1

เฮลิคอปเตอร์บินผ่านศีรษะเป็นลำที่ 2 แล้ว

เบื้องล่างคือสนามเด็กเล่น ‘ที่ไร้เครื่องเล่น’ เด็กตัวน้อยนับสิบกำลังวิ่งไล่จับ บ้างเตะฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน แน่นอนว่าเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำที่บินผ่านไปได้รับความสนใจจากเด็กๆ รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย 

รอยยิ้มปนเสียงหัวเราะ ขณะพยายามวิ่งไล่ตามเฮลิคอปเตอร์ ช่างเป็นภาพที่น่ารักจนหลายคนอดยิ้มตามไม่ได้ หากว่าชุมชนนี้ไม่ได้มี ‘อดีต’ อันขมขื่นกับ ‘เฮลิคอปเตอร์’  

และนี่คือ ‘ภาพจำ’ ของผู้เขียน เมื่อนึกย้อนกลับไปในคราแรกที่มาเยือนบ้านโป่งลึก-บ้านบางกลอย

 

บ้านบางกลอยหรือที่หลายคนรู้จักในชื่อบางกลอยล่าง

2

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554  ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมบนหน้าสื่อ ภาพเจ้าหน้าที่กำลัง ‘เผา’ ทำลายกระท่อมมุงจากและยุ้งฉางเก็บข้าวนับร้อยหลังคาเรือนของชาวกะเหรี่ยงบริเวณบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน ผืนป่าพวกเขาอาศัยมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เพื่อขับไล่ให้ลงมาอยู่ที่หมู่บ้านโป่งลึกหรือบางกลอยล่าง พื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้

จากวันนั้นถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์จะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง 

เมื่อเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนธิกำลังกับทหารตำรวจเปิด ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2564 นำตัวชาวกะเหรี่ยงบางกลอยส่วนหนึ่งที่อพยพหนีกลับขึ้นไปยังใจแผ่นดิน หลังจากไม่พอใจกับสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้งและไม่อุดมสมบูรณ์ของบางกลอยล่าง ทั้งยังต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร 

ชั่วระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์ การเจรจาที่ล้มเหลวนำไปสู่การส่งเจ้าหน้าที่หลายสิบนายพร้อมหมายศาล บุกเข้าจับกุมตัว พะตีหน่อแอะ มีมิ ลูกชายปู่คออี้ มีมิ พร้อมชาวบ้านบางกลอยจำนวน 87 ราย ที่ใจแผ่นดิน โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ร่วม 35 เที่ยวบินในการลำเลียงคนออกจากพื้นที่ ก่อนนำมาควบคุมตัวไว้ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งต่อมามีชาวบ้าน  22 ราย ถูกฝากขังในเรือนจำกลางจังหวัดเพชรบุรี

เฮลิคอปเตอร์ที่เด็กๆ กำลังวิ่งไล่ตามอยู่นี้ ก็เป็นหนึ่งในลำที่มาพรากพ่อแม่ญาติพี่น้องของพวกเขาไป

สิ่งแวดล้อมภายในหมู่บ้านบางกลอย

3

“ผมอยากให้ภายนอกรู้ว่า ทุกอย่างที่อุทยานพูดนั้นไม่เป็นความจริง ผมยังจำได้อยู่เลยว่าการอพยพในปี 2539 เขาบอกจะเลี้ยงดูอย่างดี จัดสรรที่ดินทำกินให้ภายใน 3 ปี หากชาวบ้านอยู่ไม่ได้จริงๆ อยากกลับไปอยู่ใจแผ่นดินก็กลับได้”

ลุงด่าง ชาวบ้านบางกลอย บอกเล่าเรื่องราวเมื่อ 25 ปีที่แล้วผ่าน สุชาติ ต้นน้ำเพชร ล่ามภาษากะเหรี่ยงที่อาสาอยู่กับเราในวันนี้

ปฐมบทแห่งความขมขื่นและขัดสนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเริ่มต้นในปี 2524 หลังจากประเทศไทยมีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติเป็นครั้งแรก ซึ่ง ‘ใจแผ่นดิน’ หรือบางกลอยบน เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งอยู่กลางผืนป่าในเขตป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เจ้าหน้าที่จึงต้องการย้ายชาวบ้านมาอยู่ที่บางกลอยล่าง โดยให้คำมั่นสัญญาว่า

“จะจัดสรรที่ดินทำกินให้ทุกคน โดยไม่ปล่อยให้อดอยาก”

แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินในพื้นที่ได้เลย เพราะสภาพดินมีลักษณะเป็นหิน ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งและแห้ง ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ขณะที่แหล่งน้ำก็ไม่เพียงพอ ยังไม่นับอีกหลายครอบครัวที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินตามที่สัญญาไว้ 

