เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ว่าร้านหนังสือต้องห้ามแห่งสุดท้ายในฮ่องกง ซึ่งขายหนังสือที่ถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่แบน เพิ่งปิดตัวลง ท่ามกลางข่าวลือว่าเป็นเพราะแรงกดดันจากรัฐบาลจีน

ร้านที่ว่านี้คือ People’s ร้านหนังสือขนาดเล็กในย่านคอสเวย์ เบย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งขายหนังสือต้องห้าม หนังสือขายดีเป็นหนังสือการเมือง ศาสนาและเพศ มีตั้งแต่ชีวิตส่วนตัวของประธานเหมาไปจนถึงประวัติศาสตร์ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ลูกค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่สามารถหาอ่านหนังสือที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 หรือบทความที่พูดถึงความยากลำบากที่อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ รวมไปถึงหนังสือเกี่ยวกับการร่วมเพศด้วยปาก

พอล ถัง (Paul Tang)  เจ้าของร้านแห่งนี้ค้นพบตลาดเฉพาะทางนี้ในปี 2004 ต่อมาไม่นานนักตลาดหนังสือนี้ก็เติบโต เจ้าของร้านหนังสือซึ่งดึงดูดผู้อ่านจากประเทศจีนด้วยรูปภาพเหมาเจ๋อตุงที่ประตูหน้าร้านบอกว่า “สำนักพิมพ์พิมพ์หนังสือติดต่อกันหลายเล่ม ขายหนังสือได้ร้อยเล่มต่อวัน”

ที่ผ่านมาฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษที่มีอำนาจในการปกครองตัวเอง มีตัวบทกฎหมายว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการพิมพ์ หลายสำนักพิมพ์และร้านหนังสือหลายแห่งสามารถขายหนังสือซึ่งถูกแบนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร แต่เมื่อทางการจีนเพิ่มแรงกดดัน หนังสือต้องห้ามจึงไม่ได้รับการพิมพ์อีกต่อไป  

“นี่เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลมาก ร้านหนังสือแบบเครือข่ายจำนวนมากในฮ่องกงและสำนักพิมพ์ต่างๆ ถูกควบคุมโดยสำนักงานบริหารฮ่องกงของรัฐบาลจีน” แอคเนส โชว ถิง (Agnes Chow Ting) นักเคลื่อนไหวทางสังคมและสมาชิกพรรคฝั่งประชาธิปไตยซึ่งเพิ่งถูกห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาฮ่องกงกล่าว

เมื่อปี 2015 เจ้าของร้านหนังสือ 5 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนักพิมพ์ไมตี เคอร์เรนต์ (Mighty Current) ที่ผลิตหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นผู้นำของจีนได้ถูกจับขังและบางคนหายตัวไป เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วิคเตอร์ มัลเลต์ (Victor Mallet) บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ เอเชียคนใหม่ ก็เพิ่งถูกถอนวีซ่า ทั้งยังมีการแบนพรรคที่ต้องการให้ฮ่องกงแยกตัวเป็นอิสระด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง

ชาวฮ่องกงคนหนึ่งซึ่งคุ้นเคยกับเหตุการณ์เช่นนี้ดี เชื่อว่าเจ้าของร้านได้รับแรงกดดันจากรัฐบาล ส่วนลูกค้าประจำของร้านบอกว่าครั้งหนึ่งเมืองนี้เคยเป็นสถานที่ซึ่งนักอ่านจากแผ่นดินใหญ่มาตามหาความจริง แต่ตอนนี้ทุกคนกลัวกระทั่งการพูดถึงหัวข้อต้องห้าม

โจซัว หว่อง หนึ่งในผู้นำการเคลื่อนไหว Occupy Movement เมื่อปี 2014 กล่าวว่าการปิดร้านหนังสือนี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าฮ่องกงกำลังขาดเสรีภาพ ขณะที่ อัลเบิร์ต เฉิง (Albert Chen) นักวิจารณ์การเมืองฮ่องกงกล่าวว่า การปิดร้านหนังสือทำให้ฮ่องกงไม่มีพื้นที่ที่ท้าทายการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีนอีกต่อไป ความกังวลอยู่ตรงที่ “หลักการประเทศเดียว สองระบบ” ค่อยๆ จางหายไป ขณะที่ฮ่องกงกำลังจะกลายเป็นเพียงเมืองหนึ่งของจีนเท่านั้น

ที่มา:

https://www.theguardian.com/cities/2018/oct/31/a-chapter-closes-last-hong-kong-bookshop-selling-titles-banned-in-china-shuts
เครดิตภาพ: ANTHONY KUHN / NPR