ได้เห็นการประท้วงของเยาวชน นักเรียน อาชีวะ นิสิตนักศึกษา และประชาชนผู้ผู้รักประชาธิปไตยที่ผ่านมาโดยตลอด มีการหยิบเอาสิ่งของในวัฒนธรรมป๊อปมาใช้ในการชุมนุมได้อย่างคมคาย สนุกสนาน เปี่ยมไหวพริบและอารมณ์ขัน ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และประโยชน์ใช้สอย 

ล่าสุด สิ่งของในวัฒนธรรมป๊อปที่หลายคนรู้จักและคุ้นเคยที่ถูกหยิบมาใช้ในการชุมนุมก็คือเป็ดยางนั่นเอง

เป็ดยางเป็นของเล่นยอดฮิตในอ่างอาบน้ำที่สร้างความสนุกสนานให้เด็กๆ ทั่วโลกมาทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19  แรกเริ่มมันผลิตจากยางตันแข็งๆ ด้วยกระบวนการผลิตยางคงรูปที่คิดค้นโดย ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ (Charles Goodyear) ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตยางรถยนต์ชื่อดังอย่าง Goodyear หากแต่เป็นของเล่นที่ลอยน้ำไม่ได้ แค่ให้เด็กเอาไว้กัดเคี้ยวเล่นแก้คันฟันแทน 

เป็ดยางในยุคสมัยใหม่ ภาพโดย gaetanlee

หลังจากนั้นในปี 1940 ปีเตอร์ กานีน (Peter Ganine) ประติมากรชาวรัสเซียนอเมริกัน ได้ออกแบบ คิดค้น และจดสิทธิบัตรเป็ดยางในรูปของของเล่นลอยน้ำออกมา โดยขายไปได้กว่า 50 ล้านตัวทั่วโลก หลังจากนั้นเป็ดยางก็กลายเป็นของเล่นที่แพร่หลาย มันถูกออกแบบในหลายฟังก์ชั่น ทั้งเป็ดยางที่บีบแล้วส่งเสียงร้องก้าบๆ เหมือนเป็ดจริงๆ หรือออกแบบให้มีรูพ่นน้ำเล่น ฯลฯ

เป็ดยางกลับมาโด่งดังในวัฒนธรรมป๊อปอีกครั้งในปี 1970 จากเพลงประกอบรายการโทรทัศน์ เซซามี สตรีท อย่างเพลง Rubber Duckie 

เป็ดยางกลายเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ สดใส ไร้เดียงสา ที่เชื่อมโยงกับความสนุกสนานของเด็กๆ องค์กรการกุศลทั่วโลกสามารถใช้เป็ดยางเป็นสัญลักษณ์ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องกังวลว่าจะสื่อถึงความหมายในแง่ลบ

…..

ที่สำคัญ เป็ดยางยังถูกนำมาทำเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ในผลงานชื่อ ‘Rubber Duck’ ประติมากรรมเลอยน้ำขนาดยักษ์รูปเป็ดยาง ที่ปรากฏในหลายเมืองทั่วโลก ทั้งในฮ่องกง, พิตต์สเบิร์ก, โตรอนโต, เกาสง (ไต้หวัน), บากู (อาเซอร์ไบจาน) และซิดนีย์ ฯลฯ ประติมากรรมเป็ดยางแต่ละตัวถูกสร้างขึ้นใหม่ในท้องถิ่น ในทุกที่ที่มันไปจะเป็นการจัดแสดงในรูปแบบของงานศิลปะสาธารณะที่แสดงแค่ชั่วคราวเท่านั้น และมันได้รับการขนานนามว่าเป็นงานศิลปะคอนเซปฌวลสาธารณะที่เตะตาสุดในโลกยุคปัจจุบัน

