ย้อนกลับไปสองปีก่อนหน้า ผม ในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ได้เข้ามาทำงานกับนิตยสารรายสัปดาห์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้กับงานเขียนหลากสาขา บางเนื้อหาว่าด้วยสังคมการเมือง บ้างพูดถึงศิลปะวัฒนธรรม บ้างชวนใคร่ครวญชีวิตจิตวิญญาณ 

ณ ที่แห่งนั้นเอง ที่ผมและเขา (ฆนาธร ขาวสนิท) รองบรรณาธิการประจำสื่อแห่งนั้นได้พบกัน ผลงานของเขาโดดเด่นเสมอในสายตาผม ด้วยความรอบรู้หลายด้าน สนใจหลายเรื่อง เขาจึงสามารถเรียบเรียงเนื้อหาหลากหลายที่ว่ามา และ ‘เล่าเรื่อง’ ออกไปด้วยลายเซ็นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เอกลักษณ์ที่ว่านั้นคืออะไร?

ยากจะจำกัดความ หากมันคือบรรยากาศหม่นในตัวอักษร เรื่องราวที่ซ่อนความรู้สึกลึกซึ้งบางอย่าง ความหน่ายในชีวิตเกินทนไหว แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยพลังงานพลุ่งพล่านของวัยหนุ่ม 

เราร่วมงานกันได้ไม่นานนัก ปลายปี 2562 เขาก็ประกาศกับทีมงาน จะเรียกว่ากะทันหันก็ไม่ใช่ จะชวนแปลกใจไหมก็ไม่เชิง แต่ใครจะว่าอย่างไรไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอีกต่อไป เพราะการตัดสินใจได้เกิดขึ้นแล้ว ว่าเขาจะลาออก มุ่งหน้าออกเดินทางสู่ยุโรปและจอร์เจีย

‘แปดปีหลังจากนั้น’ 

ไม่ใช่ระยะเวลาที่เขาหายไป หากคือชื่อนวนิยายเล่มใหม่ ผลงานชิ้นสำคัญจากวันนั้นที่เขาประกาศว่าจะลาออก ‘เรื่องแต่ง’ บันทึกการเดินทางว่าด้วยตัวละครที่ติดอยู่ในกลางหุบเขา ประเทศอินเดีย จากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศร่วม 100 กว่าวัน ซึ่งเขาเคยไปอาศัยอยู่ที่นั่นจริงๆ เมื่อปี 2560-2561 ‘เรื่องแต่ง’ อารมณ์หลากหลาย หากละม้ายคล้ายบรรยากาศหม่น ซ่อนความรู้สึกหน่ายชีวิตอย่างปิดไม่มิด เช่นที่เป็นเอกลักษณ์ในงานเขียนของเขาเสมอมา 

ห่างหายกันไปหลายปีหลังจากวันที่เขาประกาศจะลาออกเดินทาง ผมและเขาโคจรกลับมาเจอกันอีกครั้งในวันฝนตกหนัก กรุงเทพฯ ร้างทั้งเมือง สถานการณ์โลก บ้านเมือง สังคมช่างต่างไปจากวันที่เขาเดินจากไป ท่ามกลางเสียงฝนเซ็งแซ่ในบ่ายแก่ๆ วันนั้น เขาเล่าให้ผมฟังถึงวันเวลาที่ห่างหาย ความหมายชีวิตที่ยังครุ่นคิดไม่ตก ความหม่นในห้วงอารมณ์ที่ยังคงอยู่กับเขาเสมอ หากความพลุ่งพล่านของคนวัยหนุ่มที่มุ่งแสวงหา สงสัยสุดคณานับในชีวิต กลับดูท่วมท้นยิ่งกว่าที่เคย 

 เป็นจุดสุดท้ายที่เส้นทางชีวิตของทั้งผมและเขาโคจรมาพบเจอกัน 

 วันนี้เขาได้ออกนวนิยายเล่มใหม่ของตัวเองชื่อว่า แปดปีหลังจากนั้น ซึ่งเป็นเรื่องราวในช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปประเทศอินเดียและต้องติดอยู่ท่ามกลางหุบเขาจะเหตุการณ์ทางการเมืองร่วม 100 กว่าวัน เมื่อรวมกับเรื่องราวฟิกชันและอารมณ์หลากหลายรูปแบบที่พลั่งพรูออกมาระหว่างตัวหนังสือ เราสัมผัสได้ถึงชีวิตสีเทาของเขาอีกครั้ง 

