เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปโตเกียวและพบกับสองนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ ปกติแล้วเมื่อพูดถึงคำว่า ‘นิทรรศการศิลปะ’ เราก็มักจะนึกถึงการใช้ ‘ตา’ จ้องมองพิจารณาตัวงานศิลปะที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะงานประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม หรืองานจัดวางใดๆ แต่อย่างที่รู้กันดีว่าแนวแขนงของศิลปะนั้นมีความหลากหลายไม่สิ้นสุด คราวนี้เลยจะมาพูดถึงงานที่ต้องใช้มากกว่าตา นั่นคือต้องใช้การฟังพ่วงประกอบ แถมงานบางชิ้นยังต้องเอาร่างกายเข้าไปร่วมสัมผัสด้วย
Audio Architecture
นิทรรศการแรกคือ Audio Architecture จัดขึ้นที่ 21_21 Design Sight แกลเลอรี่ขึ้นชื่อเรื่องงานล้ำๆ ที่อยู่ย่านรปปงหงิ ครั้งแรกที่เห็นชื่องานก็ถึงกับมึนไปเลยว่ามันคืออะไรกันหว่า เสียง? สถาปัตยกรรม? หรือควรแปลว่า ‘โสตสถาปัตยกรรม’? แล้วมันมาเกี่ยวกันได้ยังไง แต่มีรุ่นพี่แนะนำมาว่า “นี่คืองานที่เจ๋งที่สุดในโตเกียวตอนนี้แล้ว” ก็เลยรู้สึกว่าพลาดไม่ได้
คำอธิบายที่แปะอยู่หน้างานบอกไว้ว่าเพลงที่เราฟังทุกวันนี้มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมอยู่ในตัวมันอยู่แล้ว ทั้งจังหวะ, ความดังเบา, เสียงแหลมเสียงทุ้ม ฯลฯ เพียงแต่เราอาจจะไม่รู้สึกตัว นิทรรศการนี้เลยทำให้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเสียงเป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการถ่ายทอดผ่าน เพลง งานวิดีโอ และพื้นที่ของแกลเลอรี่
ในคำอธิบายอีกใบ ยูโกะ นากามูระ ผู้อำนวยการของเทศกาลบอกว่า เขาเจอคำว่า audio architecture ครั้งแรกในบทความของ ฌอน โอโนะ เลนนอน (ลูกชายของ จอห์น เลนนอน กับ โยโกะ โอโนะ) ที่ใช้คำนี้อธิบายแนวเพลงของ Cornelius (หรือ เคโกะ โอยามาดะ เจ้าพ่อเพลงแนว Shibuya-kei) ดังนั้นเขาก็เลยเชิญ Cornelius มาทำเพลงให้กับนิทรรศการนี้เสียเลย
นิทรรศการแบ่งสองห้องด้วยกัน ห้องแรกจะเป็นวิดีโอที่ Cornelius กำลังเล่นสดในสตูดิโอ ซึ่งฉายผ่านหลายจอและวนลูปไปเรื่อยๆ เราจึงสามารถเลือกมองได้หลายจอหรือจะถอยห่างออกมาเพื่อมองภาพรวมก็ได้ แต่ยังไม่หมดเท่านั้น ด้านหลังจะมีเนื้อเพลงที่เป็นโมชั่นกราฟิกเคลื่อนไหวไปมาด้วย
เรียกได้ว่าห้องนี้ห้องเดียวต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้ง ตา หู และการเดินไปมา แถมเพลงใหม่ที่ Cornelius ทำขึ้นมาก็นับว่าประหลาดทีเดียว มีบางช่วงที่อยู่ดีๆ เสียงเบาลงไปจนเงียบ แล้วอยู่ดีๆ ก็ดังขึ้น ส่วนเนื้อเพลงเป็นการพูดถึงคำคู่ตรงข้ามไปเรื่อยๆ เช่น Structure / Surface, Chaos / Order, Sound / Silence จนเหมือนบทกวีมินิมอลมากกว่าเนื้อเพลง (คุณพี่ Cornelius เขาใจดี อัพวิดีโอแบบจอเดียวไว้ด้วย ดูได้ที่นี่จ้ะ)
