ไม่ค่อยแน่ใจสักเท่าไรว่าในเมืองไทยมีแฟนกราฟิกโนเวล Valerian and Laureline ของสองผู้สร้าง ปิแอร์ คริสแตง (แต่งเรื่อง) กับ ฌอง-โคลด เมอซิแอร์ส (วาดภาพ) มากน้อยแค่ไหน

​ มองอย่างร้ายสุดๆ เอาแบบเบะปากมองบน คือไม่มีฐานแฟนคลับเลย แต่ต่อให้มีแฟนเดนตายในไทยจริงๆ คิดว่ายังไงก็คงไม่มากเท่าเหล่า Superheros and the Gangs จากค่ายคอมิกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Marvel หรือ DC แน่ๆ เพราะขนาด เดน เดอฮาน พระเอกของเรื่อง ยังบอกเลยว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่เคยได้ยินหนังสือการ์ตูนเรื่อง Valerian”​

ส่วนนางเอกของเรื่องอย่าง คารา เดอลาวีญ หนักกว่า เมื่อเธอบอกว่า “ไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำ แต่ที่ตลกคือจำนวนคนที่เข้ามาหาฉันแล้วบอกว่า ‘โอ้ พระเจ้า เธอได้เล่น Valerian’ มีคนรู้จักหลายคนเคยอ่านเรื่องนี้ ฉันไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมฉันไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย”​

นั่นหมายความว่าน่าจะยังมีคนที่ไม่รู้จัก Valerian and Laureline กราฟิกโนเวลขึ้นหิ้งจากยุโรปต้นแบบของภาพยนตร์ Valerian and the City of a Thousand Planets ของผู้กำกับมือดีอย่าง ลุค แบซง อยู่มากพอสมควร​

เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักภาพยนตร์ชื่อย้าวยาว Valerian and the City of a Thousand Planets ที่ต่อไปนี้จะเรียกสั้นๆ แค่ Valerian (ส่วนกราฟิกโนเวลจะเรียก Valerian and Laureline) กันสักหน่อย เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

Start Up!

​ อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า Valerian and the City of a Thousand Planets ไม่ใช่ผลงานออริจินัลของ ลุค แบซง แต่เป็นงานสร้างสรรค์ของสองรุ่นใหญ่อย่าง ปิแอร์ คริสแตง และ ฌอง-โคลด เมอซิแอร์ส ที่เขียน Valerian and Laureline ตอนแรกออกมาเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้น ลุค แบซง ยังเป็นเด็กน้อยวัย 8 ขวบ

​ ตอนแรกของ Valerian and Laureline ตีพิมพ์ใน Pilote นิตยสารคอมิกสัญชาติฝรั่งเศสในปี 1967 เล่าเรื่องราวการผจญภัยของ ‘วาเลรีน’ เจ้าหน้าที่พิเศษประจำหน่วยท่องอวกาศและกาลเวลา กับคู่หูสาวสวยอย่าง ‘ลอเรลีน’ โดยทั้งคู่มีหน้าที่ปกป้องจักรวาลจากอะไรก็ตามที่มีความมุ่งร้าย โดยภารกิจแต่ละตอนจะมีเรื่องราวและวัฒนธรรมของมนุษย์ต่างดาวแทรกเข้ามามากมาย จนอาจเรียกว่าเป็นสารานุกรมสิ่งมีชีวิตต่างดาวขนาดย่อยๆ ได้เลย

​ เรื่องราวคร่าวๆ ของ Valerian and Laureline ก็มีประมาณนี้ แต่ถ้าอยากลงดีเทล เราแนะนำสุดตัวให้ไปหามาอ่าน เพราะทุกตอนที่ ปิแอร์ คริสแตง กับ ฌอง-โคลด เมอซิแอร์ส เขียนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1967 จนถึงปี 2010 พวกเขาได้แทรกประเด็นทางสังคม การเมือง ความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม และประเด็นเข้มๆ ปลีกย่อยเอาไว้มากมาย จนรู้สึกว่าหากเรียก Valerian and Laureline เป็นกราฟิกโนเวลวิทยาศาสตร์และสังคม น่าจะลงตัวกว่า​

ลุค แบซง ผู้กำกับฯ Valerian เล่าว่า “ผู้หญิงคนแรกที่ผมตกหลุมรักน่าจะเป็นลอเรลีน เธอเก๋าและเต็มไปด้วยอิสระ เป็นฮีโร่สาวที่ทันสมัยมากในยุคนั้น ผมคลั่งเธอจริงๆ ส่วนวาเลเรียนก็เจ๋งเหมือนกัน แต่อาจจะขี้เก๊กไปหน่อย เขามักจะคิดว่าตัวเองเจ๋งที่สุดอยู่เสมอ แต่ยังดีที่มีลอเรลีนคอยเบรก ผมชอบความสัมพันธ์ของสองคนนี้ตั้งแต่แรกอ่าน มันเป็นแรงผลักดันผมยิ่งกว่ายานอวกาศหรือมนุษย์ต่างดาวเสียอีก”