ประติมากรรมรูปเป็ดยางสีสันสดใสน่ารักน่าชังที่ว่านี้เป็นผลงานของ ฟลอเรนเตน ฮอฟแมน (Florentijn Hofman) ศิลปินชาวดัตช์ ผู้มักจะสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางสไตล์ป๊อปอาร์ตอันสนุกสนานในพื้นที่สาธารณะของเมืองหลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมรูปเป็ดยาง, อีกา, กระต่าย หรือฮิปโปโปเตมัส

เขายังมักจะจำลองข้าวของธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าแตะ พื้นไม้ลามิเนต เรือกระดาษ ออกมาเป็นผลงานประติมากรรมขนาดใหญ่เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับวิถีชีวิตของผู้คน เป้าหมายในการทำงานศิลปะของเขาคือการแสดงออกและส่งสารแห่งการเยียวยาให้กับคนเหล่านั้น 

การทำประติมากรรมให้มีขนาดใหญ่มหึมาจะทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองหดเล็กลง ซึ่งช่วยปัดเป่าอีโก้ของเราให้หมดไป และทำให้ผู้คนสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น

ประติมากรรม Rubber Duck ที่ซิดนีย์, 2013 ภาพโดย Eva Rinaldi 

ฮอฟแมนกล่าวว่า แรงบันดาลใจเริ่มต้นในการสร้างผลงานประติมากรรมเป็ดยางของเขาเกิดจากตอนที่เขาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในปี 2001 บวกกับโฆษณาโยเกิร์ตยี่ห้อหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ในปีใกล้เคียงกัน เขาจึงเสาะหาของเล่นเป็ดยางที่โดนใจ จนพบดีไซน์ของบริษัทของเล่นฮ่องกงชื่อ Tolo Toys ที่ผลิตของพรีเมียมให้บริษัทผู้ผลิตโยเกิร์ตสัญชาติดัตช์ยี่ห้อ Yogho! Yogho! มาใช้เป็นต้นแบบในการผลิตผลงานของเขาขึ้นมา

ประติมากรรมเป็ดยางผลิตออกมาหลากหลายขนาด ขนาดใหญ่ที่สุดถูกแสดงในเมืองแซ็งนาแซร์ ประเทศฝรั่งเศส มีขนาด 26 x 20 x 32 เมตร รองลงมาคือตัวที่แสดงที่ทะเลสาบซอกชน กรุงโซล 16.5 x 19.8 x 16.5 และในปักกิ่งที่มีขนาด 14 x 15 x 18 เมตร และเป็ดแต่ละตัวจะมีน้ำหนักกว่า 1 ตัน ตัวเป็ดยางสร้างขึ้นจากโครงสร้างท่อพีวีซี กลวงใน หุ้มด้วยผืนผ้าพลาสติกพีวีซี 200 ชิ้น ที่เชื่อมต่อกันโดยการเย็บด้วยจักรเย็บผ้า 

เพื่อความแข็งแรงทนทาน ตัวเป็ดยางถูกออกแบบให้ทีมงานและสถาปนิกผู้สร้างสามารถเปิดเข้าไปตรวจสภาพความสมบูรณ์ข้างในได้ ภายในลำตัวเป็ดยางมีพัดลมไฟฟ้าอยู่ข้างใน เพื่อให้ตัวเป็ดพองลมตลอดเวลา ไม่ว่าในสภาพอากาศดีหรือเลว ตัวฐานลอยน้ำของเป็ดถูกออกแบบให้มีเชือกผูกยึดตัวเป็ดให้อยู่นิ่ง ไม่ถูกกระแสน้ำพัดพาไปไหนต่อไหน ด้านล่างของเป็ดยังมีสายเคเบิลกันน้ำที่รับพลังงานไฟฟ้าจากแผงจ่ายไฟใกล้ทะเลสาบ เพื่อให้พัดลมไฟฟ้าในตัวเป็ดทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ ให้อากาศไหลเวียนภายใน คงรูปเป็ดยางเอาไว้ไม่ให้แฟบและพองลมอยู่เสมอ

