เทียบในสเกลโลก งานเทศกาลศิลปะ Art Biennale (หรือ Biennial) นั้นถือว่าใหญ่โตมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 ที่การจัดงานศิลปะร่วมสมัยเริ่มกระจายตัวจากพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ไปยังพื้นที่ทั่วไปที่ไม่ต้องยืนหนึ่งเป็นภาพจำของการแสดงศิลปะก็ได้ กระแสเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนงาน Biennale หรืออีเวนท์ทางศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานนี้ เริ่มถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการประชาสัมพันธ์ศิลปะร่วมสมัย ตัวดูดนักท่องเที่ยว สร้างผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เป็นเวทีสะท้อนเสียงของประชาชน หรือแม้กระทั่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยติดโบว์ทางวัฒนธรรมให้กับเมืองๆ หนึ่งอย่างมีนัยยะสำคัญ
เวนิซ คือเจ้าภาพงาน Biennale ที่เก่าแก่ที่สุด (1895) และถือว่าเป็น granddaddy ของงาน La Biennale di Venezia จัดงานขึ้นเมื่อไหร่ ผู้ชมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมาดู เพราะศิลปินและคิวเรเตอร์ที่รันวงการจะมารวมกันเล่นใหญ่ทั้งในด้านภาพยนตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรมหรือดนตรีร่วมสมัย
ในเกาหลีใต้ Gwangju Biennale โด่งดังและใหญ่โตทั้งเรื่องงบประมาณ คอนเทนต์และจำนวนผู้ร่วมงานเคยมีข่าวว่ามีปริมาณถึง 9,000 คนต่อวัน หรือ Manifesta เทศกาลที่เกิดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในยุคที่สหภาพโซเวียตกำลังล่มสลาย ผู้จัดเคยดีไซน์ให้จัดงานในเหมืองถ่านหินที่เบลเยี่ยมมาแล้วและเป็นหนึ่งในงาน Biennial ที่ได้รับการกล่าวขานว่าผลักดันศิลปินรุ่นใหม่และโปรเจ็กต์เชิงทดลองมากมาย แม้จะต้องต่อสู้กับบริบทที่อยู่ในขนบมากๆ
ส่วน Bienal de La Habana ที่เมืองฮาวานา ประเทศคิวบาก็มีจุดโฟกัสว่าจะจัดงานที่ศิลปินชาวตะวันตกไม่มีส่วนร่วมอยู่เลย โดยเน้นศิลปินจากทางใต้ที่สะท้อนเรื่องความขัดแย้งในสังคม หรือ DAK’ART ที่ดาการ์ ประเทศเซเนกัล ก็รีแบรนด์เป็นเทศกาลที่ลากไฮไลต์ทับศิลปะแอฟริกันร่วมสมัยตั้งแต่ปี 1996
ปี 2018 ประเทศไทยมีโอกาสได้จัดงาน Bangkok Art Biennale “Beyond Bliss” สุขสะพรั่งพลังอาร์ต เป็นครั้งแรกโดยมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเลซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคมนี้ จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2019 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากมาย เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถานทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย โดยรวบรวมศิลปินทั่วโลกกว่า 75 กลุ่มมาแสดงงานตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ 20 แห่ง เช่น วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร โรงแรมเพนนินซูเอล่า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สยามพารากอน อาคารวัน แบงค็อก หรือ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ
และคงน่าสนใจไม่น้อยที่จะลองไปตามดูงานของศิลปินผ่านสายตาของศิลปิน นักวาดภาพประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ หรือครีเอทีฟ ว่าพวกเขาและเธอชื่นชอบ แนะนำ หรือสนใจศิลปินหรือคอนเซ็ปต์งานในรูปแบบไหนกันบ้าง ทั้งในแง่ของสุนทรียะของดวงตา หรือการเป็นแรงบันดาลใจต่องานที่ทำอยู่ให้ดีมากขึ้น
Tape Bangkok
ศิลปิน: Numen For Use
สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc)
แนะนำโดย: Coundsheck, Eyedropper Fill
“งานนี้ไปปีนและไปเล่นมาจริงๆ สนุกมาก จริงๆ ชอบงานอะไรที่คนสามารถเข้าไป interact ได้ แล้วอันนี้มันน่าสนใจตรงที่ใช้วัสดุง่ายๆ อย่างแถบพลาสติกธรรมดา มาขึ้นเป็นฟอร์มล้ำๆ ที่เล่นกับพื้นที่และคนได้”
—นิตยา ชนานุกุล อาร์ตไดเร็กเตอร์และเจ้าของเพจท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ Coundsheck’s journey
“Tape Project เคยจัดแสดงมาหลายที่ทั่วโลก เห็นผ่านตาบ่อยๆ บนอินเทอร์เน็ตและในหนังสือ เราเลยตื่นเต้นเป็นพิเศษที่จะได้เห็นของจริงซักที สิ่งที่เราชอบในงานนี้คือมันเป็นศิลปะจัดวาง ที่มอบประสบการณ์ได้ 2 แบบ แบบแรก หากเรายืนมองชิ้นงานจากภายนอก ชิ้นงานก็สร้างอิมแพคต์ด้วยไซส์ที่ใหญ่ รูปทรงคล้ายใยแมงมุมยักษ์ เปลี่ยนการรับรู้เรื่องพื้นที่ของหอศิลป์ที่เราคุ้นเคย หรือแบบที่สอง หากเลือกเข้าไปเดินผจญภัยข้างใน เราก็จะได้ประสบการณ์แบบ 360 องศาเหมือนอยู่อีกโลก ทั้งภาพ กลิ่น เสียง สัมผัสกันเลยทีเดียว
