นอกจากกาแฟที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของบรรดาพนักงานออฟฟิศ ยังมีเสียงจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยกให้ ‘ชาไทย’ เป็นนัมเบอร์วันของไอเทมต่อพลังชีวิต เพียงจิบเดียวก็พลันตาสว่างปิ๊ง หายเหน็ดเหนื่อยมีแรงฮึดสู้ทำหน้าที่ต่อกันไปทั้งวัน

เมื่อไม่นานมานี้เว็บไซต์สารานุกรมด้านอาหารอย่าง TasteAtlas ได้เผยข้อมูลว่า ชาไทยเป็นเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ที่อร่อยเป็นอันดับ 7 ของโลก นั่นยิ่งตอกย้ำคุณภาพความยอดเยี่ยมของเครื่องดื่มชนิดนี้ได้ชัดแจ้งกว่าเดิม

ทว่าการจะหาชาไทยดีๆ สักร้านช่างยากเย็นแสนเข็ญ ไหนจะต้องตะลอนหาดื่มตามร้านกาแฟ แถมลุ้นเสี่ยงดวงอีกว่า รสชาติจะหวานกลมกล่อม หรือหวานตัดขา น้ำตาลขึ้นตา ถึงกระนั้น การมาของแบรนด์ชาไทยน้องใหม่ที่ชื่อ ‘Karun Thai Tea’ กลับขจัด Pain Point ดังกล่าว พร้อมยกระดับให้เครื่องดื่มพื้นบ้านแบบไทยๆ กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์พรีเมียมขึ้นหม้อ ที่หาญท้าชนกับร้านชา กาแฟ ระดับแบรนด์เนมได้ไม่เคอะเขิน

Behind the Brand คอลัมน์น้องใหม่จาก The Momentum ที่เปิดมาเพื่อชำแหละผลิตภัณฑ์สุดเจ๋งและธุรกิจน้องใหม่ไฟแรง ขออาสาพาประเดิมด้วยการพาไปรู้จักกับ Karun Thai Tea แบรนด์ชาไทยที่เกิดมาเพื่อ Thai Tea Lover โดยเฉพาะ จากปากของซีอีโอผู้ก่อตั้ง รัส-ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ

แบรนด์ชาไทยที่เกิดจากสูตรลับฝีมือคุณแม่

เท้าความจุดเริ่มต้นมาจากคุณแม่ของธัญย์ณภัคช์ที่เป็นคอชาไทยตัวยง ชนิดที่ว่าต้องดื่มล้างปากทุกวัน ด้วยความคลั่งไคล้ทำให้คุณแม่ของเธอลองคิดค้นสูตรชาไทยของตัวเอง ตั้งแต่เลือกตระเวนเสาะหาใบชาคุณภาพดี กะเกณฑ์ปริมาณส่วนผสม พอได้สูตรที่กลมกล่อม เข้มข้น สีสันสดใสเหมาะเจาะ จึงชงดื่มเองในบ้าน และเสิร์ฟเป็นเครื่องดื่มต้อนรับแขกที่แวะมาเยี่ยมเยียน

จากเมื่อปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่สูตรชาไทยตำรับ ‘บ้านการัน’ ถือกำเนิด เวลาล่วงเลยมาถึงปี 2562 ในขณะที่ธัญย์ณภัคช์ยังเป็นพนักงานประจำ ณ บริษัทแห่งหนึ่ง คุณแม่ของเธอได้ฉุกคิดไอเดียนึกอยากมอบสูตรชาไทยให้ลูกสาวนำไปขายสร้างรายได้อีกทาง

ธัญย์ณภัคช์ที่เห็นดีด้วยจึงนำสูตรไปผลิตเป็นชาไทย บรรจุในแพ็กเกจจิ้งที่เป็นขวดแก้วแบนพกพาสะดวก และจำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์ โดยที่เธอสวมบทบาทรับออเดอร์ ต้มชงชา และแพ็กส่งด้วยตนเอง ท่ามกลางฟีดแบ็กจากลูกค้าในทิศทางบวก

