ปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาอันยากลำบากของผู้คนแทบทุกวงการ หลังการมาถึงของโรคระบาด ที่ทำให้กิจกรรมทุกอย่างต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะคนทำงานด้านศิลปะ ที่ต้องถูกยกเลิกการจัดงานไปไม่น้อย ส่งผลให้ต้องมีการดิ้นรนปรับวิธีคิดและวิธีจัดการเพื่อความอยู่รอด

เช่นเดียวกับ วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการแห่ง happening สื่อศิลปะสร้างสรรค์ ที่ทำสำนักพิมพ์และจัดงานอีเวนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบเต็มๆ แต่สำหรับเขา ดูเหมือนเรื่องปวดหัวจะไม่ได้มีแค่เรื่องเดียว

อีกบทบาทหนึ่งของวิภว์คือการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art & Culture Centre : BACC) หรือ ‘หอศิลป์กรุงเทพฯ’ ที่เข้ามาช่วยดูเรื่องการต่อสัญญากับกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ต้องรอคอยคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ

หลังประสบปัญหาคาราคาซังทั้งเรื่องการต่อสัญญากับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการยุติการให้งบสนับสนุนในช่วงสามปีที่ผ่านมา ปีนี้นับเป็นปีแห่งการตัดสินอนาคตของหอศิลป์กรุงเทพฯ อย่างแท้จริง เพราะมันสามารถกำหนดเส้นทางข้างหน้าของพื้นที่ที่เชื่อมโยงผู้คนด้วยศิลปะมากว่า 13 ปี 

“เป้าหมายที่ทีมบริหารและทีมพนักงานหอศิลป์ตั้งไว้คือ การเป็นหอศิลป์ที่สมศักดิ์ศรีของกรุงเทพฯ และไม่น้อยหน้าหอศิลป์อื่นๆ ในละแวก รวมถึงการผันตัวเองเป็นแบรนด์หอศิลป์ที่สามารถไปช่วยซีนศิลปะอื่นๆ ได้”

ในตอนหนึ่งของบทสนทนา วิภว์บอกเราเช่นนั้น คิดไปก็น่าท้อใจ ในขณะที่เราเห็นการสนับสนุนแวดวงศิลปะอย่างเต็มที่จากภาครัฐของต่างประเทศ จนหลายแห่งกลายเป็นหน้าเป็นตา ดึงดูดทั้งคนในประเทศและนักท่องเที่ยวให้มาเยือน ทำเม็ดเงินมหาศาล สร้างคนทำงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ แต่ประเทศไทยยังคงต้องกังวลกับปัญหาเรื่องการ ‘สนับสนุน-ไม่สนับสนุน’

นอกจากโจทย์ในการปรับเปลี่ยน ประคับประคองธุรกิจสื่อศิลปะในยุคแห่งโรคระบาดแล้ว น่าสนใจว่า หากคำตอบสุดท้ายไม่ว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ได้ไปต่อ ทิศทางของหอศิลป์กรุงเทพฯ หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

ในยุคที่ทุกคนแสวงหาความสุขได้ยาก หากพื้นที่ศิลปะกลางเมืองอย่างหอศิลป์ที่เป็นมากกว่าอาคาร แต่เป็นสถานที่ที่รวบรวมผู้คน ความหลากหลาย ความจรรโลงใจ และการขับเคลื่อนสังคมผ่านงานศิลป์มาตลอด กลับไม่ได้รับการสนับสนุนต่อ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าสิ้นหวังไม่น้อย

 

 

คุณมองสถานการณ์โควิด-19 กับวงการศิลปะปีที่ผ่านมาอย่างไร

ต้องออกตัวก่อนว่า เราอาจจะมองได้ไม่ถึงกับชัดมาก แต่ถ้ามองจากมุมที่เราเห็น ในภาพรวมปีที่แล้ว เราว่าศิลปินส่วนใหญ่ทั้งหมดทั้งมวลประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจไม่ต่างจากทุกๆ อาชีพ ศิลปินในบางหมวดจะหนัก อย่างเช่นนักดนตรีที่งานอีเวนต์หายไปเลย ไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือคนที่เล่นในผับ บางคนก็เปลี่ยนอาชีพหรือมีอาชีพเสริมทำอาหารขาย บางคนเป็นครูสอนดนตรีเต็มตัว หรือบางคนเปลี่ยนอาชีพแบบออกจากวงการไปเลยก็มี

แต่ว่ามีบางหมวดที่ดูเหมือนจะยังโอเคหรือมีสีสันอยู่เหมือนกัน เช่น หมวดวรรณกรรม ปีที่แล้ววรรณกรรมถือว่าคึกคัก เพราะเป็นปีที่วงการเรื่องสั้นมีเวทีเยอะ เช่น เวทีเจ้าประจำอย่างซีไรต์ หรือเวที Thai Young Artist ของ SCG แล้วก็มีรางวัลใหญ่ของเดลินิวส์ที่ผุดขึ้นมาในปีที่แล้ว ซึ่งเงินรางวัลสูงมากกว่าทุกเจ้า ทำให้นักเขียนเรื่องสั้นคึกคักส่งงานเข้ามาที่เดลินิวส์เป็นพันๆ เรื่อง ก็ถือว่าเทรนด์เรื่องสั้นมันกลับมา

 

แต่แวดวงหนังสือในส่วนที่โดนหนักน่าจะเป็นการจัดอีเวนต์ เช่น งานหนังสือต่างๆ ใช่ไหม

