เสร็จจากการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ที่ไทยเพิ่งเป็นเจ้าภาพ (ในฐานะประธานอาเซียน) ไปไม่ทันไร อาเซียนก็จะมีการประชุมที่สำคัญอีกครั้งในวันที่ 25-27 พฤศจิกายนนี้ ที่ผู้นำประเทศอาเซียนจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนเกาหลีใต้ (ASEAN-ROK Commemorative Summit/·아세안 특별정상회의) ที่เมืองปูซาน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี การเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย พร้อมกับการประชุมที่สำคัญสำหรับไทยอีกการประชุมหนึ่งนั่นคือ การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม) กับเกาหลีใต้ (1st Mekong-ROK Summit/1 ·메콩 정상회의) ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำในกรอบความร่วมมือนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

สิ่งที่น่าสนใจและจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้คือเรื่องนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy/신남방정책) และสองคือ ฝ่ายเกาหลีใต้คิดอะไร ทำไมอยู่ดี ถึงได้หันมาสนใจอาเซียนเป็นพิเศษ และเรื่องสุดท้ายคือ รัฐบาลประธานาธิบดีมุน แชอิน แห่งประเทศเกาหลีใต้ได้ทำอะไรบ้างเพื่อแสดงว่า เกาหลีใต้ตั้งใจจะยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียนตั้งแต่เดือนแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

รู้จักนโยบายมุ่งใต้ใหม่

มุน แชอินได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่เขาลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้วว่า เขาจะส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมอาเซียน) และอินเดีย ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ในเอกสารแถลงนโยบายของผู้สมัคร (Presidential Election Manifesto/대통령선거 정책공약집) ระบุว่า รัฐบาลของท่านจะให้ความสำคัญแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจเสมอกันกับประเทศมหาอำนาจทั้งสี่ที่เป็นผู้เล่นหลักในประเด็นคาบสมุทรเกาหลี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย

เมื่อชนะเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม .. 2017 แล้ว อีกสิบวันต่อมา มุน แชอินก็ได้ประกาศนโยบายรัฐบาล โดยกำหนด 5 เป้าหมาย 20 ยุทธศาสตร์ 100 ประเด็น โดยข้อที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนและอินเดียนั้นบรรจุอยู่ในเป้าหมายที่ 5 ว่าด้วยคาบสมุทรเกาหลีที่มีสันติภาพและความมั่งคั่ง ยุทธศาสตร์ที่ 3 ว่าด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านการทูต ประเด็นที่ 98 ว่าด้วยการสร้างประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือบวกที่มีความรับผิดชอบ (A Responsible Northeast Asia Plus Community)

ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน มุน แชอินได้เดินทางเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียเมื่อเขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีและประกาศนโยบายมุ่งใต้ใหม่สู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในที่ประชุมภาคธุรกิจอินโดนีเซียเกาหลีใต้ (Indonesia-Korea Business Forum) ในวันต่อมา Project Syndicate ได้เผยแพร่บทความชื่อว่าสู่ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง’ (Toward a People-centered ASEAN Community) ซึ่งเป็นบทความภาษาอังกฤษบทความแรกที่มีชื่อประธานาธิบดีมุน แชอินเป็นผู้เขียน

ประเด็นหลักของบทความนี้อยู่ที่การนำเสนอคำและความคิดหลักของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ประกอบด้วย ประชาชน (People/사람) ความมั่งคั่งร่วมกัน’ (Prosperity/상생번영) และสันติภาพ (Peace/평화) ซึ่งเรียกรวมกันว่า 3Ps และต่อมาได้กลายเป็นคำที่ผู้ปฏิบัตินโยบายและนักวิชาการใช้ เมื่อกล่าวถึงนโยบายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี นโยบายมุ่งใต้ใหม่มีคำสำคัญเพียงแค่เรื่อง 3Ps จนกระทั่งรัฐบาลประกาศจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษระดับประธานาธิบดีว่าด้วยนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (Presidential Committee on New Southern Policy/신남방정책특별위원회) ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 อาจารย์และนักวิจัยชาวเกาหลีที่ทำงานเรื่องอาเซียนหลายท่าน ได้ข้อมูลว่า มีสองเหตุผลที่ทำให้การจัดตั้งคณะกรรมการนี้ใช้เวลาถึง 6 เดือน เหตุผลแรกคือ รัฐบาลท่านมุน แชอินทุ่มแรงกายแรงใจไปกับการเตรียมกีฬาโอลิมปิกที่พย็องชัง และบริหารจัดการความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือที่มีผลสุดท้ายเป็นการประชุมสุดยอดกับคิมจ็องอึนที่พันมุนจ็อม