ท้ายที่สุด หลายคนจึงอพยพหนีกลับยังใจแผ่นดิน ถิ่นอาศัยเดิมที่อุดมสมบูรณ์กว่า และมีความผูกพันอันลึกซึ้งต่อวิถีชีวิตของพวกเขา จนนำไปสู่ยุทธการตะนาวศรี ในปี 2554 ตามมาด้วย ปี 2557 กับการหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำของ ‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ หนึ่งในนักต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งในเวลาต่อมา มีการพบชิ้นส่วนกระดูกของมนุษย์ใกล้บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีการยืนยันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่ากระดูกที่พบเป็นของบิลลี่

กระทั่งปี 2563 เกิดวิกฤตโควิด-19 ไม่เว้นแม้แต่ชาวบางกลอย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ออกจากป่าไปทำงานในเมืองต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายคนตกงานต้องกลับมาอยู่บ้าน และเผชิญกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดดังที่เป็นอยู่ในวันนี้

“ตอนปี 2539 เจ้าหน้าที่เขามาพูดด้วยอย่างดีว่าจะจัดสรรที่ดินให้ จะหาบ้านให้ จะเลี้ยงดูอย่างดี แต่ตั้งแต่ลงมาเจ้าหน้าที่ไม่เคยเอาอะไรมาให้เลย บอกอะไรก็ไม่ฟัง ชาวบ้านต้องดิ้นรนกันเอง”

“อุทยานชอบพูดซ้ำๆ ตลอดยี่สิบกว่าปีว่าพวกเราอยู่ดีกินดี มีอาหารการกิน มีน้ำไว้ใช้เพาะปลูกได้ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ อย่างเช่นวันนี้ พี่น้องข้างล่างเขาใจดีจะมาส่งอาหารให้พวกเรา อุทยานฯ ก็ไม่ยอมให้เข้า คนภายนอกที่จะเข้ามาได้ต้องผ่านเขาทุกคน” 

“แล้วมีที่ดินไหม” ผู้เขียนถาม

ลุงด่างตอบว่า “มีที่ดิน แต่ปลูกอะไรก็ตายหมด ยิ่งโควิด-19 มาก็ยิ่งประสบปัญหา บางทีไม่มีเงินซื้อข้าวก็ต้องไปเซ็นชื่อที่ร้านค้าไว้ก่อน ซึ่งตอนนี้ก็เป็นหนี้อยู่หลายพัน ชาวบ้านคนอื่นก็ติดหนี้เยอะมาก”

ลุงด่างที่กำลังบอกเล่าเรื่องราวด้วยภาษากะเหรี่ยง

เงินหลักพันของหลายคนอาจเป็นเงินจำนวนแค่หยิบมือ แต่เงินหลักพันของลุงด่างกลับเป็นสิ่งที่หาได้ยากเย็นยิ่ง ด้วยค่าแรงจากอาชีพรับจ้างทั่วไป การทำไร่มะนาวและไร่กล้วย ยังไงก็ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

“ทุกวันนี้หากไม่มีคนอื่นช่วยนำข้าวนำอาหารมาให้ก็คงอด ไม่ก็ต้องเป็นหนี้เพื่อซื้อข้าวสารอีก รับจ้างทั่วไปได้ค่าแรงวันละ 250 บาท บางวันก็ 150 บาท แล้วแต่เขาจะให้

“นี่ข้าวสารถังละ 300 บาท ที่ไปเซ็นชื่อที่ร้านค้า ครอบครัวหนูกินประมาณ 7 วันก็หมด” 

สุพรรณ กว่าบุ อายุ 21 ปี พูดเสริม พลางหยิบถังใส่ข้าวสารโชว์ให้ดู

 4

‘ห้ามถ่ายรูป’ 

ป้ายข้อความขนาดใหญ่ที่ติดอยู่หน้าประตูศูนย์ฝึกศิลปาชีพบางกลอย

“หนูทำงานนี้มาสิบปีแล้ว ได้ค่าแรงวันละ 130 บาท แต่กว่าจะได้เงินก็ 2-3 เดือน บางทีปักผ้าผืนนึงใช้เวลา 1 ปีกว่าจะได้เงินก็มี บางทีปักผ้า 4 ชิ้นใช้เวลา 2 ปี กว่าได้เงินครบ 8 พันบาท” 

หญิงสาวชาวบางกลอยรายหนึ่งที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฝึกศิลปาชีพบางกลอย เล่าให้ฟังถึงงานใช้เลี้ยงดูลูกในแต่ละวัน