สิ่งที่น่าทึ่งคือประติมากรรมชิ้นยักษ์ที่ว่านี้สร้างขึ้นจากวัสดุเดียว คือ ‘เทปกาว’ ถ้าตามดูงานอื่นๆ ของ Numen For Use จะเห็นว่าการใช้วัสดุที่แบบเส้นสายมาสานหรือถักเพื่อสร้างพื้นที่ คือศาสตร์ที่พวกเขาแม่นยำซะจนกลายเป็นซิกเนเจอร์ เหล่านักเรียนศิลปะ เด็กสถาปัตย์ฯ และนักออกแบบน่าไปศึกษาวิธีการผลิตด้วยตาตัวเองอย่างยิ่ง เราเชื่อว่าคนบ้านเราน่าจะถูกใจ Tape Bangkok ไม่มากก็น้อย เพราะไม่บ่อยที่เราจะได้รับอนุญาตให้สัมผัส ปีนป่าย หรือเข้าไปนั่งเล่น – เดินเล่นในผลงานศิลปะได้แบบไม่มีใครห้าม”
—Eyedropper Fill บริษัทที่เน้นผลิตงานด้าน visual design ออกแบบสื่อที่สร้างประสบการณ์ร่วมให้กับคนดู
เกี่ยวกับศิลปิน
Numen For Use Design Collective คือกลุ่มศิลปินที่ทำเรื่องศิลปะเน้นความคิด (Conceptual art), การออกแบบเพื่อการแสดง (Scenography), การออกแบบเชิงอุตสาหกรรม (Industrial design) และ การออกแบบพื้นที่ว่าง (Spatial Design) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1998 โดยมีสมาชิกคือ Sven Jonke, Christoph Katzler และ Nikola Radeljković พวกเขาเน้นปรับแต่งชิ้นงานเชิงทดลองภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ไม่ต้องหาคำนิยาม ส่วนใหญ่จะใช้วัสดุชิ้นเล็กๆ ง่ายๆ ทดลองเล่นในพื้นที่ใหญ่ เช่นใช้ตาข่ายหรือเชือกสร้างสรรค์ประสบการณ์อาว็องการ์ตให้กับผู้ชม อย่างงาน Tape Project นี้ก็เคยจัดขึ้นที่งาน Berlin Biennale มาก่อน
http://www.numen.eu/home/news/
Basket Tower
ศิลปิน: Choi Jeong Hwa
สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc)
แนะนำโดย: Eyedropper Fill
“โถงชั้น 1 ของหอศิลป์ bacc เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในตัวมันอยู่แล้ว ด้วยความสูงโปร่งและมองเห็นได้จากทุกชั้น จำได้ว่าพื้นที่ตรงนี้เคยติดตั้งผลงาน Kinetic Art ต้นไมยราพเคลื่อนไหวได้ของ พี่วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ นอกจากมองเพลินแล้วยังกลายเป็นภาพจำของ bacc ในช่วงนั้นไปเลย หลังจากชิ้นงานถูกถอดออกไป เท่าที่จำได้ก็ไม่มีงานไหนมาวางตรงนี้อีก เวลาแวะไปหอศิลป์ฯ เราก็จะหยุดมองและคิดในใจว่างานแบบไหนจะมาเติมเต็มพื้นที่ตรงนี้ได้อีกบ้าง
Basket Tower โดย ชเว จอง ฮวา (Choi Jeong Hwa) คืองานศิลปะจัดวาง installation art ที่มาเติมเต็มพื้นที่ที่ว่า สิ่งที่ชอบในงานนี้ อย่างแรกคือสายตาของศิลปินที่เฉียบคมเรื่องวัสดุ หยิบตะกร้าพลาสติกที่เราพบเห็นได้ตามตลาดนัดหรือร้าน ‘ทุกอย่าง 20 บาท’ ที่เราไม่เคยเห็นว่ามันสวย เอามาจัดวางใหม่จนเห็นแล้วแอบสงสัยว่านี่ใช่ตะกร้าแบบเดียวกับที่เราเคยใช้กันรึเปล่า
ดูงานนี้เสร็จ เราจะเริ่มสังเกตสิ่งของรอบตัว ริมถนน หรือห้องน้ำในบ้าน บางอย่างดูไม่สวยเพราะแค่เราอยู่กับมันจนชิน แต่ถ้าลองหยิบมามองอีกแบบ สังเกตละเอียดขึ้น ใช้เวลานานขึ้น ลองเอาของชิ้นเดิมมาใช้ในฟังก์ชั่นอื่น หรืออยู่ในที่ทางที่มันไม่เคยอยู่ เราอาจเจอความสวยที่ไม่เคยเจอ หรือความเป็นไปได้ใหม่อีกเพียบ
อีกอย่างที่สำคัญคือ Basket Tower มันมีอารมณ์ขัน เปลี่ยนให้บรรยากาศของหอศิลป์ที่คนทั่วไปอาจรู้สึกว่ามันศักดิ์สิทธิ์ เงียบขรึม เข้าใจยาก ฯลฯ ดูเป็นกันเองและมีชีวิตชีวามากขึ้น เดินเข้าหอศิลป์แล้วเจอหอคอยตะกร้าสีนีออนนี้คอยต้อนรับ คงทำให้การเดินชมงานศิลปะในวันนั้นสนุกขึ้นเยอะ”
—Eyedropper Fill บริษัทที่เน้นผลิตงานด้าน visual design สร้างประสบการณ์ร่วมให้กับคนดู
เกี่ยวกับศิลปิน
ชเว จอง ฮวา เป็นทั้งศิลปิน ดีไซเนอร์ และสถาปนิกชาวเกาหลีที่เกิดในปี 1961 เว็บไซต์ artsy ขนานนามเขาเป็นศิลปินที่ใช้วัสดุแบบ humble materials คือประดิษฐ์งานศิลปะจากสิ่งของบ้านๆ เห็นได้ทั่วไป ได้แรงบันดาลใจมาจากขวดโซดา ถุงช็อปปิ้ง หรือตะกร้าพลาสติกหลากสีอย่างที่เราได้เห็นกันในงาน biennale ครั้งนี้ (เขาชอบไปเดินเล่นเยาวราชและซื้อของมาสร้างงานในครั้งนี้) ชเว จอง ฮวาเคยติดตั้งศิลปะจัดวางนอกพิพิธภัณฑ์เพราะได้รับไอเดียมาจากความยุ่งวุ่นวายของสังคมเมือง รวมทั้งเคยนำประตูที่ไม่ใช้แล้ว 1,000 บานมาสร้างพวงมาลัยขนาดเท่าตึกสูง 10 ชั้นและเนรมิตสนามกีฬาโอลิมปิกของโซลให้ดูเหมือนเพชรระยิบระยับจากขยะกว่า 2 ล้านชิ้น
WHAT WILL YOU LEAVE BEHIND?
