เริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้างสำหรับผู้หญิงที่เคยเป็นมะเร็ง แล้วต้องผ่านการทำเคมีบำบัดและฉายแสง ซึ่งเป็นขั้นตอนการรักษาที่รุนแรงจนอาจไปทำลายรังไข่จนทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ดูจะเริ่มมีความหวังในการพัฒนา ‘รังไข่เทียม’ ที่ช่วยให้ผู้หญิงกลับมาตั้งครรภ์ได้

ในงานวิจัยที่นำเสนอในงานประชุมประจำปี 2018 ของสมาคมการสืบพันธุ์ของมนุษย์และคัพภวิทยาแห่งยุโรป (European Society of Human Reproduction and Embryology) ทีมนักวิทยาศาสตร์จากกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก นำเสนอผลการศึกษาว่า รังไข่ที่สร้างขึ้นในห้องทดลองสามารถเก็บไข่ของมนุษย์ได้หลายสัปดาห์ ทำให้มีความหวังว่าวันหนึ่ง วิธีนี้จะช่วยให้ผู้หญิงมีลูกได้แม้ผ่านการรักษาที่รุนแรงอย่างการทำเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด

วิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาโอกาสในการตั้งครรภ์ คือการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่  ผู้หญิงที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งสามารถเก็บเนื้อเยื่อรังไข่ออกมาและแช่แข็งไว้ ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาที่จะเป็นอันตรายต่อรังไข่ได้ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นลง ใส่เนื้อเยื่อกลับเข้าไปใหม่ และทำให้ผู้หญิงมีลูกได้โดย ‘ธรรมชาติ’

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงว่าเนื้อเยื่อรังไข่นี้อาจจะมีเซลล์มะเร็งอยู่ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสของความเจ็บป่วยได้เมื่อมีการปลูกถ่าย แม้ว่าความเสี่ยงนี้จะต่ำมาก แต่ผู้หญิงซึ่งมีมะเร็งบางอย่าง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว และชนิดอื่นๆ ที่กำเนิดจากมดลูก ก็อาจจะไม่ได้รับการปลูกถ่าย

เพื่อกำจัดความเสี่ยง นักวิจัยจะนำถุงไข่และเนื้อเยื่อรังไข่ออกมาจากคนไข้ จากนั้นจะนำเซลล์มะเร็งออกจากเนื้อเยื่อ แล้วทิ้งไว้กับ ‘นั่งร้าน’ เพื่อให้มีการสร้างโปรตีนและคอลลาเจนขึ้นมา เลี้ยงให้ถุงไข่เจริญเติบโตบนนั่งร้านที่ทำขึ้นมาบนเนื้อเยื่อรังไข่ได้ แล้วนำไปปลูกถ่ายในร่างกายของหนู บริเวณที่สามารถรองรับให้เซลล์รังไข่รอดชีวิตและเจริญเติบโตได้

สจ๊วร์ต ลาเวรี (Stuart Lavery) สูตินารีแพทย์โรงพยาบาลแฮมเมอร์สมิธกล่าวว่า เนื้อเยื่อรังไข่ที่ปลูกถ่ายบรรจุไข่ได้หลายพันฟองที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์โดย ‘ธรรมชาติ’ ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับเด็กหลอดแก้วที่ไข่ถูกผสมในห้องทดลอง ก่อนที่จะมาฝังในมดลูก

กิลเลียน ล็อควูด แพทย์ผู้อำนวยการ Midlands Fertility Services กล่าวว่า ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่ก็คือ ทำให้ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือนใหม่ได้หลังจากที่ผ่านการรักษาขั้นรุนแรง ป้องกันจากการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนทดแทนบำบัด

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผลการศึกษานี้ “น่าตื่นเต้น” แต่ยังคงต้องทดสอบในมนุษย์ ซึ่งจะใช้เวลาพัฒนาอีกประมาณ 3-4 ปี

 

ที่มา:

Tags: ,