หากไม่ได้ติดตามเขามานาน แม้จะมีเค้าเดิมหลงเหลืออยู่บ้าง แต่คุณจะรู้สึกได้ว่า ‘จีน’ – มหาสมุทร บุณยรักษ์ เปลี่ยนไปมากทีเดียว นับเฉพาะภาพที่เห็นจากภายนอก หนวดเคราเฟิ้มใต้จมูก รอบคาง ลามไปถึงลำคอ มีสีขาวขึ้นแซม ผมยาวไร้การจัดทรงเหมือนศิลปินร็อกยุคหกศูนย์ หน้าผากเถิกร่น และมีริ้วรอยบนใบหน้า ให้ความรู้สึกก้ำกึ่งระหว่างความเป็นหนุ่มและผู้ใหญ่ ต่างจากภาพจำของใครหลายคนที่มีต่ออดีตนักแสดงหนุ่มหน้าใสคนนี้จากภาพยนตร์เรื่อง หมานคร เมื่อเกือบสิบห้าปีก่อน

เขาปรากฏตัวด้วยชุดเสื้อยีนส์ปลดกระดุมบน แหวกอกและพับแขนเสื้อ เผยให้เห็นรอยสักที่แขนขวาด้านใน ปลายเสื้อมัดเป็นปม มีเครื่องประดับเป็นสร้อยคอ สวมแว่นกันแดด กางเกงยีนส์สีเข้ม และรองเท้าแตะ รูปร่างสูงได้สัดส่วน แขนขวาสะพายย่าม แขนซ้ายหิ้วอูคูเลเลไม้ ประดับด้วยสติกเกอร์สีหวานชิ้นเล็กที่ลูกสาวของเขาแปะติดไว้ เขาก้าวอย่างเชื่องช้าเข้ามาในบริเวณสวนหญ้าของ ‘Din Cafe’ ร้านกาแฟกลางหุบเขาของเชียงใหม่ สายตาสอดส่ายสำรวจไปรอบๆ ดูเขาจะถูกใจบรรยากาศและโครงสร้างการตกแต่งร้านที่โดดเด่นด้วยการใช้ไม้และดินไม่น้อยทีเดียว

 

 

เชียงใหม่ช่วงกลางฤดูฝนเอาแน่เอานอนไม่ได้ บ่ายวันนี้ท้องฟ้าครึ้ม เมฆสีเทาที่อุ้มน้ำฝนแผ่ปกคลุม และมีลมอ่อนๆ พัดโบกโบย คล้ายกำลังตัดสินใจว่าอีกครึ่งชั่วโมงจะปล่อยเม็ดฝนลงมาดีหรือไม่

ในทีแรกที่ผมติดต่อสัมภาษณ์ไป เขาปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่ายังไม่พร้อม แต่ให้หลังไม่กี่วันถัดมา เขาทักมาบอกผมว่า “พร้อมแล้ว” เราจึงทำการนัดหมายกันอย่างรวดเร็ว แม้จะมีช่วงเวลาที่ดูราวกับเขาหายไปจากสารบบวงการบันเทิงไทยหลายปี แต่ผมยังได้ติดตามผลงานเพลงของเขาอยู่เป็นระยะ ทราบว่าเขาย้ายมาอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่พร้อมภรรยาเกือบสิบปี มีลูกสาวหนึ่งคน ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ดำรงชีวิตผ่านการเป็นนักดนตรีและทำเพลงจำนวนสามวง คือ Little Fox, Saliva Bastards และ Ugly Mountain

เราทักทายกันเล็กน้อย นั่งลงบนโต๊ะไม้ พนักงานเสิร์ฟกาแฟใส่นมและขนมปังกรอบ เขายกแก้วกาแฟขึ้นคนในทันที น้ำแข็งก้อนกระทบแก้วเสียงใส เขาหยิบขนมปังกรอบที่เสิร์ฟมาในถ้วยเซรามิกด้วยมือเปล่าขึ้นกัดเล็กน้อย และเริ่มพูด “เราชอบกินกาแฟใส่นม ก่อนหน้านี้ชอบตื่นเช้ามาชงแบบโมกาพอต แต่หลังๆ ขี้เกียจ เลยเปลี่ยนมาซื้อเมล็ดกาแฟแล้วชงแบบเฟรนซ์เพรส”

วิธีการพูดของเขานิ่งและเนิบ น้ำเสียงราบเรียบตลอดการสนทนา เหมือนทะเลวันไร้คลื่น เหมือนสายลมอ่อนๆ บนยอดเขา หัวเราะเป็นบางช่วง มีความเขินอายอยู่ในท่าที ระมัดระวังถ้อยคำ ดูเหมือนคนที่ไม่ค่อยได้ติดต่อพูดคุยกับคนภายนอกบ่อยนัก แต่หากเป็นสิ่งที่เขา ‘อิน’ จะพูดติดต่อกันโดยไม่เว้นช่วงหายใจ บางช่วงหยุดเหมือนครุ่นคิดเล็กน้อย ปล่อยคำถามค่อยๆ ซึมเข้าสู่สมอง เลือกเฟ้นคำตอบ แล้วจึงประมวลผลออกมาเป็นคำพูด