ใช่ ในแง่สำนักพิมพ์ก็จะมีความดิ้นรนพอสมควร เพราะว่างานหนังสือมันหายไป ครั้งแรกปรับเป็นออนไลน์ก็ไม่ถึงกับเวิร์กมาก แค่พอไปได้ พอมีงานใหญ่ที่อิมแพ็ก เมืองทองธานี ก็มีบางสำนักพิมพ์ที่ยอดขายตกลงไปเยอะ มีส่วนน้อยที่ยังพอไปได้ เลยทำให้เกิดงานหนังสือเล็กๆ กระจายออกมา เช่น Winter Book Fest หรือว่าของเราเองก็มีจัดงานชื่อ ‘งานหนังสือเล็กๆ’ ร่วมกับเพื่อน 4 สำนักพิมพ์ที่หอศิลป์นี้ ซึ่งก็เป็นทั้งข้อดีข้อเสียนะ คือพองานสื่อเล็กลง กลุ่มคนก็จะ niche มากขึ้น คนที่มาจะไม่ได้อลังการเหมือนงานใหญ่ แต่จะเป็นแนวประจำของแต่ละเจ้าไป

เท่าที่ดูภาพรวม เราว่าวงการหนังสือยังค่อนข้างโอเคอยู่ไม่น้อยนะ เพราะมีหนังสือใหม่ๆ มีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น มีสำนักพิมพ์อย่าง Biblio ที่ทำหนังสือแปล ก็ดูกำลังมาแรง

 

ในฐานะคนทำสื่อที่ทำงานศิลปะด้วยได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะเห็นคุณขึ้นสเตตัสในเฟซบุ๊กว่าต้อง ‘เข้าสู่ survival โหมด’ เลย

ค่อนข้างเยอะนะ เพราะว่าเราเป็นสื่อที่ทำอย่างอื่นรอบๆ ด้วย เรามีร้าน happening shop อยู่ 2 สาขา ซึ่งร้านเคยต้องปิดไปช่วงหนึ่ง รายได้ก็เรียกว่าหดหายไปเป็นศูนย์ในช่วงนั้น เรามีเว็บไซต์ก็จริง แต่เว็บก็อยู่ในโหมดที่กำลังก่อตั้งและเริ่มโต ยังไม่ถึงกับครอบคลุม ในแง่เศรษฐกิจก็แย่เหมือนกัน พูดตรงๆ คือหนัก แต่พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลายในช่วงประมาณเดือนห้า เดือนหก เราก็มีงานอีเวนต์เยอะขึ้น เพราะเราทำอีเวนต์ด้วย ก็จะมี venue หลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นห้างหรือพวกคอมมูนิตี้มอลล์ เรียก happening ไปคุย เขาอยากให้ช่วยจัด art market ให้หน่อย เกิดมาเราไม่เคยคุยกับห้างเยอะขนาดนี้มาก่อน (หัวเราะ) ซึ่งมันอาจจะเกิดเทรนด์สองอย่าง คือทางพวกห้างหรือคอมมูนิตี้มอลล์ก็อาจต้องการคอนเทนต์ที่แปลกใหม่มากขึ้น แล้วมันก็สะท้อนว่า art market เป็นสิ่งหนึ่งที่ compromise กับความแมสได้ ดังนั้น ช่วงปีที่แล้วเราก็ทำอีเวนต์ในสเกลกลางๆ เล็กๆ เยอะเหมือนกัน

 

ถือว่าปีที่แล้วเป็นปีที่หนักสุด วิกฤตที่สุด ที่คุณเคยประสบมาหรือเปล่า

ถ้าพูดตรงๆ ก็ไม่ถึงขนาดนั้นนะ เพราะเราทำ happening มาประมาณ 13-14 ปี ผ่านอุปสรรคที่มากกว่านี้มาเหมือนกัน แต่ปีที่แล้วถามว่าหนักไหม ก็หนักมาก ถ้าเป็นเรื่องอุปสรรคก็มีทั่วๆ ไป คือเรื่องการบริหารเงิน การหมุนเงิน หรือการขายงานให้ลูกค้า ก็เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ จนมาถึงปีที่แล้วที่เจอโควิด-19 แต่ก็ถือว่ามีประสบการณ์หลายๆ อย่างที่เผอิญมาช่วยทำให้เราอยู่รอดได้ 

อย่างเช่นเรื่องการที่เรามีคอนเนกชันมาไม่น้อย ทั้งทางลูกค้า ทางเพื่อนๆ ในแวดวง แล้วก็การที่พิสูจน์ตัวเองมาระดับหนึ่งว่าเราเป็น hub ของศิลปินพอสมควร เรามีน้องๆ เพื่อนๆ ในแวดวงที่ฝากขายของในร้านเรา หรือว่าเราเคยร่วมงานสร้างโปรเจ็กต์กับเขามา ความเป็น hub ของ happening จึงสามารถที่จะเอาไปใช้ต่อยอดได้ ไม่ว่าจะทำอีเวนต์หรือว่าจัด art market ก็ทำได้ สิ่งเหล่านี้มันสะสมมาช่วยในจังหวะนี้ได้พอดี

 

