นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาธ์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษ พบว่า คลอรีนที่เชื่อกันว่ามีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคนั้น ไม่สามารถฆ่าหรือลดปริมาณแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับผักสลัดที่มาจากฟาร์มของอุตสาหกรรมผลิตอาหารขนาดใหญ่ได้

ผักที่มาจากแปลงเพาะปลูกและนิยมทานสดๆ อย่างผักสลัด แตงกวา มะเขือเทศ จะผ่านขั้นตอนมาตรฐานในการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำผสมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนนำมาใส่บรรจุภัณฑ์และวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภค

ศาสตราจารย์บิลล์ คีวิล หัวหน้าทีมวิจัยจากสาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเซาธ์แฮมป์ตัน บอกว่า พวกเขาพบว่าแบคทีเรียบางชนิดที่อยู่บนผักสดจากฟาร์มสามารถหลบเลี่ยงการตรวจพบโดยวิธีตรวจแบบมาตรฐานของห้องปฏิบัติการทั่วๆ ไป

ทีมวิจัยพบว่า ผักสดที่มาจากฟาร์มขนาดใหญ่และผ่านการล้างด้วยคลอรีน ยังคงมีปริมาณแบคทีเรียอยู่เป็นจำนวนมาก แสดงว่าคลอรีนไม่สามารถกำจัดหรือลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในผักสดได้ และแบคทีเรียเหล่านั้นยังคงมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ

ทีมวิจัยแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์โดยนำหนอนตัวกลมมาอยู่ในน้ำที่มีแบคทีเรียซึ่งผ่านการสัมผัสกับคลอรีนโดยตรง ในเวลาต่อมาแบคทีเรียก็ปล่อยสารพิษใส่และฆ่าหนอนตัวกลมจนตาย

นักวิจัยอธิบายว่า เมื่อแบคทีเรียรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จะอยู่ในภาวะเครียดและเกิดกลไลปรับตัวเพื่ออยู่รอด ในการเผชิญหน้ากับคลอรีน พวกมันตอบสนองด้วยการหยุดหรือปิดกลไกการทำงานของร่างกายหรือชัตดาวน์ตัวเอง ทำให้การตรวจหาด้วยวิธีมาตรฐานของห้องปฏิบัติการทั่วไปตรวจหาพวกมันไม่พบ

แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กซึ่งมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และอาศัยอยู่ได้ทั้งในสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

แบคทีเรียมีความสามารถปรับตัวเพื่ออยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและสุดขั้ว พวกมันสามารถปรับตัวในระดับยีนหรือหน่วยพันธุกรรม และมีรูปแบบในการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้อย่างหลากหลายและเหมาะสม

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา บอกว่า แบคทีเรียสามารถปรับตัวได้ทันทีเมื่อตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง มันสามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดเข้มข้น มีค่าพีเอช 2.5-4.5 ซึ่งเป็นความเข้มข้นระดับเดียวกับกรดในกระเพาะอาหารของมนุษย์

แบคทีเรียเป็นสาเหตุของโรคและอาการเจ็บป่วยจำนวนมากที่แพร่ระบาดโดยปนเปื้อนมากับน้ำและอาหาร ผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษเกือบทั้งหมดมีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคอาหารเป็นพิษทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 400,000 ราย นอกจากนี้ แบคทีเรียยังเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ เช่น อหิวาต์ ปอดบวมหรือปอดอักเสบ บาดทะยัก ไทฟอยด์ วัณโรค โรคฉี่หนู ไอกรน ฯ

เมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายจะปล่อยสารพิษเข้าทำลายเซลล์หรือทำให้เซลล์ทำหน้าที่ผิดไป เช่น เชื้อสแตฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) จะสร้างสารโคแอกูเลส (Coagulase) ขัดขวางการแข็งตัวของเลือด เชื้ออีโคไล (E. coli หรือ Escherichia coli) สร้างสารพิษเอ็นโดท็อกซิน (Endotoxin) ทำให้เกิดภาวะช็อก นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการอักเสบบวมแดงในบริเวณที่มีการติดเชื้อและทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบ

เมื่อแบคทีเรียแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกายผ่านทางหลอดน้ำเหลืองและหลอดเลือด จะทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และเป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด

หัวหน้าทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเซาธ์แฮมป์ตันบอกว่า การทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกด้วยความร้อนนั้นมีความเสี่ยง เช่น ผักสด คำแนะนำคือ ควรล้างผักสดด้วยน้ำสะอาดอย่างละเอียดพิถีพิถันหลายๆ ครั้ง ก่อนนำมารับประทาน

สอดคล้องกับคำแนะนำของหน่วยงานด้านเกษตรกรรมของสหรัฐที่บอกว่า การล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง การใช้แปรงขนอ่อนขัดถูผิวบริเวณเปลือกแอปเปิลและมันฝรั่งขณะล้าง สามารถลดปริมาณแบคทีเรียที่ปะปนมาได้ และแนะนำให้เฉือนส่วนที่ช้ำหรือส่วนที่เน่าเสียของผักและผลไม้ทิ้ง เพราะเป็นผลจากการทำลายของแบคทีเรีย วิธีดังกล่าวจะช่วยให้อาหารที่นำมารับประทานมีความปลอดภัยมากขึ้น

เช่นเดียวกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส นิวบรันสวิก ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่พบว่า การล้างมือด้วยน้ำสะอาดเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 วินาที มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกำจัดเชื้อโรคต่างๆ บนมือออกไปได้ โดยทั้งนี้อุณหภูมิของน้ำที่ใช้ล้างไม่มีผลต่อการลดปริมาณแบคทีเรียที่อยู่บนมือ

ศาสตราจารย์บิลล์กล่าวว่า ยังมีโรคติดเชื้ออีกมากที่แพร่กระจายอยู่โดยไม่สามารถระบุได้ถึงสาเหตุ เขาตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เชื้อโรคต่างๆ เหล่านั้นแพร่กระจายมากับแหล่งน้ำสำรองเพื่อผลิตน้ำดื่ม และมีพฤติกรรมการซ่อนตัวแบบเดียวกับแบคทีเรียที่ทีมวิจัยของเขาเพิ่งค้นพบ ทำให้ไม่สามารถตรวจเจอที่มาของการแพร่ระบาดของโรค

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,