เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ดูใกล้ปิดฉากในอนาคตอันใกล้ หลังจากชาวมุสลิมบนดินแดนโมโร (ดินแดนภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ต่างๆ รวมทั้งเกาะมินดาเนา) ออกเสียงประชามติในสัปดาห์ที่ผ่านมา สนับสนุนแผนจัดตั้งเขตปกครองตนเอง
ในขั้นต่อไป กลุ่มที่เคยสู้รบกับรัฐบาลฟิลิปปินส์จะครองอำนาจชั่วคราวจนถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นในปี 2022 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลของชาวมุสลิมในแคว้นมินดาเนา
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มกราคม คณะกรรมการการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ประกาศผลการลงประชามติต่อธรรมนูญการปกครองตนเองของชาวมุสลิมในหมู่เกาะมินดาเนา ปรากฏว่า ประชาชนออกเสียงสนับสนุน 1.7 ล้านเสียง คัดค้าน 254,600 เสียงจากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 2.8 ล้านคน
พื้นที่รองรับอัตลักษณ์
กฎหมายซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นฉบับนี้ จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘แคว้นปกครองตนเองบังซาโมโรในหมู่เกาะมินดาเนาของชาวมุสลิม’ (Bangsamoro Autonomous Region in Muslim Mindanao)
เพียงแค่ชื่อก็บ่งบอกถึงการเคารพในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาของประชาชนในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ประเทศที่ชนส่วนใหญ่เป็นชาวคาทอลิกนี้
คำว่า โมโร หมายถึง ชนพื้นเมืองหรือคนที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมบนเกาะมินดาเนา เกาะซูลู และเกาะใกล้เคียง ซึ่งตั้งรกรากมาตั้งแต่สมัยสเปนตั้งอาณานิคมในแถบนั้น คำว่า บังซา แปลว่า ชาติหรือประเทศ (nation) เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงถอดความได้ว่า แคว้นของชาวโมโร (nation of Moros)
ความพยายามของรัฐบาลมะนิลาที่จะถอดชนวนการก่อความไม่สงบด้วยกระบวนการประชามติ ยังนับว่าสะท้อนถึงการยอมรับในสิทธิ์เสียงของคนท้องถิ่นด้วย
พูดกันแบบถอดประสบการณ์ เรียนรู้แบบอย่างจากเพื่อนบ้าน การเคารพในอัตลักษณ์ และการยอมรับในอำนาจอธิปไตยของปวงชน ดูจะเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้สำหรับการดับไฟใต้
รู้จักธรรมนูญแคว้นโมโร
ด้วยการผลักดันของรัฐบาลประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต รัฐสภาผ่านธรรมนูญการปกครองบังซาโมโร (Bangsamoro Organic Law) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 ดูแตร์เตลงนามในกฎหมายฉบับนี้ในอีก 2 เดือนต่อมา
แคว้นบังซาโมโรจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐบาลของแคว้นมีอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจด้านการเงิน แต่รัฐบาลกลางยังคงถืออำนาจในด้านการป้องกันประเทศ ความมั่นคง การต่างประเทศ และการคลัง
รัฐบาลของแคว้นจะมีประมุข เรียกว่า วาลี (Wali) เป็นผู้นำทางพิธีการ เช่น เปิดประชุมสภา รับการกล่าวสาบานตน มีมุขมนตรี (Chief Minister) เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการ บริหารงานด้านการยุติธรรม ออกคำสั่งและนโยบายภายในเขตปกครองตนเอง รวมถึงมีอำนาจจัดทำงบประมาณ จัดเก็บรายได้ บังคับใช้ศาสนบัญญัติ ชารีอะห์ เฉพาะชาวมุสลิม และอื่นๆ รวมทั้งหมด 55 ประการ
นอกจากมีอำนาจอย่างกว้างขวางแล้ว หัวใจของการปกครองตนเองอีกข้อหนึ่ง คือ เงิน
แคว้นของชาวมุสลิมดังกล่าวจะได้รับส่วนแบ่งค่าสัมปทานสำรวจแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่เงินภาษีและค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บภายในเขตจะส่งให้รัฐบาลกลาง 25 เปอร์เซ็นต์ อีก 75 เปอร์เซ็นต์จะเป็นรายได้ของท้องถิ่นในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน รัฐบาลบังซาโมโรจะได้รับเงินให้เปล่ารายปีจากรัฐบาลกลาง ในปีแรกหลังจากธรรมนูญมีผลบังคับใช้ เงินให้เปล่านี้จะจัดสรรในสัดส่วน 5 เปอร์เซ็นต์จากภาษีรายได้สุทธิของประเทศและภาษีศุลกากรย้อนหลัง 3 ปีงบประมาณ
ตลอดห้วงทศวรรษหน้า เขตโมโรจะได้รับเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาจากรัฐบาลกลางเป็นเงิน 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท
รัฐบาลของ ‘กลุ่มแบ่งแยกดินแดน’
อันที่จริง เขตปกครองตนเองมินดาเนาไม่ใช่เรื่องใหม่ ธรรมนูญฉบับนี้ออกมาใช้แทนกฎหมายฉบับก่อนหน้าซึ่งไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ จึงมีการปรับปรุงเนื้อหาและขยายขอบเขตพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งเป็นผลจากการบรรลุข้อเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front : MILF) เมื่อปี 2014
ต่อจากนี้ รัฐบาลกลางจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวบังซาโมโร (Bangsamoro Transition Authority) ซึ่งจะปกครองพื้นที่ไปจนถึงกำหนดเลือกตั้งสมาชิกสภาจำนวน 80 ที่นั่งในปี 2022 จากนั้นสภาจะโหวตเลือกมุขมนตรี ซึ่งคาดกันว่าขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร (ซึ่งสู้รบกับรัฐบาลฟิลิปปินส์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 120,000 คน) จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลท้องถิ่นผ่านกระบวนการประชาธิปไตย
เขตปกครองมินดาเนาส่อเค้าใกล้เป็นจริงด้วยการผลักดันของดูแตร์เต ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากมินดาเนา พื้นที่ด้อยพัฒนาล้าหลังของประเทศ เขาเคยเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองดาเวาในมินดาเนาเป็นเวลา 22 ปี นี่จะเป็นผลงานเด่นของนโยบายที่เขาประกาศไว้เมื่อตอนหาเสียง
มินดาเนาเป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับ 2 ของฟิลิปปินส์ อุดมด้วยทรัพยากรและสินแร่ เช่น นิกเกิล รัฐบาลกลางประเมินว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่นั่นมีมูลค่าราว 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ผ่านมาไม่สามารถพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะนักลงทุนหวาดกลัวการก่อความไม่สงบ
ถ้าเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมโมโรบังเกิดสันติภาพ ประชากรหลายล้านคนย่อมมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
ที่มาภาพหน้าแรก: NOEL CELIS / AFP
อ้างอิง:
- ABS-CBN News, 20 January 2018
- Reuters, 21 January 2019
- Reuters, 21 January 2019
- AFP via ChannelNews Asia, 21 January 2019
- AFP via The Express Tribune, 25 January 2019