นับแต่วันที่ 11 กันยายน 1973 ชีวิตของผู้คนในชิลีเปลี่ยนแปลง เพราะหลังจากทหารระดับนายพลก้าวขึ้นอำนาจ การปกครองถูกปรับเข้าสู่ระบอบเผด็จการยาวนานถึง 16 ปี
กองกำลังทหารของนายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) เคลื่อนพลเข้าปิดล้อมทำเนียบรัฐสภา ขณะที่ซัลบาดอร์ อาเญนเด (Salvador Allende) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การทำรัฐประหารครั้งนั้นทหารได้วางระเบิด ‘ลา โมเนดา’ อาคารทำเนียบประธานาธิบดี ใจกลางกรุงซานเตียโก เมืองหลวงของชิลี อีกทั้งยังทำการจับกุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายสังคมนิยม และฝ่ายตรงข้ามของปิโนเชต์
“จากตรงนี้ไปจนถึงสุสาน ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้ลี้ภัย” อาเญนเดเคยกล่าวครั้งเริ่มเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อสามปีก่อนหน้านั้น หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารหนึ่งวัน ปรากฏข่าวและภาพซัลบาดอร์ อาเญนเดทำอัตวินิบาตกรรม ศพของเขาถูกหามออกจากทำเนียบประธานาธิบดี และในช่วงเวลาเดียวกัน ‘เอสตาดิโอ ซาซิโอนาล’ ซึ่งปกติเป็นสนามฟุตบอล แต่คราวนั้นกลับถูกใช้เป็นสถานกักกัน ผู้คนราว 40,000 คนถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่น หลายพันคนถูกทรมาน และสังหาร
“เสรีภาพและการพัฒนาของประเทศชิลีปัจจุบันเกิดขึ้นได้เพราะนายพล ออกุสโต ปิโนเชต์และรัฐบาลทหารของเขา” นั่นเป็นมุมมองจากมูลนิธิปิโนเชต์ ในกรุงซานเตียโก แม้ว่าหลังจากที่นายพลก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะต้องเสียชีวิตหรือลี้ภัยไปต่างแดนก็ตาม
…..
ออกุสโต ปิโนเชต์ เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 1915 ที่บัลปาราอิโซ เมืองท่าตอนกลางของประเทศ เป็นลูกชายคนโตของครอบครัวพี่น้องหกคน เข้าเรียนในโรงเรียนศาสนา สอบผ่านมาได้ด้วยคะแนนปานกลาง เมื่ออายุครบ 18 เขาสมัครเข้าเป็นกำลังพลในกองทัพ รับราชการอยู่นับสิบปีก่อนจะไต่เต้าขึ้นสู่การเป็น ผู้บังคับบัญชากองพัน และเป็นครูสอนหนังสือในสถาบันทหาร และระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองพันนั้น เขามีโอกาสได้พบกับซัลบาดอร์ อาเญนเด ซึ่งเดินทางไปเยือนค่ายทหารในฐานะตัวแทนจากรัฐสภา
ปลายเดือนสิงหาคม 1973 ประธานาธิบดีอาเญนเดแต่งตั้งเขาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ด้วยความหวังว่า การดึงเอากองกำลังทั้งสามเหล่าทัพเข้าสู่รัฐบาลจะสามารถสลายความขัดแย้งของกลุ่มหัวรุนแรงแต่ละกลุ่มได้ แต่เขาคาดการณ์ผิด
ออกุสโต ปิโนเชต์กลายเป็นผู้นำรัฐประหาร และก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของชิลี เขามีต้นแบบคือนายพลของสเปน ฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) เมื่อปี 1986 เขารอดพ้นจากการถูกลอบสังหาร ครั้งนั้นมีนายทหารองครักษ์ของเขาเสียชีวิตถึงห้าคน
บทบาทในฐานะบุคคลทางการเมืองของปิโนเชต์เริ่มตกต่ำลงเมื่อใกล้สิ้นสุดสงครามเย็น เดือนตุลาคม 1988 เขาแพ้การลงประชามติในการสืบต่ออำนาจ เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์มองว่าเป็นเรื่องน่าแปลก เพราะนายพลผู้นี้ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีการมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ท้ายที่สุดกลับออกแบบกติกาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ผิดแผกแตกต่างจากนักรัฐประหารหรือเผด็จการที่อื่นใด
