ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการเติบโตและการขยายตัวของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก เมืองใหญ่จำนวนไม่น้อยเริ่มนำแนวคิดเรื่องสมาร์ตซิตี้มาพัฒนาเมืองให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย โดยควบรวมเทคโนโลยีและการสื่อสารกับด้านข้อมูลมาใช้ เพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการบริหารจัดการเมืองและเชื่อมโยงกับผังเมือง พร้อมนำเทคโนโลยีมาช่วยการจัดการด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน อย่างการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นส่วนสำคัญของสมาร์ตซิตี้
โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา บ้านปู อินฟิเนอร์จี จัดงานสัมมนา “Banpu Infinergy Symposium: The Intelligent City of Tomorrow” ได้เชิญกูรูด้านพลังงานจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ พร้อมประสบการณ์การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อร่วมกันเดินหน้าประเทศไทยเป็นสมาร์ตซิตี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
แอรอน อัทเทอเบอรี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนและพัฒนาสมาร์ตซิตี้ บริษัท แบล็ค แอนด์ วิชช์ กับผลงานสมาร์ตซิตี้ที่สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ภายในปี 2050 คาดว่า ประชากรโลกราว 70 เปอร์เซ็นต์จะอาศัยอยู่ในเมืองเป็นหลัก ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากของการบริหารจัดการชีวิตในเมืองให้ดี ก็คือการเก็บข้อมูล แล้วนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์และบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละเมือง โดยต้องเริ่มจากการหาว่า มีปัญหาใดที่อยากแก้ไขเป็นลำดับแรกๆ จากนั้นจึงเก็บข้อมูลของเมืองนั้น นำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ ซึ่งหน่วยงานสำคัญคือหน่วยงานด้านคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประมวลผล หรือแบ่งปันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขปัญหาของเมืองได้อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ การเปลี่ยนให้เมืองกลายเป็นสมาร์ตซิตี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย หน่วยงานรัฐหรือองค์กรที่บริหารเมืองควรเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน จากผลสำรวจของ Black & Veatch ในปี 2018 พบว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมาร์ตซิตี้ประกอบด้วย ผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภค 43% รองลงมาคือรัฐ 32.4% องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง 31% บริษัทเอกชน 29% นักวิชาการและองค์กรไม่แสวงหากำไรเท่ากันคือ 22.8% และส่วนร่วมของประชาชนในสังคม 20.7%
การออกแบบสมาร์ตซิตี้ทั่วโลก
กนกวรรณ จิตต์ชอบธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด เล่าว่า จากการสังเกตการณ์สมาร์ตซิตี้ในเมืองใหญ่ๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมนี ซึ่งเมืองต่างๆ เริ่มต้นพัฒนาสมาร์ตซิตี้จากปัญหาและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป
สำหรับญี่ปุ่น จากประสบการณ์ที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2005 รัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียวและบริษัทเอกชนหลายบริษัท ร่วมมือกันพัฒนาสมาร์ตซิตี้เพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เน้นการเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานจากเหตุภัยพิบัติ
ส่วนสิงคโปร์ โดยสภาพภูมิประเทศทำให้มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร และการให้ความสำคัญด้านปัญหามลพิษ และด้วยความที่เป็นประเทศศูนย์กลางธุรกิจ จึงทำให้สิงคโปร์เน้นเรื่องการส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลแบบเปิด (open data) และใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
อีกประเทศหนึ่งอย่างเยอรมนีซึ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก ก็เริ่มมีแนวคิดการใช้ประโยชน์จากแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งพบว่า โดยเฉลี่ยในหนึ่งวัน รถยนต์ส่วนใหญ่ถูกใช้งานเพียงสองชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือจอดทิ้งไว้เฉยๆ ดังนั้น จึงมีแนวคิดสร้างระบบ smart charging ที่สามารถเลือกได้ว่าจะชาร์จไฟเข้ารถยนต์หรือจะขายไฟที่เหลือจากแบตเตอรี่กลับคืนสู่กริดผ่านสถานีชาร์จ
เมืองต่างๆ เหล่านี้ ตั้งต้นโจทย์ที่เกิดจากทั้งปัญหาและข้อจำกัดในแบบเฉพาะตัวของแต่ละที่ ก่อนจะนำไปสู่การขบคิดและพัฒนาสมาร์ตซิตี้มาจนถึงทุกวันนี้
ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เอง เทรนด์พลังงานแสงอาทิตย์กำลังมา
การสร้างสมาร์ตซิตี้ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าที่มาจากการจัดการอย่างชาญฉลาด ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) ที่มีหน้าที่กำกับและส่งเสริมด้านพลังงาน แสดงให้เห็นว่า การที่ประชาชนหันมาผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองเริ่มเป็นเทรนด์ใหม่ในสังคมไทย
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสนพ.กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การผลิตไฟใช้เองในปัจจุบันมีต้นทุนที่ลดลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟในระบบน้อยลงไปด้วย
ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศยังคงเพิ่มขึ้น ตรงนี้เองที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วยตอบโจทย์ ผู้ประกอบการอาคาร โรงงานขนาดใหญ่ สนใจติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในระบบในเวลากลางวันลงได้
ซึ่งกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการบริหารจัดการพลังงานแบบเบ็ดเสร็จ เน้นการผลิตไฟเองใช้เอง ให้เกิดเป็นสมาร์ตโฮม สมาร์ตกริด และสมาร์ตซิตี้ โดยมีหัวใจสำคัญคือ ระบบการจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ประเทศไทยดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์พลังงาน 4.0 ได้เร็วขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นสังคมคุณภาพแห่งอนาคต และมีความได้เปรียบทางการแข่งขันกับต่างประเทศ ขอชื่นชมบ้านปูฯ ที่ร่วมมือกับภาครัฐเพื่อช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสมาร์ตซิตี้ได้เร็วขึ้น
ผลักดันเมืองอัจฉริยะ ต้องดึงความร่วมมือจากหลายฝ่าย
สมาร์ตซิตี้และสมาร์ตเอนเนอร์จีจะเกิดขึ้นได้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งองค์ความรู้ที่หลากหลายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และแวดวงการศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งทำหน้าที่ให้ความรู้และปลูกฝังเยาวชนไทยให้ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด
ด้วยกลยุทธ์ Banpu Greener & Smarter ที่มุ่งดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัย บ้านปู อินฟิเนอร์จี จึงอาสามาเป็นผู้เปลี่ยนแปลง โดยมีสมาร์ตเอนเนอร์จีเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองอัจฉริยะ
สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด ได้นำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมพลังงานจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ มาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศในการมุ่งสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยมองว่า สมาร์ตซิตี้ต้องมาจากการบูรณาการพลังงานจากหลายแหล่ง ทั้งพลังงานดั้งเดิมและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดความสมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นอกจากนี้ พลังงานอัจฉริยะ ยังต้องสามารถซื้อหาได้ในราคาที่เหมาะสม เป็นพลังงานที่พึ่งพาได้ มีความเสถียร นั่นจึงเป็นเหตุให้ บ้านปู อินฟิเนอร์จี จัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และหวังจะให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมอง และประสบการณ์การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อร่วมกันเดินหน้าประเทศไทยสู่การเป็นสมาร์ตซิตี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
Tags: Banpu, Banpu infinergy, Advertorial, Urban Planning, Smart City