ไม่กี่วันมานี้ มีข่าวร้อนๆ ที่สร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์ เมื่อ โรเจอร์ วอเตอร์ส (Roger Waters) หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งวงพิงก์ฟลอยด์ (Pink Floyd) วงดนตรีโพรเกรสซีฟร็อกระดับตำนานสัญชาติอังกฤษ ได้ก่อวีรกรรมปฏิเสธใส่หน้าเจ้าพ่อโซเชียลเน็ตเวิร์กผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลกอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) หลังจากติดต่อขอใช้ผลงานเพลงของเขาในแคมเปญโฆษณาสำหรับอินสตาแกรม

วอเตอร์สได้กล่าวในวิดีโอการประชุมอภิปรายเพื่อสนับสนุนให้ปล่อยตัว จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์อันอื้อฉาวที่กำลังถูกคุมขังอยู่ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2021 ว่า 

“วันนี้ผมได้รับข้อความทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นคำขอลิขสิทธิ์ในการใช้เพลงหนึ่งของผม เพื่อนำไปใช้ในภาพยนตร์โฆษณาโปรโมตอินสตาแกรม มันเป็นจดหมายจากมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่เสนอเงินจำนวนมากมายมหาศาลให้ผม เพื่อแลกกับการใช้เพลงนี้ และคำตอบก็คือ เย*แ*! ไม่มีทางหรอกโว้ย!” 

“ที่ผมพูดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะมันเป็นเรื่องเลวร้ายมากที่พวกเขาจะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น ถ้าพวกเราพอจะมีอำนาจอะไรอยู่บ้าง และผมเองก็มีอำนาจเล็กๆ น้อยๆในการที่จะควบคุมสิทธิในการเผยแพร่เพลงของผม ผมก็จะทำ ผมจะไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับหมอนั่นโดยเด็ดขาด” 

วอเตอร์สยังอ่านส่วนหนึ่งของจดหมายที่เขาอ้างว่าเขียนโดยผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กว่า 

“เราขอขอบคุณสำหรับการพิจารณาข้อเสนอในครั้งนี้ เรารู้สึกว่าแก่นแท้ของเพลงนี้ยังคงเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และเป็นสิ่งที่จำเป็นในทุกวันนี้ ซึ่งบ่งบอกว่าเพลงนี้ไม่มีวันตกยุคและล้าสมัย” 

วอเตอร์สยังสำทับอีกว่า “ก็แหงสิวะ แต่พวกเขาก็ต้องเพลาๆ ลงบ้าง พวกเขาต้องการให้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมใหญ่โตและทรงอำนาจมากกว่าที่มันเป็นอยู่ เพื่อจะได้เซ็นเซอร์พวกเราทุกคนในห้องนี้ และป้องกันไม่ให้เรื่องราวเกี่ยวกับจูเลียน อัสซานจ์ออกไปสู่สาธารณชน” 

ถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่าเพลงที่โรเจอร์วอเตอร์สไม่ยอมให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเอาไปใช้คือเพลงอะไร? 

เพลงนั้นมีชื่อว่า Another Brick in the Wall (Part II) เป็นเพลงจากอัลบั้ม The Wall (1979) สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 11 ของพิงก์ฟลอยด์ (Pink Floyd) โดยเป็นอัลบั้มคู่ (ในหนึ่งอัลบั้มมีแผ่นเสียงหรือซีดีสองแผ่น) ที่มีลักษณะแบบคอนเซ็ปต์อัลบั้ม (Concept Album) หรืองานดนตรีที่ทุกเพลงในอัลบั้มมีความต่อเนื่องทางความคิดเป็นหนึ่งเดียวกัน ตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้าย 

 

 

The Wall นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างอันสมบูรณ์แบบที่สุดของงานดนตรีแบบคอนเซ็ปต์อัลบั้ม เพราะทุกเพลงในอัลบั้มคู่ชุดนี้มีเนื้อหาและทิศทางของดนตรีที่มีความต่อเนื่องร้อยเรียงกันตั้งแต่เพลงแรกไปจนถึงเพลงสุดท้าย และเมื่อจบอัลบั้ม ท่อนสุดท้ายของเพลงท้ายสุดในอัลบั้มก็จะวนกลับมาเป็นท่อนแรกของเพลงแรกในอัลบั้มอีกครั้ง 

