จีนกำหนดจัดการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ปักกิ่งยืนยันว่า อภิมหาโครงการเชื่อมโลกของจีนไม่ใช่เครื่องมือแผ่อิทธิพล แต่ยินดีรับฟังข้อวิจารณ์ เช่น ประเด็นกับดักหนี้สิน และความไม่โปร่งใส
รัฐบาลปักกิ่งบอกว่า เวทีประชุม Belt and Road Forum ในช่วงวันที่ 25-27 เมษายน ถือเป็นงานการทูตที่สำคัญที่สุดของจีนในปี 2019
งานซึ่งจะจัดที่ศูนย์การประชุมหรูหราบนเนินเขาทางตอนเหนือของเมืองหลวง มีผู้แทนต่างชาติเข้าร่วมกว่า 150 คณะ รวมแล้วกว่า 5,000 คน
ในจำนวนนี้เป็นผู้นำจาก 37 ประเทศ รวมถึงคณะของไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน อิมรอน ข่าน และผู้นำจากอิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย
แผนการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นคนต้นคิดนี้ มุ่งสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงเป็นโครงข่าย ครอบคลุมจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง และยุโรป
นับแต่จีนเริ่มผลักดันแนวคิดนี้เมื่อปี 2013 จีนได้ปล่อยเงินกู้ไปแล้ว 190,000 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับโครงการกว่า 600 โครงการโดยผ่านทางธนาคารเพื่อการพัฒนาของจีน (China Development Bank)
ในการประชุมปีนี้ มีหัวหน้ารัฐบาลต่างชาติเข้าร่วมมากขึ้นกว่าเมื่อปี 2017 เมื่อสองปีก่อน มีประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม 29 ประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า แผนแถบและทางได้รับความสนใจจากประชาคมโลกเพิ่มขึ้น แม้ว่ายังคงมีเสียงวิจารณ์หลายประเด็น
จีนน้อมรับคำวิจารณ์
แผนแถบและทางถูกตั้งคำถามมาก บ้างแคลงใจในเจตนาของจีน บ้างสงสัยในความสมประโยชน์ ประเด็นที่พูดกันบ่อยในหมู่ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ก็คือ จีนใช้แผนการนี้เป็นเครื่องมือแผ่อิทธิพล ประเทศที่ร่วมมือทำโครงการกับจีนจะกลายเป็นลูกหนี้จีนอย่างไม่มีปัญญาชดใช้ได้หมด และโครงการหลายอย่างเต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส
เมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) หวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ตั้งโต๊ะแถลงตอบต่อข้อห่วงกังวลนานาประการจากประชาคมระหว่างประเทศ
นายหวังบอกว่า แนวคิดเส้นทางสายไหมยุคใหม่นี้ ไม่ใช่ “เครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์” และไม่ใช่ “กับดักหนี้สิน” อย่างที่หลายประเทศวิจารณ์ หากแต่เป็นความสัมพันธ์ในเชิงหุ้นส่วน เป็นช่องทางของการประสานความร่วมมือ ประเทศที่เข้าร่วมแผนการนี้กับจีนจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
เขาแจกแจงว่า แผนแถบและทางเป็นกระบวนการพัฒนา ไม่อาจบรรลุถึงเป้าหมายได้ในการเดินแค่ก้าวเดียว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดความวิตกในเรื่องนั้นเรื่องนี้ในช่วงที่กำลังพัฒนาโครงการ ดังนั้น จีนยินดีรับฟังข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์จากทุกฝ่าย
สหรัฐฯ-ยุโรป ไม่หนุนเต็มตัว
จนถึงขณะนี้ นอกจากสงวนท่าทีที่จะสนับสนุนแผนแถบและทางอย่างเต็มตัวแล้ว สหรัฐฯ ยุโรป และบรรดาพี่เบิ้มในเอเชีย ยังเสนอแผนทางเลือกออกมาประชันกับข้อริเริ่มของจีนด้วย
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ และออสเตรเลีย หารือกันที่จะเสนอ แผนความร่วมมือใหม่ ในทำนองเดียวกับแถบและทาง ต่อมาในเดือนสิงหาคม สหรัฐฯ ก็เสนอแนวคิด อินโด-แปซิฟิก ตามด้วยข้อเสนอ แผนเชื่อมสาธารณูปโภค ของสหภาพยุโรปในเดือนกันยายน
แน่นอนว่า จีนย่อมรับรู้ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ และสำเหนียกได้ว่า ชาติตะวันตกบางประเทศไม่ได้ขานรับแผนการของจีนอย่างกระตือรือร้นนัก และสำหรับการประชุมในปีนี้ สหรัฐฯ กับอียู ซึ่งกำลังพูดจากับจีนในเรื่องการค้าที่เป็นธรรม อาจไม่ได้ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วม
วัดบารมีเจ้าภาพ
เมื่อปี 2017 ทำเนียบขาวส่งนายแมท พอททิงเกอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาร่วมประชุม แต่ในปีนี้ มีข่าวว่าสหรัฐฯอาจเพียงแค่มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตในกรุงปักกิ่งเข้าไปนั่งสังเกตการณ์และจดบันทึกเนื้อหา
สำหรับผู้แทนจากสหภาพยุโรปนั้น เดิมอียูจะส่งรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เจอร์กี คาเทเนน ซึ่งเคยมาร่วมประชุมเมื่อปี 2017 แต่ล่าสุดทางอียูแจ้งกับเจ้าภาพว่า เขาติดภารกิจการประชุม อียู-ญี่ปุ่น เสียแล้ว ตอนนี้จึงยังไม่รู้ว่าจะส่งใครมาแทน
อย่างไรก็ดี อียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ยุโรปต้องการเข้าถึงตลาดจีนให้มากขึ้น จึงเข้าใจกันว่า อียูคงส่งผู้แทนในระดับที่สมน้ำสมเนื้อมาร่วมประชุม
ตัวแทนระดับผู้นำของชาติสมาชิกอียูที่จะมาร่วม คือ นายกรัฐมนตรีอิตาลี จุสเซปเป กอนเต ซึ่งได้ลงนามเข้าร่วมในแผนแถบและเส้นทางกับจีนไปแล้ว ขณะเดียวกัน ประเทศอียูอื่นๆ ที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับจีน เช่น ฮังการี โปแลนด์ กรีซ และโปรตุเกส ก็จะส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมเช่นกัน
งานนี้จึงเป็นงานแสดงบารมีของเจ้าภาพไปในตัว จัดงานใหญ่ระดับชาติทั้งที สีจิ้นผิงจะต้องได้ถ่ายภาพคู่กับแขกเหรื่อระดับวีไอพี ยิ่งมากันมากหน้าหลายตา ยิ่งหนุนส่งสถานะของจีนในเวทีโลก.
อ้างอิง:
Tags: แถบและทาง, เขตพัฒนาเศรษฐกิจ, ถนน, ทางรถไฟ, สหรัฐอเมริกา, ยุโรป, การพัฒนา, จีน, เอเชีย, คมนาคม