เว็บไซต์ Urban Dictionary นิยามคำว่า ‘beach rat’ ว่า เป็นคำที่ใช้เรียกคนว่างงานที่วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่อยู่ตามชายหาด ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ตัวละครผู้เป็นหัวใจหลักของ Beach Rats คือ แฟรงกี (แฮร์ริส ดิกคินสัน) เด็กหนุ่มหน้าตาดีผู้มีชีวิตเข้ากันอย่างเหมาะเจาะกับนิยามของคำคำนี้ เขาไม่ทำงานทำการ ไม่เรียนหนังสือ ตอนกลางวัน เราจะเห็นเขากับเพื่อนเตร็ดเตร่ตามย่านบรู๊กลิน ถอดเสื้อเดินเล่นอวดซิกซ์แพ็กอยู่ริมชายหาด เล่นกีฬา และกระโจนลงทะเล ตอนกลางคืนเราเห็นพวกเขาออกไปเที่ยวสนุกที่โคนีย์ไอส์แลนด์ จีบสาว สูบกัญชา ไม่ก็เมามายอยู่ในผับ

แน่นอนว่าหนังไม่ได้ตีกรอบตัวละครให้อยู่ในภาพจำที่สังคมมีต่อวัยรุ่นกลุ่มนี้อย่างตื้นเขิน หรือเอาแต่ถากถางพฤติกรรมสำมะเลเทเมาของพวกเขา ผู้กำกับ เอลิซา ฮิตต์แมน (Eliza Hittman) พาคนดูดำดิ่งเข้าไปในความจริงของชีวิตสีทึมซึ่งอาบไล้ไปด้วยแสงอาทิตย์เจิดจ้าสลับแสงนีออนของแฟรงกี ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นอาการติดยาแก้ปวดของเขา หรือพ่อที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ปัญหาใหญ่โตที่เกาะกุมจิตใจเขามากที่สุดคือเรื่องเพศสภาพ

“ผมไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร” แฟรงกีมักพูดแบบนี้เสมอเมื่อเข้าเว็บหาคู่เกย์ ต่อให้เมื่อลองมีประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชายแล้ว เขาก็ยังไม่อาจยอมรับได้อย่างเต็มที่ว่าตนเป็นเกย์ เมื่อมีหญิงสาวเข้ามาพัวพัน เขาก็ตกลงปลงใจคบหากับเธอ ทั้งจากความรู้สึกผิดที่ตนไม่อาจมอบความรักตอบได้ และจากแรงกดดันทางสังคมที่ครอบครัวและกลุ่มเพื่อนมีต่อเขา

ในฉากหนึ่ง แฟรงกีถามแฟนสาวว่าเคยจูบผู้หญิงรึเปล่า เธอตอบว่าเคย แต่เธอคิดว่ามันเซ็กซี่ดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร “แล้วถ้าผู้ชายจูบกับผู้ชายล่ะ เซ็กซี่มั้ย” เขาถามกลับ แน่นอนว่าคำตอบที่ได้คือ ไม่

แรงกดดันหรือความคาดหวังที่เรามักมองไม่เห็นเหล่านี้เอง คือสิ่งที่หนังพาแฟรงกี (และเราคนดู) ไปสำรวจ แฟรงกีจึงเป็นตัวละครที่ยังอยู่ในตู้ลับ (closeted) ที่ออกมาสำรวจเพศสภาพของตนผ่านเส้นทางอันน่าอึดอัดคับแคบที่สังคมพอจะเปิดช่องว่างให้ เราอาจบอกว่าโลกตะวันตกน่าจะทำให้เขามีอิสรภาพพอสมควรในการใช้ชีวิตตามเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศของตัวเอง แต่หนังแสดงให้เห็นปัจจัยหลายๆ อย่างที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญต่อการแสดงออกทางเพศของเขา ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตส่วนตัว สภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง ความคาดหวังที่ครอบครัวมีต่อลูกผู้ชาย การยอมรับภายในกลุ่มเพื่อนผู้ชายที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมความเป็นชายอย่างเปี่ยมล้น ไปจนถึงความคาดหวังของสังคมว่าผู้ชายควรมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันเองอย่างไร และความใกล้ชิดทำนองไหนที่สังคมจัดกล่องแบ่งประเภทให้ แล้วเรียกมันว่า ‘เกย์’

Beach Rats จึงเป็นหนังที่สำรวจวัยรุ่นและแรงขับดันทางเพศต่อเนื่องจาก It Felt Like Love (2013) ผลงานหนังยาวเรื่องแรกของฮิตต์แมน ซึ่งเล่าถึงเด็กหญิงผู้ใฝ่หาประสบการณ์ทางเพศ ทั้งด้วยความใคร่รู้ ความต้องการเป็นที่รักและที่ยอมรับ ในสภาพสังคมที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงแสดงต้องการทางเพศออกมาได้มากนัก สิ่งที่หนังทั้งสองเรื่องมีเหมือนกันเป็นการสะท้อนสภาวะทางจิตใจอันแสนว้าวุ่นและเปราะบางของตัวละครผ่านเหตุการณ์ปกติทั่วไปในชีวิต หนังของฮิตต์แมนจึงแสดงให้เห็นเศษเสี้ยวของชีวิต (slice of life) โดยแทบจะไม่มีพล็อตเรื่องให้เราจับต้องได้มากนัก แต่กลับเข้มข้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ต้องแสดงออกมาอย่างโผงผาง