สถานการณ์ช่วงกลางปีถึงปลายปีก่อนเริ่มดีขึ้น แต่สุดท้ายก็มีระลอกใหม่ในช่วงสิ้นปี ยาวมาจนถึงตอนนี้ happening เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ระลอกใหม่ก็หนักอยู่เหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่เราทำมันครอบคลุมก็จริง แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงขั้นที่สบาย พอมีระลอกใหม่มาก็ต้องปรับกลยุทธ์กันพอสมควร อย่างที่บอกคือก่อนหน้านี้ยังมีอีเวนต์ให้จัดได้ แต่พอเจอระลอกใหม่ อีเวนต์ก็หายไปเป็นศูนย์เหมือนเดิม ซึ่งเราก็ไม่ค่อยอยากบ่นมาก เพราะรู้ว่าจะหนักทุกคน ทั้งองคาพยพ ไม่ว่าจะศิลปิน ออร์แกไนเซอร์ หรือกระทั่งคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่เอง

 

แล้วคุณมองภาพรวมสถานการณ์แวดวงศิลปะบ้านเราในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

เรามองว่าไม่ถึงกับเป็นขาลง มันค่อนข้างขึ้นด้วยซ้ำในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เพราะถ้ามองศิลปินทั้งหมดทั้งมวลในแวดวง ทั้งงานอีเวนต์ที่เกิดขึ้น คือเวทีเก่าๆ ก็ยังอยู่ครบทุกอัน เวทีที่ธนาคารทั้งหลายจัด หรือว่าพื้นที่อย่างหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่ทำมาเป็นสิบปี ก็ค่อนข้างจะมีทิศทางชัดเจน และเป็นที่ยอมรับจากทุกคน แล้วก็มีเวทีใหม่ๆ อย่างเช่นในโลกออนไลน์ทั้งหลาย กระทั่งงานวรรณกรรมยังมีเฟซบุ๊กที่ชื่อ ‘ช่างเขียนพยัญชนะ’ ที่เปิดให้คนส่งงานไปแล้วได้ค่าต้นฉบับด้วย

เราว่ามันกำลังมีที่ทางมากขึ้น เพียงแต่ว่าก็อยู่ในโหมดที่ไม่ง่ายเหมือนเดิม คือเรามีศิลปินที่ปริมาณเยอะขึ้น แล้วการเป็นศิลปินดูเหมือนจะง่ายขึ้น แค่วาดรูปอะไรบางอย่างลงอินสตาแกรมก็เหมือนจะเป็นศิลปินได้ มีคนที่แจ้งเกิดในขั้นต้นแบบนี้เยอะมากๆ แต่คนที่จะเป็นขั้นที่ 2 3 4 และกลายเป็นอาชีพได้จริงๆ ก็ต้องหลุดจากทะเลตรงนี้มาให้ได้ นี่คือในแง่ความยากที่มากขึ้น แต่ในแง่ความคึกคักถือว่าเยอะขึ้นมาก

 

คุณทำ happening มาสิบกว่าปี ผ่านวิกฤตที่หนักมาแล้ว วิธีคิดของคนทำสื่อศิลปะแบบไหนที่จะทำให้อยู่รอดหรือผ่านความยากลำบากไปได้

คือเราเริ่มจากใจที่รักในศิลปะ แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้มาเรื่อยว่าเราควรจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไร ถึงจะเหมาะสมกับความเป็นไปของสังคม 

ช่วงหลังเรามาได้คำตอบหนึ่งที่ทั้งตกผลึกจากตัวเอง และได้เรียนรู้จากการทำงานอย่างอื่น เช่น การได้เป็นคณะกรรมการหอศิลป์ คือเราคิดอย่างหนึ่งว่าศิลปะต้องมีการตอบโจทย์สังคมบ้างไม่มากก็น้อย และมีประโยชน์มากกว่าแค่เรื่องสุนทรียะ เพราะมันมีฟังก์ชันที่สามารถช่วยแก้ปัญหา หรือช่วยอธิบายเรื่องยากๆ ได้ อย่างในเรื่องการเมืองซึ่งมีการใช้ศิลปะค่อนข้างเยอะ หรือว่าเรื่องที่เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ศิลปะก็มาช่วยอธิบายในรูปแบบภาพ เสียง หรืออินโฟกราฟิกได้ แล้วศิลปะสามารถไปถึงระดับที่อธิบายในเชิงนามธรรมหรือความรู้สึกได้ด้วย ซึ่งถ้าเอาไปรับใช้ในโหมดนี้บ้าง ก็จะแตะเรื่องสังคมได้ง่ายขึ้น มันสามารถพูดเรื่องยากๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองได้ เช่น ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมของเพศทางเลือก หรือว่าปัญหาการศึกษา ถ้าดูจากหอศิลป์เป็นเคสก็จะเห็นว่าใช้พื้นที่ศิลปะมาพูดเรื่องนี้พอสมควร

 

แสดงว่าศิลปะเป็นตัวแทนของสิ่งที่เราอาจจะพูดตรงๆ ไม่ได้

ทั้งพูดตรงๆ ได้และพูดตรงๆ ไม่ได้ด้วย แต่มันเป็นวิธีการพูดที่สามารถนุ่มนวลได้หรือว่าพูดอย่างลึกซึ้งก็ได้

 

ทุกวันนี้คนเราต้องการความตรงไปตรงมามากขึ้น ในอนาคต วิธีเล่าศิลปะแบบซ่อนนัยจะหายไปไหม

