หลังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามชาวโรฮิงญาที่รัฐยะไข่เมื่อสิงหาคม 2017 อองซาน ซูจี ออกมาพูดเรื่องนี้ต่อสาธารณะชนเป็นครั้งแรกว่า “เราควรจะรับมือได้ดีกว่านี้”

ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ที่ประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา อองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีของพม่า และผู้ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถูกตั้งคำถามทั้งเรื่องวิกฤตโรฮิงญาและการจับกุมนักข่าวรอยเตอร์ 2 คนที่รายงานเรื่องนี้

สัปดาห์ที่แล้ว รายงานขององค์การสหประชาชาติสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเสนอให้มีการสอบสวนและลงโทษผู้นำทหารพม่าในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและเป็นอาชญากรสงคราม ซึ่งกองทัพพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าโจมตีชาวโรฮิงญาที่ไม่มีอาวุธ

ซูจียังถูกตั้งคำถามในเรื่องที่นักข่าวรอยเตอร์สองคนถูกจำคุกเมื่อต้นเดือนนี้เป็นเวลา 7 ปี หลังจากถูกศาลตัดสินว่าจารกรรมความลับของรัฐ จากการเปิดเผยเรื่องการฆาตกรรมหมู่ชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่

เธอตอบว่าการจำคุกนักข่าว 2 คน “ไม่ใช่เป็นเพราะว่าพวกเขาเป็นนักข่าว แต่เป็นเพราะทำผิดกฎหมายว่าด้วยความลับของราชการ”

“ฉันสงสัยว่า คนจำนวนมากอ่านสรุปคำพิพากษาของศาลเพียงแค่เรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องกฎหมายความลับของทางราชการ (Official Secrets Act) แต่ฉันไม่คิดว่าจะมีใครได้อ่านมันจริงๆ” เธอเสริมด้วยว่า ทั้งสองคนยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามหลักนิติรัฐ

ซูจีเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากบทบาทของเธอในวิกฤตโรฮิงญา และองค์กรต่างประเทศเรียกร้องให้ยึดรางวัลโนเบลคืนจากเธอ

ซูจีบอกว่ารัฐบาลของเธอยอมรับว่าต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์นี้แม้ว่า “มีอำนาจเพียง 75% แต่ต้องรับผิดชอบ 100% นี่คือเป็นเรื่องของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง” เธอกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีโดยกล่าวว่ารัฐบาลของเธอต้องแบ่งอำนาจร่วมกับกองทัพ

เธอกล่าวว่า รัฐบาลของเธอได้พยายามพัฒนาและรักษานิติรัฐ มีหลายทางที่เราคิดว่าควรจะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีกว่านี้

“เราเชื่อว่าเพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงในระยะยาว เราต้องยุติธรรมกับทุกฝ่าย นิติรัฐต้องใช้กับทุกคน เราต้องไม่เลือกว่าใครจะได้รับการคุ้มครองจากนิติรัฐ” เธอกล่าว

อองซาน ซูจีบอกว่าผู้ที่มีปัญหากับคำพิพากษาของว่าพยายามโยงความผิดมาที่เธอ

“คดีเกิดขึ้นในการพิพากษาเปิด และทุกครั้งที่มีการพิจารณาคดีเปิดให้ทุกคนเข้าฟังได้ และถ้าใครรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ฉันก็อยากให้พวกเขาบอกมา”

หลังจากที่ได้ฟังความคิดเห็นของซูจีแล้ว นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเรียกร้องให้ถอนรางวัลโนเบลบอกว่า “นี่เป็นความพยายามที่ไม่สง่างามของอองซาน ซูจีในการป้องกันในสิ่งที่ป้องกันไม่ได้” มินาร์ พิมเพิล (Minar Pimple) จากแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนลบอกว่า ความคิดเห็นของซูจีเป็น “การบิดเบือนความจริง” และเธอควรจะละอายใจ

 

ที่มา:

Tags: , , ,