สู่ Karun Thai Tea แบรนด์ที่เกิดมาเพื่อคนรักชาไทย ด้วยงบหลักแสน

เมื่อได้เสียงตอบรับไปในทิศทางที่ดี มีลูกค้าซื้อไปดื่มเอง บ้างก็ซื้อเพื่อไปใช้เป็นเครื่องดื่มตามงานสัมมนา ธัญย์ณภัคช์จึงคิดการณ์ไกลอยากขยายให้แบรนด์มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง แต่การจะมีหน้าร้านของตัวเองใช่นึกอยากจะทำก็ทำได้เลย ต้องคำนึงถึงหลากปัจจัย ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ ไหนจะฐานกลุ่มลูกค้า

แต่ฝันแล้วต้องลงมือทำ ธัญย์ณภัคช์ออกเดินเท้าแจกแบบสอบถาม เพื่อเก็บผลสำรวจว่าคนรักชาไทยมีความต้องการอะไรบ้าง จนพบกับ Pain Point สำคัญ ที่ว่าการจะหาชาไทยดีๆ ดื่มสักแก้วยากดั่งงมเข็มในมหาสมุทร ไหนจะร้านที่ขายเฉพาะชาไทยแท้ๆ ก็ยังไม่มีใครเคยลองทำ นั่นจึงกลายเป็นมาของคอนเซปต์ ‘A Place for Thai Tea Lover’ หรือพื้นที่สำหรับคนรักชาไทยโดยเฉพาะ

“ปัญหานี้มองได้สองมุมเลยนะ มุมแรก คือชาไทยเป็นเมนูรองสำหรับคนที่ไม่ดื่มกาแฟ และสอง ชาไทยเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่ทุกร้านต้องมี เราก็เลยเจาะลึกไปยังกลุ่มคนรักชาไทยว่า จริงๆ แล้วเขาต้องการอะไรบ้าง เขาชอบกินชาไทยเพราะอะไร ซึ่งคนกลุ่มนี้มีเยอะมาก แต่สิ่งที่ยังขาดแน่นอนคือตอนนั้นยังไม่มีร้านไหน ที่ทำชาไทยขายเป็นเมนูหลักเฉพาะ ชนิดที่ว่าคุณเดินเข้าร้านนี้คุณได้ดื่มชาไทยแน่ๆ”

ดังนั้น เธอจึงนำสูตรของคุณแม่ไปพัฒนาต่อให้มีความลงตัวถูกปากกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรักชาไทย จำหน่ายในราคาสมเหตุสมผล แตกไลน์สินค้าให้มีความหลากหลาย ก่อนจะเปิดสาขาแรกที่เอ็มควอเทียร์ ภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘Karun Thai Tea’ ด้วยงบประมาณตั้งต้นราว 1 แสนบาท

Brand CI (Corporate Identity) ของ Karun Thai Tea แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

1. ชื่อแบรนด์ Karun (อ่านว่า การัน) มาจากชื่อบ้านประจำตระกูลของธัญย์ณภัคช์ ที่คุณปู่เป็นคนตั้ง และเป็นบ้านที่เป็นจุดกำเนิดคิดค้นสูตรชาไทยขึ้นมา พร้อมนำมาต่อคำว่า Thai Tea ที่แปลว่า ชาไทย ด้วยฟอนต์ที่เรียบง่ายสะอาดตา

2. สีแดงและสีทอง สื่อถึงความเรียบหรู เข้าได้กับทุกเทศกาล โดยทั้งสองสีเป็นโทนสีหลักในการตกแต่งร้าน ชุดผ้ากันเปื้อนของพนักงาน จนถึงบนแพ็กเกจจิ้งผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีความพรีเมียมไม่แพ้แบรนด์ชา กาแฟ จากต่างประเทศ