ศูนย์ฝึกศิลปาชีพบ้านบางกลอย-บ้านโป่งลึก ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เริ่มต้นขึ้นในปี 2554 ที่มีเป้าหมายคือ ช่วยให้ชาวบ้านพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอาหารการกิน มีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้

“ทุกๆ เช้าตอน 8 โมง ผู้หญิงทุกคนในหมู่บ้านที่มาทอผ้าต้องมายืนเคารพธงชาติ โดยจะมีทหารมาเช็กชื่อ นอกจากผู้หญิงแล้วยังมีผู้ชายแก่ๆ อีกสองคนมาทอผ้า เพราะเขาไปรับจ้างรายวันไม่ได้แล้ว”  

ซุยเน ชายวัย 63 ปี กำลังบอกเล่าเรื่องราวในอดีต

เธอบอกก่อนหันหน้าไปทาง ซุยเน ชายวัย 63 ที่พูดเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า 

“ตอนนี้ผมอายุมากแล้ว จะออกไปทำงานรับจ้างข้างนอกก็ไม่ได้ ทำไร่ทำสวนก็ไม่ไหว ถึงทำไหวก็ทำไม่ได้เพราะเราขาดน้ำ พวกเขาชอบพูดว่ามีอ่างเก็บน้ำให้ แต่อ่างเก็บน้ำที่เขามีให้ก็ต้องใช้เงินซื้อน้ำมันเพื่อสูบน้ำเข้าไร่ แต่ผมไม่มีเงินซื้อน้ำมันเพื่อมาสูบน้ำ ผักก็เลยตายหมด หรือการที่เขาแนะนำให้ซื้อปุ๋ยสารเคมีต่างๆ มาใช้ พวกเราก็ใช้ไม่เป็น เวลาใช้ก็ป่วยตลอด” 

ชายชรายิ้มเศร้ายามพูดถึงความยากลำบากในวันนี้

อาชีพหลักในการหาเลี้ยงชีพของชาวบ้านบางกลอยมีเพียงไม่กี่อาชีพ ผู้ชายก็รับจ้างทั่วไปส่วนผู้หญิงก็ปักผ้าในศูนย์ศิลปาชีพ เด็กในชุมชนส่วนมากได้รับการศึกษาสูงสุดแค่ชั้น ป.6 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก-บางกลอย หากใครต้องการเรียนต่อชั้นมัธยมก็ต้องเข้าไปเรียนในตัวเมือง เด็กผู้ชายบางคนอาจต้องไปอาศัยอยู่วัด ส่วนผู้หญิงจะเข้าเรียนในโรงเรียนประจำ เพียงเพื่อให้มีข้าวให้กินทุกมื้อ

วลีที่หลายคนว่า ‘การศึกษาคือการลงทุน’ แต่ในหมู่บ้านที่แม้แต่ข้าวสารยังไม่มีจะกรอกหม้อ การลงทุนเรื่องการศึกษาจึงแทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้

ที่ดินทำเกษตรกรรมที่รัฐจัดสรรให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

5

ผืนดินที่แห้งกรัง ผืนนาที่ไร้ข้าว ไร่มะนาวที่ไร้น้ำ ยืนต้นตายอยู่ในสวน อ่างเก็บน้ำประจำหมู่บ้านมีน้ำติดก้นบ่อไม่ถึงหนึ่งในสิบ

“ปั๊มน้ำพวกนี้ชอบพังบ่อยๆ ครับ”

เป็นคำบอกเล่าของหนุ่มชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่ง ผู้อาสาเป็นมัคคุเทศก์พาเที่ยวชมไร่ที่รัฐจัดสรรให้ เขาเล่าให้ฟังถึงกระบวนการสูบน้ำจากแม่น้ำเพชรขึ้นมาพักยังอ่างเก็บน้ำของชุมชน ก่อนนำไปแจกจ่ายใช้สอยในการเกษตร ทว่าน้ำเหล่านี้ก็ไม่เคยเพียงพอ

พื้นที่เก็บน้ำเพื่อการเกษตร

“อยากกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน”

ลุงด่างรำพึงเบาๆ ขณะเดินสำรวจที่ดินอันแห้งแล้งของชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย 

“ตอนอยู่ที่ใจแผ่นดินเรามีความสุขมาก ชีวิตมีประเพณีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับป่าใจแผ่นดิน เงินเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น พอใจในสิ่งที่มี เราใช้เงินแค่ซื้อเกลือ ชูรส และพวกยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น” ลุงด่างเล่าถึงสมัยที่อยู่ใจแผ่นดิน

