กตต. ได้มีประกาศออกมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ว่าบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส. ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. นี้ ได้แก่ บริษัท ที.เค.เอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และบริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด

ที.เค.เอสฯ จะทำหน้าที่พิมพ์บัตรเลือกตั้งสำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (55,364,582 บาท) และ จันวาณิชย์ รับพิมพ์บัตรเลือกตั้งของภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ปริมณฑล และกรุงเทพฯ (53,884,558 บาท) รวมบัตรเลือกตั้งทั้งหมด 56,100,000 ฉบับ คิดเป็นเงินรวม 109,249,140 บาท ซึ่งในประกาศระบุว่าราคานี้ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้ว

สำหรับจันวาณิชย์ เราอาจคุ้นเคยผลงานของบริษัทจาก ‘หนังสือเดินทาง’ ที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญากับกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้ผลิตหนังสือเดินทางประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2535 และเคยได้รับงานจัดทำแถบพลาสติกสำหรับใช้เป็นแนวกั้นบริเวณที่เลือกตั้งและที่นับคะแนนเลือกตั้งเมื่อปี 2557

ส่วน ที.เค.เอสฯ นอกจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส. สำหรับการเลือกตั้งปี 62 ก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ก็รับงานพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ว. (1.4 ล้านแผ่น) ตามประกาศเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561

จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง

ที่น่าสนใจก็คือ การพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส. ของทั้งสองบริษัทนี้ ได้มาโดยวิธีจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง (มาตรา 56 (2) ของ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560) ซึ่งวิธีการ ‘เฉพาะเจาะจง’ นี้ ก็คือการที่หน่วยงานของรัฐออกหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กําหนดมาให้เข้ายื่นข้อเสนอหรือเจรจาต่อรองราคา

พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเข้าไปจีบเจ้าที่หมายตาไว้ก่อนตรงๆ ไม่ใช่การประกาศให้หลายเจ้าเข้ามาเสนอราคากันได้ถ้วนทั่ว

แน่นอนว่า เมื่อเป็นวิธีสุด ‘เอ็กซ์คลูซีฟ’ แบบนี้ การจะใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้ ก็ต้องมาพร้อมกับเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ว่า

  1. ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
  2. มีวงเงิน ในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กําหนดในกฎกระทรวง (500,000 บาท)
  3. การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือเป็นตัวแทนจําหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทย และไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
  4. มีความจําเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
  5. พัสดุที่จะทําการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้ทําการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจําเป็นต้องทําการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์หรือต่อเนื่องในการใช้พัสดุนั้น
  6. เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของต่างประเทศ
  7. เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งจําเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง
  8. กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

ซึ่ง กกต. มีเหตุผลอะไรที่ต้องใช้วิธีนี้ ยังไม่พบเอกสารที่สืบค้นได้ทางอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม การที่บริษัท ที.เค.เอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้รับงานพิมพ์บัตรเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายนัก เพราะบริษัทได้รับงานพิมพ์บัตรเลือกตั้งมากว่า 7 ครั้ง และนายสมคิด เวคินวัฒนเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ ได้กล่าวให้ความเห็นก่อนมีประกาศ กกต. ฉบับนี้ออกมาว่า “ปีนี้การออกแบบบัตรเลือกตั้งจะมีความยากมากขึ้น เนื่องจากบัตรเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดจะมีความแตกต่างกัน ทำให้กระบวนการผลิตยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แต่ด้วยบริษัทมีความเชี่ยวชาญงานด้านนี้และอุปกรณ์การผลิตที่ครบครัน จึงมั่นใจว่าจะได้รับงานเข้ามาอย่างแน่นอน”

บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2497 โดยเกรียง มงคลสุธี และสุชาดา มงคลสุธี และปัจจุบันมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลขที่ 168 เป็นรองประธานกรรมการบริษัท และบุตรชายของเขา จุติพันธุ์ มงคลสุธี ปรากฏอยู่ในรายชื่อคณะกรรมการบริษัท ในฐานข้อมูลนิติบุคคล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

งบพิมพ์บัตรครั้งก่อน เท่าไหร่?

แล้วการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เราใช้เงินไปเยอะแค่ไหนในการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง

การเลือกตั้ง เมื่อปี 2557 (ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ) ใช้งบประมาณในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งรวม 119,200,820 บาท แบ่งเป็น

  1. จ้างพิมพ์บัตรเลือกตั้ง โดย องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสคฝ.) 49,697,070 บาท (สัญญาเลขที่ 158/2557 ลงวันที่ 27 ธ.ค. 56)
  2. จ้างพิมพ์บัตรเลือกตั้ง โดย บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง 69,503,750 บาท (สัญญาเลขที่ 159/2557 ลงวันที่ 27 ธ.ค. 56 )

ส่วนการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น เมื่อ 3 ก.ค. 2554 สำนักงาน กกต. ใช้เงินพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขต รวม 114,843,650 บาท แบ่งเป็น จ้างพิมพ์บัตรเลือกตั้ง โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง 58,174,625 บาท และจ้างโรงพิมพ์สำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล 56,669,025 บาท

(อ้างอิงจาก สำนักข่าวอิศรา)

แม้จะไม่มีรายละเอียดจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดที่พิมพ์ในปีก่อนๆ แต่หากเทียบว่าบัตรเลือกตั้งที่ใช้ในปี 2554 และ 2557 จะต้องเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ (แบ่งเป็นแบบเขตกับบัญชีรายชื่อ) ทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณการพิมพ์ไปทั้งหมด 114,843,650 บาท และ 119,200,820 บาท ตามลำดับ

ส่วนในปี 2562 นี้ แม้จะใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว แต่มีความซับซ้อนในการพิมพ์เนื่องจากเลขผู้สมัครแต่ละพรรคไม่ตรงกันในแต่ละเขต (ทั้งหมด 350 เขต) จึงใช้งบประมาณการพิมพ์รวม 109,249,140 บาท

หากจะบอกว่าการเลือกตั้งด้วยระบบใหม่นี้ ช่วยประหยัดงบประมาณการผลิตบัตรเลือกตั้ง ก็พูดได้ว่าประหยัดได้ 9 ล้านบาท ซึ่งก็มาพร้อมกับการที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถเลือกลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองได้โดยแยกจากตัวบุคคล

Tags: , , ,