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าบรรยากาศของเชียงใหม่เหมาะกับเขาอย่างแท้จริง

1

เราเริ่มสนทนากันด้วยเรื่องชีวิตช่วงนี้ของจีน เขาเล่าให้ฟังพลางจิบกาแฟว่า ช่วงที่ผ่านมาทำงานเพลงเป็นหลัก แม้จะไม่ได้โปรโมตมากนัก ก่อนหน้าโควิดก็เดินทางไปเล่นดนตรีตลอด เชียงใหม่ กรุงเทพฯ อีสาน หรือลงใต้ 

“เหนื่อยเหมือนกันนะ” เขาว่า “เรารู้สึกว่าไม่มีเวลาหยุดคิดเลย ชีวิตรกขึ้น เหมือนไม่มีเวลาจัดอะไร เราทำงาน เลี้ยงลูก กลับบ้าน ทุกอย่างก็ยัดไว้ หมกไว้ พอกหางหมูไปเรื่อยๆ แต่พอมีโควิด เราต้องหยุดเล่นดนตรี ถึงจะมีเวลาได้สังคายนาทุกอย่าง”

จีนเล่าว่า ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์เสีย เพราะค่อนข้างเก่า ใช้มานานกว่าสิบปี เขาใช้คอมฯ เครื่องนี้ในการอัดเพลงมาตลอด พอนำไปซ่อมกลับมาใช้ก็เสียอีก ทำเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ขณะที่เพลงที่อัดไว้ก็ต้องเลื่อนไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายต้องตัดสินใจลงทุนซื้อคอมฯ ใหม่ 

“พอทุกอย่างเริ่มดีขึ้น เราก็เริ่มมีไฟ ก่อนหน้านี้พอไม่มีคอมฯ ทุกอย่างหยุดหมด ทำอะไรไม่ได้ จะโยนไฟล์งานส่งให้ใครทำอะไรไม่ได้เลย แต่ว่าตอนนี้ก็เริ่มกลับมาแล้ว”

“ปกติไม่ได้บอกใคร แต่เรามีงานทำเพลงโฆษณาด้วย บางทีมีเพื่อนเป็นผู้กำกับโฆษณาเขาให้งานมาทำ” พอถามว่างานชิ้นไหน เขาหัวเราะและบอกว่าเพื่อนเป็นคนจีน และเป็นโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าที่นั่น 

“เราก็พยายามรับทุกงานที่เกี่ยวกับเสียง เพราะเราทำเรื่องอัดเสียง พวกเพลงโฆษณาเราก็ทำมาเรื่อยๆ แต่ว่าอาจจะไม่ค่อยมีคนรู้”

 

 

จีนเล่นดนตรีอยู่กับสามวงหลักคือ Little Fox, Saliva Bastards และ Ugly Mountain นับว่าไม่น้อยเลยสำหรับศิลปินคนหนึ่ง เมื่อถามถึงรูปแบบและวิธีแบ่งการทำงานเพลงของแต่ละวง เขาบอกว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับฤดูกาลของมัน และไม่สามารถแยกการทำงานได้ 

“เหมือนช่วงหนึ่งเราเล่นอะคูสติกนานๆ แล้วรู้สึกเบื่อ วันนี้จู่ๆ รู้สึกอยากเสียบกีตาร์ไฟฟ้า อยากเสียงดัง พออีกวันอยากมีเพื่อนๆ มีกลอง แต่พอบางวันก็อยากกลับมาเล่นอะคูสติกเงียบๆ คนเดียว ไม่ได้ต้องการกีตาร์ไฟฟ้า มันเสียงดังหนวกหู” เขาพูดและหัวเราะเบาๆ 

“ความยากคือเราต้องจำเพลงที่ไม่เหมือนกันเลย บางทีเราก็รู้สึกเหมือนหน่วยความจำสมองเราไม่พอ พอได้พักไปก็ต้องระวังหน่อย”