 จึงเป็นเหตุผลให้วันหนึ่ง ที่คอนโดแห่งหนึ่ง ในวันที่ฝนตกไปทั่วกรุงเทพฯ เมืองที่ไร้ซึ้งผู้คนจากมาตรการกักตัวป้องกันโควิด-19 ผมกับเขาได้มีโอกาสรำลึกไปถึงเหตุการณ์ 8 ปีที่ผ่านมา ขุดคุ้ยเพื่อนำเสนอความคิดและชีวิตที่เขาอยากเป็น โดยไม่มีสังคมมากำหนดกรอบแต่อย่างใด 

 

1

“เขียน เพราะถ้าไม่เขียนผมจะตาย”

สเตตัสของเขากล่าวไว้อย่างนั้น หนึ่งวันก่อนที่เราจะหวนกลับมาพบกัน ฆนาธรเล่าถึงหนังสือที่กำลังจะถึงมือผู้อ่านในไม่กี่วันข้างหน้าว่า ทุกตัวอักษรในหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งที่เขา ‘จำเป็น’ ต้องเขียนมันออกมา ไม่ใช่เพื่อทำงานให้เสร็จ แต่เขียนเพื่อยื้อลมหายใจของเขาเองต่อไป ในสภาวะหมดอาลัยตายอยาก ไม่อยากมีแล้วชีวิต

“เราเริ่มเขียนนิยายเล่มนี้ช่วงที่ลาออกจากงาน หลังเขียนนิยายเล่มแรก ขอสวรรค์จงมาถึง จบ ตอนนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหารประมาณสามปี เรารู้สึกว่าชีวิตมันน่าอึดอัด ไม่เห็นสาระ ความรื่นรมย์อะไรสักเท่าไร ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของนิตยสารจากแอนะล็อกมาเป็นดิจิทัล ที่เราไม่แน่ใจว่าเราเหมาะหรือเปล่ากับลักษณะงานที่จะเปลี่ยนไป เลยตัดสินใจไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ อยากไปเห็นโลกมากกว่านี้ก่อน ตอนนั้นเลือกไปอินเดีย เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนิยายเล่มนี้ ที่ตอนแรกรูปแบบการเขียนไม่ใช่แบบที่ได้อ่านกัน

“หนังสือที่เราเขียนไม่ใช่หนังสือเดินทาง มันเป็นเรื่องเล่า นิยาย เราคิดว่ามันคงต้องใช้การตกผลึกบางอย่างจากการใช้ชีวิต อย่างผลึกจากเล่มนี้ก็มาจากเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงที่เมืองที่เราไปอยู่ต้องปิดตัว เพราะประชาชนประท้วงหยุดงานกันกว่าสามเดือน แล้วหลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่อินเดียร่วมปี เราก็ดันประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัสจนต้องกลับไทยอีก ซึ่งมันส่งผลต่อแผน ความคาดหวังต่างๆ หรือแม้กระทั่งต่อชีวิตตามมา

“จะใช้คำว่าพังทลายก็ได้ เราเจอกับภาวะ PTSD ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เราต้องทิ้งนิยายที่เขียนค้างจากอินเดียไว้ก่อน พักไปนาน เพราะไม่รู้จะเขียนต่ออย่างไร”

“ที่คุณถามว่าถ้าไม่เขียนจะตายเหรอ คือความทรมานของเรามันทุกข์ถึงขนาดที่ตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของชีวิต มันตั้งคำถามถึงคุณค่าของเวลา การมีอยู่ของลมหายใจ ซึ่งเราก็คงตอบไม่ได้จริงๆ หรอก ว่าการเขียนนิยายต่อนั้นจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นหรือเปล่า แต่การเขียนเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ คือความสามารถเดียวในตอนนั้นที่เรามี หลังจากนั้นเราก็เริ่มเดินทางผ่านตัวอักษรอีกครั้ง ประกอบกับเหตุการณ์ชีวิตด้านอื่นๆ ดีขึ้น ความรู้สึกที่อยากจะตายของเราก็ลดลง

