หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานกว่า 1 ปี ‘วัคซีน’กลายเป็นทางออกของวิกฤติการณ์ดังกล่าว การศึกษา การพัฒนา การทดลองตัวยา ได้ถูกจับตามองไปทั่วโลก วัคซีนจึงเปรียบเสมือนอาวุธแห่งความหวังที่จะทำให้มวลมนุษยชาติสามารถต่อกรกับเชื้อไวรัสโควิด–19 ได้

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณราว 6 พันล้านบาท เพื่อจัดหาวัคซีนจาก บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส ที่สามารถรองรับคนไทยได้ประมาณ 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของคนไทยที่มีอยู่ราว 70 ล้านคนทั่วประเทศ

จึงเกิดการตั้งคำถามต่อว่า ประชากรไทยที่เหลือราว 57 ล้านคน จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบทุกคนหรือไม่ หากได้รับต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ จึงจะสามารถจัดซื้อจัดหาให้กับประชากรทุกคนได้ และจะดีมากแค่ไหนหากประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เอง

The Momentum มาหาคำตอบกับ ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ นักวิจัยแห่งคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับทิศทางการสร้าง ‘วัคซีนเพื่อคนไทย’ อาวุธต่อสู้กับโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ผ่านวัคซีน ‘ใบยาสูบ’

“วัคซีนเพื่อคนไทย โดยคนไทย และผลิตในไทย 100 เปอร์เซนต์ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว

(จากซ้ายไปขวา : ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ, ดร.วรัญญู พูลเจริญ)

  การผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วยใบยาสูบ เริ่มต้นจากการที่ทั้งคู่รับรู้ถึงปัญหาของประชากรไทยในการเข้าถึงตัวยา และประเทศไทยยังขาดโอกาสการเข้าถึงยาดี ๆ จากทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น หากประเทศไทยเกิดโรคอุบัติใหม่ เป็นโรคหายาก ต่างประเทศที่มีบริษัทผลิตยาขนาดใหญ่มักไม่ให้ความสนใจ เพราะเป็นโรคที่เกิดเฉพาะพื้นที่

  หลังปรึกษากัน ทั้งสองค้นพบว่า ประเทศไทยสามารถผลิตยา วัคซีนต่าง ๆ ไว้ใช้เองได้ถึง 100% โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และนี่คือที่มาของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด บริษัทที่เริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตจากใบพืชแห่งแรกแห่งเดียวในเมืองไทย

 ‘ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ เป็นบริษัทสตาร์อัพที่ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ภญ.ดร. สุธีรา และ ดร.วรัญญู ที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้กับประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ โดยการใช้ ‘พืช’ เป็นตัวกลางในการผลิตสารชีววัตถุ ที่สามารถนำไปใช้ผลิตเครื่องสำอาง ยา และวัคซีนได้เป็นเจ้าแรกของประเทศ

“ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการระบาดของโรคมือเท้าปากในเด็ก เราก็อยากทำชุดตรวจโรคมือเท้าปากที่สามารถให้ผลได้เร็ว เพื่อที่เด็กจะได้รีบกักตัวและได้รับการรักษา เพราะที่ผ่านมาเห็นว่าโรงเรียนมีการสั่งปิดโดยตลอด เราเลยมองว่านี่คือปัญหาของประเทศไทย จึงพยายามใช้แพลตฟอร์มนี้มาประยุกต์กับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะหากเราไม่สามารถผลิตโปรตีนได้เอง ทุกอย่างก็ต้องจัดซื้อปัญหาคือ เมื่อมันเกิดโรคใหม่แค่ในประเทศไทย ประเทศอื่นเขาก็ไม่มีใครผลิต” ดร.วรัญญู กล่าว

 บริษัท ไบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ใช้เทคโนโลยี วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางชีวภาพ ‘ใบยาฟาร์มมิ่ง’ (Baiyapharming) ที่เป็นเทคโนโลยีการผลิตสารชีวโมเลกุลโดยใช้พืช N.benthamiana  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลิตได้รวดเร็วและขยายขนาดการผลิตได้ง่าย

