ในสัปดาห์นี้ อองซาน ซูจี จะไปฟังการไต่สวนของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (ไอซีเจ) ด้วยตนเองในคดีที่เมียนมาถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ทีมนักกฎหมายของผู้นำเมียนมาเตรียมข้อต่อสู้ไว้แล้ว ต้องคอยดูว่า คณะผู้พิพากษาในกรุงเฮกจะรับฟังหรือไม่
การตัดสินใจของซูจีที่จะไปขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในวันอังคาร (10 ธ.ค.) ดูจะเรียกคะแนนนิยมจากชาวเมียนมาได้มาก ในขณะที่การเลือกตั้งรอบใหม่กำลังจะมาถึงในปี 2020
การไต่สวนในรอบนี้ ซึ่งจะใช้เวลา 3 วัน เป็นนัดพิจารณาว่าศาลโลกจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ก่อนที่ศาลจะเริ่มกระบวนการไต่สวนเต็มรูปแบบ โดยทั่วไป ในขั้นตอนนี้ ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ก็รู้ผล
คณะทนายความของเมียนมาเตรียมข้อต่อสู้ไว้แล้ว ทั้งในมุมของข้อเท็จจริง และในมุมของข้อกฎหมาย การพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมา ศาลโลกเคยตัดสินให้เซอร์เบียผิดมาแล้ว แต่กว่าคดีจะสิ้นสุดต้องใช้เวลานานหลายปี
อ้างปราบผู้ก่อการร้าย
ในคดีนี้ แกมเบีย ประเทศมุสลิมเล็กๆ ทางตะวันตกของแอฟริกา เป็นผู้ยื่นฟ้องในนามขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ซึ่งมีสมาชิก 57 ประเทศ โดยกล่าวหาว่า เมียนมาละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ ซึ่งเมียนมาเป็นภาคีในกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้
แกมเบียฟ้องต่อศาลโลกว่า ปฏิบัติการกวาดล้างที่กองทัพเมียนมาดำเนินการกับชนชาติส่วนน้อยชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017 ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมกลุ่มนี้พากันลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในบังกลาเทศราว 740,000 คน ถือว่าเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
คำฟ้องนี้สอดคล้องกับรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของยูเอ็น ซึ่งพบว่ามีการสังหาร ข่มขืน และวางเพลิงเผาหมู่บ้านเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
รายงานของยูเอ็นเมื่อเดือนสิงหาคมระบุว่า การล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรีและเด็กผู้หญิงชาวโรฮิงญาของทหารเมียนมา บ่งชี้ว่า กองทัพเมียนมามีเจตนาที่จะทำลายล้างชาวมุสลิมเหล่านี้ และพบว่า รัฐบาลเมียนมาปล่อยคนผิดลอยนวล ไม่สอบสวนและไม่ลงโทษทหารที่กระทำการดังกล่าว จึงถือว่ารัฐบาลเมียนมาไม่ปฏิบัติตามพันธะในอนุสัญญา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำโดยพฤตินัยของอองซาน ซูจี ปฏิเสธคำกล่าวหา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเจตนา” ของคณะทำงานยูเอ็น โดยชี้แจงว่า เป็นการต่อสู้กับพวกนักรบโรฮิงญา ถือเป็นการปราบปรามการก่อการร้ายโดยชอบ
ข้อต่อสู้ของเมียนมา
การไต่สวนในช่วงวันที่ 10-12 ธันวาคม จะยังไม่พิจารณาว่า เมียนมามีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ แต่จะพิจารณาคำขอของผู้ฟ้องที่ต้องการให้ศาลโลกสั่งให้เมียนมายุติการละเมิดสิทธิของชาวโรฮิงญาที่กำลังเกิดขึ้นไว้ก่อน
ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมักออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องขอ ซึ่งเป็นการขอให้รัฐหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมาย
ทีมกฎหมายของซูจีตระเตรียมข้อต่อสู้ไว้ 3 ข้อ นั่นคือ หนึ่ง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้น สอง ศาลโลกไม่มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาข้อกล่าวหานี้ สาม แกมเบียไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้ฟ้องร้องเมียนมา
เมียว ยุ้นต์ โฆษกพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) บอกว่า ซูจีจะไปอธิบายกับไอซีเจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในรัฐยะไข่ เท่าที่ซูจีรับทราบ เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่แค่ 2 หมู่บ้านเท่านั้น ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แต่อย่างใด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมา มีทหารเมียนมา 7 คนถูกตัดสินจำคุก 10 ปีเพราะสังหารผู้ชายและเด็กชายจำนวน 10 คนที่หมู่บ้านอินดิน แต่ทหารชุดนี้ได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รวมติดคุกจริงๆ ไม่ถึง 1 ปี
เมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ ศาลทหารของเมียนมาเปิดการไต่สวนทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ระบุจำนวน สืบเนื่องจากกรณีสังหารชาวโรฮิงญา 10 คนที่หมู่บ้านกูดาร์ปยิน คดีนี้อยู่ระหว่างการไต่สวน
คดีตัวอย่าง
คาดกันว่า ศาลโลก ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษา 16 คน จะเริ่มไต่สวนเมียนมาในปี 2020 อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยว่าการกระทำของรัฐเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ มีเกณฑ์ในทางกฎหมายสูงมาก นั่นคือ ต้องดูที่เจตนา ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ลำบาก
นับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ศาลโลกจึงรับฟ้องรัฐด้วยข้อหานี้แค่ 3 กรณี คือ กัมพูชาเมื่อปลายทศวรรษ 1970, รวันดาเมื่อปี 1994, และเซเบรนิกา ประเทศบอสเนียเมื่อปี 1995
จนถึงปัจจุบัน ศาลโลกเคยมีคำพิพากษาความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพียงกรณีเดียว นั่นคือ คดีที่บอสเนียฟ้องร้องเซอร์เบียว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมเชื้อสายบอสเนียในช่วงสงครามระหว่างปี 1992-1995
เมื่อปี 2007 ศาลโลกตัดสินว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ชายและเด็กชายราว 8,000 คนที่เมืองเซเบรนิกาในปี 1995 เข้าข่ายความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แม้กระนั้นก็ดี ศาลวินิจฉัยว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะกล่าวหาว่ารัฐบาลเซอร์เบียมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมในครั้งนั้น ดังนั้น ความผิดของเซอร์เบียจึงมีเฉพาะในแง่ที่ว่า ไม่ได้ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้รู้บอกว่า กรณีเมียนมากับเซอร์เบียมีความแตกต่างกัน คดีระหว่างบอสเนียกับเซอร์เบียนั้นเคยผ่านการวินิจฉัยของคณะตุลาการระหว่างประเทศว่าด้วยความผิดอาญาของสหประชาชาติ (International Criminal Tribunal) ที่วินิจฉัยกรณีของอดีตประเทศยูโกสลาเวียมาแล้ว โดยคณะตุลาการตัดสินว่า การสังหารหมู่ที่เมืองเซเบรนิกาเข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เมียนมายังไม่เคยถูกวินิจฉัยในทำนองนี้
ดังนั้น ต้องคอยดูกันต่อไปว่า เมียนมาจะแพ้หรือชนะอย่างไรในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ.
อ้างอิง:
AFP via France24, 29 November 2019
ภาพ: Franck Robichon/Pool via Reuters
Tags: โรฮิงญา, ซูจี, อองซาน ซูจี, เมียนมา, ศาลโลก