เนื้อหาของอัลบั้ม The Wall กล่าวถึงการถูกทอดทิ้ง ความโดดเดี่ยวแปลกแยก โดยใช้ ‘กำแพง’ เป็นตัวอุปมาอุปไมยถึงการหลีกหนีสังคมจากผลพวงของสงครามและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของอังกฤษอย่างแหลมคม เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในบทเพลงของอัลบั้มได้อย่างลึกซึ้งคมคายและทรงพลังอย่างยิ่ง 

เรื่องราวในอัลบั้ม The Wall เปรียบเสมือนอนุทินชีวิตของ โรเจอร์ วอเตอร์ส มือเบส ผู้แต่งเพลง และผู้นำวงพิงก์ฟลอยด์ในขณะนั้น วอเตอร์สต้องสูญเสียพ่อไปตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงการถูกกดขี่โดยระบบการศึกษาอันคับแคบและเผด็จการในโรงเรียน ส่งผลให้เขากลายเป็นวัยรุ่นขบถ ต่อต้านระบบการศึกษา ปฏิเสธระบบอันครอบงำความคิดและเป็นเผด็จการ ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามต่อระบอบการเมืองของประเทศบ้านเกิด สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเข้มข้นในผลงานช่วงหลังๆ ของเขาในนามพิงก์ฟลอยด์ ก่อนสุกงอมจนก้าวไปสู่จุดสุดยอดในอัลบั้ม The Wall นั่นเอง 

ในอัลบั้มมีการใช้ซาวด์เอฟเฟกต์ต่างๆ ประกอบเพลง ไม่ว่าจะเป็นเสียงวิทยุโทรทัศน์ เสียงโทรศัพท์ เสียงเด็กร้อง เสียงโครมครามจากการทำลายข้าวของ ไปจนถึงเสียงเครื่องบิน และเสียงระเบิดถล่มกำแพงจนทลายราบคาบ เสียงประกอบเหล่านี้ถูกใส่เข้าไปเพื่อขับเน้นบรรยากาศอันสมจริงและสื่อความหมาย เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมกับเนื้อหาของเพลงเกือบทั้งอัลบั้ม 

นอกจากจะเป็นงานดนตรีชั้นยอดแล้ว อัลบั้ม The Wall ยังถูกนำไปตีความใหม่ในรูปแบบของภาพยนตร์ชั้นเยี่ยม Pink Floyd The Wall (1982) กำกับโดยคนทำหนังชาวอังกฤษระดับตำนาน อลัน ปาร์กเกอร์ (Alan Parker) โดยได้แรงบันดาลใจมาจากอัลบั้ม The Wall แถมโรเจอร์ วอเตอร์ส ผู้แต่งเพลงและวางคอนเซ็ปต์อัลบั้ม ก็ยังเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง 

หนังเรื่องนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการถ่ายทอดเนื้อหาของเพลงในอัลบั้ม The Wall ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว โดยเล่าเรื่องราวของ ‘พิงก์’ (รับบทโดย บ็อบ เกลด็อฟ (Bob Geldof) นักร้อง นักดนตรี และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดังสัญชาติไอริช) ร็อกสตาร์ผู้โด่งดังแต่แปลกแยกและต่อต้านสังคม อันเป็นผลพวงมาจากบาดแผลในวัยเด็กที่สูญเสียพ่อไปในสงคราม และการถูกกดขี่ด้วยระบอบการศึกษาอันคับแคบและเผด็จการในโรงเรียน ปมในอดีตเหล่านี้ส่งผลให้เขาประสบความล้มเหลวในความสัมพันธ์และชีวิตคู่ จนนำไปสู่การสร้างกำแพงขวางกั้นตัวเขากับคนอื่นๆ ในสังคม แม้กระทั่งตัวตนที่แท้จริง จนในที่สุดต้องสูญเสียการควบคุมตัวเองจากสารพัดปมปัญหาภายในจิตใจ และการใช้ยาเสพติด