“มันแปลกมาก แต่ละวงที่เล่นจะผลักให้เราเป็นคนละคาแรกเตอร์ เราไปอยู่กับ Saliva Bastards ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ไปอยู่กับ Ugly Mountain ก็เป็นอีกคนหนึ่ง มันเป็นเคมีของเรากับเพื่อนแต่ละกลุ่ม เหมือนการแสดง ที่เราต้องสวมบทบาทให้เข้ากับงานนั้น แต่ถ้าเป็น Little Fox เราเล่นคนเดียวแบบโฟล์ก อะคูสติก มีเพลงที่พูดไปทางเพื่อชีวิตได้มากขึ้น แต่พอไปอยู่กับอีกสองวง แม่งเพื่อชีวิตไม่ได้แล้ว มันต้องเป็นเพลงวัยรุ่นซ่าๆ มากกว่า จะมาเล่นเพลงเหงาๆ ลุงๆ เพื่อชีวิตไม่ได้”

“สามวงนี้ วงไหนเป็นตัวคุณที่สุด” ผมลองถาม เขาครุ่นคิดเล็กน้อย

“ไม่รู้อันไหนเป็นเราที่สุด แต่เท่าที่รู้ ถ้าเป็นวงที่มีสมาชิกคนอื่นก็ต้องอาศัยเคมีของความเป็นตัวเราร่วมกับคนอื่น มันจะไม่เป็นเราร้อยเปอร์เซ็นต์ จะเอาแบบที่เราอยากได้อย่างเดียวมันก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็น Little Fox เราไม่ต้องแชร์กับใคร มันมีความเป็นตัวเราเยอะ ส่วนใหญ่เป็นงานที่ทำคนเดียวตั้งแต่อัดจนถึงมิกซ์มาสเตอริง การเขียนเพลงของ Little Fox เราก็คิดมาจากเรื่องที่เจอ เรามักจะอธิบายว่าเราเขียนเพลงเพราะต้องการบำบัดสิ่งที่อยู่ข้างใน เหมือนเขียนไดอารีระบาย เราว่ามันคล้ายอย่างนั้น”

พูดจบเขายกขนมปังขึ้นกัดคำเล็กๆ ท้องฟ้าเบื้องบนยังขมุกขมัว

 

2

จีนกลายเป็นที่สนใจตั้งแต่ยังวัยรุ่น เขาเป็นบุตรชายคนเดียวในพี่น้อง 3 คนของ พิจิตรา บุณยรัตน์พันธ์ ดีไซเนอร์และเจ้าของ ‘พิจิตรา’ ห้องเสื้อชื่อดัง เคยถ่ายแบบลงนิตยสาร และมีชื่อเสียงจากการรับบทเป็น ‘ป๊อด’ ในภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาอย่าง หมานคร (2547) ซึ่งดัดแปลงจากนิยายขนาดสั้นของ ศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์ 

แม้ภาพยนตร์จะไม่ได้รับการต้อนรับจากในประเทศ แต่ก็ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการได้รับเชิญให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์หลายเทศกาล หลังจากนั้น เขามีงานแสดงต่อเนื่อง ทั้งภาพยนตร์และมิวสิกวิดีโอ รวมถึงบทบาทของการเป็นศิลปินที่เขาหลงใหล

เมื่อถามถึงชีวิตในเมืองกรุง เขาตอบเสียงค่อยว่าจำได้ แต่คำตอบที่ตามมากลับกลายเป็นความรู้สึกเหงา 

“เรารู้สึกว่าคนที่เหมือนเรามีน้อย เพื่อนทุกคนเป็นแนวนักธุรกิจ ไม่ค่อยมีใครมาทางศิลปะ เราจำช่วงเวลาตอนนั้นได้ชัด ยิ่งโตขึ้น ทุกคนก็จะเริ่มหายไป เพราะต้องไปซีเรียสกับงานของเขา ไปมีครอบครัว สุดท้ายคนที่ไม่ได้เป็นนักธุรกิจ ยังมีเวลามานั่งเล่นกีตาร์กันก็เหลือไม่กี่คน เราเลยมีความรู้สึกเหงา” เขาเว้นระยะเล็กน้อย “เราเคยมีเพื่อนอาร์ตๆ หลายคน พอถึงเวลาวันหนึ่ง มันไม่ไหว เราก็เข้าใจ เพราะเคยต้องเป็นแบบนั้น วันหนึ่งเราก็อาจต้องทิ้งความฝันไปทำงานจริงๆ จังๆ เพื่อหาเงินก็ได้”

“เคิร์ต โคเบน เคยบอกว่าชื่อเสียงทำให้ยิ่งเหงา ว้าเหว่ มันทำให้ห่างกับคนทั่วไปมากขึ้น เราว่าก็มีส่วนนะ คนรู้จักที่เป็นเพื่อนจริงๆ น้อยลง มีแต่คนที่เข้ามาเพื่อหวังอะไรสักอย่าง มันทำให้เราคิดว่าการมีเพื่อนจริงๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยากขึ้น” 