ส่วนห้องที่สองจะเป็นจอฉายภาพวิดีโอขนาดยาวหลายเมตร เข้าไปก็ต้องอึ้งกับความแกรนด์เลยทีเดียว สิ่งที่ฉายจะเป็นภาพวิชวลกราฟิกต่างๆ ที่ประกอบเพลงของ Cornelius (ที่มาจากห้องที่หนึ่ง) อาจพูดได้ว่าเป็นเหมือนมิวสิกวิดีโอนั่นแหละ วิดีโอจะมีทั้งหมด 9 ตัวฉายวนลูปไปเรื่อยๆ มีชิ้นที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษสองตัวคือ in fibris โดยฮิโรอากิ อุเอดะ เป็นภาพเส้นตรงขาวดำเคลื่อนไหวแนวดิ่งแนวขวางสลับกันไป ซึ่งคนทำบอกว่าได้แนวคิดมาจากใยกล้ามเนื้อ (Muscle Fiber) ส่วนอีกอันที่น่าตื่นตาจนต้องขอดูซ้ำคือ Music Worm (คาสุมาสะ เทชิงาวาระ) กับภาพสีสดใสเคลื่อนไหวคล้ายหนอนเพราะต้องการสื่อว่าดนตรีก็เหมือนสิ่งมีชีวิตนั่นเอง
ห้องที่สองนี้ยังมีความน่าสนใจว่าบริเวณข้างหน้าจอที่ฉายวิดีโอจะมีเวทีขนาดยาวให้ผู้ชมขึ้นไปนั่งได้ด้วย ส่วนด้านหลังจะมีที่นั่งอีกแบบเป็นแสตนด์ขั้นบันได ราวกับว่าผู้ชมที่เลือกไปนั่งบนเวทีก็แปรสภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่ถูกภาพเคลื่อนไหวฉายไปบนเรือนร่างของตัวเอง ส่วนผู้ชมที่เลือกนั่งบนแสตนด์ก็มีสถานะเป็นคนดูที่ดูทั้งงานศิลปะและดู ‘คนดู’ ด้วยกันอีกที
ทั้งนี้ใครที่พลาดชมงาน Audio Architecture ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ คุณพี่ Cornelius เขาจะบินลัดฟ้ามาเปิดคอนเสิร์ตที่บ้านเรา (ดูรายละเอียดที่นี่ https://www.facebook.com/events/884919975032802/ ) ผู้เขียนเคยดูโชว์ของเขาในงาน Sonic Mania (โตเกียว) เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าการแสดงของเขามีลูกเล่นกับการรับรู้ทางสายตาพอสมควร ทั้งไลท์ติ้งและกราฟิกที่ฉายประกอบ เรียกได้ว่าเป็นทั้ง audio architecture และ visual architecture ไปพร้อมกัน
teamLab Planets TOKYO
ถึงตอนนี้เชื่อว่าชาวไทยน่าจะเคยผ่านตาชื่อหรือผลงานของกลุ่ม teamLab มาบ้าง พวกเขาคือกลุ่มคนที่ทำงานภาพเคลื่อนไหวและงานจัดวางที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง งาน teamLab IsLands: Dance! Art Museum, Learn & Play! Interactive Theme Park ของพวกเขาเคยมาแสดงที่เซ็นทรัลเวิลด์เมื่อปี 2016 บางคนก็ได้ดูงาน Future World ที่ติดตั้งถาวรอยู่ที่ ArtScience Museum ประเทศสิงคโปร์
แต่ฮ็อตที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้น teamLab Borderless ณ โตเกียว ที่ชาวไทยและผู้คนทั้งโลกแห่แหนกันไป จนทำให้ตั๋วขายหมดแบบรัวๆ ถ้าคิดจะไปต้องซื้อตั๋วล่วงหน้ากันเป็นเดือน แถมเข้าไปจะเจอผู้คนมากมายประหนึ่งเดินตลาดนัด และบางห้องที่สวยงามอลังการก็ต้องต่อคิวเป็นชั่วโมง
