ข่าวหุ้นที่โดดเด่นช่วงนี้คงหนีไม่พ้นการเข้าตลาดหุ้นของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ซึ่งเป็นหุ้นอสังหาริมทรัพย์โดยตระกูลธุรกิจเจ้าใหญ่ของเมืองไทยคือ ‘ตระกูลสิริวัฒนภักดี’ ที่เริ่มเปิดให้จองหุ้นก่อนการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ที่ปักธงช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้

สิ่งที่น่าจับตานอกจากขนาดดีลยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดตามราคาเสนอขายครั้งแรกต่อสาธารณะ (Initial Public Offering: IPO) หลักแสนล้านบาท และคิดเป็นราว 1.6% ของตลาดหุ้นไทยซึ่งทำให้มีแนวโน้มอย่างยิ่งว่า AWC จะกระโดดเข้าอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ดัชนี SET50 ในวันแรกของการซื้อขาย

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนจับตาคืออัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น หรือที่คุ้นหูกันว่า Price-to-Earnings Ratio หรือ P/E Ratio ของหุ้น AWC ที่สูงถึง 277.6 นั่นเทียบเท่ากับว่าถ้าบริษัททำกำไรได้ 1 บาทต่อหุ้น ก็จะจำหน่ายในราคา 277.6 บาทนั่นเอง

ตัวเลขดังกล่าวนำไปสู่คำถามว่า ราคาเสนอขายเช่นนี้ ‘แพงไปหรือไม่?’ เพราะในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อัตราดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 32  ส่วนตลาดหลักทรัพย์ไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 18

หันไปมองดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา ที่มี P/E ของทั้งตลาดอยู่ที่ราว 20 นักวิเคราะห์ก็ต่างบ่นระงมว่าราคาหุ้นนั้น ‘สูงกว่าที่ควรจะเป็น’ บางรายถึงขั้นทำนายว่าอาการบวมดังกล่าวจะแตกเหมือนฟองสบู่เข้าสักวัน

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปรู้จักว่าอัตราส่วน P/E คำนวณอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง และยังสามารถใช้ประเมินได้หรือไม่ว่าหุ้นตัวไหนแพงหรือถูกเกินไป แ

อัตราส่วน P/E เป็นตัวเลขที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด และการพิจารณาตัวเลขนี้เพียงลำพังย่อมไม่เพียงพอที่จะตัดสินได้ว่าหุ้นตัวที่เรากำลังมองหาราคาสูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

อัตราส่วน P/E วิธีคำนวณ และข้อจำกัด

สาเหตุหนึ่งที่อัตราส่วน P/E เป็นที่นิยมก็เพราะการคำนวณที่เรียบง่ายและความเข้าใจง่าย โดยมีการคำนวณอย่างตรงไปตรงมา อย่างแรกคือต้องหากำไรต่อหุ้น (Earnings per Share) ซึ่งหากต้องการคำนวณอย่างง่ายก็หยิบเอากำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุนในปีที่ผ่านมาแล้วนำมาหารด้วยจำนวนหุ้น เช่น บริษัท MMT มีกำไร 1000 บาท และมีหุ้นทั้งหมด 5,000 หุ้น กำไรต่อหุ้นของ MMT จะเท่ากับ 100/5,000 เท่ากับ 0.2 บาทต่อหุ้นนั่นเอง

เมื่อได้กำไรต่อหุ้นแล้ว เราก็สามารถนำเลขดังกล่าวมาคำนวณอัตราส่วน P/E โดยใช้เป็นตัวหารของราคาหุ้นที่ซื้อขายในปัจจุบัน สมมติหุ้น MMT ซื้อขายกันอยู่ที่ 3 บาท อัตราส่วน P/E เท่ากับ 3/0.2 เท่ากับ 15 ซึ่งสามารถตีความอย่างง่ายได้ว่า นักลงทุนจะได้ทุนคืนภายใน 15 ปี หากบริษัท MMT สามารถทำกำไรได้เท่ากับ 1 ปีที่ผ่านมา