3

“มีช่วงที่สนุกกับการถ่ายหนังบ้างไหม” ผมลองถาม

“ช่วงที่ถ่าย หมานคร ก็สนุกมาก การไปกอง การได้เห็นฉาก ถ้างานเป็นแบบนั้นทุกวันก็โอเคนะ แต่พอถึงจุดหนึ่งเหมือนเราต้องเลือก เราอยากแสดงหรืออยากเล่นดนตรี สุดท้ายเรายังติดความชอบเล่นดนตรี เพราะถ้าอยากจะแสดง เราก็ต้องฝึกการแสดง เป็นนักแสดงก็ต้องสวมบทบาทที่ได้รับ บางคนบอกว่าการเป็นนักแสดงเหมือนการขับแท็กซี่ ลูกค้าสั่งให้เราไปไหนเราก็ต้องไป วันนี้คุณต้องไปโกนหัวเป็นคาแรกเตอร์นั้น เราก็ต้องไปทำการบ้านแบบนั้น จริงๆ อาจจะทำได้นะ แต่สิ่งที่เราเคยฝันมันคือการเล่นดนตรี”

จีนเล่าว่าช่วงที่ยังเป็นนักแสดง เขาค่อนข้างเสียความมั่นใจง่ายหากต้องเปลี่ยนแปลงบุคลิก แม้กระทั่งเรื่องทรงผม “ไม่รู้นะ พอไม่ชอบตัวเองลุคนี้ ความรู้สึกเราแย่ไปเลย ออกไปข้างนอกก็รู้สึกไม่มั่นใจ เราไม่ชอบตัวเองในลุคที่เขาสั่งให้เป็น บางทีเลยเป็นปัญหา เหมือนเรายังยึดติดสิ่งที่เราชอบ ก็เลยยากเหมือนกัน”

“แต่ตอนเป็นเด็กมีงานอะไรก็ทำไว้ก่อน เรารู้ตั้งแต่เรียนจบแล้วว่าชอบทะเล ชอบต่างจังหวัด ไม่ชอบเข้าระบบ ไม่ชอบทำงานที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน พอทำงานเก็บเงินได้ เราก็คิดว่าจะหนีไปอยู่เกาะ แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ได้ไม่นานสมใจสักที เพราะเดี๋ยวมีงานก็ต้องกลับมากรุงเทพฯ ตอนกลับมาแต่ละครั้งก็ซึมไปเลยเหมือนกัน”

 

 

เขาเว้นจังหวะคิดเล็กน้อย เบนสายตามองผ่านไหล่ผมไป แต่ดูเหมือนไม่ได้จับจ้องสิ่งใดเป็นพิเศษ ราวกับจ้องความทรงจำในช่องอากาศที่ว่างเปล่า ก่อนจะเล่าต่อ “เคยมีครั้งหนึ่งหลังกลับมาจากเกาะ เหมือนเราประทับใจเกาะนั้น มันติดใจและฝังใจ พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็เศร้า นั่งมองทุกอย่างแล้วมันซึมเซา เรารู้ว่าเราไม่ได้มีอะไรสนุกกับตรงนี้ เราไม่ได้อยากอยู่ตรงนี้ ตอนนั้นเราเลยเขียนเพลง สุขใจ ขึ้นมา”

เพลง สุขใจ เป็นเพลงของจีน มหาสมุทร ในนาม Little Fox เพลงอะคูสติกฟังสบายนี้เปรียบเปรยถึงภาพความสุขใจของการได้มีเวลาอย่างเหลือพอ และไม่ต้องคอยวิ่งตามเงินทอง มีมู้ดของความอิสระในเนื้อเพลงที่เล่าถึงชีวิตยามที่ได้อยู่ริมทะเล

จีนเล่าว่าเขาโตมาในกรุงเทพฯ และถูกสังคมคนเมืองสั่งสอนว่า การมีเงินคือเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง กระทั่งได้มาใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ และได้ค้นพบความคิดและคุณภาพชีวิตอีกรูปแบบ 

“ถ้าอยู่กรุงเทพฯ เราจะถูกสอนว่าทุกอย่างต้องใช้เงิน บ้านเสียก็ไม่มีใครคิดจะซ่อมด้วยตัวเอง ทุกอย่างต้องซื้อ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องใช้เงิน ออกจากบ้านจะไปปากซอยก็ต้องขึ้นมอเตอร์ไซค์ พออยู่ในเมืองจะเห็นว่าเงินก็หมดเร็วมาก รวมถึงค่าครองชีพอะไรต่างๆ ก็แพง”

หากทรัพย์สินที่มีคือเวลา ตัวฉันนั้นก็คงจะเป็น เป็นเศรษฐีผู้มั่งมี

ท่อนหนึ่งในเพลง สุขใจ ว่าไว้แบบนั้น ผมถามเขาถึงความหมายของประโยคนี้ เขารินน้ำเปล่าใส่แก้วและยิ้มเขินๆ เมื่อได้ฟังเนื้อเพลงที่ตนเองเป็นคนเขียน