นับตั้งแต่ปี 2007 มีการจัดแสดงประติมากรรมเป็ดยางในหลายแห่งทั่วโลก เริ่มครั้งแรกที่เมืองพิตต์สเบิร์ก เพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริการ ในวันที่ 27 กันยายน ถึง 20 ตุลาคม 2013 โดยมีผู้ชมกว่า 1,000,000 คนที่เดินทางไปชม 

ถึงจะมีคนจำนวนมหาศาลรักมัน แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่ชิงชังประติมากรรมเป็ดยางตัวนี้ มันถูกนักวิจารณ์บางคนวิพากษ์จารณ์อย่างเกรี้ยวกราดว่าไม่ใช่งานศิลปะ และไม่สร้างความหมายอะไรให้กับพื้นที่ที่มันปรากฎตัวอยู่เลยแม้แต่น้อย บางคนเกลียดชังมันจนถึงขนาดบุกเข้าก่อวินาศกรรมด้วยการแทงเป็ดยางถึง 42 แผล ขณะที่แสดงอยู่ในเบลเยียมในปี 2009 

ประติมากรรมเป็ดยางหลายตัวยังเกิดอุบัติเหตุเสียหายอีกหลายครั้ง ทั้งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไต้หวัน หรือหลุดลอยไปตามกระแสน้ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศจีน หรือเกิดอุบัติเหตุชนเข้ากับป้ายจนทะลุเป็นรูและเหี่ยวแฟบลงที่เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี

ด้วยชื่อเสียงอันโด่งดัง ทำให้ประติมากรรมเป็ดยางถูกทำออกมาในเวอร์ชันลอกเลียนแบบบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากทางการแคนาดาในปี 2017 ที่ทำเป็ดยางก็อปปี้ออกทัวร์แสดงไปทั่วประเทศในวาระครบรอบ 150 ปี ประเทศแคนาดา ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศโดยเปล่าประโยชน์ แต่หลังจากมีการรายงานว่าประติมากรรมเป็ดยางเวอร์ชันก็อปปี้นี้สร้างผลกำไรให้กับงานที่เข้าร่วม สตูดิโอของ ฟลอเรนเตน ฮอฟแมน ก็ออกมาแจ้งว่าพวกเขาไม่อนุมัติลิขสิทธิ์ให้กับผลงานก็อปปี้ชิ้นนี้

ด้วยความที่ฮอฟแมนต้องการให้ผลงานของเขาเป็นงานศิลปะของสาธารณชน และไม่ต้องการให้มันถูกซื้อหรือสะสมโดยนักลงทุนหรือนักสะสมที่ต้องการค้ากำไรจากงานศิลปะ ด้วยเหตุนี้เขาจึงทำงานชิ้นนี้ (และชิ้นอื่นๆ) ในขนาดใหญ่มหึมา และจัดแสดงในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น

เขากล่าวว่าผมไม่เชื่อในงานศิลปะที่คงอยู่ตลอดไป ผลงานศิลปะหลายชิ้นถูกซื้อโดยคนร่ำรวยมีเงินทอง แต่ผมรักที่จะทำงานศิลปะสาธารณะในพื้นที่สาธารณะมากกว่า” 

ฮอฟแมนมีจุดยืนอันเข้มงวดเกี่ยวกับการขายผลงานศิลปะของตัวเอง โดยเขาขายผลงานศิลปะเพียงในรูปแบบของตัวจำลองขนาดเล็กเท่านั้น และกำไรจากการขายทั้งหมดก็มอบให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในท้องถิ่นที่ไปแสดงงานอีกด้วย

เขายังเคยยกเลิกการเดินทางไปปรากฏตัวที่เมืองจีหลง ไต้หวัน เพื่อเป็นการประท้วงที่ผู้จัดงานเปลี่ยนประติมากรรมของเขาให้เป็นเหมือนการแสดงละครสัตว์เพื่อการค้า แต่ในทางกลับกัน ท่าทีเช่นนี้ของเขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผลงานของเขาเองก็เป็นงานศิลปะที่หยิบฉวยมาจากผลงานของคนอื่นอีกที ดังนั้นเขาจึงไม่มีสิทธิ์อวดอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้ด้วยซ้ำไป

…..