 “เทคโนโลยีของบริษัทเราคือการใช้พืชในการผลิตโปรตีน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นพืชอะไรเราก็สามารถใช้ได้ แต่ในกรณีของโควิด-19 เราพบว่าใบยาสูบมันให้ผลดีที่สุด เลยเลือกพืชชนิดนี้มาทำ” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา อธิบาย

 ใบยาสูบที่นำมาผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นใบยาสูบที่มีปริมาณนิโคตินต่ำ ไม่ใช่ใบยาสูบแบบปกติที่คนไทยคุ้นเคย แต่เป็นใบยาสูบสปีชีส์ N.Benthamiana มีต้นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ข้อดีของพืชชนิดนี้คือ มีจำนวนมาก โตเร็วมีใบเยอะ บาง และมีขนาดใหญ่ จึงเป็นพืชที่เหมาะสม เพราะสามารถผลิตโปรตีนได้ปริมาณมากในระยะเวลาที่สั้น ประกอบกับประเทศไทยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การเพาะปลูกพืชพันธุ์จึงไม่ใช่ข้อจำกัดของการผลิตยา หรือวัคซีน

แม้ว่าบริษัท ไบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด จะใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ต่างจากบริษัทผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทโมเดอร์นา อิงค์ และบริษัทไฟเซอร์ ที่ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่เป็นการตัดต่อสารพันธุกรรม แต่ผลการทดลองในสัตว์ของวัคซีนโควิด-19 จากคนไทยเพื่อคนไทย มีผลการทดลองที่ไม่แตกต่างจากค่ายยักษ์ใหญ่

“ทุกคนต้องการสร้างวัคซีนเพื่อไปกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน แต่ก็จะเกิดคำถามตามมาว่า เราจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างไร ยกตัวอย่างสมัยก่อนถ้าอยากกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็นำเชื้อมาฆ่าให้ตายแล้วฉีดเข้าไปในมนุษย์ แต่ในกรณีของโควิด-19 เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เราทราบแล้วว่าหน้าตาของมันเป็นอย่างไร มันมีลักษณะกลม ๆ มีหนาม ซึ่งหนามมันเป็นโปรตีน เราก็ทำความเข้าใจ และผลิตชิ้นส่วนของเชื้อให้มีหน้าตาเหมือนเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา เราไม่ได้ผลิตเชื้อโรคนะ แต่วิธีการนี้ทำให้เราสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว

“เพราะการผลิตวัคซีนมันมีหลายแพลตฟอร์ม ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า รูปแบบไหน เทคโนโลยีไหนมันจะดีกว่ากัน โรคแต่ละชนิดไม่ได้หมายความว่าเราต้องผลิตยามาในรูปแบบเดียว ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องใช้เครื่องมือที่ตัวเองมีอยู่ แล้วสุดท้ายเราก็ต้องมาวัดกันที่เส้นชัย เพราะนี่คือการทดลอง” ดร.วรัญญู กล่าวเสริม

  วัคซีนโควิด-19 โดยใบยาสูบเริ่มศึกษาพัฒนาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้ทำการทดสอบวัคซีนตัวแรกที่มีชื่อว่า ‘Baiya SARS-CoV-2 Vax 1’ กับสัตว์ 2 ชนิดคือ หนูขาวและลิง ภายหลังการฉีดวัคซีนได้ส่งผลการฉีดไปตรวจสอบที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยามหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลการทดสอบของทั้งสองแห่งมีผลออกมาว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูขาวและลิง และ Baiya SARS-CoV-2 Vax 1 จะเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ต่อไปในปี พ.ศ. 2564

“วัคซีนโควิด-19 ของเราเมื่อนำไปเทียบกับวัคซีนแพลต์ฟอร์มอื่น ๆ แล้วค่อนข้างปลอดภัย เพราะไม่ได้นำเชื้อโรคไปฉีดให้คน ดังนั้นวัคซีนตัวนี้สามารถฉีดในคนท้องแก่ คนภูมิต่ำ หรือคนแก่ได้ แต่เราก็ต้องทำการทดสอบเป็นลักษณะในขั้นตอนต่อไป” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา กล่าว