“เรารู้ตัวอยู่แล้วว่าเราอยากมีเวลา” เขาพูดหลังจิบน้ำเปล่า “คนที่เขาฉลาดกว่าเรา เขาซีเรียสกว่าเรา จะเห็นว่าเขาไม่ค่อยมีเวลา เขาจะทำงาน เขาจะยุ่ง เขาจะไม่มีเวลาแบบเรา แต่ข้อนี้คิดว่าเราพูดได้ตอนเราอายุน้อย พอเราอายุมากขึ้น เวลามันน้อยลงจริงๆ นะ สมมติเราอายุหกสิบ อีกไม่กี่ปีเราจะต้องตาย เวลาเราก็น้อยแล้ว ซึ่งก็ต้องตามนั้น เราไม่มีทางที่จะมีเวลาเหลือเยอะ”

“เพียงแต่ในความรู้สึกตอนที่ยังเป็นเด็ก เราขอเลือกที่จะมีเวลาให้ใช้มากกว่า”

 

4

ผมนึกถึงเรื่องที่สงสัยบางข้อ ก่อนเอ่ยขอโทษเขา และบอกว่า หากไม่สบายใจจะตอบก็ไม่เป็นไร ผมใคร่รู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถมีเวลาให้ใช้อย่างเหลือเฟือ หากไม่ได้มีเงื่อนไขบางประการในชีวิตที่ส่งเสริมให้ทำเช่นนั้น ในขณะที่ครอบครัวของเขาเป็นดีไซเนอร์ห้องเสื้อชื่อดัง ซ้ำแต่ก่อนเคยมีคนใช้คำแทนตัวเขาว่า ‘ไฮโซ’ ผมอยากรู้ว่าเขารู้สึกหรือคิดเห็นอย่างไร

เขาคลี่ยิ้มจางๆ คลุมเครือเหมือนท้องฟ้าบ่ายวันนี้ ราวกับว่าเคยครุ่นคิดกับคำคำนี้มานมนาน

“เหมือนเพลงของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” เขาว่า และเริ่มฮัมเพลง คนกับหมา เป็นท่อนสั้นๆ

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ดอก บางคนก็ออกมาร่างกายพิการ

“เราเลือกไม่ได้ว่าจะเกิดมาในครอบครัวแบบไหน คือไม่ว่าเราจะเกิดมารวยหรือจน เราต้องนึกว่ามันมีความโชคดีทั้งสองอย่าง” เขาพยายามเลือกเฟ้นคำพูดอย่างระมัดระวัง “เราพูดกับแม่วันก่อนว่า บางทีบางคน ถ้าคนจนเขามองคนรวยอาจจะดูสบาย แต่บางทีเราเคยมองครอบครัวที่มีน้อยกว่าเรา แต่เขากินข้าวด้วยกันเป็นครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา อบอุ่นกว่าครอบครัวรวยๆ ตั้งหลายครอบครัว บางทีคนเป็นไฮโซหรืออะไร เราว่าเขาก็มีความทุกข์บางอย่างเหมือนกัน แต่แน่นอนว่าคนที่ไม่มี ก็ต้องลำบากกว่าอยู่แล้ว” เขานิ่งคิดอีกครู่เล็กๆ

“ส่วนตัวเราไม่ชอบอะไรหรูหรา แต่บางทีคุณแม่หรือที่บ้านจะชอบ อาจเพราะมันเป็นสไตล์เก่า เหมือนคนยุคปู่ย่าจะชอบอะไรที่ดูดีหน่อย แต่พอมาถึงยุคเรา กลับชอบอะไรที่มันอาร์ต ชอบดีไซน์ ถ้าไปที่ที่ดูหรูแพง แต่ไม่มีสไตล์ เราก็เฉยๆ ไม่ได้รู้สึกชื่นชม เราเลยไม่ได้ติดตรงนั้น การแต่งตัว หรือของใช้ ก็ไม่ได้คลั่งว่ามันต้องหรู”

เหมือนเขาจะพูดอะไรบางอย่างต่อ แต่ก็ชะงักหยุดแค่ตรงนั้น ก่อนเปลี่ยนอิริยาบถ ยกน้ำเปล่าขึ้นจิบอีกครั้ง ในตอนนั้นเมฆทะมึนเคลื่อนคล้อย แสงสว่างจางๆ สาดส่องลงมา ท่ามกลางหุบเขาเช่นนี้ เสียงรบกวนต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองราวกับถูกดูดซับให้หายไป หลงเหลือแต่เพียงเสียงสะท้อนของธรรมชาติ