“มันอาจเป็นการยืนยันว่าเรายังมีลมหายใจ เขียนโดยหวังว่าจะเห็นเส้นทางสำหรับเรื่องราวในอนาคตข้างหน้า”

 

2

นอกจากเนื้อหา สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างใน แปดปีหลังจากนั้น คือการตัดต่อเรื่องราวที่ฆนาธรใช้ฝีไม้ลายมือเฉพาะตัวและไวยากรณ์ส่วนตนมาเล่าเรื่องให้พิสดารมากขึ้น จากเรื่องราวที่ควรเป็นเส้นตรง เขาตัดแบ่ง สลับ เรียบเรียงใหม่ อาศัยทรงจำที่ผูกติดกับความสัมพันธ์ในเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวละครที่เขาใช้สรรพนามเรียกขานว่า ผม คุณ และเรา ดั่งที่ปรากฏในหนังสือ 

ความสัมพันธ์สำคัญอย่างไร? ผมถามถึงประเด็นที่ดูจะปรากฏขึ้นอยู่เต็มไปหมดในงานเขียนของเขา เรื่องเล่าความสัมพันธ์จากประสบการณ์หลากหลาย ราวกับว่านี่เป็นเรื่องที่เขาใคร่ครวญถึงมันเป็นพิเศษ 

“ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เราว่าชีวิตมนุษย์เริ่มต้นด้วยการให้เราโหยหาในความรัก อยากเป็นคนที่ถูกรัก อยากถูกส่องสะท้อนจากใครสักคน เพราะถ้าไม่มีกระจก เราก็ไม่สามารถมองเห็นตัวเองแบบ 360 องศาได้ การถูกส่องสะท้อนจากคนอื่นจึงอาจช่วยยืนยันได้ว่าเรามีชีวิตอยู่จริงๆ

“ไหนจะเรื่องของการเติบโตในเชิงปิตาธิปไตย (Patriarchy) ที่ปลูกฝังให้ต้องมีคู่ครอง ผู้ชายต้องรักผู้หญิง ต้องสร้างครอบครัว ที่มีภาพจำของครอบครัวแสนสุข พ่อ แม่ ลูก และเราก็เป็นหนึ่งในคนที่โตมากับภาพจำแบบนั้น อาจเคยคิดฝันถึงชีวิตแบบนั้นด้วย แต่พอเติบโตขึ้น เห็นความซับซ้อนของความเป็นมนุษย์มากขึ้น มันทำให้ตระหนักว่า สุดท้ายมันไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ ความสัมพันธ์มันค่อนข้างกว้างและมีรูปแบบหลากหลาย อาจไม่มีความรัก ‘แบบ’ ไหนที่จะสามารถนิยามได้เต็มปากว่าสมบูรณ์จริงๆ แต่ใช่ แน่นอนว่าเราก็ยังโหยหามันอยู่”

สำหรับคุณ ความสัมพันธ์สร้างผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบมากกว่ากัน? เราอดไม่ได้ที่จะถามต่อ เพราะความสัมพันธ์ที่เขาบรรยายนั้นมีทั้งความห่วงหา อาลัยอาวรณ์ และความหม่นหมองในห้วงอารมณ์ 

“ตอบไม่ได้จริงๆ ว่าบวกหรือลบมากกว่ากัน เพราะเราไม่แน่ใจ และอาจไม่เข้าใจความสัมพันธ์ดีนัก ถ้าถามว่ามีบทเรียนอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์บ้างไหม เราคิดว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้มันคือการรู้ว่าเราไม่รู้อะไรเลย รู้ว่าเราอ่อนหัดในเรื่องนี้เสมอ และไม่มีความสามารถทำความเข้าใจความสัมพันธ์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง แม้จะพยายามทำความเข้าใจขนาดไหน มันก็อาจไม่มีทางเข้าใจได้จริงๆ ความสัมพันธ์เป็นเรื่องของคนสองคนขึ้นไป แม้กระทั่งตัวเราเองคนเดียวเรายังไม่เข้าใจเลย

