แม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นความกังวลว่า ‘บ้านปลายเนิน’ หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า ‘วังคลองเตย’ กำลังอยู่ภายใต้ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย หลังจากที่อาคารที่พักอาศัยขนาดสูงได้รับการเห็นชอบจากสำนักสิ่งแวดล้อมเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ทั้งนักโบราณคดี และพระทายาท และทายาทของ “บ้านปลายเนิน” เริ่มเป็นกังวลถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากก่อสร้างของอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ห่างกันแค่ไม่กี่สิบก้าว หลังจากที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร ที่ศึกษาโดยบริษัท เอดีซี-เจวี10 จำกัด ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานฯ ไปเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนเป็นที่เรียบร้อย
โครงการนี้เป็นอาคารที่พักอาศัยสูง 36 ชั้น (ลดจาก 39 ชั้นในการเสนอครั้งแรก) ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 2 ไร่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินคลองเตยบนถนนพระรามสี่ ซึ่งการก่อสร้างอาคารแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวตำหนักตึกในบ้านปลายเนินเพียง 23 เมตร
“เรารู้สึกผิดหวังกับมาตรฐานการทำงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานฯ” ม.ร.ว. กัลยา ติงศภัทิย์ พระทายาทรุ่นที่สามของบ้านปลายเนินกล่าวหลังจากที่ทราบข่าวผลรายงานอีไอเอ
ราชสกุลจิตรพงศ์รับรู้ถึงโครงการคอนโดสูง 39 ชั้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 และได้ทำหนังสือคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ โดยเน้นเรื่องคุณค่าของโบราณสถาน ผลกระทบต่อทัศนียภาพต่อโบราณสถานและการจราจร (เนื่องจากทางเข้าออกของคอนโดอยู่ห่างจากทางขึ้นทางด่วนเพียงไม่กี่สิบเมตร) ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันเพื่อรักษาโบราณสถานเอาไว้ และในเดือนกันยายนที่ผ่านมา Change.org ได้เปิดให้ลงชื่อคัดค้านการสร้างคอนโดในระยะประชิดกับทางบ้านปลายเนิน ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อเกือบหมื่นคน
ความกังวลดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคุณค่าของโบราณสถานของ “ตำหนักตึก” และ “ตำหนักไทย” ที่ถูกสร้างขึ้นในบ้านปลายเนินเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน โดยที่ตำหนักตึกเองเคยเป็นที่ประทับในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เมื่อยังดำรงพระชนม์ชีพ และประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ ในปัจจุบันนี้พระอัฐิของพระองค์ยังคงเก็บรักษาไว้ในห้องบรรทมบนชั้นสอง พร้อมทั้งเครื่องใช้ส่วนพระองค์ และงานฝีพระหัตถ์ที่ยังคงเก็บรักษาไว้อยู่ในตำหนักตึกจนถึงทุกวันนี้
ดร. วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ตั้งประเด็นว่า แม้ว่าบ้านปลายเนินจะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยความเก่าแก่ของตัวอาคารแต่ละหลังที่มีอายุนับศตวรรษแล้ว คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของอาคารเหล่านี้ทำให้บ้านปลายเนินกลายเป็นโบราณสถานโดยไม่จำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร เพราะการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของโบราณสถานเท่านั้น
ดร. วสุเล่าว่าทางกองโบราณคดีเคยได้รับจดหมายจากทางบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นผู้ทำการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA สำหรับโครงการคอนโดดังกล่าว ซึ่งตรวจสอบว่าในระยะรัศมี 1 กิโลเมตรจากพื้นที่โครงการ มีโบราณสถานที่อยู่ในการควบคุมกฎหมายเกี่ยวกับโบราณสถานหรือไม่ ซึ่งทางกองโบราณคดีได้ระบุ “ตำหนักปลายเนิน” เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน แต่ทางผู้ทำการศึกษากลับเพิกเฉยต่อจดหมายชี้แจงของทางกรมศิลปากร
ซึ่งการพิจารณาอีไอเอไม่ควรคำนึงถึงเพียงแค่ความสูงของตึก แต่ต้องคำนึงถึงรูปทรงที่อาจจะมีผลกับทัศนียภาพของโบราณสถานอีกด้วย เขาได้ยกตัวอย่างของตึกการไฟฟ้าที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านปลายเนินที่ได้มีการสร้างอาคารไม่สูงนักแต่มียอดตึกเป็นรูปทรงไข่ ซึ่งมีผลทำให้ทัศนียภาพของตำหนักไทยมาแล้ว
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวิศวกรรมการก่อสร้างคือทางออก?
