ผ่านไปหลายเดือน ผู้บริหารกรุงเทพมหานครของเรายังคงยืนกรานปฏิเสธที่จะให้เงินงบประมาณสนับสนุนจำนวน 60 ล้านบาทกับหอศิลป์กรุงเทพมหานคร เพราะมองว่าการจัดการหอศิลป์แห่งนี้เป็นภาระทางการเงินให้กับหน่วยงานรัฐ
หอศิลป์ก่อสร้างด้วยงบประมาณมูลค่า 1,000 ล้านบาทซึ่งเป็นงบประมาณของกทม.ที่มาจากภาษีประชาชน และกทม.ให้งบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ทั้งนี้งบประมาณรายปีดังกล่าวทำให้ผู้บริหาร กทม.มองว่า หอศิลป์ดังกล่าวเป็นภาระทางการเงินให้กับรัฐ ทั้งที่อาคารซึ่งตั้งอยู่ในทำเลทองนั้นสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล
ดูเหมือนผู้บริหารกทม.จะยังไม่ค่อยจะเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง ที่ต้องให้การสนับสนุนสิทธิพื้นฐานด้านการศึกษาแก่ประชาชนของตัวเอง
นี่จึงเป็นที่มาของบรรดาผู้คนในวงการศิลปวัฒนธรรมต้องออกมาเรียกร้องให้ กทม.กลับมาอนุมัติเงินงบประมาณให้ตามเดิม จนกระทั่งเกิดการจัดงาน ‘เดินถอยหลัง’ ขึ้น เพื่อเป็นการประท้วงกรุงเทพมหานครที่ปฏิเสธการให้งบสนับสนุนดังกล่าว
ยังไม่มีใครบอกได้ว่าการเดินถอยหลัง (ที่มีนัยยะจิกกัดว่าเรากำลังเดินถอยหลังเข้าคลอง) ในครั้งนี้จะช่วยให้สถานการณ์หอศิลป์ดีขึ้นหรือไม่ แต่การแสดงออกในรูปแบบดังกล่าวเป็นการตั้งคำถามตรงกันว่า การศึกษานอกห้องเรียนเช่นนี้มิใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐหรือ? หรือ เราควรเอาหอศิลป์มาหากำไรงั้นหรือ? เพราะในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐมองการจัดการพิพิธภัณฑ์ต่างจากกทม.โดยสิ้นเชิง
ยกตัวอย่างเมืองเบอร์ลินที่มีพิพิธภัณฑ์ของรัฐถึง 12 แห่ง รวมถึงห้าพิพิธภัณฑ์ชื่อดังที่ตั้งบนเกาะพิพิธภัณฑ์ (Museum Island) พิพิธภัณฑ์ทั้งหมดนี้บริหารโดย Prussian Cultural Heritage Foundation และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และพิพิธภัณฑ์ของรัฐทุกแห่งในเมืองอื่นๆ ในประเทศก็ต่างได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล
ตามรายงานงบประมาณวัฒนธรรมของผู้ว่าเบอร์ลินปี 2014 (Berlin mayor’s cultural funding report) พบว่าตัวเลขงบประมาณของเมืองเบอร์ลินที่สนับสนุนเรื่องศิลปวัฒนธรรมในเบอร์ลินนั้น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากงบประมาณ 21.4 ล้านยูโรในปี 2011 เป็น 22.2 ล้านยูโรในปี 2012 และ 23 ล้านยูโรในปี 2013
ซึ่งเงินงบประมาณในส่วนนี้ถูกนำไปใช้กับศิลปวัฒนธรรมในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ละครเวที เต้น ดนตรี หรือจิตรกรรม หรือแม้แต่โอเปร่าที่ทุกคนทราบดีว่าเป็นศิลปะชนชั้นสูงที่ค่าเข้าชมค่อนข้างสูงอยู่แล้ว
แต่นั่นเพราะเบอร์ลินให้ความสำคัญกับศิลปะ และมีนโยบายที่จะทำให้ศิลปะ วัฒนธรรม และชุมชนสร้างสรรค์ให้เป็นจุดขายของเมือง ทั้งนี้รายงานฉบับดังกล่าวยังกล่าวว่า ศิลปินอาชีพทำงานอยู่ในกรุงเบอร์ลินประมาณ 20,000 คน และมากกว่า 160,000 คนทำงานอยู่ในสายงานด้านวัฒนธรรมและธุรกิจสร้างสรรค์
ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่จนที่สุด และอัตราการว่างงานสูงที่สุดในเยอรมัน แต่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเบอร์ลินเป็นเมืองที่เซ็กซี่ (แต่ไม่มีสตางค์) นั่นเป็นเพราะเบอร์ลินวางตัวเองให้เป็นเมืองของศิลปะร่วมสมัยที่ใครๆ ก็อยากจะมาอยู่ และคนที่อยู่ในเมืองอยู่แล้วก็ไม่อยากจะย้ายไปไหน (ทั้งที่เงินเดือนก็ต่ำเตี้ยเหลือเกินถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ)
หากลองถามคนเยอรมันเรื่องความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ดู ส่วนใหญ่เชื่อว่าพิพิธภัณฑ์หรือสถาบันที่เกี่ยวกับศิลปะต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล พวกเขาเห็นว่าศิลปวัฒนธรรมนั้นสำคัญต่อความคิดอ่านของคนยิ่งนัก เพราะความรู้เหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้คนคิดวิเคราะห์ อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้นอกตำราเรียนที่ทำได้ตลอดชีวิต