แม้จะเป็นเพียงผลงานลำดับที่ 2 ของฮิตต์แมนแต่ Beach Rats ก็เรียกเสียงชื่นชมมาได้ไม่น้อย รวมถึงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (สาย Dramatic) เมื่อไปฉายเปิดตัวที่เทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา การแสดงของดิกคินสันที่พูดน้อยต่อยหนัก ก็สะท้อนความซับซ้อนทางอารมณ์ออกมา จนเรียกว่าแจ้งเกิดจากหนังเรื่องนี้ได้อย่างงดงาม แต่องค์ประกอบเด่นที่ละเลยไม่ได้ของหนัง คือการกำกับภาพของ เอเลน ลูวาร์ต (Hélène Louvart) ซึ่งเคยร่วมงานกับผู้กำกับเก่งๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิม เวนเดอร์ส ในเรื่อง Pina (2011), อานเญส วาร์ดา ใน The Beaches of Agnès (2008), แลร์รี คลาร์ก ใน The Smell of Us (2014) หรือ อลิซ โรห์วาเคร์ ใน The Wonders (2014)

ภาพจากกล้องฟิล์ม 16 มม. ที่ปรากฏในหนังสร้างอารมณ์ดิบเถื่อน สมจริงสมจัง แต่ก็ชวนฝันและน่าฉงนฉงายเหลือเชื่อ นอกจากนี้ หนังยังมีมุมมองการจับจ้องที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่เพียงแต่จะฉายภาพช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่มักไม่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์บ่อยนัก (อย่างเช่นการเตรียมตัวจัดการร่างกายก่อนนัดออกไปมีเซ็กซ์) หากมันยังจับจ้องร่างกายผู้ชายที่เปลือยเปล่าล่อนจ้อนอย่างไม่เกรงกลัวว่าผู้ชมจะรู้สึกอึดอัด แม้กล้องจะไล้ไปตามมัดกล้ามและไรขนของผู้ชาย กระทั่งเผยให้เห็นอวัยวะเพศจะๆ เพียงไร แต่สายตาดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้ผู้ชายเป็นวัตถุ (objectified) เหมือนเวลาที่หนังทั่วไปถ่ายร่างกายผู้หญิง เป็นสายตาที่พึงตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่ดำรงอยู่ภายใต้เนื้อหนังและกล้ามมัดเหล่านั้นเสมอ

ตลอดทั้งเรื่อง เราเห็นแฟรงกีพยายามประคับประคองชีวิตตัวเองไปพร้อมๆ กับจัดการกับแรงขับดันทางเพศของตนด้วยความสับสน หวาดวิตก และกระวนกระวาย โดยมีชายหาดอวลไอทะเลเป็นฉากหลัง มิติภายในของตัวละครก็ดูจะทาบทับกับสภาพแวดล้อมภายนอกได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน ความที่ชายหาดเป็นส่วนเชื่อมกึ่งกลางระหว่างน้ำทะเลกับบนบก ชายหาดจึงมีสภาพเป็นเสมือน ‘พื้นที่เปลี่ยนผ่าน’  ในตัวมันเอง เราอาจกล่าวได้ว่า การสำรวจเพศสภาพและขยับขยายประสบการณ์ทางเพศของแฟรงกีนั้นก็คือการที่ตัวเขาเองอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเช่นกัน

โดยไม่ต้องพูดพร่ำมากเกินจำเป็น Beach Rats สะท้อนการดิ้นรนที่ชาว LGBTQ+ หลายคนต้องเผชิญในชีวิตจริง ผ่านเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของแฟรงกี้ ตลอดทั้งเรื่อง เราคนดูคาดหวังให้เขาหลุดออกจากสถานะเดิมไปสู่สถานะใหม่ให้ได้ เราคาดหวังให้เขาสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ จนมีชีวิตที่ดีขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าพึงพอใจกับความรักและเซ็กซ์แบบไหน และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป แต่หนังกลับไม่ได้พาแฟรงกีไปถึงจุดนั้น ด้วยกับแรงกดดันและเงื่อนไขมากมายที่รายล้อม เขาจึงยังคงตกค้างอยู่ในภาวะกึ่งกลางโดยไม่อาจเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใด จะก้าวไปข้างหน้าก็ไม่มีทางไป จะถอยหลังกลับก็ทำไม่ได้ ติดกับอยู่ที่ชายหาดอันเป็นเสมือนพื้นที่เปลี่ยนผ่านตลอดกาล เสียงคลื่นที่ซัดสาดกระทบฝั่งซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงราวกับเสียงจากชีวิตในอีกฟากฝั่งที่แฟรงกี (และหลายคนในชีวิตจริง) ยังไม่อาจเอื้อมไปได้ถึง

 

FACT BOX:

หนังเพิ่งได้เข้าชิง Independent Spirit Awards ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญในโลกหนังอินดี้อเมริกัน ถึงสองสาขาด้วยกัน นั่นคือนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ดิกคินสัน) กับกำกับภาพยอดเยี่ยม (ลูวาร์ต)

Tags: , , , , ,