ถ้าอ่านย่อหน้าที่ผ่านมาแล้วรู้สึกท้อใจ เราขอแนะนำอีกทางเลือกให้คุณ (ทำไมฟังดูเหมือนจะมาขายตรง) นั่นคือ teamLab Planets อีกนิทรรศการหนึ่งของ teamLab ที่ลงสถานี Shin-Toyosu ปุ๊บก็ถึงเลย ที่นี่จะเป็นที่รู้จักน้อยกว่า มักไม่ต้องต่อคิวอะไรให้วุ่นวาย (ปิดห้าทุ่ม ถ้าไปดึกรับรองเดินเข้าได้เลย) และจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ไปมาแล้วทั้งสองแห่ง ขอบอกว่า teamLab Planets สนุกกว่านะ
คอนเซ็ปต์ของ teamLab Planets คือ Body Immersive หรือการเอาร่างกายเข้าไปคลุกคลีมีส่วนร่วมกับงานศิลปะหรือเรียกอีกแบบว่าต้อง ‘เอาตัวเข้าแลก’ นั่นเอง ทั้งนี้มีสามข้อเตือนใจที่ควรรู้ก่อนไปที่นี่ หนึ่ง-ต้องเข้างานด้วยเท้าเปล่า คนที่มีกลิ่นเท้ารุนแรงควรจัดการตัวเองมาสักหน่อย สอง-มีการลุยน้ำที่สูงเกือบถึงเข่า ดังนั้นควรใส่กางเกงมา (แต่เห็นสาวๆ บางคนก็ถกกระโปรงลุยน้ำเลย) และสาม-พื้นเต็มไปด้วยกระจก สาวๆ คนไหนที่ใส่กระโปรง ชาวบ้านเขาจะมองเห็น กกน. เธอนะจ๊ะ
เส้นทางใน teamLab Planets จะคล้ายกับเกมตะลุยด่าน มีทั้งหมดราวๆ เจ็ดด่านด้วยกัน ด่านที่น่าจดจำก็เช่น ‘ห้องยวบยาบ’ (ขอตั้งชื่อเอง) ที่เมื่อก้าวลงไปพื้นจะยวบไปตามน้ำหนักเราทันที กว่าจะฝ่าออกจากห้องนี้ไปได้ขอบอกว่าเหนื่อยโฮก ถัดมาคือ ‘ห้องกระจก’ ที่เป็นกระจกกับไฟฟรุ้งฟริ้งที่จริงๆ เป็นมุกที่ teamLab เล่นบ่อยแล้ว แต่ความพิเศษคือห้องนี้จะมีกระจกมากมายทั้งตรงพื้นและเพดาน จนทำให้ภาพที่ออกมาพิศวงชวนตะลึง
ทว่าไฮไลต์หลักของที่นี่น่าจะเป็น ‘ห้องลุยน้ำ’ ที่เมื่อเข้าไปจะเจอบ่อน้ำขนาดใหญ่ จุดพีคคือการฉายภาพปลาคาร์พและดอกไม้สีสดใสลงบนผิวน้ำ ซึ่งภาพเหล่านี้จะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ หรือถ้าเราเดินไปโดน ภาพก็จะเปลี่ยนเช่นกัน เป็นห้องที่เราอยากใช้เวลาอยู่ให้นานที่สุด แต่ก็ต้องจำยอมออกไป ไม่งั้นจะได้เท้าเปื่อยเสียก่อน
ช่วงหลังมาเริ่มมีกระแสค่อนแคะ teamLab ว่าทำงาน ‘ซ้ำ’ อย่างเช่นห้องกระจก+ไฟ LED หรือห้องลูกบอลยักษ์ที่แทบจะปรากฏในทุกงานของพวกเขา แถมยังดูหาเงินสุดๆ อย่าง teamLab Borderless และ teamLab Planets นี่ค่าเข้าก็แอบแพง (3200 เยน) และชัดเจนเลยว่ากะหาเงินจากนักท่องเที่ยวยาวไปถึงช่วงโอลิมปิก 2020 นู่น
อย่างไรก็ดี teamLab Planets ก็พิสูจน์ว่า teamLab ยังคงผลิตผลงานชิ้นใหม่ให้เราตื่นเต้นได้อยู่ แม้ว่างานบางชิ้นจะคล้ายของเก่า แต่พวกห้องกระจกหรือห้องลูกบอลก็เป็น ‘เวอร์ชันอัพเกรด’ ที่หวือหวามากขึ้น เช่นนั้นแล้วจึงน่าติดตามมากว่าในอนาคต teamLab จะสร้างสรรค์อะไรออกมาได้อีก
* นิทรรศการ Audio Architecture จัดแสดงที่ 21_21 Design Sight (สถานี Roppongi) ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2018
* teamLab Planets TOKYO (สถานี Shin-Toyosu) เปิดให้เข้าชมถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 ดูรายละเอียดที่ https://planets.teamlab.art/tokyo/
Tags: ญี่ปุ่น, นิทรรศการศิลปะ, teamLab