ครั้งหนึ่ง ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของสเปนอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ภาพวาด (ศิลปะ) ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อเป็นของตกแต่งอพาร์ตเมนต์ หากแต่เป็นอาวุธที่รุนแรงและทรงพลังในการต่อต้านศัตรู” ภาพวาดชิ้นเอกของเขาอย่าง Guernica คงเป็นเครื่องยืนยันคำพูดนี้ของเขาได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงแต่ศิลปินวาดภาพอย่างปิกัสโซเท่านั้น แต่ยังมีศิลปินดนตรีอีกมากมายหลายคนที่ไม่เพียงใช้ผลงานของพวกเขาและสร้างความเพลิดเพลินเจริญหูเจริญใจให้แก่ผู้คนแต่เพียงอย่างเดียว หากพวกเขาและเธอยังใช้ดนตรีเป็นอาวุธในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นอาวุธในการต่อต้านความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม อาวุธในการต่อต้านสงคราม ระบอบเผด็จการ และอาวุธที่ต่อสู้เพื่อผู้คนถูกกดขี่ข่มเหง ยากไร้ และไม่เคยได้รับการเหลียวแลในสังคม หรือแม้แต่เป็นอาวุธในการต่อสู้เรียกร้องสันติภาพหรือเสรีภาพ เรามาดูตัวอย่างของศิลปินผู้ใช้ดนตรีเป็นอาวุธกันเถอะ
ดนตรีที่เป็นอาวุธในการต่อสู้เรียกร้องสันติภาพ
ดังเช่นในงานดนตรีของ จอห์น เลนนอน (John Lennon) นักร้อง นักแต่งเพลง อดีตสมาชิกของ The Beatles วงดนตรีที่ยิ่งใหญ่และเป็นตำนานที่สุดของอังกฤษ เลนนอนได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงที่ดีที่สุดของเกาะอังกฤษจวบจนปัจจุบัน (โดยมีเครดิตในช่วงแรกร่วมกับสหายร่วมวงอย่างพอล แม็กคาร์ตนีย์ ในนาม เลนนอน/แม็กคาร์ตนีย์) ภายหลังยุติบทบาทสมาชิก The Beatles เลนนอนยังสร้างสรรค์อัลบั้มดนตรีและบทเพลงชั้นเยี่ยมออกมาหลายต่อหลายชิ้น
นอกจากจะเป็นศิลปินดนตรีแล้ว เลนนอนยังมีบทบาทในฐานะนักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง ร่วมกับคู่รักของเขา โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) บทเพลงในฐานะศิลปินคู่กับโอโนะ
ผลงานเพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขาก็คือ Imagine (1975) บทเพลงจากอัลบั้มที่สองของเขาในชื่อเดียวกัน ในปี 1971 ถึงแม้เพลงนี้จะมีท่วงทำนองที่ไพเราะ หวานซึ้งชวนฝัน แต่เนื้อหาของเพลงนั้นค่อนข้างแรงเอาการ เพราะมันพูดถึงการต่อต้านศาสนา ต่อต้านความเป็นชาตินิยมและความเป็นประเทศ ต่อต้านทุนนิยมและการถือครองทรัพย์สิน และที่สำคัญที่สุด ต่อต้านสงคราม
เพลงนี้ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเลนนอนและโอโนะ อย่าง Bed-Ins For Peace ที่เลนนอนและโอโนะทำขึ้นในช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามกำลังระอุในปี 1969
ถึงแม้เพลงนี้จะโด่งดังและได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนก็กังขาถึงเนื้อหาในเพลงที่บอกให้ผู้คนทั่วโลกจินตนาการถึงการไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติ (imagine no possessions) ในขณะที่ตัวผู้ร้องและแต่งเพลงเป็นเศรษฐีมีเงินหลายล้านดอลลาร์ฯ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ มาร์ก เดวิด แชปแมน (Mark David Chapman) ที่บุกเข้าไปยิงเลนนอนจนเสียชีวิตในวันที่ 8 ธันวาคม 1980 อย่างไรก็ดี หลังจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ก็ยิ่งทำให้คนทั่วโลกตระหนักถึงสารที่ส่งผ่านบทเพลง และส่งให้เพลงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสันติภาพและต่อต้านสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
ดนตรีที่เป็นอาวุธในการต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรง
ดังเช่นในบทเพลงที่มีความเป็นการเมืองอย่างชัดเจนที่สุดของวงดนตรีร็อกสัญชาติไอริช U2 อย่าง Sunday Bloody Sunday (1983) จากสตูดิโออัลบั้มลำดับที่สามของพวกเขาอย่าง War ที่มีเนื้อหาบรรยายความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ ‘วันอาทิตย์ทมิฬ’ (Bloody Sunday) หรือ ‘การสังหารหมู่บ็อกไซต์’ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 1972 ในเขตบ็อกไซต์ เมืองเดอร์รี ไอร์แลนด์เหนือ เมื่อทหารพลร่มแห่งกองทัพอังกฤษยิงกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมือง 26 คน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คนในที่เกิดเหตุ และบาดเจ็บสาหัสจนเสียชีวิตอีก 4 คน ในเวลาต่อมา มีผู้เห็นเหตุการณ์และนักหนังสือพิมพ์หลายคนยืนยันว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกยิงไม่มีอาวุธ ผู้ชุมนุม 5 คน ยังได้รับบาดเจ็บจากการโดนยิงทางด้านหลังในระหว่างถูกไล่ตามโดยพาหนะของกองทัพ เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อความขัดแย้งทางการเมืองในไอร์แลนด์เหนืออย่างมาก เนื่องจากผู้ลงมือเป็นทหารและกระทำในที่เปิดเผย จนทำให้มีผู้เข้าร่วมในกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ หรือ IRA (Irish Republican Army) ผู้ต่อสู้กับกองทัพอังกฤษเพื่อปลดปล่อยไอร์แลนด์เหนือให้แยกตัวจากสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ความจริงคนที่แต่งเพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เป็นคนแรกคือจอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ ที่เขียนเพลงในชื่อ Sunday Bloody Sunday เช่นกันในปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ เป็นซิงเกิลในอัลบั้มเดี่ยว Sometime In New York City ของเขา แต่เพลงไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก และถูกนักวิจารณ์สับว่าเพลงไม่มีพลังพอที่จะสื่อถึงความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ถึงแม้ U2 จะเป็นกลุ่มที่ 2 ที่แต่งเพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในอีก 11 ปีให้หลัง โดยได้แรงบันดาลใจจากการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้สนับสนุน IRA ในนิวยอร์ก พวกเขายังได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายของ เอ็ดเวิร์ด ดาลลี (Edward Daly) บาทหลวงคาทอลิกผู้ออกมาปกป้องผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บด้วยการโบกผ้าเช็ดหน้าเปื้อนเลือดเพื่อขอให้ทหารหยุดยิง
โบโน ฟรอนต์แมนและผู้แต่งเพลงของ U2 กล่าวว่า เพลงนี้เกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์อาทิตย์ทมิฬอันโหดเหี้ยมในครั้งนั้น เวลาที่เขาร้องเพลงนี้ เขามักจะโบกธงสีขาวเพื่อรำลึกถึงเอ็ดเวิร์ด ดาลลี และเพื่อแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของสันติภาพ เพลงนี้มีบทบาทอย่างมากต่อความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือที่มีมาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งในเพลงประท้วงทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการดนตรี
ในทางกลับกัน บทเพลง Zombie (1994) จากสตูดิโออัลบั้มลำดับสองของวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกจากไอร์แลนด์อย่าง The Cranberries อย่าง No Need to Argue ที่แต่งขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดของกลุ่ม IRA ในเมืองวอร์ริงตัน ประเทศอังกฤษ ส่งผลให้เด็กชายสองคนคือ โจนาธาน บอล (Johnathan Ball) วัย 3 ขวบ และทิม แพร์รี (Tim Parry) วัย 10 ขวบ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีก 56 คน