“เราแค่รู้สึกว่ามันคือการมีชีวิตในช่วงเวลาหนึ่ง รับและให้ สะท้อนกันและกัน เป็นเรื่องเล่าของกันและกัน แต่เรื่องเล่า มันก็มีทั้งเรื่องเล่าที่ดีและห่วยแตก เราอาจเป็นเรื่องเล่าห่วยๆ สำหรับใครบางคนก็ได้”

3

ความหมดจดแห่งความสิ้นสงสัย (The Purity of Transcending Doubts) ในพระพุทธศาสนาหมายถึงไม่สงสัยใน ‘สภาวะแห่งทุกข์’ (ทุกขสัจ) กล่าวคือไม่มีกรรมอันใดมาทำให้รู้สึกเคลือบแคลง ซึ่งถือเป็นการบรรลุนิพพานโดยที่ไม่ต้องกำจัดสิ่งอื่นใดเลยทั้งสิ้น

แต่ในบทสนทนาระหว่างเราครั้งนี้ ฆนาธรพูดถึงความสิ้นสงสัย ว่าเป็นช่วงเวลาและเป็นความสุขที่ตัวเองพยายามเดินทางออกไปค้นคว้า เป็นสิ่งที่ตัวเขาปรารถนาจะได้สัมผัสแม้จะช่วงเวลาหนึ่งก็ตาม ปรารถนาจนขนาดที่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาออกเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ดั่งที่ปรากฏในเรื่องราวของ แปดปีหลังจากนั้น 

“ไม่รู้จะเรียกว่าความสุขได้หรือเปล่า แต่เราเรียกว่า ‘ภาวะไร้คำถาม’ มันมีหลายช่วงในชีวิตอยู่เหมือนกัน ที่เราเจอกับช่วงเวลาที่รู้สึกว่ามันไม่มีคำถามอยู่ ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะมันไม่ได้มีคำถามหรือกระทั่งคำตอบอยู่ตรงนั้นมาตั้งแต่ต้น

“เหมือนตอนที่เราเล่นพาราไกลดิ้งลอยอยู่บนฟ้า เราไม่ได้ตั้งคำถามว่าถ้าร่วงลงไปจะตายไหม จะใช้เวลาอยู่บนฟ้านานกี่นาที เราแค่บินและเป็นส่วนหนึ่งกับช่วงเวลานั้น ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดกับเราในหลายสถานการณ์ มันไม่ใช่แค่ประจันหน้ากับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติอย่างเดียว เช่น หลังเช็กอินโหลดกระเป๋าเตรียมขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทาง แล้วสั่งเบียร์มาดื่มสักแก้วระหว่างรอ คือมันเป็นช่วงที่ไม่มีคำถามว่าเรากำลังจะไปไหน มีอะไรรออยู่ข้างหน้าหรือเปล่า ไม่มีอะไรให้ตั้งคำถาม และไม่มีอะไรที่รู้สึกว่าต้องการคำตอบ หรือตอนนั่งรถไปเรื่อยๆ โดยไม่มีอะไรอยู่ในหัวผ่านถนนเส้นโซจิลาพาสของอินเดีย หรือตอนเดินขึ้นเขา และแค่จ้องไปที่ภูเขาข้างหน้าในจอร์เจีย หรือตอนเดินทางเป็นคนจรอยู่ในยุโรป เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราชอบเดินทาง เพราะมันมีหลายช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับสาวะไร้คำถามแบบนั้น

“ถ้าใช้คำแบบศิลปะ มันก็น่าจะเป็น Sublime หมายถึงการประจันหน้ากับความไพศาล แล้วไม่มีคำถามกับมัน แค่รู้สึก แค่สัมผัส เหมือนดูงานอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ดีๆ สักงาน หรือดูงานแนวแอ็บสแตรกต์ (Abstract) สักชิ้น แน่นอนว่ามันจะมีความสงสัยตามมาหลังจากนั้น เพียงแต่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาทีก่อนหน้า คือภวังค์ที่เราสิ้นสงสัยในทุกสิ่งอย่าง