50 Years Later

​ ถึงแม้ ลุค แบซง จะยอมรับว่าตนเองเป็นแฟนเดนตายของ Valerian and Laureline มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย แต่เชื่อเถอะว่าไอเดียเปลี่ยนกราฟิกโนเวลเรื่องนี้ให้เป็นภาพยนตร์ น่าจะเกิดขึ้นไม่เกินหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

​ เพราะขนาดตอนทำ The Fifth Element (1997) ลุค แบซง ได้ร่วมงานกับ ฌอง-โคลด เมอซิแอร์ส นักวาดภาพจาก Valerian and Laureline และมักถูกถามมาตลอดการทำงานด้วยกันว่า “ทำไมคุณถึงสร้างหนังงี่เง่าเรื่องนี้ (The Fifth Element)? ทำไมถึงไม่เอา Valerine มาสร้าง?”

​ แต่ตอนนั้นผู้กำกับฯ ชาวฝรั่งเศสทำได้แค่ตอบว่า “มันเป็นไปไม่ได้” เพราะการสร้างหนังที่มีตัวละครส่วนใหญ่เป็นเอเลียนกว่า 1,000 ชนิด จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงเอามากๆ

​ จนกระทั่งเมื่อเขารู้สึกว่าพร้อมที่จะสร้าง Valerian เป็นภาพยนตร์เมื่อราว 8-9 ปีก่อน ขณะที่พัฒนาบทไปได้ประมาณหนึ่ง เขาก็ได้รับเชิญจาก เจมส์ คาเมรอน ให้เข้าไปเยี่ยมกองถ่าย Avatar ภาคแรก เพราะเห็นว่ากำลังจะทำภาพยนตร์ไซไฟเหมือนกัน น่าจะมีอะไรแลกเปลี่ยนกันได้

​ แต่เมื่อ ลุค แบซง ได้เห็นการทำงานและเทคโนโลยีในกองถ่าย Avatar เขาก็แทบจะปาบทในมือทิ้งเดี๋ยวนั้น เพราะเมื่อเทียบกับการทำงานของ เจมส์ คาเมรอน สิ่งที่เขามีตอนนั้นก็ไม่ต่างจากเด็กหัดเดิน ยังดีไม่พอจะเดินไปขอทุนกว่า 197 ล้านยูโรมาสร้างภาพยนตร์ สุดท้าย เขาจึงถอยไปตั้งหลัก ก่อนจะกลับมาอีกครั้งอย่างมั่นคงและเชื่อมั่นในปี 2012

Valerian and the City of Thousand Planets

​ เรื่องราวของ Valerian ฉบับภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากเวอร์ชั่นกราฟิกโนเวลมากนัก โดย ลุค แบซง เลือกเอาเนื้อหาใน Ambassador of the Shadows (กราฟิกโนเวล เล่มที่ 6) ซึ่งเล่าถึงภารกิจหลักที่คู่หูวาเลเรียนและลอเรลีนต้องรับหน้าที่ปกป้องราชทูตของโลกจากการประชุมการเมืองระดับจักรวาล​

ลุค แบซง กล่าวถึงการเลือก Ambassador of the Shadows มาเป็นแกนหลักของเรื่องว่า “ถ้าคุณได้อ่าน Ambassador of the Shadows คุณจะรู้สึกว่าเป็นตอนที่เล่าเรื่องเหมือนหนังมาก อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างวาเลเรียนและลอเรลีน ที่สำคัญ เนื้อเรื่องส่วนนี้ยังเปิดโอกาสให้คนดูใช้จินตนาการคิดตามได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีเอเลียนจำนวนนับไม่ถ้วนให้ทำความรู้จัก ผมเลยคิดว่าตอนนี้คือจุดเริ่มต้นที่ดีมาก”​

เรื่องราวของ Valerian เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 28 เมื่อวาเลเรียน (เดน เดฮาน) และลอเรลีน (คารา เดอลาวีญ) เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษขององค์การปกครองเขตแดนมนุษยชาติที่มีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสองคนได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการให้ปฏิบัติภารกิจเสี่ยงอันตรายในมหานครอัลฟา เมืองที่รวมสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ทั่วทั้งจักรวาล ก่อนจะค้นพบภัยร้ายที่จ้องทำลายล้างมนุษย์โลกและจักรวาล ทำให้ทั้งสองคนต้องช่วยกันหยุดยั้งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