  จากการศึกษาทดลองในขณะนี้พบว่า วัคซีนโควิด-19 จากใบยา ไฟโต ฟาร์ม จำกัด สามารถเก็บไว้ได้ในระยะเวลา 45 วัน ในอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีการศึกษา และวัดผลกันต่อไป คาดว่าจะสามารถผลิตให้ประชาชนได้ใช้เร็วที่สุดช่วงปลายปี 2564 ในราคาประมาณโดสละ 500 บาท

“ในขณะนี้เรากำลังเร่งผลิตโรงงาน เพื่อปลูกพืชพันธ์ต่าง ๆ เราไม่ได้ออกแบบโรงงานเพื่อผลิตยา หรือวัคซีนโดยเฉพาะโรค แต่เราออกแบบโรงงานที่เราสามารถผลิตอะไรก็ได้ สมมติว่า โควิด-19 เกิดกลายพันธ์ขึ้นมา แล้วมันเปลี่ยนในขนาดที่ว่า วัคซีนตัวเดิมไม่สามารถใช้ได้ เราก็แค่เปลี่ยนยีนที่ใส่เข้าไปให้พืช ให้พืชผลิตโปรตีนขึ้นมาอีกครั้ง เราก็นำสิ่งเหล่านี้ไปสร้างวัคซีนตัวใหม่ขึ้นมาได้เสมอ และเราคิดว่าครั้งต่อไปเราจะทำได้ดีกว่าเดิม เพราะเรามีพื้นที่ มีอุปกรณ์”

วัคซีนสัญชาติไทยจาก ใบยา ไฟโตฟาร์ม เป็นวัคซีนชนิดโปรตีน (Protein-based Vaccine)  สำหรับกระบวนการสร้างโปรตีนที่นำมาใช้ผลิตวัคซีนนั้น ทางทีมงานวิจัยได้ออกแบบชิ้นส่วนโปรตีนในรูปร่างที่เหมือนกับไวรัสโควิด-19 แล้วนำยีนฉีดเข้าไปในพืช เพื่อให้พืชผลิตโปรตีนรูปแบบนี้ออกมา ภายหลังการฉีด 1 สัปดาห์ ทีมงานสามารถตัดใบยาสูบ และใช้กระบวนการเพื่อทำให้โปรตีนบริสุทธิ์แยกออกจากโปรตีนอื่น ๆ ของพืช ก่อนนำมาวิเคราะห์ลักษณะโครงสร้าง และนำไปใช้ทดสอบวัคซีนในลำดับถัดไป

“นอกจากวัคซีนโควิด-19 ยาตัวอื่นเราก็ยังผลิตและพัฒนาอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นยามะเร็งที่มีราคาแพงมาก ๆ เราก็อยากเอาโรงงานที่เรากำลังจะสร้าง นำแพลตฟอร์มตัวนี้มาช่วยผลิตให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และหากโควิดมันจบไปแล้วทั้งโลกสงบสุข เราก็สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ไปผลิตยา หรือวัคซีนตัวอื่นได้”

“สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้ เพียงต้องการเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้กับคนไทยได้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 กันอย่างทั่วหน้า เพราะวัคซีนที่มีการผลิตจากต่างประเทศ เราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า วัคซีนจะมาถึงเมื่อไหร่ แล้วจะถึงเราตอนไหน จะซื้อแข่งกับทั่วโลกทันไหม แต่ในส่วนบริษัทใบยา เราสามารถผลิตวัคซีนได้ประมาณ 5 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้นหนึ่งปีเราจะสามารถผลิตได้ 60 ล้านโดส  นี่ก็คืออีกหนึ่งเหตุผลที่เรายังผลิตวัคซีนของคนไทย เพื่อคนไทยต่อไป อย่างน้อยเราขอเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้ครบทุกคน”ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา ทิ้งท้าย

Tags: , , , ,