ศิลปิน: Nino Sarabutra
สถานที่: วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร
แนะนำโดย: พิชญา โชนะโต
“ไม่ว่าเราจะสนใจศิลปะหรือไม่ มนุษย์ทุกคนควรมีเวลาและโอกาสได้อยู่นิ่งๆ เพื่อใคร่ครวญถึงความตายและชีวิตอย่างเงียบๆ และนุ่มนวล
งาน ‘WHAT WILL YOU LEAVE BEHIND?’ นำกะโหลกน้อยเซรามิกจำนวน 125,000 มาวางเรียงในวัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร เป็นศิลปะที่เงียบเชียบและเหมาะกับบริบทและสถานที่เป็นอย่างมาก การเดินยํ่าเท้าเปล่าเดินไปอย่างแผ่วเบาพอให้กะโหลกเซรามิกจิ๋วที่ถูกสร้างโดยคนที่กำลังใคร่ครวญถึงความตายไม่กระเจิง แตกสลาย รายล้อมไปด้วยป้ายชื่อผู้ตายแปะอยู่บนผนังวัด ดูเป็นประสบการณ์ที่น่าสัมผัสเป็นอย่างมาก เราต้องเงียบให้พอ ต้องเบาให้พอ ถึงจะสัมผัสได้
งานนี้เลือกแสดงมรณานุสติแบบนุ่มละมุน ไม่โชว์ศพ เลือด หนอง ไม่หวีดร้อง ไม่ครํ่าครวญ ไม่น่ากลัว ความเป็นเซรามิกกะโหลกที่ยังไม่เคลือบ สัมผัสมีความออร์แกนิก สัมผัสเท้าแล้วรู้สึกถึงความเย็น ความเงียบ ความสงบ ความธรรมดาของโลก ธรรมชาติและความตายที่เราผู้มีชีวิตรวดเร็วและวุ่นวายมักปฏิเสธมาตลอด แต่วันหนึ่งก็ต้องกลับไปสู่ มันควรจะดูน่ากลัว แต่เป็นความตายที่เป็นมิตรและเป็นกันเองมากๆ
ตัวเราชอบเยือนสุสานและป่าช้าของเมืองต่างๆ ที่ไปเที่ยวอยู่แล้ว รู้สึกว่าเป็นที่ที่สงบและได้เห็นคนที่เคยมีอยู่แต่จากไปแล้ว ตัวเราไม่เชื่อในศาสนาและไม่เชื่อว่ามีอะไรอยู่หลังจากความตายนอกจากการกลายร่าง แทนที่จะปฏิเสธการมีอยู่ของมัน ความตายเหมือนเป็นเพื่อนที่จะกลับมาให้เราระลึกและคิดถึงเสมอในความไม่แน่นอนของชีวิต เคยไปชมพิพิธภัณฑ์ Jewish Museum เดินไปในห้องที่มีแผ่นกระโหลกโลหะจำนวนมากเสียงกร๊องแกร๊งบาดหูที่ทำให้เรารู้สึกหดหู่กับโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นอย่างโหดร้ายทารุณ อดีตที่โหดร้ายและ crime against humanity ยังกังวานอยู่ ส่วนงานนี้ให้สัมผัสคนละแบบ”
—พิชญา โชนะโต อาร์ตไดเร็กเตอร์แห่ง Fungjai และ Salmon
เกี่ยวกับศิลปิน
นีโน่—สุวรรณี สาระบุตร จบการศึกษาด้านเครื่องเคลือบดินเผาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแต่ลงสนามอาชีพครีเอทีฟโฆษณามาเกือบ 20 ปี ก่อนที่จะเปิดสตูดิโอของตัวเองในปี 2006 และทำเอเจนซี่โฆษณาไปด้วย นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ Exploring Love เกิดขึ้นในปี 2008 ก่อนที่จะมี ชุดต่อๆ มาคือ Turn Me On, Live, Love & Let Die หรือ To Live or to Live a Good Life สปอตไลท์เริ่มส่องมาที่เธอหลังจากนิทรรศการ ‘WHAT WILL YOU LEAVE BEHIND?’ ที่จัดเคยขึ้นในไทยและสิงคโปร์เมื่อปี 2013 ผลงานของเธอมักจะสะท้อนเรื่องอารมณ์ความรู้สึกและการมีอยู่ของมนุษย์
Animal Kingdom
ศิลปิน: Canan
สถานที่: BAB Box ONE BANGKOK
แนะนำโดย: Juli Baker
“ถ้าให้เลือกชิ้นงานที่อยากดูสุดในงาน เราสนใจงานของ Canan ศิลปินจากตุรกีค่ะ เพราะว่า เคยเห็นงานเขาผ่านๆ ในอินสตาแกรมแล้วเราเซฟไว้ว่าอยากไปเห็นของจริงซักครั้ง จริงๆ เวลาไปดูงานศิลปะก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะช่วยส่งผลต่องานของเรามากแค่ไหน แค่ได้ไปดูแล้วมีความสุขก็พอแล้ว
ในงาน Animal Kingdom นกฟินิกซ์, มังกร, งู. สิงโต และสัตว์ต่างๆ ที่แขวนโชว์สีสันอยู่บนเพดานและพื้นสะท้อนให้เห็นภาพของสวรรค์ที่ยุ่งเหยิงและสดใส สัตว์ในเทพนิยายเหล่านี้นี่แหละที่พร้อมจะบุกโลกมนุษย์ด้วยความโหดร้ายและน่ารัก”
—ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือ Juli Baker ศิลปินและนักวาดภาพประกอบ
เกี่ยวกับศิลปิน
ชื่อ ‘Canan’ หรือจานัน เป็นภาษาตุรกีแปลว่า ‘เป็นที่รัก’ จานันเป็นศิลปินหญิงชาวตุรกีที่เคลื่อนไหวด้านการเมืองเกี่ยวกับสิทธิสตรี ความเท่าเทียมทางเพศและเรือนร่างมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 1990 เธอจบการศึกษาด้านศิลปกรรมจากมหาวิทยาลัย Marmara ที่ตุรกี