ขณะที่สุชาติ ล่ามภาษากะเหรี่ยงพูดขึ้นบ้างว่า 

“ผมอยากบอกให้คนภายนอกได้เข้าใจความเป็นจริงถึงสิ่งที่เราเผชิญอยู่ ไม่อยากให้คนอื่นมองว่าพวกเราก้าวร้าว มาเรียกร้องอะไรมากมาย สิ่งที่พวกเราต้องการเพียงความอยู่รอดในชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน และสิ่งที่ผมต้องการจะพูดคือ คนในเมืองมองว่าพวกเราเผาป่า เราอยากให้ทุกคนเข้าใจเรื่องการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง

“ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา พี่น้องชาวกะเหรี่ยงต้องอดทนและปรับตัวอย่างมาก วิถีชีวิตเปลี่ยน ต้องออกไปรับจ้าง แต่ตอนนี้รับจ้างก็ไม่ได้ ไม่มีใครรับ ที่ดินทำกินก็ไม่มี หากเป็นแบบนี้ต่อไปลูกเราก็ต้องอดตาย นี่คือเหตุผลที่เราต้องกลับไปใจแผ่นดินบ้านเกิด เพราะนอกจากเรื่องการทำเกษตรกรรมแล้ว เรายังมีวิถีชีวิต มีวัฒนธรรมอยู่ที่นั่น” สุชาติ บอกเล่าถึงสิ่งที่ต้องเผชิญมา 25 ปี

การทำไร่หมุนเวียน หรือ ‘swidden’ ระบบตัดและเผาคือการทำเกษตรกรรมในภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ที่จะทำการผลิตในระยะสั้น และปล่อยให้ป่าพักฟื้นตัวระยะยาวจนผืนดินคืนความสมบูรณ์ แล้ววนกลับมาทำที่เดิม 

การทำไร่หมุนเวียนจะมีการโค่นพื้นที่ตัดต้นไม้และเผา จึงถูกมองว่าเป็นการทำลายป่า แต่การทำไร่หมุนเวียนถือเป็นรูปแบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เมื่อผ่านการเก็บเกี่ยวและปล่อยทิ้งไว้ พื้นดินและความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์จะฟื้นกับมาอีกครั้ง

6

เราคือผู้คนอยู่บนพื้นดินเดียวกัน

เชื่อมโยงสัมพันธ์ร้อยเรียงเป็นผืนป่า

เราคือผู้คนอยู่ในสายธารเดียวกัน

หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ให้ดินได้ชุ่มเย็น

เราคือผู้คนปกากะญอก็คือคน

ในความเป็นคนเราเหมือนกัน

เนื้อเพลงส่วนหนึ่งในบทเพลง ใจเดียวกัน ของวงสามัญชน ที่แต่งขึ้นเพื่อให้กำลังใจพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย ถูกบรรเลงระหว่างการเดินทางออกจากบ้านโป่งลึก-บางกลอย

‘เปลือกหอย’ ของฝากจากชาวเลอันดามันได้รับความสนใจจากเด็กๆ บ้านบางกลอยเป็นอย่างมาก

ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน หลากหลายอารมณ์เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงมิตรภาพระหว่างมื้อที่ชาวบ้านร่วมกันทำอาหารต้อนรับเป็นอย่างดี นำทีมโดย ‘หลิง’ – สุพรรณ กว่าบุ วัย 21 ปี ที่ทำหน้าที่เป็นแม่ครัวต้อนรับแขกที่เดินทางมายังหมู่บ้าน

หลิงเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เธอเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ต้องออกโรงเรียนกลางคันเพราะเธอมีอายุเกิน (ขณะที่เรียน ป.4 เธออายุ 14 ปี) ภายหลังจึงเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก่อนกลับมาอยู่บางกลอยเพราะพ่อแม่เดินทางกลับใจแผ่นดิน จึงรับหน้าที่แม่ครัวดูแลผู้มาเยือน ด้วยเหตุผลที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านบอกว่า “ทำอาหารต้อนรับคนเมืองไม่เป็น”

เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผู้เขียนได้ใช้เวลาร่วมกับเธอจากการไปป้วนเปี้ยนช่วยงานในครัว และได้นั่งคุยถึงเรื่องชีวิต ความรัก ความหวัง

 “ถ้าพี่มาครั้งหน้าไม่เจอหนู แปลว่าหนูเดินกลับใจแผ่นดินแล้วนะ” เธอกล่าวกับผู้เขียน 

ใจหนึ่งก็หวังว่าการกลับมาเยือนบางกลอยในครั้งหน้า เธอจะสามารถกลับใจแผ่นดินอย่างที่หวังและปลอดภัยได้

แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่คิดอยากมาบางกลอยเป็นครั้งที่สอง เพราะการมาบางกลอยแต่ละครั้งของผู้เขียนในฐานะ ‘นักข่าว’ หมายความว่า ที่แห่งนี้ยังมีปัญหาและความขัดแย้งอยู่

Tags: , , , ,