เราคิดว่าไม่หาย ศิลปะในโหมดที่เป็นสุนทรียะที่ดูแล้วรู้สึกอินหรือกระทบใจจะยังมีอยู่ เพราะมันเป็นหัวใจหลักของศิลปะ เพียงแต่ว่าการเพิ่มฟังก์ชันที่ 2 3 4 หรือเรื่องตอบโจทย์อื่นๆ ก็ทำให้ศิลปะมีคุณค่าในเชิงที่อยู่กับสังคมได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง มันย้อนกลับไปที่เราพูดถึงว่า ตอนนี้มีศิลปินที่แจ้งเกิดได้ง่ายขึ้นมาก เพราะฉะนั้น การที่งานเขาตอบโจทย์แต่สุนทรียะ แต่ไม่มีโจทย์ชัดเจน ก็จะทำให้เขาจมอยู่ในทะเลแห่งความงามแห่งความน่ารักนั้นตลอด แต่สมมติว่ามีศิลปินคนหนึ่งที่ตั้งเป้าว่า ฉันจะเป็นศิลปินที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมไปเลยตลอดชีวิต ทุกคนจะจำเขาได้แน่ๆ 

 

คุณอยู่ในแวดวงศิลปะมานาน มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ๆ ที่มาทำงานศิลปะในแง่มุมไหนบ้างไหม

 (นิ่งคิด) อันนี้เราไม่แน่ใจ จะบอกว่าคนรุ่นใหม่พูดเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมมากขึ้นก็อาจจะถูก แต่ที่ไม่แน่ใจเพราะว่าเราไม่ได้พบกับคนรุ่นใหม่ทุกคน เพียงแต่ว่าคนที่ได้เจอก็จะมีแบบนี้เยอะ ซึ่งไม่ใช่ศิลปินนะ แต่จะเป็นคนทำสตาร์ทอัพที่ตั้งโจทย์เพื่อตอบปัญหาสังคม หรือว่าคนที่เป็นนักเขียน คนที่ทำโปรแกรมเมอร์ ก็จะพรีเซนต์เรื่องนี้กันเยอะขึ้น เพราะว่าส่วนหนึ่งคือโลกมันเปลี่ยนไปเยอะ มันแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในเชิงสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม แล้วคนรุ่นใหม่ก็เป็นคนที่ต้องอยู่กับโลกต่อไป ซึ่งเขาตระหนักว่าในช่วงเวลาต่อจากนี้มันคือโลกของเขา ถ้าเขาไม่ทำ ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้นแน่ๆ ในขณะที่คนรุ่นเก่าก็จะมีความชินกับสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และอาจยังไม่ตระหนักว่ามันกำลังแย่ลงเรื่อยๆ แล้ว

 

คุณมีอีกบทบาทหนึ่งในการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของหอศิลป์กรุงเทพฯ ในมุมของคุณ ก่อนกับหลังที่จะมีโควิด-19 สถานการณ์ของหอศิลป์เป็นอย่างไร

ต้องเกริ่นก่อนว่า หอศิลป์อยู่มาประมาณ 12 ปีแล้ว นับจากวันที่มีมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเข้ามาดูแล ซึ่งมูลนิธิเกิดจากการที่ กทม. กับกลุ่มศิลปินหลายๆ ฝ่ายก่อตั้งร่วมกัน มันก็ดำเนินเรื่อยมา มีการจัดการบริหาร มีงบจาก กทม. มาให้ ถ้าเป็นคนที่มาหอศิลป์บ่อยๆ จะเห็นว่ามันมีพัฒนาการที่ค่อนข้างน่าชื่นใจ ตัวเลขยอดผู้เข้าชมก็เป็นกราฟสูงขึ้นทุกปี คอนเทนต์ที่เป็นเนื้อหาก็ลุ่มลึกมากขึ้นทุกปี 

ประมาณปีสองปีที่แล้ว เรามีคอนเทนต์ที่พูดถึงศิลปะที่ไม่ใช่กระแสหลัก คือคนข้างถนนทำศิลปะได้ไหม มันตีความไปถึงขั้นนั้นแล้ว หรือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่หอศิลป์พูดเรื่องเพศทางเลือกผ่านงานศิลปะ เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่แตะเรื่องสังคมมากๆ ถ้าดูในรายละเอียด หอศิลป์ก็จะมีนิทรรศการเล็กๆ จากการที่ดีลกับองค์กรสมาคมทั้งหลาย อย่างเช่นเคยมี นิทรรศการเกี่ยวกับวาดรูปดอกไม้เชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับความสนใจมาก คนเข้ามาดูกันเยอะแยะ เพราะว่ามันสวยดี และดูเป็นศิลปะที่เป็นเชิงวิชาการด้วย

 

แสดงว่าช่วงก่อนหน้านี้หอศิลป์ค่อนข้างคึกคักมาก

คอนเทนต์เยอะมาก การตอบรับดีมาก แล้วในแง่การตอบรับของคนทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นสถาบันต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็รู้สึกว่าเขาต้องเอานักศึกษามาแสดงธีสิสที่นี่ หอศิลป์เป็นเป้าหมายของเขาพอสมควรเลย ในแง่แบรนดิ้งมันค่อนข้างจะชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าที่นี่เป็นศูนย์กลางทางศิลปะของกรุงเทพฯ