เธอทุ่มเทศึกษาว่าสถาบันต่างๆ เช่น รัฐบาล ครอบครัว สังคม หรือสถาบันทางศาสนาส่งผลต่อการใช้ชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงอย่างไร รวมทั้งมีความสนใจทางจักรวาลวิทยาของอาหรับโบราณเพื่อสำรวจการเกิดขึ้นของรูปร่างต่อขอบข่ายทางศีลธรรมในบริบทของความร่วมสมัยมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ผลงานของเธอมีรูปแบบหลากหลาย ตั้งแต่จิตรกรรม หัตถกรรม ศิลปะจัดวาง วิดิโออาร์ต หรือสื่อผสม จานันได้รับรางวัลและมีส่วนร่วมในโครงการศิลปินพำนักทั้งในประเทศเยอรมันและสหรัฐอเมริกา
https://www.artsy.net/artist/canan
Diluvium
ศิลปิน: Lee Bul
สถานที่: East Asiatique Building
แนะนำโดย: Coundsheck
“งานชิ้นนี้เล่นกับสเปซ เราชอบในบริบทที่มันอยู่ในอาคารอีสต์ เอเชียติก สร้างด้วยวัสดุง่ายๆ แบบ เทปสีเงิน โครงเหล็ก แต่วิธีการขึงนี่แหละที่ทำให้เกิดวิชวลที่อิมแพกต์มาก ซึ่งมันให้แรงบันดาลใจเรานะ เพราะด้วยความที่เราทำโฆษณา และเราเชื่อว่า งานโฆษณาในสมัยนี้มันต้องประยุกต์จากสิ่งต่างๆ รอบตัวเยอะๆ วัตถุดิบก็น่าใช้ อันนู้นก็น่าเอามาลองทำ มันทำให้เราอยากทดลองอะไรใหม่ๆ กับวิชาชีพตัวเองดู”
—นิตยา ชนานุกุล อาร์ตไดเร็กเตอร์และเจ้าเพจท่องเที่ยวและ lifestyle Coundsheck’s journey
เกี่ยวกับศิลปิน
เธอเกิดในปี 2507 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ งานของลีบุลมักจะสำรวจจิตใต้สำนึกที่มนุษย์แชร์ร่วมกันผนวกกับเรื่องลี้ลับที่มีประวัติศาสตร์ซุกซ่อนอยู่ เธอสอบสวนพื้นที่ระหว่างสิ่งต่างๆ หรือพื้นที่เปลี่ยนผ่าน (liminal space) เช่น ปัจเจกและกลุ่มคน หรือสอบสวนความรู้สึกขัดแย้งภายใน เช่น ความเดียวดายและโรคกลัวที่แคบ
งานศิลปะจัดวางและงานปั้นของลีบุลสำรวจคอนเซ็ปต์ที่เป็นสากลบางอย่าง เช่น ความปรารถนาแบบอุดมคติที่มนุษย์อยากจะไปสู่ความสมบูรณ์แบบโดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เธอทำงานผ่านคอนเทนต์และวัตถุดิบที่หลากหลาย แต่มีจุดร่วมคือการสำรวจโครงสร้างและระบบของสิ่งต่างๆ ตั้งแต่เรือนร่างของปัจเจกไปจนถึงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมใหญ่โตที่รวมเมืองและสังคมอุดมคติเข้าไว้ด้วยกัน
https://www.lehmannmaupin.com/artists/lee-bul/biography
I Have Dreams
ศิลปิน: จุมพล อภิสุข
สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc)
แนะนำโดย: ปวิตร มหาสารินันทน์
“ผมพบว่าใน Bangkok Art Biennale นี้ ผมตื่นเต้นกับงานของศิลปินไทยมากกว่า การที่งานเหล่านี้ได้รับคัดเลือกจากทีมภัณฑารักษ์ให้เข้าร่วมเวทีระดับนานาชาติครั้งนี้ก็เป็นการรับประกันคุณภาพระดับหนึ่งแล้ว นอกจากนั้น พวกเขาก็เป็นคนที่เราพบเจอได้ตามที่ต่างๆ มีคำถามสงสัยเพิ่มเติมเราก็ยังถามได้ ไม่ใช่แบบศิลปินต่างชาติที่บินกลับบ้านไปหมดแล้ว
ผมติดตามงานของคุณจุมพลที่เป็นศิลปะแสดงสด มานาน แต่งานที่เป็นวิดิโออย่าง I Have Dreams ซึ่งทำใหม่เพื่อ Bangkok Art Biennale ครั้งนี้แตกต่างออกไป ผมชอบรูปแบบการนำเสนองานชิ้นนี้ ที่เรียบง่ายแต่สอดคล้องกับเนื้อหา นอกจากนั้นก็ชอบการที่นำงานเก่าที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันอย่าง Mida Tapestry (ผลงานปักผ้าของผู้ค้าบริการทางเพศชนกลุ่มน้อยที่บันทึกเรื่องราวตำรวจบุกร้านคาราโอเกะชื่อ Mida ในเชียงใหม่) มาจัดวางในพื้นที่เดียวกัน โดยรวมแล้ว นี่คือการบอกว่าศิลปะกับชีวิตเกี่ยวข้องกันเสมอ ศิลปะไม่จำเป็นต้องแสดงสิ่งสวยงามเสมอไป และยังเตือนว่าความสุขสะพรั่งของคุณอาจหมายถึงความทุกข์มหันต์ของคนอื่นก็เป็นได้”
—ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลป์กทม. (bacc)
เกี่ยวกับศิลปิน
จุมพล อภิสุขเป็นคนน่านและผู้ก่อตั้งเทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเอเชียโทเปีย (Asiatopia) และศูนย์ศิลปะบ้านตึกจังหวัดนนทบุรี เขาเป็นผู้บุกเบิกศิลปะการแสดงสดคนแรกๆ ของเมืองไทยและยังคงยืนหยัดทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1985 จุมพลศึกษาศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์และมหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นจึงเรียนที่ School of Museum of Fine Arts ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา
ในฐานะศิลปินด้านศิลปะแสดงสด เขามีโอกาสจัดศิลปะแสดงสดในหลากหลายประเทศด้วยกันเช่น เยอรมัน แคนาดา ญี่ปุ่น เวียดนาม ฮ่องกง สวิสเซอร์แลนด์ หรือสหรัฐอเมริกา จุมพลมีชื่อเสียงในด้านการเป็นนักเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิมนุษยชน โรคเอดส์และประชาธิปไตยโดยทำงานให้กับมูลนิธิ EMPOWER ร่วมกับคู่หูเพื่อสิทธิของผู้ที่มีอาชีพบริการทางเพศ
ในงาน I have dreams นี้เขาเล่นประเด็นต้องห้ามโดยสัมภาษณ์หญิงผู้ค้าบริการทางเพศชาวไทยและคนกลุ่มน้อย 14 คนเกี่ยวกับความฝัน อุปสรรค และข้อจำกัดที่พวกเธอต้องเจอ รวมถึงเขายังเคยเป็นผู้ที่ร่วมในแคมเปญ Art Vote เรียกคืนหอศิลป์กรุงเทพฯ (bacc)จากผู้ว่าราชการกทม.ในปี 2547 อีกด้วย
http://chumpon-apisuk.blogspot.com
Faith…Life
ศิลปิน: MUSLIMAH Collective
สถานที่จัด: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc)
แนะนำโดย: ปวิตร มหาสารินันทน์
“จังหวัดใต้สุดที่ผมเคยไป คือสงขลา ผมไม่เคยไปยะลา ปัตตานี นราธิวาส งานศิลปะที่ใช้เทคนิกหลากหลายของศิลปินหญิงล้วนกลุ่มนี้พาผมไปสามจังหวัดนั้น ผมรู้สึกเหมือนได้คุยกับพวกเธอ ได้ฟังเรื่องเล่า ปัญหา มุมมองชีวิต และรับความรู้สึกที่แตกต่างจากที่ผม คนกรุงเทพฯ ประสบพบอยู่ทุกวัน ทั้งๆ ที่เราเคยเดินผ่านกันและยิ้มทักทายกันเท่านั้น
งานของพวกเขาเหมือนจะบอกว่าความสุขเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกขณะ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองปัญหารอบตัวด้วยเลนส์แบบไหน และเตือนให้เราคิดว่าประเทศไทยของเรามีความแตกต่างหลากหลายที่ทุกคนต้องเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับ ก่อนที่จะออกไปท่องโลกกว้าง หาประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ เสียอีก”
—ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลป์กทม. (bacc)
เกี่ยวกับศิลปิน
กลุ่มศิลปินมุสลิมะห์ หรือ MUSLIMAH Collective ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยมีศิลปินหญิงรุ่นใหม่ 5 คนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส และกรุงเทพฯ
คีต์ตา อิสรั่น, นูรียา วาจิ, กูซอฟียะฮ์ นิบือซา, ฮิดายะห์ มะหะวี และอริชมา ผกาเพชร์ ถ่ายทอดเรื่องราวและวิถีชีวิตที่มุ่งหวังในสภาพแวดล้อมที่ความสงบยังส่งผ่านมาไม่ถึงเสียที พื้นที่สีแดงที่ยังคงโดนแปะป้าย (stereotype) และปรากฎอยู่ในข่าวราวกับว่าไม่มีคำว่าความสุขหลงเหลืออยู่แล้วในนั้น
ศิลปะที่พวกเธอถ่ายทอดจึงเล่าถึงความสวยงามของวัฒนธรรม ชีวิตธรรมดาและกิจทางศาสนาที่เรียบงามผ่านประติมากรรม เทคนิกการปักผ้า ย้อมผ้า สื่อผสม ภาพพิมพ์ เช่นในผลงานที่ทำเพื่อ BAB ก็มีคอนเซ็ปต์เรื่อง “Hope and Courage Human Compassion Love and Values of Beauty in the Way of Life” สะท้อนให้เห็นถึงความหวังที่จะมีชีวิตปกติในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Inverso Mundus
ศิลปิน: AES+F
สถานที่: BAB Box ONE BANGKOK
แนะนำโดย: The Momentum
“ชาว surrealism, magical realism (หรือแฟนแฮร์รี่พอตเตอร์ก็ได้) ที่ชื่นชอบในความเหนือจริง นิ่งงันและโลกเวทมนตร์น่าจะโปรดปรานวิดิโอเหวอสุดใจของศิลปินชาวรัสเซียกลุ่มนี้ ยิ่งเจอจอสกรีนเป็นแนวนอนวางพาดในห้องมืดยิ่งให้ความรู้สึกอาว็องการ์ต Inverso Mundus (The World Upside Down) เปิดโอกาสให้คุณวิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นเสียดสีเชิงการเมือง ชนชั้นและความน่าเกลียดน่ากลัวของอำนาจในจังหวะที่โหยหวนอย่างสวยงามและเปิดกว้าง
เรื่องวิชวลคงไม่ต้องพูดถึงเพราะเนียนกริบและแฟนตาซีมาก ซาวน์หลอนเข้ากับคอนเทนต์ที่ต้องการจะสื่อ สัญลักษณ์มากมายสื่อสารเรื่องสังคมดิสโทเปียอย่างจิกกัดแบบเหมือนจะตรงไปตรงมาแต่ก็ไม่ โลกสมมติและรัฐประหารเวอร์ชันนี้มีความบันเทิงแบบเจ็บแสบผสมอยู่