โดโลเรส โอริออร์แดน (Dolores O’Riordan) นักร้องนำของวง แต่งเพลงนี้ขึ้นด้วยความคับแค้นใจที่มีต่อปฏิบัติการณ์ก่อการร้ายของกลุ่ม IRA ในนามของประเทศไอร์แลนด์ ที่คร่าชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ เธอกล่าวว่า “ถ้อยคำที่ร้องในบทเพลงว่า ‘มันไม่ใช่ฉัน มันไม่ใช่ครอบครัวของฉัน’ นั่นคือสิ่งที่ฉันต้องการบอก IRA ไม่ใช่ฉัน ไม่ใช่ครอบครัวของฉัน และไม่ใช่วง The Cranberries แต่เป็นแค่คนเขลาที่จมอยู่กับอดีต” หลังจากเพลงนี้ถูกปล่อยออกมาไม่นาน กลุ่ม IRA ก็ประกาศหยุดยิงในวันที่ 31 สิงหาคม 1994 อันเป็นจุดเริ่มต้นการยุติความรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือ และเพลงนี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านความรุนแรงและการเรียกร้องสันติภาพนับแต่นั้นมา
ดนตรีที่เป็นอาวุธในการต่อต้านสงครามและระบอบเผด็จการ
ดังเช่นในงานดนตรีจากอัลบั้ม The Wall (1979) สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 11 ของวงดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกระดับตำนานสัญชาติอังกฤษอย่าง Pink Floyd อัลบั้มคู่ที่มีลักษณะเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้ม หรืองานดนตรีที่เพลงทุกเพลงในอัลบั้มมีความต่อเนื่องทางความคิดเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้าย เนื้อหาของอัลบั้มกล่าวถึงการถูกทอดทิ้ง ความโดดเดี่ยว แปลกแยก โดยใช้ ‘กำแพง’ เป็นตัวอุปมาอุปไมยถึงการหลีกหนีสังคมจากผลพวงของสงคราม และวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของอังกฤษอย่างแหลมคม เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในบทเพลงของอัลบั้มอย่างลึกซึ้งคมคายและทรงพลัง
เรื่องราวในอัลบั้ม The Wall เปรียบเสมือนอนุทินชีวิตของหัวหน้าและผู้แต่งเพลงของวงอย่าง โรเจอร์ วอเตอร์ส (Roger Waters) ที่ต้องสูญเสียพ่อไปตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัยในสงครามโลกครั้งที่สอง และการถูกกดขี่โดยระบบการศึกษาอันคับแคบและเป็นเผด็จการในโรงเรียน ส่งผลให้เขากลายเป็นวัยรุ่นขบถ ต่อต้านระบบการศึกษา ปฏิเสธระบอบอันครอบงำความคิดและเป็นเผด็จการ รวมถึงตั้งคำถามต่อระบบการเมือง สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเข้มข้นในผลงานช่วงหลังๆ ของเขาในนาม Pink Floyd และสุกงอมจนถึงจุดสุดยอดในอัลบั้ม The Wall นั่นเอง
นอกจากนี้ เพลงเอกในอัลบั้ม The Wall อย่าง Another Brick in the Wall (Part 2) ก็เป็นเพลงที่โด่งดังและทรงอิทธิพลทางการเมือง ถึงขนาดที่วงร็อกของอิหร่านนำเพลงนี้ไปใช้เป็นเพลงชาติสำหรับวัยรุ่นในการประท้วงและต่อต้านรัฐบาลเผด็จการเลยทีเดียว ในขณะเดียวกัน เพลงและอัลบั้มนี้ก็เป็นที่ชิงชังของผู้มีอำนาจรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานทางการศึกษาและนายกรัฐมนตรีฉายาหญิงเหล็กอย่าง มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) แถมยังถูกแบนในแอฟริกาใต้ในปี 1980 หลังจากที่ถูกใช้โดยผู้สนับสนุนการคว่ำบาตรโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อประท้วงความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติและการแบ่งแยกสีผิวในระบบการศึกษาของแอฟริกาใต้
หรือเพลง If You Tolerate This Your Children Will Be Next (1998) ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อกจากเวลส์อย่าง Manic Street Preachers ในสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 5 ของวงอย่าง This Is My Truth Tell Me Yours ที่เนื้อหาของเพลงได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของสงครามกลางเมืองสเปน และพฤติการณ์ของชาวเวลส์ ที่อาสาสมัครเข้าร่วมกับกองพลกลุ่มน้อยนานาชาติฝ่ายซ้ายที่ร่วมกับสาธารณรัฐสเปน ในการรบกับกองกำลังกบฏของจอมพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ที่ต่อมาได้รับชัยชนะและเถลิงอำนาจกลายผู้นำเผด็จการของสเปนอย่างยาวนานจนสิ้นอายุขัย
