ลองหลับตาแล้วจินตนาการภาพความวุ่นวายของโรงพยาบาลรัฐตอนเช้าตรู่ คิวแถวผู้ป่วยอันยาวเหยียด จุดนัดหมายลงทะเบียนเต็มไปด้วยผู้คนละลานตา ป้ายบอกทางไปแต่ละแผนกที่ตัวอักษรเล็กกระจ้อยชวนสับสน แม้แต่จะลุกไปเข้าห้องน้ำก็กังวลว่าชื่อจะถูกเรียกเลยผ่าน ถ้าเป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงานอาจกลั้นใจฝ่าด่านไปได้ แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาเหล่านี้สำหรับ ‘ผู้สูงอายุ’ เสมือนดัง ‘กำแพงเหล็ก’ สุดลำเค็ญ จะข้ามผ่านเองก็ลำบาก จะเรียกลูกหลานให้มาช่วยก็ลำบากอีกเช่นกัน เพราะทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่การงานในชีวิต 

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น นำมาสู่การเกิดแบรนด์ ‘ลูกสาวพาหาหมอ’ หรือ ‘Look Sao Care’ ที่ก่อตั้งโดยสามแม่ลูกตระกูลขันตยาภรณ์ ได้แก่ เอมี่-อมรรัตน์ ขันตยาภรณ์, เพิร์ล-พิมพ์ญานันท์ ขันตยาภรณ์ และพราวด์-พิมพ์ปวีณ์ ขันตยาภรณ์ ที่เห็นพ้องต้องกันว่า ผู้สูงอายุควรมีเพื่อนคู่เคียงพาหาหมอ ดุจลูกหลานคอยปรนนิบัติ

ลูกสาวพาหาหมอ บริการที่เกิดจากการเห็น Pain Pont ของผู้สูงอายุในครอบครัว

“จุดเริ่มต้นของลูกสาวพาหาหมอมาจากคุณแม่ (เอมี่) ที่ปกติจะรับหน้าที่พาอาม่าไปหมอเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว คุณแม่จึงฉุกคิดว่า ยังดีที่บ้านเรายังมีคนพาผู้สูงอายุไปหาหมอ แต่ขณะเดียวกันครอบครัวอื่นที่มีผู้สูงอายุ แล้วลูกหลานเขาติดงานล่ะจะทำอย่างไร ถ้ามีบริการที่สามารถรับพาผู้สูงอายุไปหาหมอได้ก็น่าจะดีนะ” 

เพิร์ลเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นบริการลูกสาวพาหาหมอ เกิดจากความคิดของเอมี่ที่ปกติรับหน้าที่พาอาม่าวัย 81 ปี ไปหาหมอเป็นประจำ จนตระหนักกับ Pain Point ของผู้สูงอายุที่ต้องไปโรงพยาบาลคนเดียว ทั้งป้ายบอกทางที่มีตัวหนังสือไม่ชัดเจน ผู้คนแออัด ต้องจดจำแนวทางรักษาตัวที่คุณหมอกำชับ รวมไปถึงการเดินทางในเมืองหลวงที่ไม่เอื้อสักเท่าไรนัก 

จากปัญหาในวงสนทนาระหว่างแม่กับลูกสาวทั้งสอง กระทั่งวันหนึ่ง เอมี่แนะนำให้ลูกๆ ของเธอทดลองเปิดเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า ‘ลูกสาวพาหาหมอ’ ที่ลูกสาวมีความหมายสื่อถึงตัวพวกเธอ พร้อมรับหน้าที่บริการพาผู้สูงอายุหาหมอในหนึ่งวันประดุจลูกหลานแท้ๆ 

ทั้งนี้ การบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ในความดูแลของสามแม่ลูกทุกขั้นตอน ตั้งแต่คุยติดต่อกับลูกค้า พาผู้ป่วยหาหมอจริง จนถึงส่งฟีดแบ็กของผู้ป่วยที่ได้รับจากหมอแก่ญาติ ขณะที่พวกเขาต่างมีงานประจำ ทำให้ธุรกิจของลูกสาวพาหาหมอ ณ เวลานี้ ยังเป็นแบบ Part-Time เสียมากกว่า โดยพวกเธอแนะนำว่า หากต้องการใช้บริการให้ติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อมีเวลาเตรียมตัว

Brand CI ที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ และ Service Mind แบบฉบับลูกสาว 

“ครอบครัวเราเป็นคนจีนและมีหน้าที่ส่วนใหญ่ในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว เราเลยรู้สึกว่า คาแรกเตอร์ของลูกสาวมีความอ่อนหวาน นุ่มนวล และเข้มแข็งในเวลาเดียวกัน เราเลยอยากสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้ผู้สูงอายุเห็นครั้งแรกแล้วรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเอง ซึ่งเราไม่ได้มองว่าเป็นการ Stereotype ลูกผู้ชายก็สามารถทำตรงนี้ได้ แต่เราแค่หาจุดเชื่อมโยงกับครอบครัวเรา ที่เรา พราวด์ หรือคุณแม่ ต่างก็เป็นผู้หญิง”