อาจจะพูดไม่ได้ตรงๆ ว่างานของ AES+F ต้องการสื่ออะไรถ้าไม่ได้ตั้งใจดูความหมายเชิงซ้อนต่างๆ หรือไปตามอ่านงานที่ผ่านมาของพวกเขา หรือจริงๆ แล้วศิลปะอาจจะต้องการเพียงแค่สุนทรียะและความทรงจำแสนรัญจวนใจขณะเสพย์ (งานแบบนี้ต้องมี ‘ย์’ จริงๆ) เหมือนโยนก้อนหินลงน้ำไปนานแล้วเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเสียง ‘จ๋อม’ นั้นไพเราะ
ในขณะที่ AES+F สื่อสารเรื่องความเน่าหนอนของโลกแห่งอำนาจด้วยสำเนียงร้ายแบบหน้าตาย เรากลับโดนสะกดจิตโดยหมูบินกลายพันธุ์ในวิดิโอหรือความโชกเลือกแบบ slow mo ต่างๆ สิ่งที่สำคัญคือมันปลายเปิดเสียจนเราปลาบปลื้ม ทั้งรู้ซึ้งและเศร้าซึ้ง เหมาะกับสังคมประชาธิปไตยและธุรกิจผูกขาดร้านสะดวกซื้อในเมืองไทยอย่างแท้จริง”
—ณัฐชานันท์ กล้าหาญ (ผู้เขียน)
เกี่ยวกับศิลปิน
AES+F คือกลุ่มศิลปินชาวรัสเซียที่ล้วงลึกเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ ภาพยนตร์ แฟชั่น โฆษณาและวัฒนธรรมป๊อปที่หลงใหลในความเยาว์วัยและความงาม พวกเขาถนัดที่จะเอายางลบไปเบลอเส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและแฟนตาซี ประวัติศาสตร์และกาลเวลาผ่านงานเชิงคอนเซ็ปต์จ๋าที่ควบรวมงานถ่ายภาพ วิดิโอ ศิลปะจัดวาง การแสดงสดและสื่อผสมเข้าด้วยกัน
Evzovich หนึ่งในสมาชิกสรุปว่า “พวกเราไม่เคยมีทิศทางบทสรุปที่แน่ชัดและจะไม่แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งใดที่มันชัดเจนของมันอยู่แล้ว”
AES ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 โดยมีสมาชิกคือ Tatiana Arzamasova, Lev Evzovich และ Evgeny Svyatsky ก่อนที่สมาชิก +F คือ Vladimir Fridkes จะเข้ามาในปี 1995 ซึ่งช่วงปี 90s คือยุคที่มีความน่าสนใจในด้านของประวัติศาสตร์ศิลปะเพราะสถาบันศิลปะโซเวียตแบบเก่าถูกล้มล้างลง ในขณะที่สถาบันใหม่ก็ยังไม่ได้รับการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ
ช่วงเวลานี้จึงเปิดโอกาสให้ AES+F ผลิตผลงานและแตกไอเดียที่มีเสรีภาพเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย ความสนใจของพวกเขาหลากหลายมันจนศิลปะแขนงเดียวอาจจะเอาไม่อยู่ พวกเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าแม้แต่ศิลปะแขนงเดียวกัน แต่ละคนยังทำงานออกมาคนละแบบเลย ดังนั้นงานของพวกเขาจะต้องมีสื่อที่พอเพียงเอาไว้เล่า โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การเซนเซอร์ศิลปะด้านการเมืองออกตัวแรงอีกครั้งหนึ่ง
Last Riot (2007) คือผลงานแจ้งเกิดของพวกเขาที่ Biennale di Venezia ครั้งที่ 52 และหลังจากนั้นก็แจ้งเกิดแล้วเกิดอีกจำนวนมากเป็นเวลานับสิบปีต่อจากนั้นในงานศิลปะร่วมสมัยทั่วโลกทั้งในควังจู เกาหลีใต้, ฮาวานา คิวบา, เฮลซิงกิ ฟินแลนด์, เคียฟ ยูเครน, ไทเป ไต้หวันหรือโคจิ อินเดีย พวกเขามีงานนิทรรศการเดี่ยวมากกว่า 100 นิทรรศการทั่วโลกและยังได้รับรางวัลมากมายจากทั่วโลกเช่นเดียวกัน
The Abramović Method
ศิลปิน: Marina Abramović
สถานที่: BAB Box ONE BANGKOK
แนะนำโดย: วิภว์ บูรพาเดชะ, พวงสร้อย อักษรสว่าง, เพชรลัดดา แก้วจีน
*งาน performance art ของเธอกับสถาบันมารีนา (MAI) จะจบลงไปแล้ว แต่เราอยากบันทึกความประทับใจเกี่ยวกับชิ้นงานเอาไว้ และยังมีผลงานของมารีนาที่ชื่อ Standing Structures for Human Use จัดแสดงอยู่ที่ BAB Box ที่ One Bangkok
“งาน A POSSIBLE ISLAND? หรือ ‘เกาะแห่งความเป็นไปได้?’ เป็นการแสดงสดของ 8 ศิลปินที่ได้เวิร์กช็อปจากสถาบันศิลปะ Marina Abramović Institute (MAI) นี่เป็นรูปแบบของการแสดงร่วมสมัยที่ทรงพลังทั้งในแง่สารที่ต้องการจะสื่อ และในแง่ที่มันใช้พลังและวินัยของผู้แสดงอย่างมหาศาล ดูแล้วเราจะได้รับพลังส่งต่อมาถึงหัวใจ พร้อมทั้งได้รับรู้กับสองตาว่า ในโลกของศิลปะนั้น คำว่า ‘ความเป็นไปได้’ ยังไม่มีวันสิ้นสุดครับ”
—วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหาร happening