ชาไทยปั่น เมนูที่กลายเป็นไวรัลไปทั่วโซเชียลฯ

ความพิเศษที่ทำให้ Karun Thai Tea ไม่ใช่แค่ร้านขายชาธรรมดาทั่วไป เพราะมีการคัดสรรใบชาคุณภาพเยี่ยมจากเหนือจรดใต้ เพื่อนำไปใช้แตกไลน์สินค้ามากถึง 46 เมนู และทุกเมนูจะแบบร้อนหรือแบบเย็น ล้วนมีสารตั้งต้นมาจากเมนูชาไทยสูตรซิกเนเจอร์ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี เมนูเรือธงอันดับหนึ่ง ที่ทำให้แบรนด์บ้านการันเป็นที่รู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง คือ ‘Blended Karun Thai Tea’ หรือ ‘เครื่องดื่มชาไทยปั่น’ เนื้อสัมผัสเนียนนุ่มละมุนลิ้น ใช้โถปั่นที่ภายในมีแกนกลางอุณหภูมิติดลบหมุนสร้างเกล็ดน้ำแข็ง มองผิวเผินตาเปล่าอาจดูเรียบง่าย แต่กลับถูกปากคนทั่วบ้านทั่วเมือง จนกลายเป็นภาพไวรัลบนโซเชียล มีเดีย ที่มีคนเข้าแถวต่อคิวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อเมนูดังกล่าว

“ตอนเปิดสาขาแรกที่เอ็มควอเทียร์ เราอยากหาเมนูที่แปลกใหม่ไปจากเมนูชาไทยซิกเนเจอร์ที่มีอยู่แล้ว ก็เลยไปซื้อเครื่องปั่นทำความเย็นมาลองทำชาไทยแบบสเลอร์ปี้ พอลองขายปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีเกินคาด ถึงขั้นที่เราได้แฮ็กแท็กบนโซเชียลฯ ว่า #ชาไทยต่อคิว (หัวเราะ) และเรากล้าพูดได้เต็มปากว่า เราเป็นเจ้าแรกที่คิดเมนูนี้ขึ้นมา”

นอกจากเมนู Blended Karun Thai Tea ยังมีเมนูอื่นๆ ที่น่าลิ้มลองอีก เช่น ชาไทยการันเย็น สูตรนมอัลมอนด์, ชาไทยการันเย็น สูตรนมข้าวโอ๊ต, ชาไทยกลิ่นดอกหอมหมื่นลี้และกุหลาบ, ชาไทยกลิ่นดอกจำปา, ชาดำเย็น และชาดำผสมน้ำส้มและพุดดิ้งส้ม ฯลฯ

รายได้หลักล้านภายในระยะเวลา 4 ปี

ตลอดระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวแบรนด์ ด้วยงบฯ ทำทุนหลักแสน ปัจจุบัน Karun Thai Tea มีรายได้ต่อปีหลักสิบล้านขึ้นไป แบ่งเป็น

ปี 2019: 4 แสนบาท (นับเริ่มต้นจากเดือนกันยายน)

ปี 2020: 12 ล้านบาท

ปี 2021: 18 ล้านบาท

ปี 2022: 36 ล้านบาท

และมีทีท่าจะก้าวกระโดดเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยธัญย์ณภัคช์เผยเคล็ดลับสำคัญ นั่นคือการวางแผนรับมือระยะยาว มองการณ์ไกลไปถึงอนาคตว่า แบรนด์จะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสมรภูมิเครื่องดื่มที่มากขึ้นทุกวี่วัน

ไปจนถึงแนวคิดจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สุด ดั่งแนวคิดสุดโต่งที่เธอตั้งไว้ว่า ‘Endless Possibilities of Thai Tea’ หรือ ‘ชาไทยสามารถเป็นอะไรก็ได้ไม่รู้จบ’ เพราะชาไทยการันไม่ได้ผลิตแค่เครื่องดื่ม แต่ยังต่อยอดไปถึงใบชาอบแห้ง ขนมหวาน และล่าสุดกับผลิตภัณฑ์สบู่บาธบอม (Bath Bomb) กลิ่นชาไทย

