เหตุการณ์ที่ช้างป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตกน้ำตกเหวนรกตายจำนวน 11 ตัว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ได้รับความสนใจอย่างยิ่งทั้งจากสังคมไทยและต่างประเทศ นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุใด และพอจะมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
ในวันที่ 8 ตุลาคม เข็มทอง โมราษฎร์ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ และผู้จัดการกลุ่มเด็กรักป่าภาคอีสาน ได้โพสต์ผ่านเฟชบุ๊กเพื่อเรียกร้องไปยังนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการรื้อถอนอาคาร ส่ิงปลูกสร้าง บริเวณฝั่งทางเข้าน้ำตกเหวนรกออกทั้งหมด โดยระบุว่าเป็นการสร้างขวางเส้นทางเดินของช้าง และยังคาดว่าความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ที่ควรจะเฝ้าระวัง อาจเป็นสาเหตุทำให้ช้างตกน้ำตกเหวนรกตาย
นั่นทำให้ 10 ตุลาคม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่โพสต์ชี้แจงทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าที่ผ่านมาทางอุทยานได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ มิได้หละหลวมแต่อย่างใด ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในบริเวณทางเข้าน้ำตกและอาคารที่ทำการ บ้านพัก นั้นมีความสำคัญ ไม่ได้มีมากเกินความจำเป็น กลมกลืนในภูมิประเทศ สัตว์ป่าคุ้นชิน ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า
ภายหลังจากการชี้แจงของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพียงวันเดียว ในวันรุ่งขึ้น (11 ตค.) เข็มทอง ก็ได้โพสต์อีกครั้งถึง รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง โดยครั้งนี้เขาประกาศอดอาหารรอฟังผลการเรียกร้องเป็นเวลา 11 วัน และเมื่อครบ 11 วันแล้ว จะเพิ่มการอดน้ำจนกว่าจะถึงวาระสุดท้าย
การอดอาหารของเข็มทอง ได้รับความสนใจอย่างมากจากเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ ในทุกๆ วันมีคนมาให้กำลังใจและร่วมอดอาหารด้วย จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าจึงให้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าตกเหวนรก เข็มทองจึงได้ประกาศยุติการอดอาหาร และตกลงเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย
ล่าสุดนี้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมญาณภิรัต ภายในศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเริ่มต้นขึ้น โดยมีนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติเป็นประธาน และมีนายศศิล เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นผู้ดำเนินรายกายประชุม โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หัวหน้าสถานีวิจับสัตว์ป่า นักวิชาการจากกรมอุทยาน อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และได้เชิญตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมทั้งนายเข็มทอง เข้าร่วมประชุมด้วย
ในการประชุม หัวหน้าอุทยานเขาใหญ่กล่าวว่ายังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าเหตุเกิดจากสาเหตุใด แต่คาดการณ์ว่าด้วยบริเวณน้ำตกเหวนรกนั้นเป็นเส้นทางหากินของช้าง และในวันเกิดเหตุมีฝนตกหนักทำให้น้ำในคลองไหลแรง เมื่อมีลูกช้างตกลงไป แม่ช้างและช้างในฝูงลงไปช่วย จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ส่วนเรื่องสิ่งปลูกสร้างและเส้นทางที่นักท่องเที่ยวใช้สัญจร จากรายงานการติดตามพฤติกรรมของช้างพบว่าไม่เป็นอุปสรรคในการหากินของช้าง เป็นลักษณะการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างช้างกับสิ่งปลูกสร้าง และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ด้าน รศ.รองลาภ สุขมาสรวง หัวหน้าภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าเดิมแนวเพนียดเดิมที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ฝั่งที่นักท่องเที่ยวใช้เดินมีความยาว 250 เมตร และฝั่งตรงข้ามมีความยาว 150 เมตร อาจยังไม่เพียงพอต้องสร้างเพิ่มอีกฝั่งละ 50 เมตรและเสริมด้วยแนวรั้วไฟฟ้า และอาจจะต้องสร้างแท่งปูนลักษณะสามเหลี่ยมไว้ในลำคลองเพื่อป้องกันช้างเดินข้าม โดยทั้งสามแนวทางนี้น่าจะเพียงพอกับป้องกันไม่ให้ช้างตกน้ำตกเหวนรกได้อีก นอกจากนี้ยังกล่าวว่าปัญหาช้างที่ตกน้ำตกเป็นเรื่องอุบัติเหตุของสัตว์ที่อยู่ในพื่นที่เฉพาะ แต่ปัจจัยสำคัญปริมาณของช้างที่เพิ่มขึ้นโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีช้างอยู่ในเขา 150 ตัว ปัจจุปันมีราว 300 ตัว จึงทำให้มีช้างป่าออกนอกพื้นที่ไปกระทบกระทั่งกับชาวบ้านที่อยู่โดยรอบ แนวทางที่จะป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการเชื่อมต่อป่าเขาใหญ่กับป่าอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่มรดกโลก