เพิร์ลเล่าให้เราฟังต่อถึงการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ ที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึง ‘ความเป็นกันเองมากที่สุด’ หากมองในมุมคนรุ่นราว 60 ปีขึ้นไป หรือ Baby Boomer ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ลูกสาวมีอิทธิพลในด้านการจัดการเรื่องละเอียดอ่อนเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน โดยเฉพาะกับครอบครัวคนจีน 

เพราะฉะนั้นในแง่ของ Service Mind ของลูกสาวพาหาหมอจึงไม่ใช่แค่การพาผู้สูงอายุไปหาหมออย่างไรก็ได้ให้สำเร็จ แต่จำเป็นต้องทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกได้รับความใส่ใจ ปลอดภัย ผ่อนคลาย และเป็นกันเอง โดยพราวด์เล่าว่า พวกเธอจะต้องศึกษาบุคลิก นิสัยใจคอ และสิ่งที่ชอบจากญาติผู้ป่วยให้ถี่ถ้วนก่อน เพื่อให้พร้อมต่อการรับมือหน้างาน

ขณะเดียวกัน เรื่องของการสร้าง Brand CI (Corporate Identity) รับหน้าที่โดยพราวด์ ลูกสาวคนเล็ก ที่มีความรู้ด้าน Multimedia Art เธอจึงกำหนดให้ Art Direction ในหน้าเพจของลูกสาวพาหาหมอเน้นใช้สีชมพูเฉดอ่อนไปจนถึงเข้ม ที่สื่อถึงความอ่อนหวาน นุ่มนวล แต่ก็แข็งแกร่งในคราเดียวกัน พร้อมใช้ตัวการ์ตูนและฟอนต์สบายตาที่เหมาะแก่ผู้สูงอายุ 

นอกจากนี้ เธอ พี่สาว และแม่ ยังรับหน้าที่เป็นแอดมินคอยโพสต์อัปเดตคอนเทนต์ต่างบนหน้าเพจ เช่น วิธีการดูแลสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้สูงอายุ สาระวันสำคัญ (On This Day) รวมถึงถาม-ตอบข้อจำกัดการบริการเบื้องต้น 

ข้อบริการเบื้องต้นและสิ่งที่ลูกสาวอยากฝากบอกถึงภาครัฐด้านสาธารณสุข

อย่างที่เล่ามาในข้างต้นว่า แบรนด์ลูกสาวพาหาหมอมีเพียงสามแม่ลูกตระกูลขันตยาภรณ์เป็นผู้ดูแลทุกขั้นตอน ทำให้ผู้ที่ต้องการเรียกใช้บริการจำเป็นต้องรู้ข้อจำกัดเบื้องต้น นั่นคือ

  1. ค่าบริการเริ่มต้นที่ 1,000 บาท ต่อ 8 ชั่วโมง (ไม่รวมค่าระยะเดินทาง)
  2. ญาติต้องแจ้งให้ชัดเจนถึงอาการโรคของผู้ป่วย เช่น ห้ามนั่งท่าเดิมนาน ห้ามยกแขนค้าง มีความดันโลหิตสูง วิงเวียนศีรษะหน้ามืดเป็นประจำ ฯลฯ
  3. ติดต่อนัดคิวล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน
  4. รับบริการเฉพาะผู้ป่วยที่เดินและพูดคุยได้สะดวก (เนื่องจากข้อจำกัดด้านบุคลากรและพาหนะเดินทาง)
  5. บริการอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม เช่น พากินข้าวและซื้อของใช้จำเป็น 

สุดท้าย เพิร์ลเน้นย้ำกับเราว่า ความตั้งใจของลูกสาวพาหาหมอไม่ใช่การหวังกอบโกยผลกำไร แต่ต้องการเห็นรอยยิ้มจากผู้สูงอายุที่ได้รับการเอาใจใส่ ในทุกครั้งที่ไปหาหมอ เธอจึงฝากข้อเสนอไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขในอนาคต ถึงสิ่งที่ควรปรับปรุงในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อขจัด Pain Point เหล่านี้ในอนาคต

“การเป็นผู้สูงอายุถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในสังคมปัจจุบัน แล้วถ้าต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และมีขั้นตอนการเข้ารับบริการยุ่งยากอย่างโรงพยาบาลรัฐก็คงลำบาก พอสงสัยจะถามพี่พยาบาลก็อาจจะเผลอโดนดุกลับมา เราเข้าใจว่า บุคลากรทางการแพทย์ต่างก็ยุ่งพอสมควรยิ่งต้องรับผู้ป่วยวันละหลายร้อยคน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแก้ไข เช่น ลงทะเบียนและนัดหมายโรงพยาบาลผ่านบัตรประชาชนใบเดียว หรือป้ายดิจิทัลบอกข้อมูลแผนกต่างๆ ในโรงพยาบาลที่ชัดเจน”

ผู้ที่สนใจใช้บริการหรืออยากสอบถามรายละเอียดการเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ลูกสาวพาหาหมอ, ไลน์ @[email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 0661319598

รับรองว่า ผู้สูงอายุที่รักของท่านจะได้รับการบริการดุจลูกแท้ๆ พาไปหาหมอ พร้อมกลับมาด้วยรอยยิ้มและความสุขอย่างแน่นอน

Tags: , , ,