ถ้าย้อนเวลากลับไปในยุคคุณพ่อคุณแม่ยังสาว แล้วถามว่าย่านไหนในกรุงเทพฯ ที่มีความเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ มาตั้งแต่ยุคนั้น ท่ามกลางคำตอบที่หลากหลาย เชื่อว่าจะต้องมีชื่อที่คุ้นเคยกันอย่างสีลมและสุขุมวิทรวมอยู่ในนั้นด้วยอย่างแน่นอน เพราะมีความเป็นย่านธุรกิจที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีคาแรกเตอร์ต่างกัน
ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังจากปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา การเจริญเติบโตทางธุรกิจได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทั้งสองย่าน จนแตกออกเป็นย่านย่อยๆ ที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน และยังขยายขึ้นในแง่การตอบโจทย์ต่างๆ ในการใช้ชีวิต จนทำให้เป็นย่านที่ไม่ใช่แค่ศูนย์กลางธุรกิจ แต่เป็นศูนย์กลางของชีวิตคนเมืองที่เส้นแบ่งระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวไม่จำเป็นจะต้องขีดเส้นให้เป็นคนละโซนอีกต่อไป
เราจึงอยากชวนไปรู้จัก 4 ย่านในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น เพราะเป็นย่านที่มีความเป็นศูนย์กลางมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าจะยังโดดเด่นต่อไปในอนาคต
อโศก ศูนย์กลางของความหลากหลาย
ย่านย่อยของสุขุมวิทที่เดิมทีมีชาวแขกมาอยู่อาศัยกันหนาตา ตั้งแต่นานามาจนถึงถนนอโศกในปัจจุบัน ร่องรอยของประชากรในยุคนั้นยังเห็นได้จากร้านตัดสูทจำนวนมากที่มีเจ้าของเป็นคนไทยเชื้อสายแขก
แม้จะเป็นถนนที่มีความยาวเพียง 1.3 กิโลเมตร แต่ถนนอโศก หรือชื่อเต็มๆ ว่า อโศกมนตรี นี้ก็มีสิ่งที่น่าสนใจตั้งแต่อดีต เริ่มตั้งแต่ที่มาของชื่อที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2547 เพื่อเป็นเกียรติแก่พระอโศกมนตรี ผู้ริเริ่มสร้างถนนเส้นนี้ที่เชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับถนนสุขุมวิท
ภายใต้ความทันสมัยของย่านอโศกทุกวันนี้ ถ้าลองเดินช้าลงอีกนิด จะสังเกตเห็นรายละเอียดบางอย่างและสถานที่บางแห่งที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของอโศกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ แหล่งความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยที่ตั้งขึ้นในปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 โดยอาคารหอประชุมของสยามสมาคมฯ ที่อยู่ใกล้กับหัวถนนนั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2475 นับเป็นอาคารหลังแรกของสมาคม หลังจากใช้วิธีเช่าที่ทำการมาก่อนหลายปี
ด้วยพิกัดในการเดินทางที่จะข้ามฝั่งไปย่านสีลมก็ไม่ไกลมาก หรือจะไปทางรัชดา-ลาดพร้าวที่อยู่รอบนอกออกไปก็สะดวก ทำให้อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ทยอยกันจับจองพื้นที่สองข้างทาง และสิ่งที่ตามมาจากการเกิดขึ้นของอาคารสูงเหล่านี้ จึงทำให้ย่านนี้มีตลาดนัดขายอาหารและข้าวของราคาน่าคบหาที่ผุดขึ้นมาเพื่อรองรับมนุษย์เงินเดือนไปจนถึงนักเรียน-นักศึกษาที่ใช้ชีวิตประจำวันจันทร์ถึงศุกร์บนถนนเส้นนี้
แต่เมื่อพ้นจากเวลาเรียนหรือเวลางาน อโศกก็มีร้านดีๆ ที่เป็นเหมือนการให้รางวัลตัวเองของหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟบรรยากาศดี หรือร้านอาหารนานาสัญชาติที่เปิดจนถึงดึกดื่น เพราะเพียงแค่เดินจากถนนอโศกเส้นหลักเข้ามาในซอยสุขุมวิท 23 ก็จะเจอกับร้านอาหารจำนวนมากตั้งแต่ต้นซอยไปจนถึงท้ายซอย ที่มีให้เลือกตั้งแต่ไทย ญี่ปุ่น เม็กซิกัน เวียดนาม อิตาเลียน ไปจนถึงอาหารสเปน ขึ้นอยู่กับความชอบว่าอยากให้รางวัลตัวเองด้วยรสชาติไหน
พร้อมพงษ์ ศูนย์กลางของความสมดุล