ทางวงนำชื่อเพลงนี้มาจากโปสเตอร์ของฝ่ายสาธารณรัฐในช่วงเวลานั้น ที่เป็นรูปของเด็กน้อยไร้วิญญาณผู้ถูกสังหารโดยทหารฝ่ายชาตินิยมของฟรังโก เธอทอดกายภายใต้ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด โดยมีพาดหัวคำเตือนอยู่ด้านล่างว่า “If you tolerate this, your children will be next” (ถ้าคุณยอมทนต่อสิ่งนี้, ลูกหลานคุณก็จะเป็นรายต่อไป)
ประโยคในเพลงที่ว่า “If I can shoot rabbits then I can shoot fascists” (ถ้าฉันสามารถฆ่ากระต่าย งั้นฉันก็คงยิงพวกฟาสซิสต์ทิ้งได้เช่นกัน) นั้น ได้มาจากคำพูดของของชายคนหนึ่งที่สมัครเข้าร่วมกองทัพสาธารณรัฐที่ให้สัมภาษณ์ขณะอยู่ในกองทัพ โดยอ้างอิงมาจากหนังสือ Miners Against Fascism (คนงานเหมืองต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์) ของ ไฮเวล ฟรานซิส อีกทีหนึ่ง
ส่วน นิกกี้ ไวร์ มือเบสและนักเขียนเพลงของวงกล่าวว่า เขาได้แรงบันดาลใจในการเขียนเนื้อเพลงเพลงนี้มาจากเพลง Spanish Bombs ของ The Clash ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองของสเปนเช่นเดียวกัน
ในเดือนมีนาคม 2009 มีการพบว่าเพลงนี้ถูกนำไปใช้ในเว็บไซต์ของพรรคชาตินิยมอังกฤษ ในฐานะซาวด์แทร็กของบทความที่เขียนเกึ่ยวกับ ‘ความรุนแรง ความเกลียดชัง ความแตกแยก และความสิ้นหวัง’ ที่ถูกสร้างขึ้นในลอนดอนจากการทดลองแนวคิดพหุวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ซึ่งก็ออกจะเป็นเรื่องที่ยอกย้อนเอาการ ถ้านึกถึงเนื้อหาของเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากกองทัพที่ต่อสู้กับฝ่ายชาตินิยม และในที่สุด ทางค่ายต้นสังกัดอย่างโซนีก็ดำเนินการให้เพลงนี้ถูกถอดออกจากเว็บไซต์เป็นผลสำเร็จด้วยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ โดยพรรคชาตินิยมอังกฤษออกมาแถลงข่าวในภายหลัง ว่าเพลงนี้ถูกนำไปเปิดในเว็บไซต์ด้วยความเข้าใจผิดและเป็นอุบัติเหตุ และเพลงนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับทางพรรคฯ เลยแม้แต่น้อย
เพลงนี้ถูกบันทึกในหนังสือกินเนสส์บุ๊กเวิลด์เรคคอร์ดส์ในฐานะเพลงที่มีชื่อยาวที่สุด (โดยไม่มีวงเล็บ) และยังถูกโหวตให้อยู่ในอันดับที่ 20 ของ 100 เพลงฮิตติดซิงเกิลอันดับหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จัดโดยรายการโทรทัศน์ Channel 4 อีกด้วย
ดนตรีที่เป็นอาวุธในการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม
ดังเช่นในบทเพลงของ โจนี มิตเชลล์ (Joni Mitchell) นักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลง และจิตรกรชาวแคนาดา ผู้เป็นนักแต่งเพลงสำคัญและทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ด้วยบทเพลงที่มีเนื้อหาสละสลวย ทว่าลุ่มลึกแหลมคม และถ่ายทอดประเด็นทางการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และความเหลื่อมล้ำทางเพศ ผสานกับเรื่องราวของความรัก อารมณ์ความรู้สึก ความเจ็บปวดสับสน และสัจธรรมในชีวิตของคนออกมาอย่างงดงามเปี่ยมความหมาย
หนึ่งในบทเพลงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเธอคือเพลง Big Yellow Taxi (1971) จากอัลบั้ม Ladies of the Canyon ของเธอ ที่เป็นเหมือนเพลงชาติของการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมิตเชลล์ได้แรงบันดาลใจจากการนั่งรถแท็กซีไปยังโรงแรมในฮาวาย และเห็นป่าไม้สีเขียวสวยงามถูกแทนที่ด้วยลานจอดรถสุดลูกหูลูกตา เธอจึงแต่งเพลงนี้ขึ้นมา บังเอิญกับในช่วงนั้นกำลังมีข่าวการต่อสู้เพื่อปกป้องป่าเรดวูดในละแวกบ้านของเธอในลอเรลแคนยอน ลอสแองเจลิส ที่กำลังถูกคุกคามโดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการโค่นป่าเพื่อสร้างศูนย์การค้าด้วย ดังเช่นท่อนหนึ่งในบทเพลงนี้เของธอที่กล่าวว่าสักวันหนึ่ง “พวกเขาจะเอาต้นไม้ทั้งหมดเข้าไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ และผู้คนทั้งหลายจะต้องเสียเงินค่าตั๋วเข้าไปดูต้นไม้เหล่านั้นแทน” บทเพลงนี้ยังกล่าวถึงโทษของการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างดีดีที ที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายสิ่งแวดล้อมและชีวิตสัตว์ในธรรมชาติ ซึ่งเพลงนี้ก็มีส่วนในการผลักดันให้เกิดนโยบายแบนการใช้ดีดีทีอย่างสิ้นเชิงในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ดังเช่นเนื้อหาในเพลงนี้ของเธอที่ว่า “อย่ามัวแต่รู้ค่าในสิ่งที่คุณมี ก็ต่อเมื่อมันหายไปแล้ว เมื่อพวกเขาถมสวนสวรรค์และแทนที่มันด้วยลานจอดรถ” กว่าที่มิตเชลล์จะรู้ว่าเพลงนี้ของเธอสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ก็ต่อเมื่อเธอได้เห็นลานจอดรถหลายแห่งถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะแทนนั่นแหละนะ
ดนตรีที่เป็นอาวุธในการต่อสู้กับการเหยียดสีผิวชาติพันธุ์และกฎหมายอันเหลื่อมล้ำ
นอกจากเพลง Strange Fruit ของ บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) และเพลง What’s Going On ของ มาร์วิน เกย์ (Marvin Gaye) ที่มีเนื้อหาในการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิว และการใช้ความรุนแรงโหดร้ายต่อคนผิวดำในประวัติศาสตร์อเมริกันแล้ว
บทเพลงของวงดนตรีฮิปฮอปอเมริกันอย่าง N.W.A. (Niggaz wit Attitudes) ที่โด่งดังในช่วงยุค 1986-1991 ในฐานะวงดนตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดวงหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีฮิปฮอป ผู้จุดกระแสดนตรี West Coast hip hop และดนตรี Gangsta Rap ขึ้นมา อย่างเพลง Fuck tha Police (1988) ในอัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาอย่าง Straight Outta Compton ที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นการประท้วงตำรวจ (หรือจริงๆ คือด่านั่นแหละ) ด้วยความที่สมาชิกผู้ก่อตั้งวงเป็นเด็กหนุ่มผิวดำที่เติบโตในเมืองคอมป์ตัน ที่ติดอันดับเมืองที่อันตรายอันดับต้นๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแวดล้อมด้วยความรุนแรง อาชญากรรม การเหยียดสีผิว และความเหลื่อมล้ำของกฎหมาย และผู้รักษากฎหมายอย่างตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอยุติธรรมลำเอียง ใช้ความรุนแรงลุแก่อำนาจ ทำให้มีคนผิวดำบาดเจ็บล้มตายด้วยฝีมือเจ้าหน้าที่ตำรวจบ่อยครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะมีจุดยืนอยู่ตรงข้ามกับกฎหมาย เป็นไม้เบื่อไม้เมากับตำรวจ และสะท้อนสิ่งเหล่านี้ผ่านออกมาในบทเพลง
ด้วยความรุนแรงของเนื้อหาที่ด่าตำรวจ (อเมริกัน) อย่างตรงไปตรงมาไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรม จนทำมันกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่อื้อฉาวที่สุดในยุคนั้น นอกจากจะทำให้มันโดนแบนในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศแล้ว ยังทำให้สมาชิก N.W.A. ถูกตั้งข้อหาและจับกุมตัวไปคุมขัง ด้วยเหตุที่พวกเขาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สั่งห้ามเล่นเพลงนี้ในการแสดงสดเด็ดขาด
แต่ถึงกระนั่น เพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดของวง และติดอยู่ในอันดับ 425 ของชาร์ต 500 บทเพลงยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลที่จัดโดยนิตยสาร Rolling Stone และส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมฮิปฮอปจวบจนถึงทุกวันนี้
ดนตรีที่เป็นอาวุธอาวุธในการต่อสู้ทางการเมือง