“สภาวะไม่มั่นคงทางจิตใจของตัวเอง ท่ามกลางความไม่มั่นใจของผู้อื่นที่สะท้อนกันไปมาในเวิร์กช็อปของมารีนาภายในระยะเวลาอันสั้นอาจไม่ได้ช่วยสร้างความรู้สึกยิ่งใหญ่ต่อทุกคนที่เข้ามาร่วมกระบวนการ แต่ความน่าสนใจเล็กๆ ที่เก็บเกี่ยวได้ระหว่างทางคือ การกลับมาพยายามไว้ใจตัวเองในการลองมีประสบการณ์ใหม่ๆ ร่วมกับผู้คนที่ไม่รู้จัก
ความรู้สึกเบื้องต้นมันมันอาจดูเหมือนการอยู่ในโรงภาพยนตร์ ที่ทุกคนต่างรอคอยสภาวะบางอย่างร่วมกัน จุดศูนย์กลางอาจจะเป็นการจับจ้องภาพเบื้องหน้า แต่เวิร์กช็อปของมารีนาเป็นการรวมตัวกันเพื่อสะท้อนกลับเข้าไปในตัวเอง การฝากมือถือและนาฬิกาไว้ข้างนอก เหมือนเป็นสัญญาณของการตัดขาดการติดต่อสื่อสาร และเวลา ไปโดยปริยาย
โลกภายนอกเงียบลงด้วยที่ครอบหูแม้จะรู้ตัวว่าอยู่ใจกลางเมือง ก่อนจะเข้าไปเผชิญหน้ากับผู้คนที่ไม่รู้จักอีกจำนวนหนึ่งที่กำลังกระทำสิ่งธรรมดา อย่างการนั่ง การนอน การยืน แต่ด้วยบรรยากาศแบบนั้น มันกลายเป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่เรารู้สึก ไม่มากก็น้อย การเข้าร่วมในระยะเวลาอันสั้น มันสำรวจความรู้สึกเบื้องต้นของตัวเองได้ประมาณหนึ่ง
เรากลัวสายตาผู้อื่น เรายืนประหลาดมั้ย ให้เรานอนเฉยๆ อย่างนี้เลยหรอ จนกระทั่งการปล่อยให้ความคิดใดๆ ไหลเข้ามา แต่เมื่อเราสามารถ ‘อยู่’ และ ‘จัดการ’ กับสภาวะบางอย่างได้ ในเวลานั้น ความรู้สึกเหมือนเรานั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์ร่วมกับผู้อื่นมันกลับมาอีกรอบ แต่ที่ต่างกันคือมันไม่มีหนังเรื่องเดียว
เมื่อหลับตาเรื่องราวต่างๆ ที่ฉายอยู่ในหัวของแต่ละคนคงจะได้เล่นวนไปวนมา หรือกระทั่งอาจจะถึงจุดที่เราอาจจะไม่เห็นภาพอะไรเลยก็ได้ สุดท้ายแล้ว สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้จากเวิร์กช็อปนี้อาจจะเป็นแค่การฝากเวลาและการติดต่อโลกภายนอกไปสักพัก สักครึ่งชั่วโมงที่ลองกลับมาไม่มั่นใจในตัวเอง และปล่อยวางจากการหลับตา ลองให้ร่างกายและจิตใจได้ทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องสนใจทั้งเวลาและหน้าจอ”
—พวงสร้อย อักษรสว่าง, ผู้กำกับภาพยนตร์
“Marina Abramović ศิลปินที่เป็นคุณยายแห่งเพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต สิ่งที่สนใจในงานชิ้นนี้คือเราไม่ได้มาเห็นว่าเขาทำการเเสดงให้เราชมเเบบสดๆ เเต่เขาได้ดีไซน์งานชิ้นนี้ไว้ให้เราเป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้ มันเป็นความรู้สึกที่เเปลกใหม่ เเละตื่นเต้นมากกับการเป็นส่วนหนึ่งเเละมีประสบการณ์การร่วมในงานของศิลปินระดับโลก เเละทำให้เข้าใจถึงกระบวนการคิดของเขา งานที่เล่นกับผู้ชม ให้เราได้ปลดปล่อยความรู้สึกผ่านความเงียบเเละการใช้ภาษาร่างขั้นพื้นฐาน โดยไม่มีการเเบ่งเเยกใดๆ ทั้งสิ้น
และเเรงบันดาลใจที่ได้จากงานชิ้นนี้คือการดีไซน์วิธีการเเละกระบวนการคิดของศิลปิน ที่ทำให้เรารู้ว่าศิลปะไม่มีขีดกำจัดในการเเสดงออกร่วมกันระหว่างผู้ชมเเละศิลปิน ซึ่งเเรงบันดาลใจกับเราในการทำงานศิลปะในมิติใหม่ๆ เเละการสนุกกับการเสพงานศิลปะในนิยามใหม่ๆ อีกด้วย”
—เพชรลัดดา แก้วจีน (Phetladda), นักวาดภาพประกอบ
เกี่ยวกับศิลปิน
มารีนา อบราโมวิชคือศิลปินชาวเซอร์เบียน(ยูโกสลาเวียในอดีต)ที่มีผลงานโด่งดังด้านศิลปะการแสดงสดและเพิ่งประกาศกร้าวว่าในปี 2020 จะใช้ไฟฟ้า 1 ล้านโวลต์ช็อตตัวเองที่ราชบัณฑิตยสถานศิลปะ กรุงลอนดอน ซึ่งคุณยายแห่งวงการศิลปะแสดงสดคนนี้จะอายุครบ 74 ในปีนั้นเอง
เธอเติบโตในยุคเผด็จการคอมมิวนิสต์ของจอมพล ยอซีป บรอซ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม ติโต สถานการณ์และภาวะแวดล้อมในยุคนั้นมีแต่ความโหดร้าย อดอยากปากแห้ง แม้อบราโมวิชจะเป็นลูกสาวของพ่อที่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยอารักขาระดับสูงหรือแม่ที่ทำงานเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ แต่ชีวิตวัยเด็กของเธอก็ถูกทำร้ายหนักมากจนเจ็บปวดกับโรคกลัวความมืดอยู่ระยะเวลาหนึ่ง