“ถ้าให้ชั่งน้ำหนัก เราก็ยังมองว่าคุ้มค่ากับการต้องออกเดินทาง เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในสถานะของการเป็นคนใน เพราะเมื่อเรารู้สึกว่าเราเป็นคนของที่ใดที่หนึ่ง มันจะก่อให้เกิดความสงสัยตลอดเวลา โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่อนุญาตให้คนตั้งคำถามแบบในตอนนี้ เป็นภาระผูกพันที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“ไหนจะปัญหาที่เราต้องตั้งคำถามทุกวันอีก ทำไมชีวิตในประเทศนี้ถึงไม่มีอิสระ ทำไมถึงต้องเรียนหนัก ทำงานหนักเพื่อผลตอบแทนเพียงเท่านี้ คิดแค่นี้ก็มีคำถามเต็มไปหมด แล้วเราจะเอาเวลาไหนไปเจอกับภาวะที่ไร้คำถามได้ การเป็นนิรนามและคนนอกของที่อื่นจึงง่ายกว่า แต่แน่นอนว่าในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่ผูกพันกับที่ใดที่หนึ่ง บางครั้งก็อาจมองได้ว่านั่นคือการหนีและเห็นแก่ตัวอยู่เหมือนกัน”

4

ชีวิตที่หันหลังให้สังคม กับความสนใจทางด้านการเมืองสามารถไปด้วยกันได้ไหม?

อดสงสัยไม่ได้หลังฆนาธรอธิบายสภาวะนิรนาม สิ้นคำถามจากการปลีกวิเวกออกจากสังคม แต่ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ส่วนตัวของเขาในโลกออนไลน์ บ่อยครั้งที่ผมก็ยังเห็นเขาแสดงออกถึงความเห็นทางการเมือง ความเดือดร้อนใจต่อความอยุติธรรมในบ้านเกิดเมืองนอนอยู่เสมอ 

ฟังเผินๆ สองเรื่องนี้ดูต่างกันอย่างสิ้นเชิง ก็แล้วในเมื่อเขาอยากถอยหนีตีห่างจากสังคม แล้วทำไมถึงยังคงเขียนวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านการกดขี่ตามพื้นที่ทั้งงานเขียนส่วนตัว และปิดไม่มิดในงานของเขาอยู่ 

ฆนาธรเล่าว่า เขายอมรับว่าในบางเวลาก็อยากหันหลังให้กับสังคม แต่การเกิดมาเป็นพลเมืองชาติใดชาติหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกถึงหน้าที่บางอย่างอยู่ตลอดเวลา เขาจึงพอใจในชั่วขณะที่สามารถดำรงตนเป็นคนนิรนามในต่างแดนเสียมากกว่า ถามว่าเห็นแก่ตัวไหม ก็คงใช่ เขายอมรับตัวเองในจุดนั้น

แต่ถึงจะรักอิสระอย่างไร เขาย้ำหนักแน่นว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่สิ่งที่สามารถเพิกเฉยได้ แม้เขาจะไม่พอใจ อยากเดินหนีไปเพียงใด เขาก็ยังเชื่อว่าการต่อสู้ เรียกร้องสิ่งที่ดีกว่าให้กับสังคม เป็นหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำ ไม่ว่าจะในนามของพลเมืองหรือมนุษย์คนหนึ่งก็ตาม

การเห็นเพื่อนโดนทำร้าย ผู้คนถูกจับกุมทั้งที่ไม่มีความผิด ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองร่วมชาติหรือไม่ ลึกลงไปเราต่างล้วนรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งผิดปกติทั้งนั้น เช่นที่เขาเปรยหลังจากอธิบายถึงประเด็นนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใดหรือไม่ ความเป็นมนุษย์นั้นเราต่างล้วนเหมือนกัน

5

“เราเพิ่งโพสต์ภาพนี้ไปบนเฟซบุ๊กของตัวเอง เป็นภาพที่เรามองแล้วรู้สึกว่า นี่แหละสภาวะสิ้นสงสัย นี่แหละสถานที่ของเรา” 

ฆนาธรเปิดรูปหนึ่งให้ผมดูระหว่างสัมภาษณ์ บรรยายว่านี่คือหุบเขาบริเวณหมู่บ้านจูตา ประเทศจอร์เจีย สถานที่เขาใช้พรางตัวเป็นนิรนาม ณ ช่วงเวลาหนึ่งในตลอดการเดินทั้งหมดของเขา 