เหตุผลที่สองคือ ผู้ปฏิบัตินโยบายมีการหารือกันอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานั้นว่า กระทรวงใดควรรับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีกระทรวงหลักอยู่สองสามกระทรวงที่ยืนยันว่าจะเป็นเจ้าภาพให้ได้ เพราะเห็นว่า อาเซียนอยู่ในขอบข่ายอำนาจการทำงานของกระทรวงตนเอง ผลสุดท้าย ทุกฝ่ายได้ข้อสรุปที่การจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษระดับประธานาธิบดี เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัตินโยบายได้พัฒนากรอบความคิดของการจัดทำนโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยระดมความคิดเห็นจากภาคนโยบาย ภาควิชาการ และภาคประชาชนบางส่วน ทั้งฝ่ายอาเซียนและฝ่ายเกาหลีใต้ ซึ่งในที่สุด คณะกรรมการพิเศษระดับประธานาธิบดีได้ประกาศ 16 ประเด็นสำคัญของนโยบายดังกล่าวภายใต้ 3Ps ดังนี้

ประชาชน

1. ทำให้เกาหลีใต้เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของชาวอาเซียนและอินเดีย

2. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมแบบสื่อสารสองทาง (Two-way) กับประเทศอาเซียนและอินเดีย

3. เสริมสร้างขีดความสามารถให้นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ และข้าราชการชาวอาเซียนและอินเดีย

4. สนับสนุนการสร้างขีดความสามารถการบริหารภาครัฐและการจัดการปกครองของประเทศอาเซียนและอินเดีย

5. เสริมสร้างการพิทักษ์สิทธิของผู้อาศัยชาวต่างชาติและแรงงานชาวอาเซียนและอินเดียในเกาหลีใต้

6. ยกระดับคุณภาพชีวิตในประเทศอาเซียนและอินเดีย

ความมั่งคั่งร่วมกัน

1. สร้างขีดความสามารถเชิงสถาบันเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับประเทศอาเซียนทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี

2. พัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคโดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอาเซียนและอินเดีย

3. สนับสนุน SMEs เกาหลีให้ออกไปสู่ตลาดอาเซียนและอินเดีย โดยเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรและประมง และผลิตภัณฑ์เสริมความงามของเกาหลี

4. สร้างการเติบโตเชิงนวัตกรรมผ่านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมใหม่ ระหว่างเกาหลีอาเซียนอินเดีย

5. สร้างรูปแบบความร่วมมือที่ตอบโจทย์เฉพาะของแต่ละประเทศ

สันติภาพ

1. เพิ่มจำนวนการประชุมสุดยอดผู้นำและการแลกเปลี่ยนระดับสูง

2. ส่งเสริมบทบาทและความร่วมมือกับอาเซียนและอินเดียในกระบวนการสันติภาพประเด็นคาบสมุทร เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองเกาหลี และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ

3. ส่งเสริมความร่วมมือกับอาเซียนและอินเดีย ในประเด็นการป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

4. ตอบสนองภัยคุกคามจากการก่อการร้าย อาชญากรรมไซเบอร์ และภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทะเลในประเทศอาเซียนและอินเดีย ร่วมกัน

5. เสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินให้แก่อาเซียน

รู้จักวิธีคิดของฝ่ายเกาหลี

มีสองปัจจัยหลักที่ทำให้เกาหลีใต้สนใจอาเซียนเป็นพิเศษ นั่นคือ สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศของเกาหลีใต้เอง ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์ ดร. ชเว ว็อนกี (Choe Wongi) ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนอินเดียศึกษา สถาบันการทูตแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea National Diplomatic Academy: KNDA) ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายนี้เป็นความพยายามลดและกระจายความเสี่ยงทางการทูต (Hedging and Diversification Efforts) ออกจากประเทศมหาอำนาจหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย

อาจารย์ชเวมองว่า จุดยืนของเกาหลีใต้ก็คล้ายกับอาเซียนที่พยายามไม่เลือกข้างระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทั้งอาเซียนและเกาหลีต่างก็มีเป้าหมายที่จะสร้างโครงสร้างองค์กรระดับภูมิภาคที่รวมทุกคนไว้ด้วยกัน (Inclusive Regional Architecture) เพราะฉะนั้น เกาหลีใต้กับอาเซียนน่าจะทำอะไรด้วยกันได้อีกมาก

พอมองลึกลงไปในความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ ดูเหมือนว่า อาเซียนเองก็สำคัญต่อเกาหลีใต้ไม่น้อย และฝ่ายเกาหลีใต้เองก็เห็นศักยภาพของอาเซียน สถิติของศูนย์อาเซียนเกาหลี (ASEAN-Korea Centre/아세안센터) ระบุว่า ในปี 2018 อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่เกาหลีใต้ส่งสินค้าออกไปเป็นอันดับสองรองจากจีน และเป็นภูมิภาคที่นักท่องเที่ยวเกาหลีมาท่องเที่ยวมากที่สุด

เอกสารแนะนำนโยบายมุ่งใต้ใหม่ระบุว่า อาเซียนมีข้อดี 4 ประการ (1) เป็นภูมิภาคของคนหนุ่มสาวที่เปลี่ยนแปลงและปรับตัวตลอดเวลา ยังเติบโตได้อีก

(2) เป็นตลาดโตเร็ว ที่น่าจะสร้างความมั่งคั่งร่วมกันได้

(3) อาเซียนกับอินเดียเมื่อผนวกกับเกาหลีแล้ว จะมีศักยภาพในการสร้างประชาคมของประชาชนที่มั่งคั่งและมีสันติภาพได้

(4) อาเซียนกับเกาหลีมีฐานการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนที่ดี และสามารถขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีก

สำหรับปัจจัยการเมืองภายใน ผมเคยเขียนบทความวิเคราะห์ไว้ว่า .. 2019 เป็นปีที่รัฐบาลมุน แชอินค่อนข้างจะเหนื่อย เพราะเผชิญปัญหารอบด้าน ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจที่เขาสัญญาว่าจะส่งเสริมการจ้างงาน แต่พอทำไปทำมา อัตราว่างงานกลับเพิ่มสูงขึ้น แนวร่วมทางการเมืองที่เคยสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของเขาก็เริ่มหันมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนในด้านการเมือง คะแนนนิยมของมุน แชอินในหมู่คนหนุ่มสาวลดลง คนใกล้ชิดของเขาหลายคนถูกอัยการติดตามตรวจสอบในข้อหาประพฤติมิชอบ

ส่วนด้านการต่างประเทศ เกาหลีใต้ก็มีปัญหากับญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวของเกาหลีใต้เอง ปัญหาเกาหลีเหนือก็ไม่มีท่าทีว่าจะแก้ได้สำเร็จ คิมจ็องอึนกลับมาทดสอบขีปนาวุธอีกครั้ง ก็เหลือแต่เรื่องอาเซียนที่พอจะเป็นความหวังเดียวที่มุน แชอินมี โดยเขาแถลงเองในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ศูนย์ประชุมและนิทรรศการแห่งนครปูซาน (BEXCO) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนเกาหลีใต้ ที่ปูซานนี้คือการประชุมระดับพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดแล้วในรัฐบาลของเขา 

รู้จักหาโอกาสจากสิ่งที่เกาหลีใต้ทำให้

นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ทั้งอาเซียนและเกาหลีใต้จะได้ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ซึ่งจะเป็นฐานของความร่วมมือที่ยั่งยืนในอนาคต จริงๆ ในบรรดาคู่เจรจาของประเทศอาเซียนด้วยกัน เกาหลีใต้น่าจะเป็นประเทศที่อาเซียนคบด้วยแล้วสบายใจที่สุด เพราะเป็นประเทศขนาดกลางเหมือนกับอาเซียน อาจารย์ชเวได้กล่าวไปแล้วว่า พอสหรัฐอเมริกากับจีนขัดแย้งกัน เราสองคนก็เดือดร้อน ฉะนั้น เราสองคนก็ต้องยืนยันว่า เราจะไม่เลือกข้าง ที่สำคัญ คบกับเกาหลีใต้ไม่ต้องไปกลัวว่าจะมาครอบงำอะไรเราได้ เพราะเขาเองก็ไม่มีกำลังพอทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง สำหรับตัวผมเองคิดว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีใต้ย่อมเป็นโอกาสและเป็นทางเลือกให้เรามีอีกหนึ่งคนที่พอจะมองไปแล้วสามารถมาช่วยเราได้

