การประกวดสาวงามระดับประเทศจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 ในชื่อ ‘นางสาวสยาม’ ที่นอกจากจะเพื่อเสนอความงามหรือยกระดับฐานะทางสังคมของผู้ประกวดแล้ว การประกวดนี้ยังเกี่ยวข้องกับบริบทสังคมและการเมืองเป็นอย่างยิ่ง 

ในข้อแรก การประกวดนางงามนับเป็นการเปลี่ยนบทบาทและสถานภาพทางสังคมของผู้เข้าประกวด เวทีประกวดนางงามจึงเป็นความฝันของผู้หญิงจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การประกวดสามารถสร้างโอกาสอาชีพด้านบันเทิง หรือกระทั่งโอกาสพบคู่ครองที่มีฐานะทางสังคมดี เช่น นางสาวเรียม เพศยนาวิน เจ้าของตำแหน่งนางสาวไทยคนแรก ประจำปี พ.ศ.2482 (ก่อนหน้านั้นเป็นนางสาวสยาม) หลังรับตำแหน่งเธอก็ได้พบรักกับ เอช.เอช. ซุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล รายาแห่งรัฐเปอร์ลิศ จากสหพันธรัฐมลายู จนได้รับการสถาปนาเป็น ‘รานีตวนกูมาเรียม’ (ภรรยาคนที่สอง)

ในยุคแรกเริ่มนั้น การประกวดนางงามจึงเปรียบเสมือนหนทางไต่เต้าของคนที่มีรูปโฉมดี กระทั่งกลายเป็น ‘สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี’ (beauty privileged) ผู้หญิงที่มีรูปสมบัติตรงตามค่านิยมเรื่องความงาม ก็มักจะได้รับโอกาสที่มากกว่า ซ้ำยังมีส่วนผลิตซ้ำมาตรฐานทางความงามว่าความสวยต้องหน้าตาแบบใด กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางความงาม ขณะเดียวกันก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ปิดไม่มิดในสังคมไทย ที่เพศชายยังคงเป็นผู้กำหนดมาตรฐานความงาม โดยจะเห็นได้จากคณะกรรมการในการประกวดความงาม ที่ฝ่ายชายมีจำนวนมากกว่า 

ทว่าภายหลังคณะกรรมการผู้ตัดสินเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานความงามและจุดประสงค์ในการจัดประกวด การเปลี่ยนแปลงของเวทีประกวดนางงามจึงสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อม ทั้งทางเศรษกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม

นางงามเพื่อชาติและรัฐธรรมนูญ : พ.ศ. 2477-2497

ก่อนที่มีการประกวดนางงามระดับประเทศในปี พ.ศ. 2477 ประเทศไทยมีการจัดงานประกวดความงามระดับท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ มาก่อนแล้ว ทว่าเมื่อการปกครองเปลี่ยนไป จึงเกิดการพยายามทำความรู้ความเข้าใจต่อการปกครองแบบใหม่ การประกวดนางงามในยุคแรก (พ.ศ. 2477-2497) จึงเป็นกิจกรรมของทางราชการ โดยจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายนอกจากเพื่อเป็นสื่อความบันเทิงแล้ว อีกจุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐในยุคการปฏิรูปประเทศเพื่อเผยแพร่ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ได้มาใหม่ รัฐบาลเห็นว่าการประกวดนางงามถือเป็นสีสันของงานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน ดังเช่นที่งานวิจัยของ รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข และ สุมิต อินทวงศ์. (2558) ม.บูรพาฯ กล่าวว่า

“การประกวดในครั้งนั้นจึงเป็นการประกวดสาวงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ผู้หญิงถูกระบบการเมืองนำมาเป็นตัวแทนความงามเพื่อดึงดูดผู้คน ถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองและข้าราชการในการสร้างแรงดึงดูดให้คนเข้ามาร่วมงานและเป็นเครื่องมือของระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่สะท้อนภาพของความเป็นเสรีนิยมว่า ผู้หญิงมีโอกาสในการแสดงออกและมีความเท่าเทียมกันกับผู้ชายด้วยการพาตัวเองออกมายังพื้นที่สาธารณะผ่านการประกวด การแข่งขัน การโชว์ตัว”

นอกจากนี้เวทีนางงามยังเป็นพื้นที่สะท้อนความเป็นไทยในรูปแบบใหม่ เช่นในปี พ.ศ. 2482 มีการเปลี่ยนชื่อเวทีจาก ‘นางสาวสยาม’ เป็น ‘นางสาวไทย’ โดยปีนั้นเป็นปีที่รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้รัฐนิยมฉบับที่ 1 ในการเปลี่ยนชื่อประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับ ‘เชื้อชาติ’ ของคนในประเทศ โดยคำแถลงในสภาปีเดียวกัน จอมพลป. กล่าวว่า