5

จีนเล่าว่าเขามาอยู่เชียงใหม่เกือบเก้าปีแล้ว เมื่อถามว่าทำไมจึงตัดสินใจย้ายมา เขาคิดเล็กน้อยก่อนตอบว่า เป็นเพราะความบังเอิญ ก่อนค่อยๆ ไล่เรียงย้อนหลังถึงความเกี่ยวข้องระหว่างเขากับเมืองแห่งนี้ให้ฟัง

“ความจริงคุณพ่อเราอยู่ที่เชียงใหม่มานานแล้ว ก่อนเราจะย้ายมาเกือบสามสิบปีด้วยซ้ำ แต่เมื่อก่อนก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้มาเจอกันบ่อย กระทั่งวันหนึ่งคุณพ่อเกิดอุบัติเหตุ ก็เลยมาเยี่ยม ช่วงระหว่างนั้น เราก็ได้เจอภรรยา ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่อยู่เชียงใหม่อยู่แล้ว สุดท้ายเลยตัดสินใจย้ายมาอยู่กับเขา” เขาหัวเราะเล็กน้อย “พอคบกัน มีลูก มันก็ดูเหมาะสมที่จะอยู่ที่นี่ เราชอบต่างจังหวัด ชอบความสโลว์ไลฟ์ เพราะอยู่ในเมืองมานาน ทุกอย่างเร็วไปหมด เลยอยากออกมาหาความเนิบช้า แล้วที่เชียงใหม่มีโรงเรียนที่ดี เราเคยคิดว่าอยากไปอยู่ทะเล แต่ที่นั่นไม่มีโรงเรียนแบบที่เชียงใหม่”

เขาสลับยกกาแฟจิบและเล่าเสริมว่า “เราเป็นคนที่ไม่ได้วางแผนอะไรมากนัก คือเห็นว่ามีโรงเรียน สามารถอยู่ได้ ชอบบรรยากาศ ก็เลยอยู่” เขาหัวเราะเขินๆ “คิดแค่ว่าแฟนอยู่ไหน เราก็อยู่ที่นั่นแหละ”

“ตอนมาเชียงใหม่เสียดายชีวิตที่กรุงเทพฯ หรือชื่อเสียงไหม” ผมถาม

“ชื่อเสียงเหรอ” เขาทวนคำถามช้าๆ พลางกัดขนมปัง “ไม่ได้คิดถึงข้อนี้เลยนะ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่ามันจะเงียบลงหรืออย่างไร อีกอย่าง เราชอบชีวิตเชียงใหม่ในแง่ที่ออกไปไหนไม่มีใครรู้จัก ไม่มีคนสนใจ เราสามารถแต่งชุดน่าเกลียดแค่ไหนก็ได้ ใส่รองเท้าแตะก็ได้ ชอบมาก แต่เราเคยเจอเรื่องที่ว่า ถ้าแต่งตัวสกปรก ใส่รองเท้าแตะ ในกรุงเทพฯ แค่เข้าห้าง บางร้านเขาก็ไม่ต้อนรับแล้ว” เขาว่าและหัวเราะ

“มาอยู่เชียงใหม่แรกๆ มันใช้เวลานะ ก็ต้องค่อยๆ ซึมซับ ทั้งเรื่องการเป็นอยู่ ปรัชญาของคนที่นี่ แล้วก็รู้สึกได้ว่ามันมีปรัชญาไม่เหมือนที่กรุงเทพฯ”

 

 

ปัจจุบันจีนและภรรยามีลูกด้วยกันหนึ่งคน เป็นลูกสาว วัยกำลังน่ารัก ผมลองชวนเขาคุยเรื่องนี้ เขายิ้มและเล่าว่า การมีลูกเปลี่ยนเขาไปค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องของไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต

“ตอนวัยรุ่นแค่อยากมีเวลา เพราะอยู่ตัวคนเดียว เลี้ยงตัวเองได้ ยิ่งเราไม่ได้มีไลฟ์สไตล์ที่แพง ประหยัดมาก อย่างที่เล่าไปว่า มีคอมฯ ตัวเดียว ใช้สิบปี ไม่มีโน้ตบุ๊ก ไม่มีแล็ปท็อป ไปไหนก็ยกคอมฯ ไป ไอแพดก็ไม่มี โทรศัพท์ใช้ของเดิมๆ แหม ไม่อยากเล่าเลยเพราะดูน่าเกลียด คือหลังๆ ไม่ค่อยใช้แชมพูแล้วด้วย ไม่มีเครื่องสำอาง ไม่มีครีม” พูดจบ เขาระเบิดเสียงหัวเราะ “คือยังใช้อยู่บางวัน ถ้าเล่นกีฬามีเหงื่อ แต่นอกจากนั้นไม่จำเป็นแล้ว คือเราก็ต้องมีไลฟ์สไตล์ที่มันซัพพอร์ตกันได้ กับการที่ไม่ได้มีเงินเยอะ”