ถ้าวันหนึ่งคุณเดินทางไม่ไหวจะทำอย่างไร? ผมตั้งคำถามถึงอนาคตต่อจากนี้ ว่ามีวิธีรับมือกับสังขารของร่างกายที่ร่วงโรย แปรผกผันกับสังขารของจิตใจที่มีแต่จะพัฒนา อยากก้าวขาออกจากขนบชีวิตแบบเดิมอยู่ทุกลมหายใจ

“ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเดินทางไปเรื่อยๆ ความฝันที่ตอนนี้คิดไว้คืออยากกลับไปประเทศจอร์เจีย เรารู้สึกพึงพอใจกับการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ชีวิตในกรุงเทพมันเร็วไป ขอช้าลงกว่านี้หน่อย อาจจะเปิดร้านอะไรสักอย่างบนภูเขา ช่วงหิมะตกคนเดินทางมาไม่ได้ ก็ปิดร้านเดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์ มันก็คงอยู่ในลักษณะนี้แทน ดังนั้น ไม่จำเป็นเลยที่เราต้องก้าวขาออกเดินทางข้ามประเทศตลอดเวลา 

“อีกอย่างคือ ไม่ใช่ว่าการเดินทางออกไปแล้วจะยืนยันว่าเราจะพบกับสภาวะไร้คำถามได้ เรื่องแบบนี้มันไม่เกี่ยวกับสถานที่ไหน หรือเรากำลังทำอะไรอยู่ มันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นแบบสุ่ม และเป็นแค่ชั่วขณะเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไรจึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่มีสมการตายตัว เราแค่เอาตัวเองไปอยู่ในสภาวะที่เอื้อให้เกิด และรู้สึกพึงพอใจในการชีวิตในแต่ละวันไปพร้อมกัน”

ประเทศจอร์เจียมีอะไรทำไมถึงมองว่ามันเหมาะกับคุณ? ผมเริ่มตั้งคำถามอีกครั้ง โดยหวังพยายามแปรสภาวะไร้คำถามกับความนิรนามของเขาให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

“ง่ายๆ เลยคือ แค่ชอบอากาศ ชอบภูมิประเทศ แต่มันไม่น่าจะเกี่ยวว่าเป็นประเทศไหน มันเกี่ยวกับว่าเราหลุดพ้นจากความคาดหวังที่มักจะเกิดจากการต้องเป็นใครสักคน (someone) ของบางพื้นที่หรือเปล่า มันน่าจะเกี่ยวถึงความกังวลเรื่องปากท้อง ว่าพรุ่งนี้จะมีเงินซื้อข้าวกินไหม มันเกี่ยวกับว่าทำงานเสร็จ ตกเย็นเราออกไปเดินเล่นอย่างที่ไม่รู้สึกใจหวิว หรือทรมานกับการนึกว่าพรุ่งนี้ต้องตื่นมาใช้ชีวิตให้ผ่านๆ ไปอีกหนึ่งวันได้บ้างหรือเปล่า ซึ่งสุดท้ายจอร์เจียอาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้ หรืออาจจะเป็นเราไม่เหมาะกับที่ไหนเลย”

ฝนเกือบหยุดแล้ว หลังจากบทสนทนาจบลง ผมรับรู้ได้ว่าชายที่อยู่ตรงหน้าตั้งใจตอบทุกคำถามที่ผมโยนลงไปในความว่างระหว่างเรา เขาตั้งใจ เพราะอยากให้คำตอบนั้นเกิดประโยชน์ พยายามเรียบเรียงความคิด ความทรงจำกระจัดกระจายจากการเดินทางยาวนานให้เข้าใจได้ง่าย อธิบายในจุดที่ผมฟังแล้วไม่เข้าใจ 

ความตั้งใจของเขาที่ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า หรือนี่อาจเป็นสิ่งที่พอทำให้ชีวิตมีความหมาย ให้เรื่องเล่าของเราสื่อสารบางอย่างกับใครสักคน แม้ว่าเรื่องเล่านั้นจะเป็นความผจญภัย เป็นความสัมพันธ์ที่พังทลาย หรือเป็นสภาวะหมดอาลัยตายอยากในบางช่วงของชีวิตก็ตาม

Fact Box

แปดปีหลังจากนั้น, ผู้เขียน ฆนาธร ขาวสนิท, สำนักพิมพ์ Salmon Books, ราคา 295 บาท

Tags: , ,