คำว่า atelier ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึงสตูดิโอ แต่ Montien Atelier หรือ ‘สตูดิโอของมณเฑียร’ กลับไม่ใช่พื้นที่ทำงานศิลปะของศิลปิน ทั้งยังไม่ใช่ห้องแสดงงานอย่างหอศิลป์ทั่วไป
Montien Atelier เป็นสถานที่เก็บรวบรวมบันทึกต่างๆ ที่เผยให้เห็นร่องรอยความคิดและกระบวนการทำงานศิลปะของ ‘มณเฑียร บุญมา’ ศิลปินผู้ล่วงลับ ที่นี่คือ ‘หอจดหมายเหตุ’ หรือ archive ที่แสดงเบื้องหลังการทำงานศิลปะซึ่งตามปกติผู้ชมไม่ได้รับรู้
การสืบค้นร่องรอยของอดีตจากบันทึกในรูปแบบต่างๆ ช่วยอุดช่องโหว่ระหว่างสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงกับจินตนาการของเรา ในขณะที่งานศิลปะเปิดออกสู่การตีความของสาธารณชน โดยไม่จำกัดอยู่กับความคิดตั้งต้นของศิลปิน
การเรียนรู้กระบวนการคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์ มีผลอย่างมากต่อการทำความเข้าใจศิลปะ หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่อง มรณกรรมของผู้แต่ง (The Death of the Author) ของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักคิดชาวฝรั่งเศส ซึ่งว่าด้วยอิสรภาพในการตีความของผู้ชมโดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับเจตจำนงของผู้สร้าง
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเราจะตีความอย่างไรก็ได้ ร่องรอยและภูมิหลังของศิลปินคือส่วนที่อยู่นอกเหนือไปจากตัวผลงาน แต่ส่วนที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ ‘ส่วนเกิน’ หากเป็น ‘ส่วนเสริม’ ที่ช่วยให้ผู้ชมได้รับรู้ผลงานในมิติที่ลึกขึ้น
มณเฑียรเป็นศิลปินไทยคนสำคัญผู้บุกเบิกการทำงานที่ผสมผสานระหว่างศิลปะสื่อผสม งานจัดวาง และงานเชิงความคิดเข้าด้วยกัน
Montien Atelier จัดแสดงภาพร่างผลงานสมุดบันทึก ภาพถ่าย จดหมาย วิดีโอสัมภาษณ์ และเอกสารต่างๆ ที่จุมพงษ์ บุญมา-ทายาทของศิลปิน และโสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์-ภัณฑารักษ์ รวบรวมขึ้นจากการรื้อค้นบ้านหลังเก่าของมณเฑียรในย่านติวานนท์ที่ปิดร้างตั้งแต่เขาเสียชีวิตในปี 2543
การแยกขยะของบ้านร้างออกจากชิ้นส่วนของงานทดลองทางศิลปะ เป็นปฏิบัติการขุดค้นที่ต้องอาศัยสายตาของผู้ที่คุ้นเคยกับผลงานของศิลปิน
ก้อนดินเผา อิฐมอญ บาตรแตก เศษกระดาษ ชามกระเบื้อง ข้าวของที่จมอยู่กับกองฝุ่นเหล่านี้คือหลักฐานที่บ่งชี้วิธีคิดในการทำงานชุดต่างๆ ตั้งแต่ช่วงที่มณเฑียรเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต
Montien Atelier ตั้งอยู่บนชั้นสองของตัวบ้านที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ พื้นที่ด้านหน้าประกอบด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับศึกษาข้อมูลที่เก็บไว้ในระบบดิจิทัล โต๊ะอ่านหนังสือ ชั้นหนังสือส่วนตัวของมณเฑียร แฟ้มจดหมายที่มณเฑียรเขียนถึงภรรยาเมื่อตอนไปศึกษาต่อทางด้านศิลปะที่ฝรั่งเศส และวิดีโอสัมภาษณ์ต่างๆ ถัดจากนั้นเป็นบริเวณที่จัดแสดงข้อมูล ภาพร่าง และชิ้นส่วนของผลงานบางชิ้น ทั้งหมดนี้วางอยู่ในตู้ไม้ที่มีลิ้นชักให้ดึงออกมาดูได้