ตัวหนังเต็มไปด้วยอุปมาอุปไมยทางการเมืองและสังคม มีการใช้สัญลักษณ์ทั้งภาพและเสียงตลอดทั้งเรื่อง อีกทั้งยังผสมผสานการแสดงของนักแสดงเข้ากับแอนิเมชันที่วาดโดยนักวาดการ์ตูนการเมืองอย่าง เจอร์รัลด์ สคาร์ฟ (Gerald Scarfe) ภาพแอนิเมชันที่มีค้อนจำนวนนับไม่ถ้วนเดินสวนสนามอย่างขึงขังราวกับทหารเผด็จการ ยังคงเป็นภาพอันทรงพลังที่ติดตรึงในใจผู้ชม และเป็นภาพที่ทางวงใช้ประกอบการเล่นคอนเสิร์ตและในมิวสิกวิดีโอของเพลงนี้ตลอดมา บทสนทนาในหนังก็น้อยจนแทบจะไม่มี พูดง่ายๆ ว่า ตัวหนังถูกขับเคลื่อนด้วยเพลงและดนตรีของพิงก์ฟลอยด์ หรือจะเรียกว่าหนังเรื่องนี้ถูกทำขึ้นมาเพื่อประกอบเพลงในอัลบั้ม The Wall ก็ว่าได้ 

กลับมาที่เพลงเอกในอัลบั้มที่เป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่ตอนนี้อย่าง Another Brick in the Wall (Part II) เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นโดยมีเนื้อหาเป็นการประท้วงต่อต้านระบบการศึกษาอันเข้มงวดและกดขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาของอังกฤษ อันเป็นประสบการณ์ที่วอเตอร์สเคยประสบพบเจอด้วยตัวเองสมัยที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ 

ซิงเกิลเพลงนี้ขายได้ 4 ล้านก็อปปี้ทั่วโลก ถูกเสนอชื่อให้ชิงรางวัลแกรมมี และขึ้นอันดับที่ 384 ในรายชื่อ 500 เพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของนิตยสาร Rolling Stone 

ไม่เพียงประสบความสำเร็จทั้งเงินและกล่อง เพลงนี้ยังเป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลทางการเมืองที่สุดเพลงหนึ่งของโลก ถึงขนาดวงร็อกของอิหร่านนำเพลงนี้ไปใช้เป็นเพลงชาติสำหรับวัยรุ่นในการประท้วงและต่อต้านรัฐบาลเผด็จการเลยทีเดียว 

ในขณะเดียวกันเพลง Another Brick in the Wall (Part II) และอัลบั้ม The Wall นี้ ก็เป็นที่ชิงชังของผู้มีอำนาจรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานทางการศึกษาและนายกรัฐมนตรีฉายาหญิงเหล็กอย่าง มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) แถมยังถูกแบนในแอฟริกาใต้ในปี 1980 หลังจากที่เพลงนี้ถูกใช้โดยผู้สนับสนุนการคว่ำบาตรโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อประท้วงความไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติและการแบ่งแยกสีผิวในระบบการศึกษาของแอฟริกาใต้ 

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างโรเจอร์ วอเตอร์สและมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเพลงนี้ยังคงยิ่งใหญ่ ไร้กาลเวลา และไม่เคยล้าสมัยเลยแม้แต่น้อย 

 

อ้างอิง

https://twitter.com/i/status/1403582839145353216 

https://www.newsweek.com/roger-waters-tells-mark-zuckerberg-fyou-wanting-pink-floydsong-1600234 https://en.wikipedia.org/wiki/The_Wall https://en.wikipedia.org/wiki/Pink_Floyd 

หนังสือ INSIDE OUT A PERSONAL HISTORY OF PINK FLOYD ผู้เขียน Nick Mason หนังสือ The Making of Pink Floyd: The Wall ผู้เขียน Gerald Scarfe 

นิตยสาร บันเทิงคดี ปีที่ 2 ฉบับที่ 17 ต.ค. พ.ศ. 2533 ฉบับ กำแพง

Tags: , , , , ,