เราอาจจะไม่สามารถไล่เรียงผลงาน iconic ของเธอได้ทั้งหมดเพราะงานศิลปะของคุณยายมารีนาล้วนเข้มข้นและเต็มไปด้วยความรุนแรง สะท้อนถึงความเจ็บลึก เหวอนำ แต่ละงานต้องกุมใจภายในในบริบทต่างๆ เช่น ผลงานแจ้งเกิด Rhythm 0 ที่ประเทศอิตาลี มารีนาในปี 2517 อนุญาตให้ผู้ชมทำอะไรกับร่างกายของเธอก็ได้ภายใน 6 ชั่วโมงโดยใช้อุปกรณ์ที่เตรียมมา ผู้ชมให้ดอกไม้เธอ, จูบเธอ, เฉือนเธอและเอาปืนจ่อเธอ หรือ Rest Energy ที่มารีนาและอูไลย์ ศิลปินชาวเยอรมันและคู่รักของเธอยืนหันหน้าเข้าหากันโดยคนหนึ่งรั้งคันธนูและคนหนึ่งง้างมันไว้ เรียกได้ว่าสร้างศิลปะแนวฮาร์ดคอร์ ไม่อ่อนโยนแม้กับตัวเองหรือผู้ชม
Telephus (หนึ่งใน workshop ของ The Abramović Method)
ศิลปิน: Yannis Pappas
แนะนำโดย: Wonderwhale
“ส่วนตัวรู้สึกประทับใจผลงานของศิลปินชาวกรีกคนนี้มากเป็นพิเศษ แม้ตนเองจะไม่ค่อยมีประสบการณ์ดูงานประเภทเพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ตบ่อยนัก แต่เมื่อได้อ่านแนวคิดและใช้เวลารับชมสิ่งที่ศิลปินสื่อสารออกมาผ่านการแสดงก็สามารถรับรู้ถึง message ของศิลปินได้ไม่ยาก
ศิลปินได้หยิบยกเอาสำนวนกรีกโบราณที่เทพพยากรณ์อพอลโลได้กล่าวกับเทเลฟัสว่า “ผู้ที่สร้างรอยแผลเท่านั้น ที่จะรักษาแผลนั้นได้” (Only he who inflicts the wound can cure it.) มาตีความและนำเสนอใหม่ผ่านการห่อหุ้มร่างกายตนเองด้วยผ้าพันแผลและปูนปลาสเตอร์ เทคนิคนี้สามารถสื่อสารถึงความเจ็บปวดและความอึดอัดจากการถูกพันธนาการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกร่วมไปกับศิลปินด้วยแต่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ นอกจากรอให้ศิลปินทุบทำลายเฝือกนั้นด้วยตนเอง
การแสดงนี้ได้ขับเน้นความหมายในตัวสำนวนกรีกโบราณให้เด่นชัดด้วยภาษาภาพ อีกทั้งตัวประเด็นก็ยังเป็นสากลพอที่จะทำให้คนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา (อย่างเราๆ) สามารถนึกเชื่อมโยงถึงบาดแผลและการโดนพันธนาการจากกรอบความคิดอื่นๆ ในสังคมของเราได้เช่นกัน”
—ชวณัฐ สุวรรณ (Wonderwhale) นักออกแบบกราฟิก
เกี่ยวกับศิลปิน
Yiannis Pappas คือศิลปินชาวกรีกที่ทำงานอยู่ในเบอร์ลิน งาน BAB ในครั้งนี้เขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงกับสถาบันศิลปะ MAI ของมารีนา ซึ่งผลงานแสดงสดของเขาจะเวียนวนอยู่กับความลึกซึ้งระหว่างพื้นที่และร่างกายมนุษย์ในธรรมชาติและสภาพความเป็นเมือง ซึ่งสื่อสารผ่านศิลปะหลากหลายรูปแบบ เช่น งานวิดิโอ ภาพถ่าย งานแสดงสดหรือศิลปะจัดวาง เนื่องจาก Yiannis สนใจในเรื่องการใช้พื้นที่ทั้งในเชิงกายภาพและสัญลักษณ์ ผลงานเชิงศิลปะและการค้นหาข้อมูลของเขาจึงมุ่งสำรวจผ่านประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่หลากหลายว่ามันสามารถทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างปัจเจกและอยู่เป็นกลุ่มก้อนได้อย่างไร
–
ในไกด์บุ๊กของ BAB บอกเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ของ Beyond Bliss ไว้ว่าเป็นสภาวะที่ไม่ใช่ทั้งความสุขและความเศร้า ไม่ได้เกี่ยวกับการกระหายสุขทางโลก ต่อยศถาบรรดาศักดิ์หรืออำนาจแต่อย่างใด และในการถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดหลักก็จะส่งผลให้มันเป็นคำถามปลายเปิดว่าศิลปินเหล่านั้นคิดเห็นอย่างไร
Art is subjective (อัตวิสัย) คำถามปลายเปิดอาจนำไปสู่คำตอบปลายเปิดด้วยเช่นเดียวกันหากเราลองเดินเหยียบหัวกะโหลกในวัด พลัดไปดูหมูบินของศิลปินรัสเซียสุดล้ำหรือลองเสพงานศิลปะของชนกลุ่มน้อยที่เพิ่งจะมีสิทธิมีเสียงเป็นส่วนหนึ่งในงานศิลปะยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย
ในเดือนแรกของปี 2019 บรรยากาศของการเริ่มอะไรใหม่ๆ เราหวังใจว่าศิลปะจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจและชุบชูใจให้กับไฟชีวิตในปีนี้และอีกนาน
Tags: performance art, Art exhibition, Bangkok Art Biennale, installation art, art, conceptual art