วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2564) แฮชแท็ก #Saveบางกลอย และภาพป้ายข้อความ ‘ชาติพันธุ์ก็คือคน’ กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอีกครั้ง ภายหลังกลุ่มผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #Saveบางกลอย ได้เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความชัดเจนในจุดยืน และแนวทางการคืนความเป็นคนและความเป็นธรรมให้กับชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จากกรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวนหนึ่งได้ตัดสินใจเดินทางกลับ ‘ใจแผ่นดิน’ ภายหลังการถูกรัฐใช้กฎหมายบีบบังคับ เผาบ้านและยุ้งฉาง ให้อพยพโยกย้ายออกจากถิ่นอาศัยเดิม  

หลายคนอาจคุ้นเคยกับเรื่องราวของ ‘ปู่คออี้’ หรือโคอิ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ผู้มีอายุ 107 ปี อดีตแกนนำผู้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมและยืนยันสิทธิ์ว่ามีชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่บางกลอย (ใจแผ่นดิน) ก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน

ปู่คออี้ต่อสู้ด้วยความหวังเพียง ‘อยากกลับไปตายที่บ้านเกิด’ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เฒ่าคนนี้ก็ไม่อาจหวนคืนสู่ถิ่นบ้านเกิดอย่างใจหวังได้ (ปู่คออี้เสียชีวิตเมื่อ 5 ตุลาคม 2561)

‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ หลานชายของปู่คออี้ ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนขึ้นการเป็นพยานปากสำคัญกับศาลปกครอง เพราะเป็นชาวกะเหรี่ยงไม่กี่คนที่พูดภาษาไทยได้ กรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้รื้อเผาทำลายบ้านและยุ้งข้าวของชุมชนกะเหรี่ยง เมื่อปี 2554 ในยุทธการตะนาวศรี

จนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ดีเอสไอแถลงว่า พบกระดูกมนุษย์ใกล้ถังน้ำมันใต้สะพานแขวน ใกล้บริเวณที่ทำการอุทยาน และยืนยันว่ากระดูกที่พบเป็นของ ‘บิลลี่’

และเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งของปู่คออี้และบิลลี่ ล้วนเป็นการต่อสู้เพื่อกลับไปยังบ้านเกิด ‘ใจแผ่นดิน’

ยุทธการตะนาวศรี คืออะไร

เมื่อปี 2504 ประเทศไทยได้มี พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติเป็นครั้งแรก ใจความส่วนหนึ่งของหมวดที่ 3 ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ ระบุว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงการก่นสร้าง แผ้วถาง ถางป่า’

ปี 2524 มีการประกาศตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นเป็นครั้งแรก ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่อาศัยอยู่ในใจแผ่นดิน กลับกลายเป็นผู้บุกรุกป่า และในปี 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานเริ่มมีการเจรจาให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ ย้ายออกจากใจแผ่นดิน โดยสัญญาว่าจะมอบที่ดินทำกินให้ 

ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนจึงตัดสินใจย้ายลงไปอยู่ บางกลอยล่าง (บ้านโป่งลึก) ครอบครัวของปู่คออี้ยังคงอาศัยอยู่ที่เดิม แต่ชาวกะเหรี่ยงที่ตัดสินใจย้ายลงไปอยู่บางกลอยล่างกลับไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้ครบทุกครอบครัวทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนตัดสินใจเดินทางกลับไปยัง ‘ใจแผ่นดิน’ เหมือนเดิม

ปี 2554 เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำของทหารตก ประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์แบบฮิวอี้ เฮลิคอปเตอร์แบบแบล็กฮอว์ก และเฮลิคอปเตอร์ทั่วไป ตกบริเวณอำเภอแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 17 ราย ทั้งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน กองทัพบกแถลงว่า สาเหตุที่เฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ตกเป็นเพราะอากาศปิด ทัศนวิสัยไม่ดี

แต่เหตุการณ์นี้ไม่ได้มีเพียงโศกนาฏกรรมจากเฮลิคอปเตอร์ตกเพียงเท่านั้น

สื่อมวลชนได้นำเสนอภาพอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่มี ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยาน เริ่ม ‘ยุทธการตะนาวศรี’ จับกุมและผลักดัน ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ ให้ออกจากพื้นที่


ภาพจากเอกสารสรุปผลการปฏิบัติงานยุทธการตะนาวศรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ภาพที่สื่อมวลชนขณะนั้นนำเสนอเป็นภาพความเสียหายของการเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างกว่า 98 หลัง ทั้งบ้านและยุ้งฉางเก็บข้าว โดยอ้างว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ เป็นเพียง ‘ชนกลุ่มน้อย’ ที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในประเทศไทย

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ปู่คออี้ ในวัย 100 ปี ได้ออกมาปรากฏตัวและเรียกร้องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยว่า บ้านของตนและชุมชนดั้งเดิมถูกเผาทำลาย

ความเป็นจริงเริ่มปรากฏขึ้น เมื่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอ้างว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ ที่เข้ามายึดพื้นที่อุทยาน แต่ความเป็นจริงคือ กลุ่มชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นคนไทยดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยง มีบัตรประจำตัวประชาชน เกิดและอาศัยในพื้นที่ ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และอาวุธที่พบมีเพียงเครื่องมือทำเกษตรกรรม และปืนแก๊ปยิงสัตว์ขนาดเล็กตามวิถีชาวบ้านในป่าเท่านั้น

นอกจากนี้ กรมอุทยานยังระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวสะสมเสบียงเพื่อสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยทำไร่หมุนเวียน รักษาสิ่งแวดล้อมจนได้รับประกาศเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี 2556 ตามวิถีพอเพียง และมีหลักฐานปรากฏว่าหมู่บ้านนี้ปรากฏในแผนที่กรมทหารตั้งแต่ปี 2554 ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยที่เข้ามายึดครองพื้นที่ดั่งที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวอ้าง

ภายหลังการต้อนอพยพ บังคับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยให้ออกจากพื้นที่ ‘ใจแผ่นดิน’ และจัดสรรพื้นที่อาศัยใหม่ เรียกว่า ‘บางกลอยล่าง’ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยประสบปัญหาไร้ที่ดินทำมาหากินในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จนทำให้หลายชีวิตต้องเดินทางกลับมาทำกินที่ ‘ใจแผ่นดิน’ เช่นเดิม

นี่จึงเป็นที่มาของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รักความเป็นธรรม และภาคี #Saveบางกลอย ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2553-2554

และที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ‘การต่อสู้’ ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เพียงเพื่อกลับไป ยัง ‘ใจแผ่นดิน’ แผ่นดินกลางใจของ ‘กะเหรี่ยงแก่งกระจาน’ อีกครั้ง

เสวนา ‘คืนศักดิ์ศรีและความเป็นธรรมให้กะเหรี่ยงใจแผ่นดิน’

The Momentum ได้รวบรวมใจความส่วนหนึ่งของงานเสวนาหน้ากระทรวงทรัพยากร ในหัวข้อ #Saveบางกลอย ‘คืนศักดิ์ศรีและความเป็นธรรมให้กะเหรี่ยงใจแผ่นดิน’ โดย กฤษฎา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, พฤ โอโดเชา ผู้แทนกะเหรี่ยง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ไว้ดังนี้

พฤ โอโดเชา ผู้แทนกะเหรี่ยง อำเภอสะเมิง กล่าวว่า “การที่กะเหรี่ยงใช้ระบบไร่หมุนเวียน เป็นระบบที่ทำให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เพราะเป็นการทำไร่ที่ให้ธรรมชาติฟื้นฟูกันเอง เพราะมีหลักที่ว่าหากทำซ้ำๆ ดินจะเสื่อม ต้นไม้จะตาย นอกจากนี้ยังเป็นระบบเกษตรที่อาศัยน้ำฝนที่ธรรมชาติมอบให้ กำหนดว่าต้องทำตรงจุดไหน นี่เป็นความรู้ที่บรรพชนสืบทอดมา

“เรามีความเชื่อว่า ต้นไม้ ข้าว ดิน จักรวาล ทุกอย่าง มีชีวิตเหมือนคนในครอบครัว ยกตัวอย่างเราเข้าไปในป่า ก็เหมือนไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน ก็ต้องเคารพ นับถือเจ้าบ้าน เพราะป่าให้ทั้ง ดิน เม็ดฝน ข้าว อากาศ เป็นผู้ให้ชีวิตเราทุกอย่างก็ยิ่งต้องมีความเคารพ ดังนั้นพิธีกรรมของชาวกะเหรี่ยงจึงมีมาก นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ป่าสำคัญกับชาวกะเหรี่ยงมากแค่ไหน

“เมืองไทยคอยสร้างความเข้าใจว่า คนที่อยู่บนป่าบนเขาไม่ดี และเพิ่งอพยพมา ที่จริงพวกผมอยู่กันมานานแล้ว ที่จริงแล้วพวกคุณต่างหากที่ต้องเป็นจำเลยของผม เพราะคนในเมืองทำลายป่าหมด เหลือแต่ป่าของพวกผมที่พวกผมรักษา แล้วทำไมถึงมาโทษผมอยู่ ผมสิต้องถามคนในเมืองว่า ทำไมถึงมีแต่คอนกรีต ทำไมมีแต่ตึก

