นิทานอิสปอย่างราชสีห์กับหนู ดูจะเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย เมื่อเราได้รู้เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง ช้างกับผึ้ง

ทุกวันนี้ ช้างเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมักจะถูกยิงเมื่อบุกรุกเข้าไปกินพืชผลทางการเกษตรของชาวสวนชาวไร่ ซึ่งยิ่งเสี่ยงต่อภาวะสูญพันธุ์เข้าไปใหญ่

แต่ฮีโร่ตัวจิ๋วอย่างผึ้งอาจช่วยชีวิตช้างได้ เพราะช้างที่ตัวใหญ่ๆ น่ะ แท้จริงกลัวผึ้งมากทีเดียว

แม้ว่าเหล็กในของผึ้งอาจจะทำอะไรหนังหนาๆ ของช้างไม่ได้ แต่หากมันรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ๆ ไต่ตอมตามจุดอ่อนต่างๆ ในร่างกายของช้าง เช่น ตา ปาก หรืองวง และส่งเสียงหึ่งๆ ให้รำคาญหู ช้างก็อาจทำท่าหวาดกลัวและหนีเตลิดไป

ฟังดูขัดแย้งกัน ว่าแล้วผึ้งจะมาเป็นฮีโรได้อย่างไร จริงๆ แล้ว ฝูงผึ้งอาจกลายเป็น ‘รั้ว’ แบบใหม่ที่ช่วยไม่ให้มีช้างไม่รู้อิโหน่อิเหน่โผล่มาเจอลูกปืน ซึ่งเป็นภัยอันตรายถึงชีวิต

นักวิจัยได้ร่วมกับอาสาสมัครในแอฟริกา ทดลองให้เกษตรกรหันมาใช้รั้วรังผึ้งกั้นแปลงผักผลไม้ โดยการแขวนรังผึ้งไว้ในระยะห่างทุกๆ 20 เมตร สลับกันไปกับรังผึ้งปลอมๆ ผลปรากฏว่า สามารถไล่ช้างออกไปจากบริเวณเพาะปลูกได้ถึง 80%

ช้างในเอเชียก็กลัวผึ้งเช่นกัน แต่อาจจะไม่มากเท่าเหล่าช้างในแอฟริกา ทีมวิจัยกลุ่มเดียวกันนี้พยายามทดลองใช้วิธีเดียวกันนี้ในประเทศต่างๆ เช่น ศรีลังกา อินเดีย เนปาล และประเทศไทยเรา ซึงเป็นพื้นที่ที่ช้างเสี่ยงจะสูญพันธุ์มากกว่าช้างในแอฟริกาถึง 10 เท่า

จอห์น โพลเซน นักนิเวศวิทยาเขตร้อนและผู้ช่วยศาสตรจารย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก ที่ทำงานวิจัยคล้ายๆ กันนี้ กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่าสาเหตุที่ช้างในเอเชียมีปฏิกิริยาต่อผึ้งไม่แรงเท่าช้างในแอฟริกานั้น เป็นเพราะผึ้งในบ้านเราดุร้ายน้อยกว่า หรือเพราะเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างกันของช้างในแต่ละพื้นที่ แบบเดียวกับที่คนในวัฒนธรรมหนึ่งอาจจะหัวเราะเมื่อพวกเขาเครียด ในขณะที่คนอีกวัฒนธรรมจะพูดรัวเร็วหรือมืออยู่ไม่สุข

โครงการ Save The Elephants ของกลุ่มนักอนุรักษ์ที่ไม่แสวงหากำไรใรแอฟริกา ได้ร่วมกันสร้างรั้วลวดและรังผึ้งที่มีค่าใช้จ่ายเพียงราว 1 ใน 5 ของการติดตั้งรั้วช็อตไฟฟ้า ซึ่งลวดเหล่านี้ต้องแข็งแรงพอที่จะแขวนรังหนักๆ ได้ แต่ก็ไม่แข็งไปจนไม่แกว่งไปตามแรงลม เพราะการแกว่งนี้จะทำให้ฝูงผึ้งคอยบินออกมาเป็นระยะๆ วิธีนี้นอกจากจะป้องกันช้างได้แล้ว เกษตรกรยังมีรายได้เสริมจากการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งสองครั้งต่อปี

ขณะนี้มีการทดสอบใช้รั้วรังผึ้งนี้ไปแล้ว 11 ประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชีย และดูเหมือนเกษตรกรก็พึงพอใจ จนมีผู้อาสาเข้าร่วมมากกว่า 200 คนเมื่อปีที่แล้ว

ดร.คิง ผู้นำการวิจัยกล่าวว่า “ตอนเริ่มโครงการ ฉันต้องพยายามอย่างหนักเพื่อโน้มน้าวให้พวกเขาลองดู เพราะพวกเขาคิดว่าาฉันบ้า แต่ก็คงคิดว่า โอเค ฉันให้รังผึ้งพวกเขาฟรีๆ ง้ั้นก็ลองดู แต่ตอนนี้พวกเขาต้องมาต่อแถวเพื่อลองใช้วิธีนี้”

แต่นักวิจัยกลุ่มอื่นๆ มองว่า แม้จะเป็นไอเดียที่ดี แต่สักวันหนึ่ง ช้างก็จะสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ เพราะหากมันได้ประโยชน์จากการเข้าไปหาผลไม้หรือพืชผลกิน มันก็จะต้องหาวิธีเอาชนะอุปสรรคให้ได้ และยิิ่งผลตอบแทนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งคุ้มที่จะลองเสี่ยงเรียนรู้ดู

 

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2018/01/26/science/bees-elephants-.html?

http://www.cell.com/current-biology/fulltext/S0960-9822(17)31649-4

Tags: , , ,