วิธีที่รัฐบาลมุน แชอิน และคนที่ทำงานในเรื่องนี้ทำงานพยายามจะแสดงให้อาเซียนเห็นว่า เกาหลีใต้จริงจังกับอาเซียน ก็เหมือนวิธีที่คนเกาหลีใต้จีบกันนั่นแหละ ต้องทุ่มเทสารพัดโปรโมชัน โดยหลังจากมุน แชอินชนะการเลือกตั้ง เขาก็ส่งปัก ว็อนซุน ผู้ว่าราชการกรุงโซลเป็นผู้แทนพิเศษเยือนฟิลิปปินส์ (ประธานอาเซียน) อินโดนีเซีย และเวียดนาม นกจากนี้เขายังสัญญาว่าจะเดินทางมาเยี่ยมเยียมทั้ง 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งเขาก็สามารถทำตามสัญญาได้โดยใช้เวลาไม่นาน ในบรรดาการเยือนอาเซียนของมุน แชอินนั้น มีเพียง 3 ประเทศที่เขาเดินทางมาถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลา 2 ปีที่ประกาศนโยบาย ซึ่งก็คือสิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

นอกจากการเดินทางเยือนประเทศอาเซียนด้วยตัวประธานาธิบดีเองแล้ว เกาหลีใต้ได้สถาปนากรมอาเซียน (Department of ASEAN and Southeast Asian Affairs/아세안국) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยยุบรวมกองความร่วมมืออาเซียนที่มีอยู่เดิมเข้ากับกองที่ดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศอาเซียน เกาหลีใต้ยังถือเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกที่จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Culture House/아세안문화원) ภายนอกกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นประเทศคู่เจรจาแรกที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำถึง 3 ครั้ง และเป็นประเทศคู่เจรจาแรกที่บรรจุคำว่าประชาชน (People) เข้าไปในคำขวัญของการประชุม

ซึ่งคำขวัญของการประชุมในปีนี้คือ Partnership for Peace, Prosperity for People (동행,평화와 번영) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง 3P ของมุน แชอินกับ Partnership คำสำคัญของการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลและผู้ที่ทำงานเรื่องอาเซียนในเกาหลีได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจหลายกิจกรรมด้วยกัน อาทิ งานสัปดาห์อาเซียน ลานหน้าศาลาว่าการกรุงโซล รถจำหน่ายกาแฟอาเซียนที่เวียนไปตามมหาวิทยาลัยหลักของประเทศ มีนางคัง คย็องฮวา (Kang Kyung-wha) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ทำพิธีเปิด โครงการรถไฟอาเซียนเกาหลีที่เชิญศิลปินชาวอาเซียนและแขกพิเศษจำนวนหนึ่งเดินทางไปบนรถไฟที่ตกแต่งใหม่โดยเฉพาะไปตามเมืองต่างๆ ได้แก่ โซล คย็องจู ปูซาน ซุนช็อน และควังจู

ล่าสุด เทศบาลนครปูซานได้ประกาศสถาปนาถนนอาเซียน (ASEAN Road/아세안로) ขึ้นจากหน้าอาคารศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนไปจนถึงศูนย์วัฒนธรรมแฮอุนแด ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เพื่อเตรียมการไปสู่การประชุมสุดยอดอาเซียนเกาหลีใต้ ซึ่งกิจกรรมบางส่วน ผมและเพื่อนๆ ชาวอาเซียนจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสเป็นผู้เสนอข้อคิดเห็นผ่านโต๊ะกลมอาเซียน (ASEAN Roundtable) เข้าไปที่คณะกรรมการระดับประธานาธิบดีว่าด้วยนโยบายมุ่งใต้ใหม่ และคณะกรรมการก็ได้พิจารณาปรับรูปแบบออกมาเป็นกิจกรรมตามที่ได้กล่าวไป ซึ่งนับเป็นความภูมิใจเล็กๆ ของพวกเราในฐานะนักศึกษาการระหว่างประเทศที่ได้ทดลองขับเคลื่อนวาระด้วยการปฏิบัติจริง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ที่กำลังจะยกระดับให้แน่นแฟ้นให้ยิ่งขึ้น รอติดตามการประชุมสุดยอดอาเซียนเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายนนี้ เพื่อดูว่าเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายมุ่งใต้ใหม่และข้อตกลงที่ผู้นำทั้งหลายไปประชุมกันได้อย่างไรบ้าง เพราะนี่ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพราะเราก็มีวาระหลายอย่างที่สอดคล้องกับกรอบประเด็นนโยบายของเกาหลีใต้ ที่สามารถนำความร่วมมือสู่การพัฒนาไปด้วยกันได้ในอนาคต

Tags: , ,