“หากชาวบางกลอย อยากแผ้วถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้ก็ให้เขาทำไป เขาไม่เอาเยอะหรอก เอาแค่พอกิน เพราะถ้าเอาไร่เยอะ ก็กินไม่หมด อย่างข้าวแบกไปขายไหนก็ไม่ได้ไกล”

กฤษฎา บุญชัย จากมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทุกวันนี้คือ คนส่วนมากไม่เข้าใจคำว่า ‘ไร่เลื่อนลอย’ และ ‘ไร่หมุนเวียน’ แต่คนที่ไม่เข้าใจคำนี้ที่สุดก็คือ กระทรวงทรัพยากรฯ การทำไร่หมุนเวียนของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง นอกจากเรื่องประเพณี วัฒนธรรมแล้ว ยังมีข้อมูลวิชาการทั้งจากทางนักนิเวศวิทยา นักพฤกษศาสตร์ หรือธรณีวิทยา ที่ได้ทำการศึกษา และค้นพบว่าการทำเกษตรระบบไร่หมุนเวียน เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศในที่สูง

การทำไร่หมุนเวียนคือการทำอีกที่หนึ่ง แล้วย้ายไปทำอีกบริเวณหนึ่ง  สิ่งนี้คือการปล่อยให้ดินพักฟื้นความอุดมสมบูรณ์ ไม่ให้เสื่อมความหลากหลายของพันธุ์พืช  และการทำไร่หมุนเวียนไม่เหมือนกับการทำไร่เลื่อนลอย  

“กระทรวงทรัพย์ฯ กลับไม่เข้าใจความแตกต่างของ​ 2 สิ่งนี้ แต่พยายามตอกย้ำวาทกรรมไปเรื่อยๆ ว่า เป็นการทำลายป่า นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาไม่เข้าใจระบบนิเวศ เขาไม่เข้าใจวัฒนธรรม และไม่เข้าใจผู้คน

“อยากฝากทุกคน ทั้งคนในพื้นที่ป่า คนในชุมชน นี่ไม่ใช่ปัญหาแค่บางกลอย แต่นี่คือปัญหาของชุมชนป่าทั่วประเทศ จะไม่มีความหมายอะไรเลยหากนักอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดูแลแค่สัตว์และป่า ยังคงสานต่ออำนาจนี้ต่อไป อำนาจนิยมเหล่านี้ก็จะไม่สูญหาย และนี่คือความสำคัญของบางกลอยที่เราต้องช่วยกันร่วมมือ”

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนที่หายไปของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ว่า “ข้อสรุปจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้ของเรา เราเรียกกะเหรี่ยงเป็นคนของโลก ส่วนในภาษาสิทธิมนุษยชน เราเรียกเขาว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งคำนี้ ประเทศไทยไม่ยอมรับว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง ดังนั้นจึงมีทัศนคติแคบๆ เหมือนโลโก้ของกรมอุทยานแห่งชาติ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตัดไม้ทำลายป่าในอดีต และปัจจุบันโลโก้กรมอุทยานแห่งชาติ ก็ยังไม่เปลี่ยนยังคงเป็นรูปท่อนไม้ แล้วกรมนี้เหรอที่จะเสนอให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก

“แต่แก่งกระจานจะไม่สามารถเป็นมรดกได้ หากยังปฏิบัติกับประชาชนแบบนี้ ยูเอ็นได้ตั้งคำถามถึงการหายตัวไปของบิลลี่ การเผาบ้านของกะเหรี่ยงบางกลอย การปฏิบัติกับชนเผ่าพื้นเมือง ว่ารัฐบาลทำแบบนี้ได้อย่างไร นี่คือคำถามที่เขาถามซ้ำๆ มาตลอด การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีนโยบายจากภาครัฐ สิ่งที่พวกเขาต้องการมีเพียงแค่มีสิทธิมนุษยชน ภายใต้กฎหมายไทย เขาขอแค่นี้ ”

นอกจากนี้ สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติแรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น พูดถึงประเด็นชาวกะเหรี่ยงบางกลอยหวนกลับคืนใจแผ่นดินว่า พื้นที่ใจแผ่นดินหรือบางกลอยบน เป็นพื้นที่ดั้งเดิมโบราณของกลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอย ชาวบ้านเหล่านี้ไม่ได้ทำการบุกรุกป่า ทุกคนมีสัญชาติไทย และบ้านทุกหลังที่ตั้งอยู่ในใจแผ่นดินมีบ้านเลขที่และทะเบียนบ้านครบทุกหลัง