ถัดจากสถานี BTS อโศกมาเพียงสถานีเดียวก็ถึงพร้อมพงษ์ อีกหนึ่งย่านที่เป็นซับเซ็ตของสุขุมวิท ถ้าในยุคของคุณตาคุณยาย พร้อมพงษ์คงไม่ใช่ย่านที่เรียกได้ว่าคึกคักสักเท่าไหร่ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งบางกะปิที่คนยุคนั้นรู้กันว่าเป็นท้องนามากกว่าบ้านพัก
แต่เมื่อความเจริญเริ่มขยายตัวมาจากหัวถนน ในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีก่อนหน้านี้ พร้อมพงษ์ก็ค่อยๆ กลายเป็นย่านที่อยู่อาศัย แซมด้วยร้านค้าที่ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เป็นที่รู้จักของคนที่อยู่ในละแวกนั้นจริงๆ ก่อนที่บางส่วนจะถูกทดแทนด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นในเวลาต่อมา จนทำให้เป็นย่านที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างย่านพักอาศัยและธุรกิจที่เข้ามาทำให้ไลฟ์สไตล์สะดวกสบายยิ่งขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วยสร้างสมดุลให้กับพร้อมพงษ์จนกลายเป็นเสน่ห์ของย่านนี้ เพราะในขณะที่ห้างสรรพสินค้าเข้ามาจับจองพื้นที่ริมถนนและหยิบยื่นความสะดวกสบายให้กับคนที่ใช้ชีวิตในย่านนี้ พร้อมพงษ์ก็มีพื้นที่สีเขียวเข้ามาบาลานซ์ความเป็นเมือง อย่างเช่นสวนเบญจสิริ สวนสาธารณะที่สร้างขึ้นบนที่ดินเดิมของกรมอุตุนิยมวิทยา ให้คนพร้อมพงษ์ได้มีไลฟ์สไตล์เอาท์ดอร์สลับกับชีวิตกิน เที่ยว ช็อปแบบอินดอร์
สมดุลของพร้อมพงษ์ไม่ได้มีเพียงเรื่องอินดอร์และเอาท์ดอร์เท่านั้น เพราะในขณะที่พร้อมพงษ์ให้ความสะดวกในการเดินทางไปเรียนหรือทำงาน ย่านนี้ก็ยังมีสถานที่ที่จะช่วยสร้างสมดุลแบบ work-life balance ให้ตรงตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนซ่อนอยู่ในซอยต่างๆ ของละแวกนี้
เลยจากถนนใหญ่เข้าไปในซอยสุขุมวิท 49 เป็นที่ตั้งของ The Racquet Club สปอร์ตคลับครบวงจรที่คนย่านนี้รู้จักกันมานานก่อนหน้าการมาถึงของเชนฟิตเนสขนาดใหญ่หลายรายในปัจจุบัน ไฮไลท์อย่างหนึ่งของที่นี่คือหน้าผาจำลองสูง 13 เมตรที่เปลี่ยนเส้นทางใหม่ทุกสัปดาห์ ในซอยเดียวกันยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนดำน้ำ Scuba Jamboree ที่เปิดสอนมากว่า 10 ปี
หรือสำหรับคนที่สมดุลในชีวิตไม่ได้ตอบโจทย์ด้วยการออกกำลังกาย แต่เป็นการใช้ชีวิตแบบสบายๆ จากสถานีพร้อมพงษ์เข้าไปในซอยสุขุมวิท 26 ก็จะเจอกับ Yunomori Onsen & Spa ที่เบรกความเร่งรีบของชีวิตด้วยการแช่น้ำร้อนออนเซ็นในสไตล์ชาวญี่ปุ่น
สีลม ศูนย์กลางที่อยู่อาศัยในแบบใกล้ชิดกับธุรกิจ
ฉายา “วอลล์สตรีทของเมืองไทย” คือสิ่งที่อธิบายความเป็นศูนย์กลางของสีลมได้ในไม่กี่คำ ธุรกิจข้ามชาติระดับยักษ์ใหญ่หลายรายเลือกตั้งออฟฟิศที่เมืองไทยในย่านนี้ สีลมจึงดึงดูดทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้มาใช้ชีวิตด้วยกัน สีลมจึงเป็นย่านที่รวมเอาร้านอาหารนานาชาติไว้ตั้งแต่อดีต ทั้งสเต็กเฮาส์เก่าแก่หรือภัตตาคารจีนที่โด่งดังมาตั้งแต่อดีตก็ล้วนตั้งอยู่ในย่านนี้
ในยุคหนึ่ง คาแรกเตอร์ในความเป็นย่านธุรกิจของสีลมนั้นดูเหมือนจะชัดเจนกว่าความเป็นย่านที่อยู่อาศัย แต่เมื่อมีทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน สัดส่วนของความเป็นย่านพักอาศัยของสีลมก็เริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เพราะทำให้ย่านนี้เป็นศูนย์กลางทั้งสำหรับคนใช้รถและคนที่ใช้ขนส่งสาธารณะเป็นหลัก
และด้วยมูลค่าของที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี จนถึงราคาสูงสุดตารางวาละ 1 ล้าน ตามราคาประเมินใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 เป็นต้นมา จึงเป็นธรรมดาที่ธุรกิจห้องเช่าที่พักอาศัยที่เคยมีในย่านนี้จะเปลี่ยนโฉมไปเป็นคอนโดมิเนียมที่รองรับความต้องการได้มากกว่าแบบเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นเพียงอาคารสูงไม่กี่ชั้น