แต่ประมาณสัก 3 ปีที่แล้ว ก็เกิดปัญหาหนึ่งคือ ทาง กทม. ยุติการให้งบสนับสนุน ซึ่งการให้งบนี่เป็นข้อตกลงในสัญญาระหว่าง กทม. กับมูลนิธิ ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า ในสัญญาระบุไม่ชัดเจนว่าจะต้องให้เสมอไป พอคนตีความเปลี่ยนทีมไป เขาก็ตีความใหม่ว่าไม่ให้ก็ได้ พอเกิดปัญหาขึ้นมาปุ๊บ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการบริหารหอศิลป์ก็จะยากขึ้น แต่ก่อนเรามีเงินอยู่หนึ่งร้อยก็คิดคอนเทนต์ได้เต็มที่ จะไปว่าจ้างภัณฑารักษ์หรือศิลปินให้มาทำงานก็เต็มที่ แต่ตอนนี้เหมือนเงินหายไป 50 บาท ปีแรกก็หนักแล้ว ทำให้การทำงานยากขึ้น ต้องดิ้นรนประมาณหนึ่ง มันเป็นแบบนี้มาเป็นปีที่ 4 แล้ว

 

ที่บอกว่าทำให้บริหารยากขึ้น ยกตัวอย่างได้ไหมว่ามีอะไรที่เห็นชัดๆ บ้าง

ที่เห็นชัดๆ คือ แต่ก่อนนี้นิทรรศการที่เป็นด้านบนชั้น 7, 8, 9 จะเป็นงบประมาณของหอศิลป์ที่จัดการเอง เพราะฉะนั้น เราสามารถคุมคอนเทนต์ได้เต็มที่ ฝ่ายนิทรรศการคิดอะไรได้เต็มที่ แล้วก็ใช้งบประมาณในอัตราส่วนที่เป็นมืออาชีพ 

ทีนี้พองบหายไป แปลว่างานก้อนนี้จะทำงานลำบากมากขึ้น ต้องค่อยๆ ลดงบลงเรื่อยๆ หรือกระทั่งต้องเปิดพื้นที่ให้กับเครือข่ายมาร่วมแสดง ซึ่งก็แปลว่าเราคุมคอนเทนต์ได้ไม่เหมือนเดิม โชคดีว่าคอนเทนต์ที่ผ่านมายังโอเคอยู่ เพราะว่าเครือข่ายเราเป็นองค์กรศิลปวัฒนธรรม เช่น เจแปนฟาวน์เดชั่น หรือสถานทูตทั้งหลาย เพียงแต่ว่าหอศิลป์ก็เสียคอนเทนต์ที่อยากพูดไปพอสมควร

ข้อต่อไปคือเรื่องเชิงกายภาพ เช่น การซ่อมบำรุงหอศิลป์ ถ้าสังเกตดูจะเริ่มเห็นสภาพว่าบางอย่างเริ่มเก่าและทรุดโทรม ลิฟต์เสีย บันไดเลื่อนพัง ต้องซ่อมทุกอาทิตย์ ทุกเดือน แทนที่จะเปลี่ยนตัวใหม่ คือมันถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแล้ว กลายเป็นว่าเงินรายได้ทั้งหมดทั้งมวลของหอศิลป์ที่ยังพอเก็บได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่า หรือค่าพื้นที่ มันถูกใช้ไปกับการรันพวก fixed cost ทั้งหลายกับการซ่อมแซมสิ่งที่เสียหายตามอายุขัย  ซึ่งมันไม่ไหวจริงๆ

 

ในมูลนิธิเคยมีการคุยกันไหมว่าจะจัดการอย่างไร

 คณะกรรมการคุยกันเยอะมากเลย ทุกรูปแบบแล้ว (หัวเราะ) เช่น ลองหาสปอนเซอร์ท่านอื่นไหม ซึ่งก็ได้มาบ้าง แต่พูดตรงๆ ว่าการขอสปอนเซอร์กับองค์กรต่างๆ ไปเรื่อยๆ มันก็คงไม่ได้ทุกปี หรือการผันตัวมาเป็นกึ่งๆ ออร์แกไนเซอร์ เช่น เรามีการทำแคมเปญให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อหารายได้เข้ามาเสริม 

ทีมหอศิลป์ก็ปรับตัวเยอะมากๆ ทั้งวิ่งเต้น ทั้งทำอะไรที่เราไม่เคยทำ เรื่องปรับตัวก็หนักหนาแล้วนะ ยังมีการที่ต้องไปคุยกับภาครัฐซึ่งก็มีความค่อยๆ คุยกันไปเรื่อยๆ อีก ซึ่งมันคุยยากนะ เพราะว่าภาครัฐไม่ได้เป็นใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นทั้งระบบ ซึ่งภาครัฐเองก็จะมีคนที่เข้าใจเรานะ แต่ว่าพอส่งเรื่องต่อไปก็จะมีความติดขัดขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาไม่ได้เข้าใจกันทั้งองคาพยพ แต่ปัญหาเราไม่ได้เกิดแค่ปีที่ผ่านมา มันติดค้างมา 3-4 ปีแล้ว จนราวปีก่อนก็มีการแก้ไขสัญญาอันเก่าให้ชัดเจนเรื่องการให้งบสนับสนุนแล้ว แต่ถึงแก้แล้วที่สุดก็ยังไม่ได้งบอยู่ดี (หัวเราะ)

ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ เราคิดว่าภาครัฐต้องให้งบสนับสนุนงานด้านศิลปวัฒนธรรมเพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐ และรัฐต้องเข้าใจเรื่องนี้ได้แล้ว รัฐควรสนับสนุนให้คนที่รู้เรื่องมาลงมือจัดการ ไม่ใช่มีงบแล้วเอาไปจัดการเองทั้งหมด ประเด็นนี้มันเป็นเป้าหมายระยะยาวที่เราอยากให้ภาครัฐได้เข้าใจและดำเนินงานตามแนวคิดแบบนี้ไปตลอด ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทีมงานหอศิลป์อยากให้ กทม. สนับสนุนงบประมาณต่อ มันจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าภาครัฐเริ่มเข้าใจทิศทางที่แวดวงศิลปะในประเทศนี้ควรเติบโตต่อไป ไม่ใช่ต้องให้งบเพราะเคยตกลงกับมูลนิธิไว้เท่านั้น