นอกจากนี้ ยังมีการรีเสิร์ชกลุ่มลูกค้าที่ความต้องการเปลี่ยนไปอยู่เสมอ พร้อมสร้างกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ให้เป็นที่จดจำ ยกตัวอย่างเช่นปี 2022 ที่ออกกลยุทธ์ผลิตแก้วกระดาษที่มีคำคมน่ารักๆ ตกแต่ง เพื่อชักชวนให้ลูกค้าถ่ายรูปลงโซเชียลฯ นับเป็นการโฆษณาไปในตัวแบบไม่ต้องลงทุนให้มากเปล่า

“ส่วนตัวเราเป็นคนชอบวางแผนระยะยาว อาจจะเพราะเราเรียนด้านเศรษฐศาสตร์มา (หัวเราะ) ต้องมองก่อนว่าช่องว่างในตลาดที่เราจะโดดเข้าไปทำ สามารถสร้างรายได้มากพอที่จะขยับขยายไปในอนาคตมากพอไหม 5 ปีเป็นอย่างไร 10 ปีเป็นอย่างไร 30 ปีเป็นอย่างไร เรายังอยู่ได้ไหม ถ้าเหนื่อยเปล่า เราไม่ทำ และที่สำคัญทำแล้วต้องทำให้สุด ไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ แล้วตื่นมารอลุ้นว่า พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร”

ต่อยอดพัฒนาไปสู่ 6 สาขา และแฟรนไชส์ต่างประเทศ

ปัจจุบัน Karun Thai Tea มีอยู่ 6 สาขา ได้แก่ 1. เอ็มควอเทียร์ 2. เกษรวิลเลจ 3. เซ็นทรัล ลาดพร้าว 4. เซ็นทรัลเวิลด์ 5. สยามพารากอน 6. เอ็มไพร์ทาวเวอร์

โดยแต่ละสาขาจะมีการตกแต่งภายในร้านให้เข้ากับสภาพแวดล้อมนั้นๆ เช่น สาขาสยามพารากอน ตกแต่งด้วยไฟสว่างเป็นหลัก เนื่องจากอยู่ในจุดที่แสงไฟเข้าถึงน้อย หรือสาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว ที่จะใช้วัสดุเฟอนิเจอร์ทำจากไม้ ฉาบสีสันฉูดฉาด เนื่องจากเป็นจุดที่ลูกค้าส่วนใหญ่มาพร้อมกับครอบครัว แต่ภาพรวมยังคำนึงคอนเซปต์ที่เฟรนด์ลีไว้ เสมือนนั่งจิบชาอยู่ในบาร์หรู

ก่อนจะจากกัน ธัญย์ณภัคช์ยังระบุให้เราฟังถึงแผนงานในปี 2023 ว่า ต้องการขยายสาขาให้มากถึง 12 สาขา ใกล้กับแหล่งทำงานมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพนักงานออฟฟิศ ขณะเดียวกันยังมีการขายแฟรนไชส์ขยายไปยังประเทศสิงคโปร์ และสุดท้ายคือรายได้ที่ต้องเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างน้อย 2 เท่า

Karun Thai Tea ถือเป็นกรณีศึกษาของสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ที่เราเผอเรอมองข้ามไปว่า หากลองนำไปต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ จะสามารถสร้างมูลค่าได้ท่วมท้นแค่ไหน

และน่าสนใจว่าแบรนด์ชาไทยนี้จะก้าวไปได้ไกลเพียงใดยามออกสู่เวทีโลก แต่อย่างน้อย ณ เวลานี้ ชาไทยการันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นแบรนด์ที่มีอิทธิพลในตลาดเครื่องดื่ม และสร้างภาพจำให้ชาไทยมีคุณค่าไม่ด้อยไปกว่าเครื่องดื่มใดบนโลก

Tags: , ,