สังคมอาจเข้าใจว่าปัญหาของ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ได้คลี่คลายไปแล้ว แต่ตลอดปีมานี้หอศิลปฯ แทบไม่เคยยืนได้อย่างมั่นคง นับจากที่ กทม. ไม่ได้รับสิทธิในการดูแลหอศิลปฯ ปัญหาภายในต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ล่าสุด ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปฯ ถูกให้ออกจากตำแหน่ง โดย ผศ. ปวิตร ระบุว่าเนื่องจากการสื่อสารเรื่องปัญหางบประมาณออกไปให้ประชาชนรับรู้ 

ผศ.ปวิตร ระบุในจดหมายเปิดผนึกต่อสื่อมวลชนว่า

“ผมขอเรียนให้ท่านทราบว่าผมได้ถูกคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ชุดใหม่ (ซึ่งเข้ารับตําแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 หลังจากชุดเก่าหมดวาระเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561) “ไล่ออก” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562 (โดยให้ปฏิบัติงานวันสุดท้าย วันที่ 30 กันยายน 2562) ซึ่งเหตุผลหนึ่ง (จากการบอกเล่าด้วยวาจา) ก็คือ กรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานไม่พอใจการแสดงความเห็นของผมเรื่องการสนับสนุน งบประมาณของกรุงเทพมหานคร ในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน อนึ่ง คณะกรรมการมูลนิธิได้ยื่นข้อเสนอให้ผม “ลาออก” เพราะ “จะสวยกว่าอยู่แล้ว” ซึ่งผมขอปฏิเสธ และขอให้คณะกรรมการมูลนิธิเปิดเผยรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานของกระผม”

หลังจากที่ ผศ.ปวิตร เรียกร้องให้คณะกรรมการมูลนิธิเปิดเผยรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงาน ฝ่ายประชาชนก็สนับสนุนผ่านทาง Change.org ซึ่งขณะนี้แม้จะยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาในทิศทางไหน เราอยากชวนไปดูไทม์ไลน์เรื่องราวที่เกิดขึ้นในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในเกือบตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

1 ตุลาคม 2560 : หอศิลปกรุงเทพฯ ไม่ได้รับเงินอุดหนุนปี 2561 จาก กทม. เหมือนปีที่ผ่านๆ มา กล่าวคือ มีงบฯ หมวดหอศิลปฯ 40 ล้านบาทที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว แต่เบิกจ่ายไม่ได้

1 มีนาคม 2561 : ผศ.ปวิตรรับตำแหน่ง วาระ 4 ปี โดยมีเงื่อนไขจากคณะกรรมการสรรหา ผอ.หอศิลปฯ (บอกทางวาจา) คือจะทดลองงาน 1 ปี แล้วพิจารณาต่อสัญญา 3 ปี

2 มีนาคม 2561 : คณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปฯ หมดวาระ (และจะยังไม่มีกรรมการมูลนิธิฯ ไปอีกนับปี)

11 พฤษภาคม 2561 : ผู้ว่า กทม. มีดำริจะให้ กทม. บริหารหอศิลปฯ เอง แต่ประชาชนคัดค้าน และเมื่อพบว่ามูลนิธิหอศิลปฯ ได้รับสิทธิให้บริหารหอศิลปฯ ต่อ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าปัญหาจบลงด้วยดีแล้ว

สิงหาคม 2561 : ผศ. ปวิตร ผ่านการประเมินครั้งที่ 1 คณะกรรมการประเมินงานชุดดังกล่าว ได้รับการต่อสัญญา 1 ปี คือ 1 ก.ย. 2561 – 31 ก.ย. 62 (ตอนแรกบอกจะต่อ 6 เดือน แล้วพิจารณาต่อ 3 ปี) 

26 กันยายน 2561 : หอศิลปฯ รับใบแจ้งตัดน้ำประปา มีจัดงานแถลงข่าวปัญหางบประมาณ รองเลขาธิการนายกฯ รับเรื่อง ไปเรียน ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง

ตุลาคม 2561 : มูลนิธิฯ หารือกับ กทม. ที่รับปากว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณปี 2562 คุยกันเรื่องสัญญาโอนสิทธิฯ (ข้อที่ไม่ต้องให้ กทม. จ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินงานของหอศิลปกรุงเทพฯ) เรื่องติดหนี้การไฟฟ้านครหลวงฯ และเร่งรัดหาคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ที่ยังว่างอยู่หลังจากชุดเดิมหมดวาระ

พฤศจิกายน 2561 : หอศิลปฯ เสนอของบประมาณเงินอุดหนุน วงเงิน 48 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 ตามที่ได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ นั่นคือ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ระหว่างนั้น ผศ.ปวิตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณของหอศิลปฯ

19 มีนาคม 2562 : คณะกรรมการประเมินฯ เสนอแนะให้ ผศ.ปวิตร “ปรับท่าทีการสื่อการกับบุคคลภายนอก โดยคำนึงถึงภาพลักษณ์การเป็นผู้นำองค์กรและไม่สร้างความขัดแย้ง”

31 พฤษภาคม 2562 : ประกาศกระทรวงมหาดไทย รับรองคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปฯ ชุดใหม่ หลังจากที่ไม่มีคณะกรรมการมูลนิธิมา 1 ปี 2 เดือน 29 วัน

17 มิถุนายน 2562 : การของบอุดหนุนจาก กทม. ไม่เป็นผล มีหนังสือแจ้งว่าจะไม่สนับสนุนงบฯ ในปี 2563 (1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563) “เนื่องจากอาจจะเป็นการปฏิบัติที่ขัดกับข้อ 8 ของสัญญาให้สิทธิในตัวอาคารหอศิลปฯ” อันเป็นผลมาจากการที่ กทม. ไม่ได้รับสิทธิในการจัดการดูแลหอศิลปฯ

8 กรกฎาคม 2562 : หอศิลปได้รับหนังสือแจ้งหนี้จากการไฟฟ้าฯ และการประปาฯ อย่างละ 20 ฉบับ

สิงหาคม 2562 : นิตยสาร a day ฉบับ BACC ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหอศิลปกรุงเทพฯ ทั้งเล่ม ลงบทสัมภาษณ์ ผศ.ปวิตร ที่กล่าวถึงปัญหางบประมาณที่ยังไม่คลี่คลาย ผศ.ปวิตรให้สัมภาษณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส

2 สิงหาคม 2562 : ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิฯ มีท่านหนึ่งเสนอให้หอศิลปฯ หาทางเลี้ยงตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งเงินอุดหนุนจาก กทม. ด้วยการทำตัวเชิงพาณิชย์มากขึ้น ช่วงท้ายประชุมมีการอนุมัติรายชื่อคณะกรรมการประเมินงาน ผศ.ปวิตร ให้มีทั้งหมด 8 ท่าน จากเดิมมี 3 ท่าน

20 สิงหาคม 2562 : ผศ.ปวิตร นำเสนอผลงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และเสนอแผนงานปี 2563 

27 สิงหาคม 2562 : คณะกรรมการประเมินงานประชุมกัน โดยไม่ได้เรียก ผศ.ปวิตร มาชี้แจง

30 สิงหาคม 2562 : มีการประชุมอีกครั้ง คณะกรรมการมูลนิธิฯ ท่านเดิมเสนอให้ร้าน Starbucks มาเปิด เพื่อเพิ่มรายได้หอศิลปฯ ท้ายการประชุมคณะกรรมการประเมินฯ เสนอผลการประเมินต่อที่ประชุม

31 สิงหาคม 2562 : ผศ.ปวิตร ลงนามรับทราบว่าไม่ผ่านการประเมิน มีผลให้เลิกจ้างงานตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 โดย ผศ.ปวิตรระบุในแถลงการณ์ว่า มีกรรมการท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า “คุณต้องยอมรับว่าที่นี้มันมีฝักไหนฝ่ายไหนเยอะแยะเต็มไปหมด” และกล่าวว่าจะมีการแจ้งผลการประเมินอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และพิจารณาให้เงินชดเชย วันเดียวกันนั้น ผศ. ปวิตร ขออ่านรายงานผลการประเมินงาน 

กันยายน 2562 : หอศิลปฯ ได้รับอนุมัติงบประมาณ 35.8 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อจัดกิจกรรมและนิทรรศการศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์ นั่นทำให้กิจการของหอศิลปฯ ดำเนินต่อไปได้แม้จะไม่ได้รับงบอุดหนุนจาก กทม.