 

 

ในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์หอศิลป์ อาจารย์ชลิดา เอื้อบำรุงจิต บอกว่า ปัญหาหนึ่งคือการปลดล็อกค่าเข้าชมไม่ได้ เพราะ กทม. ก็ไม่อยากให้เก็บเงิน คุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้

เราคิดว่าค่าเข้าชมเป็นสิ่งที่น่าจะเก็บได้ เพราะเวลาเราไปดูมิวเซียมที่ต่างประเทศ ชัดเจนว่าเขาก็เก็บค่าเข้าชมกัน อาจจะไม่ได้แพงมาก ไม่ต้องพูดถึงการกลายเป็นรายได้นะ แต่พูดถึงการให้ค่างานศิลปะ มันเป็นกุญแจเล็กๆ ที่ทำให้วงการศิลปะเป็นอาชีพได้

 

มันสะท้อนมุมมองของรัฐที่มองว่า ศิลปะ=ฟรี หรือเปล่า

ไม่ผิดนะ เพราะโดยความเป็นหอศิลป์ของ กทม. มันควรจะมีบทบาทหนึ่งที่เป็นการบริการทางศิลปวัฒนธรรมให้กับกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ถ้ามาเก็บเงินค่าเข้าชม 500 บาท ก็จะผิดจุดประสงค์มาก มันต้องฟรีอยู่แล้ว อันนี้ถูกต้อง เพียงแต่ว่า ในบางจังหวะ บางโอกาส อย่างที่มีการนำงานจากต่างประเทศเข้ามา หรือนิทรรศการที่มีต้นทุนสูง หรือว่ามีงานที่ศิลปินใช้เวลาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสรุปชีวิตของเขามาแสดง ก็ควรจะมีการให้ค่าในเชิงเศรษฐกิจบ้าง

 

เห็นว่าปีนี้เป็นปีตัดสิน สมมติว่าถ้าได้ต่อสัญญาจริงๆ หอศิลป์จะไปอย่างไรต่อ และถ้าไม่ได้ต่อสัญญา จะเกิดอะไรขึ้น

มี 2 ขยัก ขยักแรกคือ ถ้าได้ต่อแต่ไม่ได้งบ ก็จะเหนื่อยเหมือนเดิม กลายเป็นว่าเราต้องดูแลโครงการนี้ในวิธีที่เป็นโหมดเอาตัวรอดเหมือนเดิม แต่มันก็ไม่ถึงกับไม่มีความหวัง เพราะเรามีเครือข่าย มีสปอนเซอร์ที่ยังพูดคุยกันได้ แต่ว่าก็คงจะไม่ง่าย

ขยักที่ 2 คือ ถ้าต่อสัญญาแล้วได้งบเหมือนเดิมก็จะดีขึ้น โล่งขึ้น เป้าหมายที่ทีมบริหารและทีมพนักงานหอศิลป์ตั้งไว้คือ เราจะเป็นหอศิลป์ที่สมศักดิ์ศรีของกรุงเทพฯ แปลว่าต้องไม่น้อยหน้าหอศิลป์อื่นๆ ในละแวก เช่น ในสิงคโปร์ หรือในจีนที่กำลังมาแรงตอนนี้ รวมถึงการที่ผันตัวเองเป็นแบรนด์หอศิลป์ที่สามารถไปช่วยซีนศิลปะอื่นๆ ได้ อย่างเช่นโปรเจ็กต์ทาง กฟผ. ก็มีทีมหอศิลป์ทำโปรเจ็กต์นี้ โดยเอางานศิลปะไปแสดงที่อื่นด้วย เหมือนกับเรามี know how ที่ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ก็สามารถใช้ know how คอนเนกชัน หรือคิวเรเตอร์ ในเครือข่ายไปซัพพอร์ตพื้นที่ศิลปะอื่นได้ด้วย

มีอย่างหนึ่งที่ต้องเล่าให้ฟังคือ สิ่งที่หอศิลป์อยากทำเร็วๆ นี้ โดยไม่ต้องรอเรื่องการต่อสัญญา คือการเปิดเวทีให้กับคนที่เป็นเครือข่าย ศิลปิน คนที่อยู่ในแวดวงศิลปะ หรือนักวิชาการทั้งหลาย มาแสดงความคิดเห็นว่าหอศิลป์ควรจะไปทางไหน ความจริงเรามีแผนในใจอยู่แล้ว แต่เราอยากรู้ว่ากลุ่มคนต่างๆ เขามีอะไรอย่างอื่นหรือเปล่า ซึ่งเป็นโมเดลที่ควรจะทำไปเรื่อยๆ ในการฟังเสียงของประชาชน เพราะว่าหอศิลป์ก็เกิดจากการที่ศิลปินและประชาชนทั้งหลายเรียกร้องกับภาครัฐ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการรีเช็กเสียงประชาชนอยู่เสมอ

 

ถ้าขยับออกมามองมุมกว้าง 13 ปีที่ผ่านมา หอศิลป์มีบทบาทเปลี่ยนแปลงสังคมในแง่มุมไหนบ้าง

