“ขอบคุณค่ะ” น้องเอ๋ย พูดคำนี้ซ้ำๆ สะท้อนความซาบซึ้งใจต่อทีมงานของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

เอ๋ยเคยป่วยด้วยโรคจอประสาทตา 2 ข้าง ชนิดจอประสาทตาหลุดออก (Retinal Detachment) ก่อนเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน แต่การผ่าตัดครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ จนเธอเกือบสูญเสียดวงตาทั้งสองข้างไปตลอดกาล

น้องเอ๋ยลองเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ในกระบวนการรักษานี้ มีขั้นตอนหนึ่งที่ต้องนำประสาทตาที่หลุดออกติดกลับเข้าไปในดวงตาด้วยการอัดแก๊สเพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อประสาทตา ทำให้ในระหว่างการรักษา เธอต้องก้มหน้ามองลงพื้นดินตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาเกือบ 6 สัปดาห์

การรักษาครั้งแรกและครั้งที่สองล้มเหลว แต่คณะแพทย์และเอ๋ยยังไม่หมดความหวังที่จะลองรักษาครั้งที่สาม ในที่สุด ตาขวาน้องเอ๋ยสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้งในระยะ 20 ฟุต

โรคเกี่ยวกับตามักมีความซับซ้อนที่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและเครื่องมือเฉพาะทาง ที่ผ่านมาโรงพยาบาลบ้านแพ้วเคยมีโครงการหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลมาแล้ว จากประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นว่า การมีโรงพยาบาลเฉพาะทาง และพัฒนาศักยภาพเป็นศูนย์รับ-ส่งต่อโรคทางตา จะช่วยผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ ได้อีกมาก นั่นจึงเป็นที่มาของการระดมทุนเพื่อสร้างอาคารโรงพยาบาลจักษุ บ้านแพ้ว ในตอนนี้

รู้จักบ้านแพ้วโมเดล

ก่อนจะก่อกำเนิด ‘ศูนย์จักษุและต้อกระจก’ จนขยายมาสู่โครงการ ‘โรงพยาบาลจักษุ บ้านแพ้ว’ ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางตาขึ้น ตัวโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างและมีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นๆ หรือเป็นที่รู้จักกันว่า ‘บ้านแพ้วโมเดล’

ย้อนไปเมื่อปี 2508 ชาวบ้านจังหวัดสมุทรสาครร่วมกันบริจาคที่ดิน 9 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา พร้อมทั้งกำลังทรัพย์ กำลังกาย ช่วยกันสร้างโรงพยาบาลบ้านแพ้วขึ้นเพื่อเป็นสถานพยาบาลคุณภาพสำหรับประชาชนในพื้นที่ เริ่มแรกเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีแค่ 10 เตียง ก่อนจะโตขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลอำเภอที่มี 30 เตียง ถือเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่ได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวบ้านแพ้ว

ต่อมา มีข้อเสนอกันในสังคมว่า กระทรวงสาธารณสุขควรเปลี่ยนบทบาทจากการวางตัวเป็นเจ้าของโรงพยาบาล มาเป็นฝ่ายกำกับดูแล เพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ มีการบริหารจัดการที่คล่องตัว ไม่เทอะทะ ในปี 2543 รัฐบาลจึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลบางแห่งเปลี่ยนรูปแบบการจัดการให้โรงพยาบาลออกนอกระบบการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนไปเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ ซึ่งโรงพยาบาลบ้านแพ้วก็เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ออกนอกระบบ และได้เป็น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) โดยยังคงได้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเงินบริจาคของประชาชน

ปัจจุบัน โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง ที่เปิดให้บริการโดยมีแพทย์เฉพาะทางครอบคลุมเกือบครบทุกสาขา มีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการเฉลี่ยวันละ 3,000 คน

ขยายสู่โรงพยาบาลเฉพาะทาง เน้นความเชี่ยวชาญด้านจักษุ

ที่ผ่านมา โรงพยาบาลบ้านแพ้วก็ให้การรักษาโรคเฉพาะทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะโรคทางตา ซึ่งถือเป็นโรคที่สามารถชะลอและรักษาได้ ในปี 2548 โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จึงร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ริเริ่มโครงการหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ เดินทางช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล และประเทศข้างเคียง ได้แก่ กัมพูชา ภูฎาน และพม่า

จนเมื่อปี 2553 มูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้วก็สร้างศูนย์จักษุและต้อกระจกขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการเป็นจำนวนมาก และพัฒนาศักยภาพเป็นศูนย์รับ-ส่งต่อโรคทางตาโดยเฉพาะ และยังมีหน่วยผ่าตัดเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ความไว้วางใจนี้ก็มาคู่กับความหวังของผู้ป่วยซับซ้อนทางตา ทุกวันนี้ มีผู้ป่วยด้านตามารับบริการที่โรงพยาบาลฯ มากถึง 500 รายต่อวัน โดยมีจักษุแพทย์เฉพาะทาง 14 คน ห้องตรวจเพียง 7 ห้อง และห้องผ่าตัดเพียง 2 ห้อง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเต็มศักยภาพ

บางโรคหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้สูญเสียดวงตาได้

นายแพทย์ พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “จากสถิติของกรมการแพทย์ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับปัญหาโรคตาอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 70 มีภาวะสายตาเลือนราง สาเหตุหลักมาจากภาวะต้อกระจกซึ่งเป็นโรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา

อาการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งให้เกิดปัญหาสุขภาพตา ความน่ากังวลคือ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสี่ยงต่อภาวะตาบอดได้

ล่าสุด ในปี 2558 มูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้วและภาคประชาชน จึงร่วมกันจัดสร้าง ‘โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว’ เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคตาที่มีจำนวนมากและมีอาการที่ซับซ้อนมากขึ้น

Fact Box

  • มูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และภาคประชาชน ร่วมกันสร้าง ‘โรงพยาบาลจักษุ บ้านแพ้ว’ โรงพยาบาลเฉพาะทางตาแห่งแรกที่สร้างขึ้นจากพลังของภาคประชาชนมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตาที่มีความซับซ้อนให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและครบวงจร พร้อมกับคณะผู้รักษาที่ผู้เชี่ยวชาญ
  • อาคารโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว เริ่มก่อสร้างเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558 เป็นอาคารสูง 9 ชั้น มีห้องตรวจ 23 ห้อง ห้องผ่าตัด 9 ห้อง ศูนย์เลเซอร์และศูนย์เครื่องมือพิเศษทางตาที่ทันสมัย ห้องจัดประชุมวิชาการ และศูนย์วิจัยเพื่อช่วยเหลือคนตาบอด ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
  • การก่อสร้างนี้ต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 400 ล้านบาท ขณะนี้ได้รับเงินบริจาคจากภาคประชาชนแล้ว 280 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอ ตอนนี้จึงอยู่ระหว่างการสมทบทุนภายใต้โครงการ “ทำดีให้คนมองเห็น” ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2562
  • ผู้สนใจสามารถสมทบทุนผ่านโครงการ “ทำดีให้คนมองเห็น” ผ่านช่องทางต่อไปนี้

(1) บริจาคครั้งละ 100 บาท ผ่านมือถือทุกเครือข่าย พิมพ์ *948*888*100# กดโทรออก วิธีนี้ไม่สามารถออกใบเสร็จได้

(2) บริจาคผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านแพ้ว ชื่อบัญชีโรงพยาบาลบ้านแพ้ว กองทุนเพื่อสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว เลขที่บัญชี 745-0-33317-1 ใบเสร็จสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: ศูนย์จักษุและต้อกระจก โทรศัพท์ 033-419-536

 

Tags: , ,