เมื่อพูดถึงเพลงฮิปฮอป ก็ย่อมไม่อาจไม่พูดถึงหนึ่งเพลงฮิปฮอปการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของบ้านเราในยุคปัจจุบันอย่างเพลง ประเทศกูมี ของกลุ่มดนตรีฮิปฮอป Rap Against Dictatorship หรือ RAD ที่สะท้อนปัญหาอันหมักหมมในสังคมการเมืองของประเทศไทยที่มีอยู่จริง (แต่หลายคนอาจเลือกที่จะมองข้ามไป) ผ่านบทเพลงได้อย่างทรงพลัง จนถูกผู้มีอำนาจรัฐแบนและปิดกั้น (แต่ไม่สำเร็จ เพราะมีผู้อัปโหลดเพลงนี้ขึ้นระบบบล็อกเชนจนทำให้ยากที่จะลบทิ้งได้) ส่วนศิลปินผู้แต่งเพลงก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ทางการใช้อำนาจกฎหมายดำเนินคดีและควบคุมไปปรับทัศนคติ
ในทางกลับกัน เพลงนี้ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาของประเทศอย่างล้นหลาม อีกทั้งแฮชแท็ก #ประเทศกูมี ก็กลายเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ส่วนคลิปวิดีโอเพลงนี้ก็มียอดวิวพุ่งสูงถึง 97 ล้านวิว ในปัจจุบัน และปลุกกระแสให้เกิดเพลงฮิปฮอปสะท้อนปัญหาสังคมการเมืองไทยเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนไม่น้อย จนสามารถกล่าวได้ว่า ดนตรีฮิปฮอปกลายเป็นดนตรีสะท้อนสังคมเสียยิ่งกว่าดนตรีเพื่อชีวิตของเมืองไทยในยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้
อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว อยากลองถามดูอีกทีว่า ยังมีใครคิดว่าดนตรีไม่สามารถเป็นอาวุธกันอยู่อีกไหม?
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Imagine_(John_Lennon_song)
https://en.wikipedia.org/wiki/Bed-Ins_For_Peace
https://en.wikipedia.org/wiki/Sunday_Bloody_Sunday
https://en.wikipedia.org/wiki/Zombie_(The_Cranberries_song)
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Wall
https://en.wikipedia.org/wiki/If_You_Tolerate_This_Your_Children_Will_Be_Next
https://www.newframe.com/political-songs-big-yellow-taxi-joni-mitchell/
https://en.wikipedia.org/wiki/Fuck_tha_Police
ภาพยนตร์ เมืองเดือดแร็ปเปอร์กบฏ Straight Outta Compton (2015)
ภาพ
จอห์น เลนนอน และ โยโกะ โอโนะ: Bed-Ins For Peace (1969) ที่เป็นแรงบันดาลใจหนึ่งของเพลง Imagine, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Bed-Ins_For_Peace
ภาพถ่ายของ เอ็ดเวิร์ด ดาลลี (Edward Daly) บาทหลวงคาทอลิกผู้ออกมาปกป้องผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ Bloody Sunday ด้วยการโบกผ้าเช็ดหน้าเปื้อนเลือดเพื่อขอให้ทหารหยุดยิง, ภาพจาก https://line.17qq.com/articles/mkkkfshqy_p5.html
ภาพจากมิวสิกวิดีโอ Zombie ของ The Cranberries, ภาพจาก https://sharemania.us/threads/the-cranberries-zombie-official-music-video-4k.120109/
ปกอัลบั้ม The Wall ของ Pink Floyd, ภาพจาก https://thewallcomplete.com/discography/pink-floyd-the-wall/
โปสเตอร์ของฝ่ายสาธารณรัฐสเปนในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติคาตาลันยา (Museu Nacional d’Art de Catalunya) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เพลง If You Tolerate This Your Children Will Be Next, ภาพโดย Steve Kelem, ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:If_You_Tolerate_This_Your_Children_Will_Be_Next.png
ปกซิงเกิล Big Yellow Taxi ของ โจนี มิตเชลล์ ที่เป็นภาพวาดฝีมือเธอเอง, ภาพจาก https://musique.qub.ca/tout-voir/albums/joni-mitchell-35384
ภาพวงดนตรี N.W.A. ขณะกำลังเล่นเพลง Fuck Tha Police ในคอนเสิร์ตที่เมืองดีทรอยต์ ในปี 1989, ภาพจาก https://www.gq.com/story/nwa-fuck-the-police-live-detroit
ภาพจากมิวสิกวิดีโอ ประเทศกูมี ของกลุ่ม RAD, ภาพจาก https://youtu.be/VZvzvLiGUtw
Tags: Music, เพลง, ดนตรี, Arts and Politics