4 กันยายน 2562 : ผศ. ปวิตร ได้รับแจ้งผลการประเมินด้วยวาจา มีข้อเสนอให้ ผศ.ปวิตร ‘ลาออก’ แล้วรับ ‘ค่าตอบแทนพิเศษ’ ซึ่ง ผศ. ปวิตรระบุว่า มีคำอธิบายว่า “ลาออกจะสวยกว่าอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าปุบปับจะไป” 

กรรมการมูลนิธิฯ หนึ่งในสองท่านเปิดเผยเหตุผลที่ ผศ. ปวิตรไม่ผ่านการประเมินว่าเพราะ (1) “คุณไปด่าว่าเขา (ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ กทม.)” โดยกรรมการท่านนั้นยังเปรียบเทียบว่าเครือข่ายศิลปินที่ออกมาวิจารณ์ผู้บริหาร กทม. นั้นไม่มีนาย แต่ ผศ. ปวิตร ดันมีนาย (2) “คุณเริ่มปรับตัวแล้ว แต่ใช้เวลาเยอะมาก”

ผศ. ปวิตร อธิบายต่อกรรมการฯ ว่าทั้ง ผอ.และเจ้าหน้าที่ทุกคนพยายามปฏิบัติงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่สถานการณ์งบประมาณที่เกิดขึ้นแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กรรมการมูลนิธิฯ ท่านเดิมกล่าวว่า “ซวยไป”

21 กันยายน 2562 : ผศ. ปวิตร ได้รับหนังสือแจ้งใจความว่า ตนเองขอยื่นหนังสือลาออก ทั้งที่ไม่เคยตอบรับข้อเสนอลาออกแต่อย่างใด

23 กันยายน 2562 : ผศ. ปวิตร ยังคงไม่ได้อ่านรายงานผลการประเมิน ที่เคยขอไป และยังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงที่ถูกเลิกจ้าง

24 กันยายน 2562 : ผศ. ปวิตร ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมมูลนิธิหอศิลปฯ ยืนยันว่าจะไม่ ‘ลาออก’ แล้วรับค่าตอบแทนพิเศษ แต่ขอ ‘ถูกไล่ออก’ แล้วขอให้พิจารณา ‘เงินชดเชย’ ตามกฎหมาย

ในวันเดียวกันนี้ ผศ. ปวิตรยังได้ส่งแถลงการณ์ ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนเพื่อขอความยุติธรรมและโปร่งใส อย่างที่ไม่มีการเมือง กทม. และ/หรือ การเมืองวงการศิลปะมาเกี่ยวข้อง 

 

จากไทม์ไลน์ดังกล่าวแทบมองไม่เห็นความหวังว่าหอศิลปกรุงเทพฯ จะกลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะเพื่อประชาชนอย่างที่มันควรจะเป็นเลยเสียที แม้ในเดือนกันยายนนี้ หอศิลปกรุงเทพฯ จะได้รับเงินสนันสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากว่า 35.8 ล้านบาท แต่ในปีต่อๆ ไป งบประมาณในการจัดการหอศิลปฯ จะมาจากไหนอีก จะมีหรือไม่ 

หรือหอศิลปฯ เองสุดท้ายจำต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเพื่อให้อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิง กทม. นั่นคงเป็นเรื่องที่ติดตามกันต่อไป และท้ายที่สุดเราคงได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นอีก ว่าในสายตาของภาครัฐแล้ว ศิลปะ วัฒนธรรม มีความสำคัญสักแค่ไหนกัน

Tags: , ,