“พอเกิดยุทธการตะนาวศรี กรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เผาบ้านชาวกะเหรี่ยงจนชาวบ้านต้องไปอาศัยอยู่ที่บางกลอยล่างนั้น ผมขอไม่ใช้คำว่าเจ้าหน้าที่อุทยานย้ายหรืออพยพชาวบ้านนะ เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานนั่งเฮลิคอปเตอร์มาเพื่อเผาบ้านชาวบ้าน และเมื่อบ้านถูกเผา ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ก็ต้องหนีตาย ไปแอบอยู่กับญาติพี่น้องที่บางกลอยล่างแทน”

ภาพจากเอกสารสรุปผลการปฏิบัติงานยุทธการตะนาวศรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

“การอพยพ หมายความว่า ต้องให้ชาวบ้านทุกคนเตรียมพร้อมขนของย้ายของเป็นเรื่องเป็นราว แต่นี่กลับเผาบ้าน เผาทรัพย์สินชาวบ้าน จนชาวบ้านเหลือแค่เสื้อผ้าและชีวิตที่รอดมา แบบนี้เรียกว่าอพยพได้อย่างไร”

ภายหลังการฟ้องร้องระหว่างชาวกะเหรี่ยงและกรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในชั้นศาล ที่ใช้เวลายาวนานประมาณ 8-9 ปี ท้ายที่สุด ศาลได้ตัดสินให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี และให้เจ้าหน้าที่ชดเชยค่าเสียหาย แม้ว่าศาลจะตัดสินว่าชาวบ้านเป็นชุมชนดั้งเดิมไม่ใช่ผู้บุกรุก แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ยอมให้ชาวบ้านกลับใจแผ่นดิน ยังคงกดดันขัดขวางดังที่เรารับรู้ได้ผ่านข่าวมาโดยตลอด

“ส่วนประเด็นที่เจ้าหน้าที่ อ้างว่ามีการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ชาวกะเหรี่ยงเรียบร้อยแล้วนั้น ผมขอแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 2 ข้อดังนี้ 1. เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจจัดสรรที่ดินทำกินตรงนี้ได้ เพราะสถานที่นี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานเช่นเดียวกับใจแผ่นดินที่เจ้าหน้าที่ขัดขวางให้ชาวบ้านเดินทางกลับบ้านเกิด 2. ชาวบ้านบางคนเท่านั้น ที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ 7 ไร่ และเป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่สามารถทำเกษตรกรรมใดๆ ได้ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการทำเกษตรกรรมที่ใจแผ่นดิน ชาวบ้านจะใช้ที่ดินเพียง 4-5 ไร่ ต่อ 1 ครอบครัวเท่านั้น

“การที่ชาวบ้านถูกขังไว้ที่บางกลอยล่าง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างการที่เจ้าหน้าที่ นั่งเฮลิคอปเตอร์ ไปสำรวจป่า แล้วเผอิญเจอชาวบ้าน 2 คนล่องแพอยู่ ก็มากล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ผิดกฎหมาย และนำภาพถ่ายดังกล่าวมาแสดงต่อสังคม พร้อมกับประกาศว่าจะดูแลพิทักษ์จระเข้ไม่ให้มีใครมารบกวน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านคุ้นเคยและใช้ชีวิตร่วมกับจระเข้มาอย่างยาวนาน ไม่มีปัญหาอะไร”

สุรพงษ์บอกว่า สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า คนกะเหรี่ยงอยู่ในป่ามีคุณค่าน้อยกว่าสัตว์ป่า ที่มีความอิสระสามารถอยู่ในป่าได้ มีคนพิทักษ์คุ้มครอง เข้าไปดูแล แต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ กลับเอาเป็นเอาตายกับคนกะเหรี่ยง จึงต้องฝากให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนแนวคิดในการทำงาน เพราะเงินเดือนที่ได้รับก็มาจากการจ่ายภาษีของชาวบ้านเหมือนกัน

“ผมอยากให้ชาวบ้านมีชีวิตสุขสงบเหมือนหลายร้อยปีที่ผ่านมา มีชีวิตที่เรียบง่าย ช่วยรักษาป่า กรมอุทยานแห่งชาติก็ต้องขอบคุณพวกเขาด้วยซ้ำที่ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่ไปจับกุม ไปเผาเขา เหมือนที่ผ่านมา กรณีปู่คออี้ที่ต่อสู้เรื่องนี้จนกระทั่งอายุ 107 ปี ที่พึ่งเสียชีวิตไป หรือบิลลี่ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ใจแผ่นดินก็ถูกฆาตกรรม รัฐต้องเรียนรู้อย่างจริงจัง อย่าให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำขึ้นอีกเลย”