“…การที่เราได้เปลี่ยนให้ขนานนามว่า ประเทศไทยนั้น ก็เพราะเหตุว่าได้พิจารณาดูเป็นส่วนมากแล้วนามประเทศนั้น เขามักเรียกกันตามเชื้อชาติของชาติที่อยู่ในประเทศนั้น เพราะฉะนั้นของเราก็เห็นว่าเป็นการขัดกันอยู่ เรามีเชื้อชาติเป็นชาติไทย แต่ชื่อประเทศของเราเป็นประเทศสยาม จึงมีนามเป็นสองอย่าง ดังนี้ ส่วนมากในนานาประเทศเขาไม่ใช้กัน…”

ทั้งนี้ เรียม ผู้รับตำแหน่งนางสาวไทยคนแรก ก็ไม่ใช่นางงามที่เป็นคนไทยแท้ เธอเป็นนางงามลูกครึ่งอินเดีย-จีน เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมดเจ็ดคนของ สุมิต เพศยนาวิน ชาวไทยมุสลิม กับภริยาไทยเชื้อสายจีน การได้รับตำแหน่งของเธอไม่เพียงมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์นโยบายการสร้างชาติของรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นนัยทางการเมืองอย่างหนึ่งที่รัฐต้องการสื่อว่า ประเทศไทยโฉมใหม่คือรัฐแห่งความหลากหลายทางชาติพันธ์ เป็นเบ้าหลอมของความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ และการเสนอความเป็นไทยผ่านตัวนางงามเองก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย การคัดเลือกหรือสรรหาผู้หญิงเข้าประกวดทุกขั้นตอนถูกดำเนินการด้วยรัฐ ทั้งยังกำหนดการแต่งกาย กรรมการที่จะมาเป็นผู้ตัดสิน ตลอดจนเงินรางวัลที่ผู้ชนะจะได้รับ 

การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชนะ คือการประชาสัมพันธ์งานของรัฐ ออกงานสำคัญของบ้านเมือง การประกวดนางงามในยุคดังกล่าวจึงเป็นเหมือนกระบอกเสียงของรัฐโดยแท้จริง ถือเป็นผู้รับเกียรติในฐานะผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ เป็นเกียรติของชาติ ยิ่งหากได้รับตำแหน่งชนะเลิศ หรือรองชนะเลิศก็ถือเป็นเกียรติยศของครอบครัว 

ดังนั้นการจัดประกวดนางงามในยุคแรกนั้นเต็มไปด้วยทัศนคติของรัฐบาล ไม่ว่าจะเพื่อช่วยรัฐสนับสนุนการปกครองในระบบรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมนโยบายสร้างชาติ จนถึงการพัฒนาผู้หญิงในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่มองว่าผู้หญิงเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติเหมือนกับผู้ชาย การประกวดนางงามเปรียบเสมือนเครื่องมือในการส่งเสริมผู้หญิงไทยให้มีสุขภาพและอนามัยที่ดี เพียบพร้อมไปด้วยความงาม หรือกระทั่งส่งเสริมให้ผู้หญิงตื่นตัวเรื่องดูแลตัวเองมากขึ้นด้วย 

ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการใช้ความบันเทิงดึงดูดผู้คนให้เข้าหารัฐธรรมนูญ และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่เสรีและเป็นมิตรให้กับการปกครอบแบบใหม่ด้วย

จากผู้เสนอภาพลักษณ์ของรัฐต่อคนในรัฐ สู่ผู้เสนอภาพประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก : พ.ศ. 2507-2515

การประกวดนางสาวไทยว่างเว้นไปสิบปีในช่วงสงครามโลก โดยเริ่มกลับมาจัดใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2507 โดยมีสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยเป็นผู้จัดการประกวดแทนกระทรวงมหาดไทย สถานการณ์การเมืองไทย การเมืองโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป ทำให้จุดมุ่งหมายของการประกวดนางสาวไทยเองก็เปลี่ยนไปด้วย 

ในช่วงเวลาดังกล่าวคือยุคที่โลกเข้าสู่สงครามเย็น ที่เต็มไปด้วยภาวะความตึงเครียดระหว่างกลุ่มโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกา และกลุ่มโลกคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต ช่วงเวลานั้น ในฐานะที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำของโลกเสรี ก็เริ่มชักชวนประเทศพันธมิตรเข้าประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe) ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สาเหตุหนึ่งเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจทุนนิยมที่ขยายตัวขึ้น ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ 

การวางนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับสหรัฐอเมริกา นางสาวไทยจึงกลายเป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์ประเทศในระดับนานาชาติ ในยุคที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการค้า เอกชนจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการประกวดนางงาม เอกชนมีบทบาทในฐานะผู้จัดส่งนางงาม หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า เป็นสปอนเซอร์ การประกวดยังทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและการท่องเที่ยวอีกด้วย

ก่อนไปสู่เวทีโลก ผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวไทยจะได้รับพระราชทานคำแนะนำจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการเตรียมตัวตนเองให้พร้อมก่อนไปประกวดระดับนานาชาติ ผู้ได้รับตำแห่งชนะเลิศในเวทีนางสาวไทย จึงไม่ได้มีหน้าเพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐอย่างเดียว แต่ยังต้องเป็นผู้ทำหน้าที่โฆษณาสินค้าที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทย’ อีกด้วย 

การจัดการประกวดนางงามในยุคดังกล่าวจึงเริ่มกลายเป็น ‘เฟ้นหาตัวแทนประเทศในการประกวดเวทีระดับนานาชาติ’ โดยพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้อำนวยการกองประกวดนางสาวไทยในปี พ.ศ. 2507 ให้เหตุผลว่านี่เป็นการยกย่องเกียรติและความงามของหญิงไทย อีกทั้งยังเป็นการนำความงามของหญิงไทยไปเป็นสื่อในการสร้างสรรค์ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศด้วย 

เวทีนางงามกับการเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ : พ.ศ 2527-2530

การพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งการสื่อการ การคมนาคม ตลอดจนทัศนคติเรื่องความงามของผู้หญิงไทยเปลี่ยนไป ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เติบโตมากขึ้น ธุรกิจการโฆษณาเบ่งบาน การประกวดนางงามได้กลายมาเป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่เวทีนางงามเปลี่ยนสถานะจากพื้นที่ประชาสัมพันธ์ประเทศเป็นหลัก ไปสู่การเป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์สินค้า 

เอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทและเป็นผู้จัดการประกวดแทนรัฐบาล ทุกการกระทำมีเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจทั้งสิ้น ทั้งการแต่งกาย การเสริมความงาม การคัดเลือกผู้เข้าประกวด และเกณฑ์การตัดสินที่เกิดขึ้น ผู้ได้รับตำแหน่งชนะเลิศไม่ได้มีหน้าที่เพื่อราชการหรือช่วยชาติอีกต่อไป ทว่าผันเปลี่ยนมาเป็น ‘ดารา’ ผู้โฆษณาสินค้าให้กับเจ้าของธุรกิจ ดังนั้นผู้ชนะเลิศจึงต้องสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ผู้ส่งสาวงามเข้าประกวด ผู้เข้าประกวด และผู้จัดเอง ต่างได้รับประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

ความเปลี่ยนแปลงยิ่งชัดขึ้นในปี พ.ศ. 2543 มีเวทีเกิดใหม่คือ ‘มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์’ เพื่อเฟ้นหานางงามไปประกวดมิสยูนิเวิร์สโดยเฉพาะ ขณะที่เวที ‘นางสาวไทย’ ยังคงมีอยู่ แต่ไม่ได้เพื่อส่งนางงามไปประกวดระดับโลก

การที่บริษัท Miss Universe เข้ามามีบทบาทต่อการประกวดนางสาวไทย โดยหลักการแล้วจุดมุ่งหมายของการจัดประกวดเวทีดังกล่าวเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความยุติธรรม และความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับนานาชาติ ทว่าในทางปฏิบัติ การประกวด Miss Universe ก็คือธุรกิจประเภทหนึ่งอยู่ดี

เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของเวทีสาวงาม

และไม่ว่าจะเพื่อธุรกิจหรือเพื่อชาติ เวทีนางงามก็จำเป็นต้องมีภาพลักษณ์ที่ก้าวหน้าทันโลก จะเห็นได้ว่ามีข้อถกเถียงเรื่องการประกวดสาวงามมาเป็นระยะเวลานาน ขณะที่ด้านหนึ่งมีคนมองว่าเวทีนี้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงตัวตน แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่มองว่านี่คือการผลิตซ้ำมาตรฐานความงามหรือมองผู้หญิงเป็นวัตถุ