ความจริงมันมีตัวเลขจากผลวิจัยที่เคยให้ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพทำอยู่ แล้วผลออกมาดูดีมาก อย่างเช่นในเวลา 10 ปี มีผู้เข้าชมตั้ง 10 ล้านคน ที่สำคัญคือเส้นกราฟยอดผู้ชมพุ่งขึ้นทุกปี ยกเว้นปีที่แล้วนะ แต่เราจำรายละเอียดมากกว่านี้ไม่ค่อยได้ (หัวเราะ) แต่ในมุมส่วนตัว เรารู้สึกมีความผูกพันกับที่นี่ เพราะเวลามาทุกครั้งก็จะเจอคนในแวดวงศิลปะ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงศิลปินอย่างเดียวนะ แต่มีทุกรูปแบบ เราจะเจอคนที่เดินเข้ามาเข้ามาคุยมาทัก มันมีมิตรภาพ มีความสัมพันธ์เกิดขึ้น หรือบางทีก็จะมีโปรเจ็กต์ใหม่ที่เกิดขึ้นที่นี่จากการพูดคุยกัน

เราเคยเจอเด็กรุ่นใหม่ที่มาแสดงงานแกลเลอรี เราก็ถ่ายรูปเอาไปลงข่าว และได้ติดต่อกันมาเรื่อยๆ ได้เห็นความเติบโตของเขาแล้วรู้สึกชื่นใจ เราเคยคุยกับศิลปินที่เราเคยชื่นชอบซึ่งมาดูงานที่นี่ มันดีจังเลยเวลามีพื้นที่อย่างนี้ แล้วความดีที่สุดคือมันเข้าถึงได้ ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นคอศิลปะสุดๆ แต่อาจจะเป็นแค่น้องนักเรียนที่อยากมานั่งติวกับเพื่อนที่โต๊ะ และได้เดินดูศิลปะไปด้วยโดยปริยาย หรือครอบครัวที่ไม่อยากพาลูกไปห้างเลยพาลูกมาดูงานนิทรรศการข้างบน แต่ภาพที่ชอบมากเลยคือคนที่มาเดตกัน (หัวเราะ) คือเขาอาจจะแค่มาถ่ายรูป แต่ว่าความทรงจำของเขาจะเป็นภาพที่ดูงดงาม เพราะมีศิลปะเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย

 

ฟีดแบ็กไหนจากคนที่มาหอศิลป์ที่คุณรู้สึกว่าจำไม่ลืม

เยอะเหมือนกันนะ เลือกไม่ถูกเลย แต่ถ้าพูดรวมๆ คือเรารู้สึกว่าตั้งแต่เห็นหอศิลป์มาสิบกว่าปี เราสัมผัสถึงคำว่าหลากหลายได้จริงๆ เพราะเราเคยเจอศิลปินจากภาคใต้ ได้คุยกับเขา ได้เห็นงานของเขาที่ดีมากๆ หรือมีปีหนึ่งที่หอศิลป์ทำเรื่องอีสานเต็มที่มาก แล้วจะมีเอ็นจีโอทั้งหลายมาพูดเรื่องเขื่อน พูดเรื่องชุมชน เป็นโหมดในการเปิดพื้นที่ให้มาคุยกันโดยที่มีเรื่องศิลปะเข้าไปด้วย หรืออย่างเดือนก่อนก็มีนิทรรศการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ที่ช่างภาพชาวอังกฤษเขาไปถ่ายให้ดูว่า ในช่วงโควิด-19 แรงงานต่างด้าวมีปัญหาอะไรบ้าง และสัมภาษณ์สั้นๆ ซึ่งนิทรรศการง่ายๆ อย่างนี้ก็ยังทำให้เราได้ความรู้เยอะมาก

 

เคยรู้สึกท้อไหม ขณะที่ต่างประเทศ ภาครัฐเขาให้การสนับสนุนพื้นที่ศิลปะและคนทำงานสร้างสรรค์มาก แต่บ้านเรายังต้องมาคุยกันเรื่องต่อสัญญา

เราเล่าเป็น case study หนึ่งดีกว่า เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน เราไปดูงานที่เมืองคางาวะ  ซึ่งเป็นเมืองที่เล็กที่สุดของญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงเกาะนาโอชิมะ ซึ่งอยู่ในเมืองคางาวะ ทุกคนทั่วโลกรู้จัก เพราะเป็นเกาะที่เป็นศิลปะทั้งเกาะ 

เราได้ไปดู ไปคุยกับชาวบ้าน คุยกับบริษัทที่เป็นคนทำมิวเซียมมาก่อน เขาบอกว่าใช้เวลาถึง 30 ปี ในการมาถึงจุดนี้ ปีแรกก็ไม่ได้ง่ายนะ โดนชาวบ้านด่าว่าทำอะไรก็ไม่รู้ เพราะไม่มีคนอยู่บนเกาะเลย หนุ่มสาวก็ออกจากเกาะไปทำงานในเมืองหมด เขาค่อยๆ ทำไป ขยายโครงการ เพิ่มงานศิลปะ เพิ่มมิวเซียม จนถึงปีที่สามสิบ กลายเป็นนักท่องเที่ยวทั่วโลกแห่มาที่เกาะเวลามีงาน แสดงว่าทุกอย่างต้องมันใช้เวลา ต้องสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน  