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น งบประมาณการสนับสนุนจากรัฐก็แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ในบางเมืองอาจจะได้รับการสนับสนุนมากเพียงพอที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์หลายแห่งสามารถลดราคาบัตรให้กับคนเข้าชมได้ เช่น พิพิธภัณฑ์ในมิวนิค จะเก็บค่าเข้าชมเพียงแค่หนึ่งยูโรทุกวันอาทิตย์เพื่อเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมของผู้คน
Monika Böttcher ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประสานโครงการที่สถาบันเกอเธ่ในเบอร์ลิน กล่าวว่ารัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องสนับสนุนเพราะเรื่องศิลปวัฒนธรรม เพราะนี่คือหนึ่งในบรรดาเสาหลักของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เล็งเห็นภาพสะท้อนของตนเอง และมุ่งก้าวไปข้างหน้าเป็นที่ซึ่งมีความเป็นไปได้สำหรับการปกป้องพื้นที่แห่งความคิดเชิงวิพากษ์ ทดลอง และสร้างสรรค์
เธอยังบอกอีกว่า หากเราต้องการให้มวลมนุษยชาติอยู่รอด เราจำเป็นต้องมุ่งมั่นก่อร่างหรือธำรงรักษาอาณาบริเวณสำหรับการคิดอ่านและสร้างสรรค์ทั้งหลายซึ่งไม่ได้ตกอยู่ในวังวนของเป้าหมายเชิงประสิทธิภาพสูงล้ำ ผลิตผลเยี่ยมยอด และการผลิตเพื่อสนองเศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ผลิบานได้ดีในสภาพแวดล้อมอันมีชีวิตชีวาซึ่งจะปล่อยให้มันดำเนินไปได้ตามสะดวกโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกำไรตอบแทนจากการนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่ความหรูหราเบาสบาย แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอดของวัฒนธรรม การนำเอาทุกสิ่งไปรองรับกฎเกณฑ์เศรษฐศาาตร์ คือการทำลายล้างศักดิ์ศรีของมวลมนุษย์และจะผลิดอกออกผลส่งถึงลูกหลานของเราให้กลายเป็นเพียงหุ่นยนต์
ในความเห็นส่วนตัวของเธอคิดว่า การสนับสนุนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการให้พื้นที่ที่ให้ผู้คนได้เล่นกับความคิดนอกกรอบ ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเอง และเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและผู้ที่จะกำหนดอนาคตของสังคมในที่สุด
เธอยังฝากอีกว่า สถาบันเกอเธ่ในประเทศที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ก็มีพื้นที่ให้ศิลปินท้องถิ่นได้แสดงออกอยู่เสมอ
รัฐบาลหลายๆ ประเทศมีความพยายามที่จะลดพื้นที่ดังกล่าว และเธอเองก็ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไหนก็ตามที่จะเอาพื้นที่สำหรับการแสดงออกด้านศิลปวัฒนธรรมมามุ่งหากำไรอย่างแน่นอน
ในขณะที่ Jan Engelke ครูสอนภาษาเยอรมันที่สถาบันเกอเธ่ในเบอร์ลิน เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐต้องจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานศิลปะหรือวัฒนธรรมแขนงต่างๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเขายังเห็นด้วยว่าคนรายได้น้อยหรือผู้อพยพควรจะได้สิทธิพิเศษในการเข้าพิพิธภัณฑ์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยซ้ำไป
Engelke ยังบอกอีกว่าเขาคงจะต้องออกไปประท้วงทุกวิถีทาง (ทั้งเดินขบวนหรือลงชื่อ) ถ้าวันไหนรัฐบาลหยุดให้งบประมาณสนับสนุนงานเหล่านี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระบบการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนก็ต้องให้ประชาชนตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส
หรือว่างานเดินถอยหลังอันนี้จะทำให้กทม.คิดได้ (ถ้ามีผู้บริหารมาร่วมงานสักคน) เพราะมีผลวิจัยทางการแพทย์เผยแพร่ออกมาแล้วว่า “การเดินหรือวิ่งถอยหลัง” นั้น มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นความตื่นตัวให้กับร่างกายและความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวร่างกาย อีกทั้งสร้างกล้ามเนื้อมัดที่เราอาจจะไม่ได้ใช้บ่อยๆ เช่น น่อง หน้าแข้งหรือหน้าขา ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ยังรับรองอีกว่าการเดินถอยหลังจะช่วยกระตุ้นสมองและการคิด
หรือมาคิดดูอีกที ถ้าเราเดินถอยหลังบ่อยๆ มันอาจจะทำให้เราฉลาดขึ้นก็เป็นได้
เครดิตช่างภาพ: vpsai
Tags: Berlin, BACC