ถึงแม้ว่าเป็ดยางจะเป็นของเล่นที่น่ารัก ใสซื่อบริสุทธิ์เพียงใด หรือแม้ตัว ฟลอเรนเตน ฮอฟแมน จะไม่ได้ทำผลงาน  Rubber Duck ให้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ท้ายที่สุด วัตถุชิ้นนี้ก็ดันกลายเป็นสิ่งของต้องห้ามไปเสียได้  

ไม่ว่าจะเป็นการที่มันถูกบล็อกจาก ซินล่างเวย์ปั๋ว (Sina Weibo) เว็บไซต์ไมโครบล็อกยอดนิยมของจีน จากการที่นักเคลื่อนไหวชาวจีนเอาภาพมันไปตัดต่อเข้ากับภาพข่าวการเมืองอันโด่งดังของไอ้หนุ่มรถถังหรือ ‘Tank Man’ ผู้หาญกล้ายืนประจันหน้ารถถังเพียงลำพังในช่วงเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 โดยเป็ดยางถูกโฟโต้ช็อปเข้าไปแทนรถถังสามคันในภาพเดิมอย่างน่าขัน จนกลายเป็นมีมที่แพร่หลายไปทั่วโลก และทำให้เจ้าเป็ดยางสีเหลืองตัวนี้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการเมืองที่แสลงใจรัฐบาลจีนไปในทันทีทันใด ผลลัพธ์ก็คือ เมื่อค้นคำว่า ‘Big Yellow Duck’ (เป็ดเหลืองตัวใหญ่) ในเว็บไซต์ก็จะไม่สามารถแสดงผลการค้นหาได้

ประติมากรรม Rubber Duck ที่ถูกตัดต่อลงในภาพ Tank man

หรือล่าสุด ในวันที่ 17 พฤศจิกายน .. 2563 ที่ผู้ชุมนุมประท้วงกลุ่มราษฎร ปักหลักประท้วงด้านนอกอาคารรัฐสภาในกรุงเทพฯ โดยใช้เป็ดยางเป่าลมสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ในการยึดพื้นที่ด้านนอกรัฐสภาในระหว่างการประชุมร่วมกันในวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนุญ และปฏิรูปสถาบันฯ 

เป็ดยางเป่าลมสีเหลืองขนาดใหญ่เหล่านี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องกำบังการฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย และมันก็ได้กลายเป็นมีมในวันรุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว 

แม้ในการชุมนุมล่าสุดที่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 18 พฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมา ก็ปรากฎให้เห็นเป็ดยางสีเหลืองตัวใหญ่อีกมากมายเช่นกัน 

เป็ดยางในการชุมนุมของม็อบราษฎรในวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา : ภาพ JACK TAYLOR / AFP

ด้วยเหตุนี้ เป็ดยางเป่าลมสีเหลืองก็อาจจะกลายเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย เช่นเดียวกับสิ่งของจากวัฒนธรรมป๊อปอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ 1984, แซนด์วิช ไปจนถึงตัวการ์ตูนแฮมทาโร่, ตัวละครจากภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์, น้อยหน่า หรือการชูสามนิ้วจากหนัง The Hunger Games และอื่นๆ อีกมากมาย ที่รัฐเผด็จการชิงชังและหวาดกลัวจนต้องตามเซ็นเซอร์อีกก็เป็นได้ 

ใครจะไปรู้

ข้อมูล

https://en.wikipedia.org/wiki/Rubber_duck

https://en.wikipedia.org/wiki/Rubber_Duck_(sculpture)

https://en.wikipedia.org/wiki/Florentijn_Hofman#cite_note-kee-10 

https://www.atlasobscura.com/articles/meet-the-worlds-most-controversial-inflatable-yellow-duck

http://467895-8.web1.fh-htwchur.ch/

Tags: , , ,