ถ้าพูดในมุมมองของที่อยู่อาศัย สีลมทุกวันนี้จึงเป็นย่านที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่อยากใช้เวลาเต็มที่กับการทำงาน มากกว่าเสียเวลาไปกับการเดินทางในแต่ละวัน ขณะเดียวกันก็ยังเหมาะกับคนที่มองหาวิถีชีวิตแบบไม่จำเจ เพราะร้านอาหารและที่เที่ยวในย่านนี้ก็มีมากพอทั้งเรื่องจำนวนและความหลากหลาย เป็นสีสันให้กับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง
สามย่าน ศูนย์กลางของคนรุ่นใหม่
จุดเด่นของละแวกสามย่านคือความสะดวกในการเดินทางที่ไม่ว่าจะไปสีลมก็ใกล้แค่ไม่กี่นาที หรือถ้าไปจุฬาฯ ก็อยู่ในระยะเดินถึง ด้วยพิกัดที่ใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ศตวรรษก่อน ทำให้ย่านชื่อไทยๆ ย่านนี้มีสีสันด้วยนักศึกษาที่ผลัดเปลี่ยนกันมาใช้ชีวิตในละแวกนั้นกันอย่างน้อยคนละ 4 ปี
หลายต่อหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในย่านนี้จึงเป็นไปเพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในแต่ละยุค นักศึกษาในยุคหลายสิบปีก่อนอาจจะผูกพันกับร้านอร่อยในตลาดสามย่าน ทั้งของคาวและของหวาน อย่างโจ๊กสามย่าน เล้งกี่ราดหน้าฮ่องกง และตั้งซุ่ยเฮงโภชนา
ถัดมาในยุคที่ร้านกาแฟกลายเป็นสถานที่ที่นักศึกษาใช้เป็นห้องอ่านหนังสือ แต่ยังมีร้านกาแฟเปิดไม่มากเท่าปัจจุบัน หลายคนก็ชวนกันนั่งรถต่อไปถึงสีลม โดยมีจุดเป้าหมายเป็นร้านกาแฟสาขาชื่อดังที่เปิดถึงดึกดื่น ยุคเดียวกันกับที่การได้ไปเดินซื้อของตามสวนลุมไนท์บาซาร์และตามหาร้านขายเสื้อผ้าเครื่องประดับเก๋ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ฉีกไปจากสยามสแควร์ในตอนนั้น
มาถึงยุคปัจจุบันที่พิกัดเดียวกันนี้รายล้อมด้วยร้านอาหาร ร้านกาแฟทันสมัย และดึงดูดให้ธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเปิดตัว ไม่ว่าจะเป็น Nablab: Co-napping Workspace ที่สร้างขึ้นจากความเข้าใจของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ หรือธุรกิจระดับเมกะโปรเจ็กต์ที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่นี้ได้อีกมากอย่างสามย่านมิตรทาวน์ ที่วางโพสิชันตัวเองเป็น Urban Life Library สำหรับนักศึกษาและคนทำงาน ซึ่งช่วยขับให้ภาพของความเป็นศูนย์กลางคนรุ่นใหม่โดดเด่นยิ่งขึ้น
ความเป็นศูนย์กลางในรูปแบบต่างๆ ของย่านเหล่านี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้มูลค่าของที่ดินเพิ่มขึ้นทุกปี การเลือกซื้อที่พักอาศัยในย่านนี้จึงไม่ได้มองกันแค่การอยู่อาศัย แต่ยังมองในแง่มุมของนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสในการทำกำไรด้วย เพราะความเป็นศูนย์กลางของชีวิตคนเมืองทำให้แต่ละย่านสามารถต่อยอด เพิ่มมูลค่าในตัวเองต่อไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับโครงการ ASHTON คอนโดมิเนียมที่ Luxury ที่สุดของแบรนด์อนันดา บน 4 โลเคชั่นที่ดีที่สุด อย่าง ASHTON CHULA – SILOM , SILOM , ASOKE และ ASHTON 41 (Sukhumvit 41) ที่เข้าใจไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน และยังตอบโจทย์การอยู่อาศัยในแต่ละย่านได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งโครงการ ASHTON ทั้ง 4 ที่นี้ ยังตั้งอยู่บนที่ดินที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว จึงเป็นคอนโดที่คนเมืองควรสะสมและจับจองไว้เพื่ออนาคตเป็นอย่างมาก
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2MnjFWT
Tags: Living, ASHTON, อโศก, พร้อมพงษ์, สีลม, สามย่าน, condominium, Urban