ด้านนายเข็มทอง กล่าวว่าตนยืนยันว่าอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านค้า ที่จอดรถ และอาคารที่ทำการหน่วยพิทักษ์ถูกสร้างขวางทางเดินของช้าง เสนอให้ย้ายทั้งหมดมาฝั่งตรงข้าม นอกจากนี้ยังเสนอว่าควรมีการพัฒนาการท่องเที่ยวหลังจากย้ายอาคารทั้งหมดไปฝั่งตรงข้ามแล้ว ด้วยการสร้างสะพานเรือนยอดไม้(Canopy Walks) ซึ่งจะได้ประโยชน์หลายอย่างเช่น ได้จุดสกัดช้างบนสะพานเรือนยอดเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ได้แนวป้องกันช้างใต้สะพานเรือนยอด ได้ห้องเรียนธรรมชาติบนเรือนยอด ได้ปรับปรุงพื้นที่ตรงจุดบริการนักท่องเที่ยว และได้คืนพื้นที่ให้ช้างเดิน พ้นปากเหวนรก
ด้านตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์โดยรอบเขาใหญ่กล่าวว่า เนื่องจากกรณีช้างป่าตกเหวนรกได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง จึงอยากให้กรณีนี้นำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ที่สะสมมานานเช่นปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีมากเกินไป นำมาซึ่งปริมาณขยะ จนถึงอุบัติเหตุที่รถนักท่องเที่ยวชนสัตว์ป่าตาย
ในช่วงท้ายของการประชุมนายศศิน เฉลิมลาภ ผู้ดำเนินการประชุมได้ถามหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่าร้านค้าบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรกนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตอบว่าร้านค้าในบริเวณดังกล่าวไม่ได้เปิดตลอดทั้งปี ร้านค้าจะปิดในช่วงฤดูฝนและในช่วงหน้าแล้งจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยก็ปิดให้บริการ อีกทั้งการขายของบริเวณนั้นเกิดจากร้องขอของนักท่องเที่ยว หากมีการสั่งปิดจริงก็ไม่มีผลกระทบอะไรกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ฝ่ายนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ และสัตว์ป่า กล่าวว่าจะนำข้อเสนอของทุกฝ่ายไปพิจารณาและดำเนินแผนแก้ไขโดยเร่งด่วน
จากการสัมภาษณ์นายเข็มทองหลังจบการประชุม ว่ารู้สึกอย่างไรกับการประชุมครั้งนี้ และจะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร เขากล่าวว่าตนพอใจที่ได้เห็นภาครัฐรับฟังและให้โอกาสกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ได้ร่วมเสนอปัญหา ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวจากนี้มีแนวทางอยู่สองแนวคือเสนอโดยตรงถึงรัฐมนตรีในลักษณะของการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินพร้อมกับการเข้าไปมีส่วนร่วมกับแผนที่จะเกิดจากการประชุมครั้งนี้
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยมีพื่นที่ครอบคลุมจังหวัดสระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และนครราชสีมา มีการสร้างถนนชื่อธนะรัชต์ตัดจากถนนมิตรภาพขึ้นมาไปสิ้นสุดที่น้ำตกเหวสุวัตและแยกไปสิ้นสุดที่สถานีเรดาห์เขาเขียว
ในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการสร้างถนนปราจีนบุรี-เขาใหญ่ โดยมีเหตุผลด้านความมั่นคงและเป็นการย่นระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพไปยังเขาใหญ่ด้วย ถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ตัดผ่านบริเวณทุ่งงูเหลือม เขาสมอปูน น้ำตกเหวนรก ซึ่งเป็นพื่นที่ที่มีความสมบูรณ์มีสัตว์ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะฝูงช้างป่า
ต่อมาเร่ิมมีรายงานการพบช้างป่าตกน้ำตกเหวนรกตายตั้งแต่ปี 2529 และเมื่อปี 2535 มีช้างป่าตกน้ำตกเหวนรกตายถึง 8 ตัว ทางอุทยานได้มีการสร้างรั้วซีเมนต์เป็นแนวเพื่อป้องกันช้างป่าข้ามลำธารเหนือน้ำตกเหวนรก และสร้างจุดสกัดไว้บริเวณดังกล่าวเพื่อเฝ้าระวังและผลักดันช้างให้พ้นบริเวณที่อันตราย หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานว่ามีช้างป่าตกเหวอีกจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2562 จึงเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกครั้ง
Tags: น้ำตกเหวนรก, ช้างป่า, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่