คือถ้าคุณยกศิลปะเป็นของสูงมากมันก็ไม่เวิร์ก มันต้องเข้าถึงคนทั่วไปและหลากหลาย ซึ่งเป็นประเด็นที่หอศิลป์กำลังทำอยู่ พอถามว่าท้อไหม เห็นคางาวะใช้เวลาสามสิบปี เราก็ไม่ท้อแล้ว (หัวเราะ) เห็นภาพที่นั่นทุกวันนี้เป็นภาพที่ดีมากๆ เวลาเขาจัดงานบนเกาะ คนอเมริกา คนยุโรปแห่ไปกันเยอะเลย ตอนนี้มาถึงจุดที่ชาวบ้านเรียนภาษาอังกฤษ เปิดโฮสเทลเพื่อจะรับแขกแล้ว หนุ่มสาวเองก็กลับมาเปิดร้านกาแฟ เปิดโฮสเทลที่เกาะกันเยอะขึ้น มันส่งผลดีไปถึงเรื่องชีวิตและเรื่องเศรษฐกิจได้จริงๆ นะ

 

อนาคตหลังยุคโควิด-19 เราจะเห็นรูปแบบใหม่ๆ ของงานเทศกาลศิลปะที่เปลี่ยนไปไหม

มีเทรนด์อันหนึ่งที่ต่อมาจากปีที่แล้ว คือพวกงานออนไลน์ ส่วนตัวเรารู้สึกว่าเวิร์กระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่ลงตัวมาก เช่น มีศิลปินที่จัดคอนเสิร์ตออนไลน์ หรือว่างานนิทรรศการปีที่แล้วหลายๆ งานก็ปรับเป็นออนไลน์ ปรากฏว่าผลตอบรับก็ไม่ถึงกับดีมาก หรืออยู่ในระดับโอเคก็มี แปลว่างานออนไลน์ก็ต้องหาทางอีกทีว่าจะไปอย่างไรต่อในการทำให้คนเข้ามาด้วย อันนี้ยังน่าสนุกอยู่ เรามองว่าเป็นโอกาสใหม่ๆ แล้วถ้าออนไลน์มันเวิร์ก หรือมีรูปแบบที่เหมาะสมจริงๆ ให้คนมีส่วนร่วมได้มากจริงๆ มากกว่าแค่ virtual หรือเข้าไปดูแบบ 360 องศา ก็น่าจะเป็นการเปิดประตูให้กับแวดวงศิลปะรุ่นใหม่ รวมทั้งรุ่นเก่าได้เยอะมาก

แต่ว่าในโหมดที่เป็นพื้นที่ศิลปะแบบเชิงขนบ ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์ แกลเลอรี ไม่รู้เราคิดไปเองหรือเปล่า แต่ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่มันเริ่มคลายล็อกดาวน์ คนก็จะแห่กันมาดูเทศกาล หอศิลป์ทั้งหลาย อย่างตอนงาน Bangkok Art Biennale 2020 เอง คนก็มาเยอะ จำได้ว่าเห็นจำนวนคนที่มาชมในสัปดาห์แรกก็ใจชื้นเลย เหมือนเขาก็รออยู่เหมือนกัน

 

จากช่วงเวลายากลำบากที่ผ่านมา สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากวิกฤตมากที่สุดคืออะไร

ปีที่แล้วเป็นวิกฤตที่เชื่อว่าไม่มีใครเคยเจอ  มันเลยเกิดคำถามกับอนาคตเยอะมาก สิ่งที่ได้เรียนรู้ง่ายๆ เลยคือ ถ้ามีสติ ทุกอย่างจะโอเค แล้วเราจะค่อยๆ แก้ไปทีละอย่าง ดูว่าอะไรที่แก้ได้ก่อน อะไรที่มันเป็นอนาคต scenario 1-2-3 จะเป็นอย่างไร ค่อยๆ ไล่ไป ก็จะรับมือได้ในระดับที่ไม่เจ็บตัวเกินไป

สิ่งหนึ่งที่แอบคิดในตอนที่เกิดวิกฤตหนักๆ ช่วงปีที่แล้วคือ ถ้ามีบางสิ่งบางอย่างที่จะต้องทิ้งไปในช่วงนั้น เช่น happening ต้องเลิกทำ เพราะไปไม่ไหวจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น พอคิดอย่างนั้นก็จะมีคำถามกับตัวเองว่า แล้วทำไมต้องเลิก เพราะว่ามันยังมีอะไรหลายอย่างที่ยังทำได้ happening ทำมาหลายอย่างมาก ตั้งแต่เป็นสื่อในวันแรกจนมาเป็นคนทำอีเวนต์ในวันนี้ เปิดร้าน happening shop แล้วเปิดเว็บไซต์ happeningandfriends.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ 4 ภาษา แล้วพยายามจะเอาศิลปินไทยไปต่างประเทศ แล้วตอนนี้ยังไปร่วมกับเพื่อนๆ ทำงาน Bangkok Illustration Fair อีก คือเรามาไกลได้ขนาดนี้แล้วก็แปลว่าควรจะมีเส้นทางให้ไปได้อีก อาจจะเป็นเส้นทางที่ไม่ได้ง่ายนัก อาจจะมีการสะดุดบ้าง หกล้มบ้าง แต่ว่ามีสิ่งที่ติดตัวเรามาตลอดสิบกว่าปี ซึ่งพูดแบบนี้เราก็อาจจะคล้ายๆ กับสิ่งที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นอยู่ด้วย คือมันมีมิตรภาพ มีการเติบโตงอกงาม และมีผลงานเป็นที่พิสูจน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นเกราะป้องกันในการเดินต่อไปของเรา

Tags: , , , ,