แต่สิ่งที่แลกมากับความง่าย ก็คือข้อจำกัดหลายประการของอัตราส่วน P/E

ประเด็นแรกคือ อัตราส่วน P/E จะอ้างอิงกำไรทางบัญชี ซึ่งหลายอย่างขึ้นอยู่กับมาตรฐานทางบัญชีของประเทศนั้นๆ อีกทั้งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณประกอบกับการตีความของนักบัญชีและผู้สอบบัญชี ซึ่งแน่นอนครับว่าสามารถบิดนิดขยับหน่อยเพื่อให้ไปแตะความคาดหวังของนักลงทุน (อ่านเพิ่มเติมได้ใน สารพัดเทคนิคตกแต่งบัญชี ที่นักอ่านงบการเงินมือใหม่ต้องรู้) ที่สำคัญ อัตราส่วน P/E ไม่ได้สนใจถึง ‘คุณภาพ’ ของรายได้ เนื่องจากรายได้บางปีของบริษัทอาจเกิดขึ้นเพียงหนึ่งครั้ง เช่น การขายสินทรัพย์หรือเงินลงทุนก้อนใหญ่จนทำให้กำไรพุ่งกระฉูด แต่นั่นไม่ใช่การดำเนินธุรกิจปกติของบริษัท และไม่ได้สะท้อนความสามารถในการทำกำไรในอนาคตอีกด้วย

ประเด็นที่สองคือสมมติฐานสำคัญกับการใช้ อัตราส่วน P/E คือกำไรในงวดปีที่ผ่านมาจะเท่ากับในอนาคต เช่นในตัวอย่างข้างต้น หากอัตราส่วน P/E เท่ากับ 15 แล้วเราเข้าใจว่าในอีก 15 ปีบริษัทจะทำกำไรมาคืนเราได้แน่ๆ สำหรับคนที่อยู่ในวงการหุ้นมาสักพักก็คงจะรู้ว่า อย่าพูดถึงการทำนายอนาคต 10 ปี 15 ปีเลย แค่เดาว่าปีหน้าบริษัทจะมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร ก็ยากเย็นแสนเข็ญแล้ว การตีความในลักษณะดังกล่าวอาจนำไปสู่ภาพลวงตาที่ว่า หุ้นที่มีอัตราส่วน P/E เท่ากับ 15 จะราคาแพงมากกว่าหุ้นที่มีอัตราส่วน P/E เท่ากับ 10 ซึ่งอาจจะไม่เป็นความจริง

ประเด็นสุดท้ายคือ อัตราส่วน P/E มองข้ามสิ่งที่อยู่ในงบดุล หรืองบกระแสเงินสด ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อประเมินว่าราคาหุ้นของบริษัทนั้นสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป บริษัทอาจมีกำไรสูงลิ่วจากการสร้างลูกหนี้ปลอมๆ ที่บวมอยู่ในงบดุลทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่สามารถเก็บเงินได้ การสร้างหนี้ในระดับที่ไม่สามารถจ่ายไหว หรือมีแต่ยอดขายแต่ไม่มีเงินสดหมุนเวียนจนขาดสภาพคล่อง สิ่งเหล่านี้คือข้อจำกัดของอัตราส่วน P/E ที่นักลงทุนควรระมัดระวัง

ที่สำคัญ อัตราส่วน P/E ยังไม่สามารถใช้ในการวิเคราะห์บริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุน ซึ่งหากทู่ซี้ใส่เลขตามสูตรก็จะได้ผลลัพธ์ติดลบซึ่งไร้ความหมาย แต่ปัจจุบัน หลายบริษัทโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี เช่น Uber หรือ Pinterest เข้าตลาดหุ้นทั้งๆ ที่ยังขาดทุน นักวิเคราะห์จึงต้องหันไปใช้เครื่องมืออื่นๆ อย่างการคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cashflow) เพื่อประเมินมูลค่าบริษัทแทน

 นักวิเคราะห์บางสำนักอาจพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของ อัตราส่วน P/E ซึ่งมักอิงกับข้อมูลในอดีตที่มองย้อนหลังไปแค่ 12 เดือน (Trailing Twelve Month) โดยเพิ่มสมมติฐานการเติบโตของกำไรต่อหุ้นเข้าไปเป็นอัตราส่วน PEG (Price per Earnings-to-Growth) ส่วนอัตราการเติบโตจะอยู่ที่เท่าไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของนักวิเคราะห์และนักลงทุนแต่ละคน

แล้วอัตราส่วน P/E ยังใช้ได้อยู่หรือไม่?