เพื่อไม่ให้เกิดภาพที่ว่าเวทีนางงามให้ความสำคัญแต่เพียง ‘ความงาม’ เวทีก็จำต้องสร้างคุณค่ามากกว่านั้น เช่นการพิจารณาถึงคุณสมบัติอื่นๆ ในเวทีนางสาวไทยเองมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้เจ้าประกวดไว้ว่า ต้องมีการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้น ม.3 หรือเทียบเท่า ไม่ผ่านการสมรสหรือให้กำเนิดบุตรมาก่อน ต้องไม่เคยประกอบอาชีพหรือมีพฤติกรรมอันเป็นที่รังเกียจของสังคม และเกณฑ์เหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่าสังคมได้กำหนดค่านิยมหรือความคาดหวังต่อความเป็นหญิงอย่างไรบ้าง

การพยายามคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีนี้เอง ทำให้เวทีการประกวดนางงามกลายเป็นพื้นที่หนึ่งของการบรรบกันระหว่างความงาม ความเป็นหญิง และบริโภคนิยม ที่เข้าครอบงำความคิดและพฤติกรรมของผู้หญิง แม้จนถึงยุคปัจจุบันที่การเชียร์นางงามเริ่มมีพื้นที่เฉพาะกลุ่มก็ตาม

ในยุคของข้อถกเถียงใหม่

อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบัน การประกวดนางงามมีประเด็นที่ถูกยกมาถกเถียง ขบคิดกันใหม่ คือ “ในการประกวดนางงามมีเรื่องการเมืองหรือไม่” 

ที่เห็นได้ชัดคือในเวทีใหญ่อย่าง Miss Universe ซึ่งผู้ได้รับตำแหน่งมีหน้าที่เหมือนกับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ กล่าวคือทำกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ เพื่อสังคม สร้างสันติภาพ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เป็นกระบอกเสียงในการยืนหยัดเพื่อจุดยืนอย่างใดอย่างหนึ่ง 

ในทางหนึ่งก็ยังคงเป็นการผลิตซ้ำภาพ ‘หญิงที่เพียบพร้อม’ ตามแบบที่สังคมคาดหวัง ขณะที่กองประกวดก็เน้นย้ำว่านี่คือการ empower woman โดยสาระสำคัญที่จะตอกย้ำประเด็นนี้ก็คงหนีไม่พ้นคำถามรอบ 5 คนสุดท้ายและ 3 คนสุดท้ายที่แฟนนางงามทั่วโลกจับตามอง

คำถามในหลายปีให้หลังนี้ ล้วนเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมการเมืองและความเป็นไปของโลก เช่น คำถามของมารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์​เมื่อ 2017 ที่ได้ตอบคำถามในรอบ 5 คนสุดท้ายว่า “อะไรคือการขับเคลื่อนทางสังคม (โซเชียล มูฟเมนท์) ที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของคุณ และเพราะอะไร” 

หรือการประกวดประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2019 ที่เพิ่งจบไป ฟ้าใส—ปวีณสุดา ดรูอิ้น ก็ได้รับคำถามในรอบ 5 คนสุดท้าย ว่า “สำหรับคุณสิ่งใดมีความสำคัญมากกว่ากันระหว่าง ‘ความเป็นส่วนตัว’ กับ ‘ความมั่นคง’” 

คำถามที่ทั้งคู่ได้รับโดยเฉพาะของฟ้าใส ทำให้แฟนนางงามหลายคนมองว่าเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยโดยตรง ซึ่งต่างชาติพยายามยัดเยียดความเป็นประชาธิปไตยสากลให้ ยังมีการมองว่าหรือนี่จะเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้ผลการตัดสินพลิกผัน อย่างไรก็ตาม การได้รับคำถามเกี่ยวกับประเด็นการเมืองถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ไม่เพียงแต่จะสะท้อนว่ามันคือปัญหาภายในประเทศที่เวทีประกวดมองเห็นและอยากรู้ว่าทัศนะของนางงามในฐานะตัวแทนประเทศว่ามองปัญหานี้ในแง่มุมไหน 

แม้ว่านี่จะเป็นความผิดหวังอีกครั้งของคนไทยทั้งประเทศ แต่คำถามเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า สำหรับสังคมแล้วอะไร คือสาระที่สะท้อนออกมาจากการประกวดครั้งนี้ ซึ่งทุกคนน่าจะมีคำตอบในใจอยู่แล้ว

อ้างอิง :

https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_11633

https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1467536

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9590000003232

https://www.bbc.com/thai/international-38790723

https://www.bbc.com/thai/thailand-50712546

สุพัตรา กอบกิจสุขสกุล (2531). การประกวดนางสาวไทย (พ.ศ. 2477-2530). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.