​ ลุค แบซง กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราสร้างประวัติศาสตร์ของอัลฟาขึ้นมาอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่ยุค 70s ไปจนถึงปี 2135 จากสถานีอวกาศที่สร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างอเมริกา รัสเซีย สหภาพยุโรป และจีน ทำให้สถานีอวกาศแห่งนี้ขยายใหญ่ขึ้น ต่อมาในปี 2200 เป็นครั้งแรกที่เอเลียนต้องการมาเยือนเราที่นี่ พอเผ่าพันธุ์แรกมา เผ่าพันธุ์ที่สองก็ตามมา ศตวรรษต่อมา มันกลายเป็นศูนย์รวมทุกเผ่าพันธุ์ในจักรวาล เมื่อมันใหญ่ขึ้น ก็เลยต้องผลักมันออกจากวงโคจรของโลก เพราะทุกคนกลัวว่าสักวันมันจะตกลงมา เจ้าสถานีนี้เลยโคจรเข้าสู่ใจกลางจักรวาล เรื่องราวของวาเลเรียนและลอเรลีนเกิดขึ้น 500 ปีหลังจากนี้ ในยุคที่สถานีอวกาศแห่งนี้มีชีวิตกว่า 18 ล้านชีวิตจาก 8,000 สายพันธุ์อยู่ร่วมกัน”

Other Species

​ ความน่าตื่นตาตื่นใจของ Valerian ที่โดดเด่นมาตั้งแต่สมัยเป็นกราฟิกโนเวล คือการออกแบบเอเลียนแต่ละเผ่าพันธุ์ได้อย่างมีเอกลักษณ์และมีสตอรีเฉพาะตัว จนหยิบเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้หลายเรื่องเลยทีเดียว ซึ่งเรามีคาแรกเตอร์เอเลียนที่น่าสนใจมาแนะนำให้รู้จัก

​ คอร์ตาน ดาร์ฮุค – เอเลียนเผ่าแรกที่มาเยือนอัลฟาเมื่อปี 2154 เป็นเอเลียนตัวแรกที่ ลุค แบซง เลือกเมื่อห้าปีก่อน เป็นเผ่าแรกที่ผูกมิตรกับมนุษย์ด้วยสันติ มีการแบ่งปันภูมิปัญญาให้กันและกัน แต่เป็นเผ่าพันธ์ุที่พูดไม่เก่ง และสังเคราะห์แสงได้แบบพืช

​ อิกอน เซอร์รัส – สลัดอวกาศสุดโหดไร้ความปรานี เพียงแค่ชื่อก็สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับทุกสายพันธุ์ในอวกาศ

​ โบรโมซอว์ส – เป็นอสุรกายขนาดยักษ์ใต้พื้นทะเลกาลานาบนนครอัลฟา ระบบหายใจของมันกรองน้ำให้กลายเป็นโฟมบริสุทธ์ที่ปล่อยออกมาบนหัวคล้ายรูพ่นน้ำของวาฬ ขั้นตอนกลั่นบริสุทธิ์ดึงดูดสัตว์ที่อ่อนแอกว่าแต่มีพลังพิเศษอย่าง แมงกะพรุนไมเลีย ซึ่งอาศัยอยู่บนหัวของโบรโมซอว์ส เพราะต้องอยู่ในน้ำที่บริสุทธิ์เท่านั้น พวกมันตอบแทนโดยใช้ความสามารถในการอ่านใจช่วยให้โบรโมซอว์สสื่อสารกับสัตว์อื่นได้

​ โอมีไลต์ส – สายพันธ์ุที่ผสมระหว่างเซลล์อินทรีย์และอะตอมโลหะ พวกเขาเป็นโปรแกรมเมอร์ชั้นเซียน พัฒนาเผ่าพันธุ์โดยใช้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บวกกับความสามารถในการสื่อสารผ่านความคิดกับเผ่าพันธุ์อื่นๆ พวกเขารับผิดชอบในการทำให้นครแห่งดวงดาวนับพันมีเทคโนโลยีล้ำยุคและความปลอดภัย​

คอนเวอร์เตอร์ – สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก แต่มีความสามารถใหญ่เกินตัว คือกลืนกินสิ่งต่างๆ แล้วใช้ระบบย่อยในร่างกายทำการก็อปปี้สิ่งนั้นออกมาเป็นจำนวนมหาศาล

Tags: , , , , , , , ,