แม้หลายคนเชื่อว่า เทคโนโลยีทางวิศวกรรมก่อสร้างในปัจจุบันจะพัฒนาไปถึงขั้นที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับสิ่งก่อสร้างใกล้เคียง ดังนั้นการก่อสร้างอาคารสูงในปัจจุบันก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายให้กับอาคารใกล้เคียงแต่อย่างใด
แต่ทางวังก็ยังเป็นกังวล เพราะทุกคนทราบดีว่าโครงสร้างของตำหนักตึกที่เก่าแก่ขนาดที่ไม่มีพิมพ์เขียวนั้นไม่น่าจะรับแรงสั่นสะเทือนจากการลงเสาเข็มเพื่อรองรับตึกสูงขนาดนั้นได้ เนื่องจากตำหนักตึกนั้นคาดว่าจะถูกสร้างขึ้นด้วยการใช้สามเกลอหรือแรงคนตอกเสาเข็มซึ่งเป็นท่อนไม้ซุงเป็นรากฐานของตัวอาคารสองชั้นแห่งนี้
บ้านปลายเนินไม่ได้เป็นเพียงสมบัติราชสกุลจิตรพงศ์หากแต่เป็นสมบัติของชาติ เพราะปัจจุบันราชสกุลจิตรพงศ์พักอาศัยอยู่ในบริเวณด้านหลังของพื้นที่ 13 ไร่ แต่ตำหนักตึกและตำหนักไทยยังคงตั้งอยู่ในบริเวณด้านหน้าของบ้านปลายเนิน อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมศิลปินที่มีความรู้และความสามารถ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่นิสิต นักศึกษาและนักเรียนจากทั่วประเทศในการศึกษา เรียนรู้และวิจัยศิลปะไทยทุกแขนงตลอดระยะเวลา 50 ปี
บ้านปลายเนินยังคงเปิดต้อนรับสาธารณชนเข้าชมตำหนักโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทุกปีในวันที่ 28 เมษายนของทุกปี
ปัจจุบันมีการซ่อมแซมตำหนักไทยโดยทีมสถาปนิกอนุรักษ์นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี และดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน ทำงานร่วมกับรุกขกร นักออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ภูมิสถาปนิกและวิศวกรงานระบบระบายน้ำเพื่อให้ทันวันนริศ (28 เมษายน) ในปีหน้า
บ้านปลายเนินเป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือที่รู้จักกันดีในพระสมัญญานามว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ซึ่งทรงได้รับการเชิดชูพระเกียรติยศโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในฐานะบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันบ้านปลายเนินยังเก็บรักษาสิ่งปลูกสร้างทุกหลังโดยเฉพาะ “ตำหนักไทย” และ “ตำหนักตึก” ไว้ในอาณาบริเวณ 13 ไร่แห่งนี้เป็นอย่างดี
ได้มีการซ่อมแซมและอนุรักษ์อาคารสำคัญภายในบริเวณ ได้แก่ ตำหนักไทย เรือนคุณย่า ตำหนักตึก และเรือนละคร ทั้งหมดนี้เพื่อจะอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารทั้งหมดเพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ และสถานที่อบรมที่สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าชมและศึกษาได้ในวันข้างหน้า โดยที่ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา ทายาทรุ่นที่สี่ของสมเด็จฯ กำลังวางผังแม่บทอนาคตของบ้านปลายเนินด้วยการจัดทำทะเบียนภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครู ศิลปวัตถุโบราณที่ทรงสะสม และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันส่วนพระองค์