 ถึงจะมีข้อจำกัดหลายประการ แต่อัตราส่วน P/E ก็ยังเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง มีการศึกษาพบว่านักวิเคราะห์สูงถึงร้อยละ 99 ก็ยังใช้ตัวคูณในบางรูปแบบเพื่อประเมินมูลค่าหุ้น สิ่งที่อัตราส่วน P/E บอกเราได้ชัดเจนมากที่สุด คือ นักลงทุนในตลาดคาดหวังว่าบริษัทจะเติบโตในอนาคตมากแค่ไหน ยิ่งบริษัทมีอัตราส่วน P/E สูงเท่าไหร่ แสดงว่านักลงทุนคาดหวังว่าบริษัทนั้นๆ จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นเท่านั้น

แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่าสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังก็ไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงเสมอไปนะครับ!

ทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับคนที่รักอัตราส่วน P/E คืออัตราส่วน P/B หรือ Price-to-Book Ratio ซึ่งจะคิดจากราคาหุ้นที่ซื้อขายในปัจจุบันหารด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหุ้น (Net Assets Value) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าสินทรัพย์ลบด้วยมูลค่าหนี้สินนั่นเอง อัตราส่วน P/B จะใช้ประเมินหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูงว่าจำหน่ายในราคาที่สมเหตุสมผลหรือไม่ โดยมักเปรียบเทียบประกอบกับผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) ที่สำคัญ อัตราส่วน P/B ยังสามารถใช้สำหรับบริษัทที่ยังมีผลประกอบการขาดทุนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี มีคำเตือนว่าอัตราส่วนอย่าง P/E ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีนักในการทำนายการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น ในทางกลับกัน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return on Invested Capital: ROIC) จะมีความสัมพันธ์กับการประเมินมูลค่าบริษัทมากกว่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวคำนวณจากกำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี (Net Operating Profit After Tax: NOPAT) หารด้วยเงินลงทุน ซึ่งในที่นี้หมายถึงเงินที่นำไปใช้เพื่อการดำเนินงานเท่านั้น โดยอัตราส่วนดังกล่าวจะสะท้อนว่าบริษัทตัดสินใจแบ่งสรรปันส่วนเงินลงทุนได้ดีมากน้อยเพียงใด

นอกจากอัตราส่วนข้างต้นแล้ว ยังมีอัตราส่วนทางการเงินอีกมากที่เราต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นสามัญ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน งบการเงิน อ่านเองได้ (2) ตอน อัตราส่วนทางการเงิน) สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนต้องการย้ำคือ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ลงทุนเพียงแค่มองเลขตัวเดียว เพราะนั่นอาจทำให้เราพลาดโอกาสซื้อหุ้นดีที่มีโอกาสเติบโตสูง หรือซื้อหุ้นพลาดเพราะคิดว่าราคาถูกแต่ความจริงแล้วธุรกิจกำลังย่ำแย่

และที่ขาดไม่ได้ อย่าลืมว่าการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนนะครับ ก่อนคิดจะลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทไหน ก็ควรศึกษาว่าหลักทรัพย์นั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด รวมถึงถามตัวเองด้วยว่า เราพร้อมที่จะรับความเสี่ยงนั้นหรือไม่

ส่วนคำถามที่ว่าหุ้น AWC อัตราส่วน P/E 277.6 แพงหรือไม่ ผู้เขียนชวนให้นักอยากลงทุนมาลองอ่านหนังสือชี้ชวน ดูงบการเงินในปัจจุบัน แผนการลงทุนในอนาคต ปัจจัยความเสี่ยง และภาพรวมการประกอบธุรกิจเพื่อใช้ตัดสินใจลงทุนนะครับ เพราะจะถูกหรือจะแพง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและการคาดการณ์ของเราว่าบริษัทดังกล่าวมีอัตราการเติบโตในอนาคตหรือไม่

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: , , , , ,