และที่แปลกอีกอย่างคือ ในช่วงท้ายของเผด็จการทหารนั้นชิลีไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤต ไม่ว่าทางเศรษฐกิจหรือการเมือง เหมือนเช่นอาร์เจนตินา–ประเทศเพื่อนบ้าน หากเป็นประเทศที่แม้จะกรุ่นด้วยฝันร้าย ทว่ากำลังก้าวย่างไปข้างหน้า นายพลปิโนเชต์ยอมรับผลประชามติอย่างเป็นทางการ และส่งมอบอำนาจการปกครองให้กับปาตริซิโอ ไอลวิน (Patricio Aylwin) จากพรรคคริสเตียนเดโมแครตที่ชนะการเลือกตั้งเสรี เมื่อต้นปี 1999 และนับแต่นั้นระบอบการปกครองของชิลีก็กลับเข้าสู่หนทางของประชาธิปไตย
ปิโนเชต์ยังครองตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดสืบต่ออีกแปดปี ก่อนเข้ารับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เขาเป็นฝ่ายร่างขึ้นเอง ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาหมายความถึงภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เขาต้องโทษใดๆ ที่จะมีผลตามมาหลังจากการทำรัฐประหาร
ถึงกระนั้น ออกุสโต ปิโนเชต์ก็ถูกศาลยุติธรรมของสเปนสั่งฟ้อง ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดในการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และถูกส่งตัวไปกักบริเวณในกรุงลอนดอนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 1998 เป็นเวลา 500 วัน และแม้ว่าท้ายที่สุดรัฐบาลอังกฤษจะปฏิเสธคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่อดีตผู้นำเผด็จการก็ไม่อาจพบความสงบสุขได้อีกเลยหลังจากที่เขาเดินทางกลับไปชิลีในต้นปี 2000 เนื่องจากรัฐบาลพุ่งเป้าจะเอาผิดกับเขาด้วยข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
การพิจารณาคดีดำเนินไปหลายครั้ง แต่ติดขัดปัญหาว่าเขาชราภาพเกินกว่าจะให้การ และมีอาการไม่อยู่กับร่องกับรอย คำตัดสินจึงแกว่งไปมา เดือนกรกฎาคม 2001 ศาลตัดสินว่าปิโนเชต์ไม่อยู่ในสภาพที่จะพิจารณาคดีได้ นั่นหมายถึงการยุติบทบาททางการเมืองในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วยเช่นกัน
กระทั่งปี 2004 สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาตรวจสอบพบว่า ปิโนเชต์ซุกซ่อนบัญชีเงินฝากไว้ในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น เงินสินบนจำนวน 1.1 ล้านปอนด์ที่บริษัทบริติช แอโรสเปซ (BAe) จ่ายให้เขาระหว่างเดือนธันวาคม 2004 ถึงเดือนตุลาคม 2005 เงินรายได้จากธุรกิจค้าอาวุธที่มีหลักฐานการโอนต่างวาระกันจำนวน 14 ครั้ง และเงินอีกนับล้านดอลลาร์ที่ปิโนเชต์แอบเปิดบัญชีเก็บไว้ในต่างประเทศ คำชี้แจงจากปากทนายของเขาก่อนหน้าที่อ้างว่า สุขภาพของปิโนเชต์ไม่เอื้อให้ไปปรากฏตัวต่อศาล จึงฟังดูขัดกับความสามารถในการดูแลทรัพย์สินที่เขาปกปิดไว้
…..
เวลาสองนาฬิกาของวันที่ 3 ธันวาคม 2006 ออกุสโต ปิโนเชต์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเนื่องจากอาการหัวใจล้มเหลว หลังการผ่าตัดทำบายพาส อาการของเขายังไม่ดีขึ้น นอกจากนั้นเขายังมีอาการของโรคเบาหวานและปอด
ปิโนเชต์เสียชีวิตลงในวันที่ 10 ธันวาคม ขณะอายุ 91 ปี และปลอดจากโทษทัณฑ์ทางกฎหมายใดๆ ที่เขาก่อไว้ในช่วงการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
อ้างอิง:
https://www.nzz.ch/newzzEVJSOOEK-12-1.81993
https://www.dw.com/de/nach-der-flucht-putsch-diktatur-und-der-weg-zur-demokratie-in-chile/g-41414933
Tags: ออกุสโต ปิโนเชต์, เผด็จการ, Something Between, ชิลี