ม.ล.สุทธานิธิ จิตรพงศ์ พร้อมทั้งทายาทรุ่นที่สี่คนอื่นๆ ต่างช่วยกันคัดแยกของใช้ส่วนพระองค์ ของสะสม และเอกสารซึ่งรวมถึงภาพสเก็ตช์ฝีพระหัตถ์ต่างๆ ของพระองค์ที่อยู่ในตำหนักตึก นำมาจัดเก็บให้เป็นระบบ เพื่อทำการจัดแสดงในอนาคต
ของใช้ส่วนพระองค์หลายชิ้นไม่ว่าจะเป็น หมวก มีดพับ ปากกา หรือกระเป๋าต่างยังคงถูกเก็บไว้ภายในตำหนักตึก ทั้งนี้ของบางชิ้น เช่น ไม้เท้า หรือ แว่นตายังคงเก็บรักษาในสภาพดี และปรากฏอยู่บนภาพถ่ายบางรูปของท่านอีกด้วย
“เราต้องค่อยๆ ค้น เปรียบเทียบข้อมูล จัดเก็บของสะสมและเอกสารอย่างช้าๆ บางครั้งเราเจอกระดาษที่คล้ายเศษกระดาษ แต่กลับมีภาพสเก็ตช์งานของท่านอยู่บนนั้น” ม.ล.สุทธานิธิเล่าถึงความซับซ้อนในการคัดแยกเอกสารและของในตำหนักตึกซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดการทิ้งเอกสารสำคัญไป เพราะในตำหนักนี้สิ่งของถูกเก็บไว้หลายที่ บ้างเก็บในตู้ บ้างในกล่องเหล็ก และแน่นอนว่าเอกสารบางส่วนที่เคยถูกเก็บในชั้นล่างของบ้านถูกปลวกทำลายไปบ้าง แต่ปัจจุบันได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
ม.ล.สุทธานิธิเล่าต่อว่า เอกสารบางชิ้นที่ค้นเจอในตำหนักถูกถ่ายรูปและนำไปปรึกษากับทางหอสมุดแห่งชาติ และได้รับคำแนะนำไม่ให้แตะต้องหรือเปิดจนกว่าจะได้มีการศึกษาอย่างจริงจัง มิฉะนั้นอาจจะทำให้เอกสารชำรุดได้ “นั่นแปลว่าเราไม่ควรเคลื่อนย้ายเอกสารจนกว่าจะพร้อมศึกษาเอกสารชิ้นนั้น”
ผ่านไปปีครึ่ง ทายาทรุ่นที่สี่ที่ก็ไม่แน่ใจว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนที่จะต้องคัดแยกเอกสารและของใช้ส่วนพระองค์ให้เสร็จ เพื่อที่จะนำมาต่อยอดให้เป็นงานจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเกี่ยวกับความสามารถของนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม
บ้านปลายเนินเคยได้รับความเสียหายจากฝุ่นและโบราณวัตถุบางชิ้นชำรุดจากการก่อสร้างอาคารของสำนักงานการไฟฟ้าคลองเตยที่ตั้งอยู่ติดกันมาก่อน วสุ สถาปนิกเชี่ยวชาญ จึงตั้งคำถามถึงเจ้าของโครงการพร้อมที่จะ “ชดใช้” ค่าเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างหากเอกสารหรือของสะสมเหล่านี้หรือไม่
“เราไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเท่านั้น” ดร. วสุพูดถึงหน้าที่ที่จะต้องปกป้องโบราณสถานหรือสมบัติของชาติชิ้นใดๆ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน
ขอบคุณภาพถ่าย จาก โลจน์ นันทิวัชรินทร์ และ สิรินยา วัฒนสุขชัย
Fact Box
บ้านปลายเนิน ก่อสร้างเมื่อปี 2457 เป็นหมู่อาคารเรือนไทยทรงศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่บนนถนนพระรามสี่ ใกล้แยกคลองเตย ที่แห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุล จิตรพงศ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เพราะทรงเชี่ยวชาญศิลปะแขนงต่าง ๆ เช่น วิจิตรศิลป์ สถาปัตยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณศิลป์ จึงได้รับการขนานนามว่า ครูช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม
วันที่ 28 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ วังปลายเนินจึงเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าชมได้ในวันที่ 28 เมษายน ของทุกปี