“พอมีลูก มันก็มีเรื่องของการใช้จ่ายก้อนใหญ่ เช่น เรื่องค่าเทอม มันก็เปลี่ยนไปเลย ไม่มีเงินไม่ได้แล้ว เราอ่านประวัตินักดนตรีเยอะ หลายคนจะมีจุดที่ต้องเลิกทำดนตรีไปค้าขาย ไปทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เราก็วนเวียนอยู่กับความคิดแบบนี้บ่อย เราเป็นนักดนตรี ก็จะมีความกดดันว่าต้องขายให้ได้ พอเข้าโหมดนี้แล้วเครียดมาก งานก็ไม่ค่อยออก คิดก็ไม่ค่อยสร้างสรรค์ เลยรู้สึกว่ามันต้องมีบาลานซ์ คืออย่าไปเครียดเกินไป” เขาเล่า และยอมรับว่าโชคดีที่มีครอบครัวคอยช่วยเหลือมาตลอดยามลำบาก

เขาเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คุณพ่อสไตล์ฮิปปี้’ คือค่อนข้างให้อิสระกับลูก ไม่คาดหวัง แต่คอยซัพพอร์ตในสิ่งที่ลูกอยากทำ และอยากเป็น 

“ถ้าพ่อแม่เราคาดหวังนู่นนี่นั่น เราคงจะกดดันเหมือนกัน เราเลยพยายามคิดว่าเป็นอะไรก็ได้ แต่จะซัพพอร์ตสิ่งที่เขาชอบเอง เรากับแฟนเป็นคนคล้ายๆ กัน คือชอบศิลปะ เล่นดนตรี พอพ่อแม่เป็นแบบนี้ ลูกอาจจะเป็นอีกแบบก็ได้ เพราะบางทีลูกจะชอบไม่เหมือนพ่อแม่ ทุกคนจะชอบล้อว่า สงสัยโตขึ้นลูกจะเป็นทนาย เป็นหมอแน่ๆ คือตรงกันข้ามไปเลย” เขาพูดและหัวเราะ

6

ในวัย 41 ปี จีนเล่าว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นคือเรื่องสุขภาพ เขาเคยเป็นนักสูบตัวยง ก่อนพบว่าสุขภาพทรุดโทรมลง รู้สึกร่างกายไม่แข็งแรง ไปเล่นกีฬาก็เหนื่อยง่าย “ทำอะไรก็หนืด ความแก่เป็นแบบนั้น” เขาว่า

“แต่พอเห็นคุณพ่อเริ่มแก่ อายุมากขึ้น สุขภาพทรุดโทรม อยู่ๆ ก็คิดได้ เราเลิกบุหรี่เลย ด้วยความคิดว่าอยากมีสุขภาพดี เราไปโม้กับเพื่อนว่า มึงคอยดูนะ เดี๋ยวตอนอายุ 70 กูจะยืนบนหัวเซิร์ฟบอร์ดให้ดู นั่นคือเป้าหมายชีวิต เราอยากจะเป็นคนแก่ที่อายุ 60 ยังวิ่งมาราธอนได้ พอมีเป้าแบบนั้นมันมหัศจรรย์มาก มันคิดได้เองเลยว่าแล้วกูจะดูดไปทำไมวะไอ้บุหรี่บ้าๆ เปลืองเงินทุกวันด้วย ไม่มีประโยชน์ด้วย พอเข้าใจแค่นี้ และมีความฝันว่าอยากเป็นคนแก่ที่แข็งแรง สุขภาพดี จากที่เลิกไม่ได้มาตั้งนาน ก็เลิกได้เลย”

“แน่นอนว่ามันยังมีความอยาก เพราะเพิ่งเลิกเมื่อต้นปี แต่ต้องอย่าลืมว่า เรายังฝันอย่างเดิมอยู่หรือเล่า ยังอยากเป็นคนแก่ที่วิ่งได้อยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีความฝันตรงนั้น มันจะช่วยดึงความคิดไว้”

“ในขณะที่แก่ลงอยู่ทุกวัน คุณกลัวความแก่ไหม” ผมถาม

“ก็ไม่กลัวมาก” เขาพูดไม่ค่อยมั่นใจแล้วหัวเราะ “เราคิดว่าความแก่มีสองแบบ คือแก่ด้วยสภาพร่างกาย กับแก่ด้วยความรู้สึกข้างใน บางคนอายุมากแล้ว แต่ความคิดเขาไม่แก่ บางคนอายุน้อย แต่เห็นแล้วรู้สึกว่าทำไมเขาแก่ไปแล้ว ทำไมเขาหมดความขี้เล่นที่เด็กมี ส่วนเรื่องร่างกายก็ต้องตามสภาพอยู่แล้ว ไม่มีใครห้ามได้”