การจัดสรรพื้นที่จากซ้ายไปขวาโดยเรียงตามลำดับเวลา เอื้อให้ผู้ชมติดตามความเปลี่ยนแปลงทางความคิดในการทำงานศิลปะของมณเฑียรได้สะดวก เริ่มจากความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในช่วงต้นของการทำงาน ขยับไปสู่การใช้วัสดุจากชนบท และการตั้งคำถามเชิงพุทธปรัชญาต่อความหมายของชีวิต การเจ็บไข้ได้ป่วย และความตาย
ภาพร่าง บันทึก ภาพถ่าย และข้อเขียนเกี่ยวกับผลงานเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าการทำงานศิลปะของมณเฑียรครุ่นคิดไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตในแต่ละช่วง ความสนใจในพุทธศาสนาและการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตของมณเฑียรเริ่มต้นขึ้นเมื่อจันทร์แจ่ม บุญมา-ผู้เป็นภรรยา ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง วิกฤตดังกล่าวนำไปสู่การทำงานศิลปะในฐานะเครื่องเยียวยาจิตใจ มณเฑียรซึ่งต่อมาก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งเช่นกัน สร้างผลงานขนาดใหญ่หลายชิ้นที่เชื่อมโยงเข้ากับสถาปัตยกรรมโบราณ คือ ‘อโรคยาศาลา’ ศาสนสถานที่เป็นสถานบำบัดรักษาโรคในวัฒนธรรมขอม
ผลงานอย่าง Nature’s Breast: Arokhayasala (2538) และ Temple of the Mind: Sala for the Mind (2538) มีลักษณะเป็นสถูปที่ประกอบขึ้นจากกล่องโลหะโปร่ง ภายในบรรจุสมุนไพรและกล่องไม้ เรียงทับซ้อนกันขึ้นไปจากฐานสู่ยอดตามระบบเดียวกับการเรียงหินสร้างปราสาทขอม ภายใน Nature’s Breast: Arokhayasala มีรูปปอดหล่อโลหะเคลือบสมุนไพรเชื่อมติดกันเป็นพวง ส่วน Temple of the Mind: Sala for the Mind เป็นระฆังทองเหลืองที่เคลือบด้วยสมุนไพร เมื่อผู้ชมเดินเข้ามาในอโรคยาศาลาก็จะได้กลิ่นสมุนไพรอบอวล เปรียบเสมือนการเข้ามาในวิหารแห่งการบำบัดและชำระล้าง
Montien Atelier พาผู้ชมเดินทางท่องเข้าไปในโลกเร้นลับของศิลปิน ไปสู่ชั่วขณะส่วนตัว ผ่านจดหมายและบันทึกถึงภรรยากับลูก
ในกรณีของมณเฑียร การทำงานศิลปะไม่แยกออกจากภูมิหลัง ทั้งเลือดเนื้อ ความฝัน ความปรารถนา ความเจ็บไข้ และความตาย ยังลอยอวลอยู่ในอากาศ ทิ้งร่องรอยไว้ให้ผู้ชมได้สืบเสาะ และปะติดปะต่อความรู้สึกนึกคิดของศิลปินที่ก่อรูปเป็นศิลปะ
ภาพโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ
FACT BOX:
บ้านเก่าของมณเฑียร บุญมา ตั้งอยู่ที่เลขที่ 408 งามวงศ์วาน 25 ซอย 3 ถนนงามวงศ์วาน นนทบุรี
ประกอบด้วย
– 408 Art Space พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมทางศิลปะ
– Montien Atelier หอจดหมายเหตุของมณเฑียร บุญมา
เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 12.00-19.00 น.
– ร้านอาหาร Early Birds Get Coffee