุกอาชีพมีความสำคัญ’ แบบที่ซีรีส์สายอาชีพในญี่ปุ่นเป็น แต่การที่หนังเลือกจะตอบสนองความสำเร็จในชีวิตด้วยวิธีการแบบทุนนิยมตอนปลายคือการเป็นพนักงานแบงค์ดีกว่าเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (ซึ่งจริงหรือไม่ก็อีกเรื่อง) ทำให้หนังไม่ได้เป็นอย่างที่มันน่าจะเป็น
หนังลดรูปมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ทั้ง ขนคน ขนของ ให้เป็นเพียงงานชั่วคราวของศักรินทร์ หัวใจของมันคือการที่ในที่สุดศักรินทร์ทำตามความฝันของตนได้ การทำตามความใฝ่ฝันก็คือเนื้อแท้ของหนังในตระกูล underdog เป็น grand narrative ของหนังจำนวนมาก จนทำให้ความสมเหตุสมผลของชีวิตถูกทอนออกเพื่อรับใช้อุดมคติของการประสบความสำเร็จในการทำตามความฝันนี้
แต่แม้ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนเล็กคนน้อยเหล่านี้เองที่มาช่วยเขาในช่วงเวลาที่เข้าตาจนจริงๆ ฉากที่ดูเหมือนตลกอย่างรถแลกเงิน กลายเป็นฉากที่พลิกเพียงนิดเดียวก็จะเห็นถึงการดิ้นรนอย่างไร้ทางออกของคนเล็กคนน้อยในสังคม ที่ต้องช่วยเหลือกันเองแม้ตัวเองจะเอาตัวไม่ค่อยรอดแล้วก็ตาม (จริงๆแล้วฉากการยืมเงินจ๋าย แล้วขอผ่อนชำระก็เป็นฉากที่ไม่ใช่ว่าจะพบได้ทั่วไปในหนังรอมคอมกระแสหลักที่เห็นเงินเป็นตัวร้าย ตัวร้ายจึงต้องเป็นคนรวยหรือทุนนิยมอยู่ร่ำไป)
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่เพราะการมองจากภายนอกแบบง่ายๆ ว่างานใช้แรงมันต่ำต้อยกว่างานห้องแอร์ มอเตอร์ไซค์รับจ้างยังต้องเจอกับปัญหาอื่นๆ ดังที่ตัวแทนจากคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ให้สัมภาษณ์ไว้ “แม้สร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่วินมอเตอร์ไซค์กลับถูกจัดประเภทเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคมได้เพราะไม่มีนายจ้าง จึงถามว่าเหตุใดวินมอเตอร์ไซค์ถึงเข้าถึงหลักประกันสุขภาพไม่ได้ อีกทั้งกรมการขนส่งไม่ผลักดันให้วินมอเตอร์ไซค์เข้าระบบแอพพลิเคชั่น ซึ่งจะช่วยเรื่องการบริการและยังแก้ไขปัญหาค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมเพราะสามารถคำนวณค่าบริการตามระยะทางจากจุดรับไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ส่วนสมาคมที่ตั้งขึ้นก็มีไว้เพื่อไม่ให้ตำรวจจับ การดำเนินงานของสมาคมล้วนทำเองโดยไม่มีผู้สนับสนุนคนใดเข้ามาช่วย’
มันจึงไม่แปลกที่ในที่สุดศักรินทร์จะตามความฝันไป แทนที่จะค้นพบว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นอาชีพที่มีความหมาย
แม้ว่าถึงที่สุด ไบค์แมนจะเป็นเพียงหนังตลกที่ตอบสนองความรักและความฝันใฝ่แบบเดียวกับที่บุญชูเคยตอบสนองสังคมไทยไว้ แต่ด้วยกาลเวลาที่แตกต่างกัน ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศแตกต่างกันไป ความฝันใฝ่แบบบุญชูอาจไม่ได้ง่ายเหมือนที่เราคิด และชีวิตจริงของผู้คนก็ปากกัดตีนถีบ ไม่มั่นคง และเสี่ยงต่อการติดลบแบบชีวิตของศักรินทร์และจ๋ายนั่นแหละ