“แล้วในวัย 41 อะไรทำให้คุณสุขใจที่สุด” ผมถามอีกครั้ง

เขาครุ่นคิดเล็กน้อยก่อนตอบว่า ลูกสาว

“การเห็นเขาโตขึ้น เห็นเขามีชีวิตที่โอเค ถึงบางทีลูกจะมาวุ่นวายเยอะ บางทีเราก็เหนื่อยและต้องหลบลูกบ้าง บอกเขาว่า ไม่ไหวแล้ว วันนี้พ่อโคตรเหนื่อย” เขาหัวเราะ “แต่ทุกครั้ง พอมองดูเขา เราก็คิดว่าต้องพยายามเอนจอยตอนนี้ เพราะมีคนเคยบอกว่า ลูกก็โตขึ้นทุกวัน พรุ่งนี้เขาก็โตขึ้นกว่านี้อีก ถ้าวันนี้เราลืมดูเขา พรุ่งนี้เขาอาจจะกลายเป็นวัยรุ่น เขาอาจจะไม่คุยกับเราอีกแล้ว เพราะพอโตเขาก็จะอยากไปอยู่กับเพื่อน เขาคงอยากเลิกเล่นกับเราแล้ว”

“ฉะนั้น ตอนนี้ที่เขายังเล่นกับเรา เขายังชอบให้ดูหนังกับเขา มันเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก บางทีพอเจอมุมนี้ มันทำให้เวลาที่ไปเล่นดนตรีไกลๆ จะคิดถึงครอบครัวมาก บางทีต้องเดินทางไปค้างสามสี่คืน แต่บางครั้งสิ่งที่เราต้องการคือแค่อยากอยู่บ้านเท่านั้นเอง” 

 

7

“ถ้ามีใครถามว่าช่วงนี้ชีวิตเป็นอย่างไร จะตอบว่าอย่างไร?” ผมถามเขา อดีตหมานครผู้หันหลังให้มหานคร และกำลังเลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่ในเมืองห่างไกลจากความวุ่นวายประดามีของเมืองหลวงที่เคยพบเจอมาตลอดชีวิต

“ขอบคุณพระเจ้า ขอบคุณครอบครัว ขอบคุณวันธรรมดาๆ ที่เรายังมีอาหารกินวันนี้ ได้อิ่มท้อง ได้นอนหลับ มีบ้านให้อยู่ ครอบครัวยังยิ้มได้ ขอบคุณที่พ่อแม่ยังอยู่ ถึงแม้ทุกอย่างไม่เพอร์เฟ็กต์” เขาตอบ มีความสั่นเครือในน้ำเสียงเล็กๆ แต่ผมอาจจะคิดไปเองก็ได้

หลังจบสนทนา เราคุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้อีกพักใหญ่ เขารอเวลาเพื่อไปรับลูกสาวซึ่งเรียนในโรงเรียนทางเลือกไม่ไกลจากจุดที่เราอยู่ ผมคิดว่าฝนคงไม่ตกแล้ว เพราะเมฆสีเทาที่คลี่คลุมท้องฟ้าจางหาย กระนั้น เชียงใหม่กลางฤดูฝนก็ยังวางใจไม่ได้อยู่ดี

ผมคิดจะให้เขาลองเล่นอูคูเลเลสักเพลง น่าจะเข้ากับบรรยากาศ แต่ก็สะบัดความคิดออกจากหัว อีกไม่นานเขากำลังจะทำเพลงออกมา มันคือสิ่งที่เขาหลงใหล มันคือสิ่งที่เขาเลือกมากกว่าการแสดง เช่นเดียวกับที่เขาเลือกอยู่เชียงใหม่ มากกว่าจะเลือกอยู่กรุงเทพฯ

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ดอก บางคนก็ออกมาร่างกายพิการ

ผมคิดถึงท่อนหนึ่งในเพลง คนกับหมา ที่เขาฮัมระหว่างสนทนา

คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่หลังได้ชีวิตมาแล้ว เราจำเป็นต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอตราบชั่วชีวิต จู่ๆ ความคิดนี้ก็วาบเข้ามาในหัวผม และทุกสิ่งที่เลือกย่อมลากเส้นบรรจบกับผลลัพธ์บางอย่าง เปิดประตูบานใหม่ให้เราชะโงกหน้าเข้าไปพบ เป็นเช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เราร่ำลากัน เขาเดินหันหลังสะพายย่ามไปยังรถที่จอดอยู่ และยกอูคูเลเลขึ้นไว้ระดับท้อง ดีดด้วยท่าทางฝืนๆ เป็นทำนองเพลงที่ผมไม่เคยได้ยิน รู้สึกราวกับเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า

ผมได้ยินเสียงฮัมเพลงของเขา หลอมรวมเป็นหนึ่งกับเสียงของธรรมชาติรอบข้าง

Tags: , ,