ช่วงที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เป็นกระแสร้อนแรงเกี่ยวกับเรื่องของศิลปินแห่งชาติอยู่หลายกรณี เช่น กรณีที่ศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่งเขียนบทกวีอุปมาอุปมัยเสียดสีเหยียดหยามทางเพศต่ออดีตนายกรัฐมนตรีสตรีท่านหนึ่ง จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง และเรื่องที่ศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่งใช้คำรุนแรงกับรุ่นน้อง (ก่อนจะออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกันแล้ว) ซึ่งช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ ผมมีโอกาสไปร่วมเสวนาในงานชื่อ ‘ทำไมต้อง(มี)ศิลปินแห่งชาติ: ศิลปะมีไว้เพื่ออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับการเมือง’ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงอยากนำเนื้อหาที่ผมพูดคุยมาบอกเล่าเพื่อให้เกิดการตั้งคำถามและขบคิดถึงเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต
เวลาเราพูดถึงศิลปินแห่งชาติ นอกจากเราจะตั้งคำถามเกี่ยวกับคำว่า ‘ศิลปิน’ แล้ว เราต้องตั้งคำถามด้วยว่า ‘ชาติ’ นั้นคืออะไร
ในหนังสือ ชุมชนจินตกรรม (Imagined Community) ของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน กล่าวว่า ชาติไม่ใช่สิ่งที่มีรากเหง้ามาแต่โบราณ หากแต่เป็นผลผลิตของรัฐชาติสมัยใหม่ที่พยายามสร้างความเป็นเอกภาพในทางการเมืองการปกครอง ผ่านการสร้างจินตนาการให้คนในรัฐมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน และตัวเองแตกต่างไปจากชาติอื่นๆ จินตนาการเหล่านี้ถูกสถาปนาและส่งผ่านไปยังประชาชนภายในรัฐผ่านแนวคิดต่างๆ เช่น การสร้างประวัติศาสตร์แห่งชาติ แผนที่ รากเหง้าทางวัฒนธรรม ภาษา ซึ่งรวมถึงศิลปะวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา สถาบันหรือหน่วยงานทางศิลปะวัฒนธรรมของไทยล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้เผยแพร่และสร้างความชอบธรรมให้อุดมการณ์ชาตินิยมของตัวเอง โครงการศิลปินแห่งชาติที่ก่อตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ก็คัดเลือกโดยคนในภาครัฐ ประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ (โดยส่วนใหญ่) ไม่มีความเกี่ยวโยงกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ได้ยึดโยงกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย หรือแม้แต่ไม่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งๆ ที่งบประมาณต่างๆ ที่ใช้ในการคัดสรรศิลปินแห่งชาติ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ศิลปินแห่งชาติได้รับ ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น (อย่างไรก็ดี ก็มีศิลปินแห่งชาติบางท่านที่ทำงานศิลปะในแนวทางที่สะท้อนสังคมและการเมืองของประเทศไทยด้วยเช่นกัน)
ส่วนคำว่า ‘ศิลปิน’ หมายถึง บุคคลที่ใช้ศิลปะแสดงความคิดออกมาในรูปแบบต่างๆ ในความเข้าใจของผม ศิลปะคือเครื่องมือที่มนุษย์ใช้สื่อสาร ไม่ต่างกับภาษา ซึ่งมนุษย์ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่มนุษย์จะสร้างภาษาหรือตัวอักษรขึ้นมาเสียอีก
ดังนั้น ในเมื่อมันเป็นเครื่องมือ มันจึงถูกนำไปใช้ในเจตนาใดก็ได้ บางครั้งศิลปะนำเสนอเรื่องของความดี ความงาม ความจริง แต่บางครั้งมันก็เป็นเรื่องของความชั่ว ความอัปลักษณ์ และความเท็จ บางครั้งมันเป็นเครื่องมือที่รัฐชาตินิยมและรัฐเผด็จการใช้กล่อมเกลาหรือควบคุมประชาชนของตัวเอง แต่บางครั้งมันก็เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ วิพากษ์วิจารณ์ความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอำนาจ หรือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้เช่นเดียวกัน
ผมขอยกตัวอย่างศิลปินสักสองสามคนที่ก็ไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่เขาเหล่านั้นใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘ศิลปะ’ มาต่อสู้กับอำนาจรัฐและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนในประเทศของพวกเขา
ศิลปินคนแรกที่จะกล่าวถึง เป็นศิลปินชาวสเปนที่มีชื่อว่า ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso)
พูดชื่อนี้ออกมา คงไม่ต้องสาธยายกันให้มากความถึงความเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก
ในปี 1937 รัฐบาลสเปนว่าจ้างปิกัสโซซึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ฝรั่งเศส ให้วาดภาพฝาผนังขนาดใหญ่สำหรับแสดงในศาลาสเปน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะนานาชาติในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีส
แต่ในช่วงที่เริ่มทำงาน เขาได้ข่าวโศกนาฏกรรมที่เกอร์นิกา หมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในแคว้นบาสก์ในสเปน ประเทศบ้านเกิดของเขา ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการของจอมพลฟรันซิสโก ฟรังโก อาศัยกองกำลังทหารนาซีและฟาสซิสต์บุกโจมตีและทิ้งระเบิดปราบปรามผู้ต่อต้านจนย่อยยับในสงครามกลางเมือง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่เด็กและสตรี
เรื่องนี้ทำให้เขาโกรธแค้นอย่างมาก และตัดสินใจวาดภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเกอร์นิกาขึ้นมาแทน เขาลงมือเขียนภาพขนาดใหญ่ถึง 3.89 x 7.76 เมตร ด้วยสีน้ำมันทาบ้านที่เขาสั่งทำเป็นพิเศษ มันเป็นภาพเขียนแบบคิวบิสซึมที่ใหญ่สุดที่เขาเคยทำมา เขาตั้งชื่อมันว่า Guernica (1937)
ภาพวาดนี้แสดงออกถึงความเจ็บปวดและความตายได้อย่างน่าสะเทือนใจ มันถ่ายทอดความเลวร้ายน่าสยดสยองของสงครามได้อย่างทรงพลัง จนกลายเป็นผลงานชิ้นเอกของเขาไปในที่สุด
เมื่อวาดเสร็จ ภาพถูกนำไปแสดงในงานเวิลด์แฟร์ที่กรุงปารีสและได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างล้นหลาม แต่ด้วยความที่ปิกัสโซประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ว่า ตราบใดที่ประเทศสเปนยังอยู่ในเงื้อมมือของเผด็จการ ไม่มีเสรีภาพ และยังไม่กลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย เขาจะไม่ยอมให้ภาพนี้ถูกส่งกลับคืนไปที่นั่นเป็นอันขาด
ดังนั้น หลังจากถูกนำไปเวียนแสดงในหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ภาพนี้จึงถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MOMA) จนกระทั่งหลังจากที่จอมพลฟรังโกเสียชีวิตในปี 1975 สเปนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด ภาพเกอร์นิกาก็ถูกนำกลับสู่สเปนในปี 1981 และถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Reina Sofíaในกรุงมาดริดจวบจนปัจจุบัน และไม่ว่าจะเกิดสงครามขึ้นครั้งใดในโลก ภาพเกอร์นิกาก็มักจะถูกยกมาเป็นตัวอย่างของการต่อต้านสงครามอยู่เสมอมา
ศิลปินคนที่สองเป็นศิลปินชาวรัสเซียที่มีชื่อว่า คาซิมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich)
ศิลปินกลุ่มหัวก้าวหน้าของรัสเซีย (Russian Avant-Garde) ที่เป็นผู้ริเริ่มแนวทางศิลปะกระแสใหม่ในช่วงทศวรรษ 1915 ที่มีชื่อเรียกว่า ‘ซูพรีมาทิสต์’ (Suprematism) ซึ่งหมายถึงศิลปะนามธรรมที่แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่สูงสุดของความรู้สึกและความคิดเชิงนามธรรม มากกว่าจะนำเสนอเรื่องราวหรือรูปภาพ โดยให้ความสนใจกับรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐานและใช้สีสันที่เรียบง่าย ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาในแนวทางนี้คือภาพ The Black Square (1915) และ White on White (1918) ซึ่งเป็นภาพวาดสี่เหลี่ยมสีดำบนพื้นขาว และภาพวาดสี่เหลี่ยมสีขาวบนพื้นขาว ที่แสดงความรู้สึกอันบริสุทธิ์ผ่านความเรียบง่ายของรูปทรงและสีสัน
มาเลวิชเชื่อว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องรับใช้สังคม รัฐ และศาสนา ไม่จำเป็นต้องบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องแสดงภาพของบุคคล วัตถุ หรือสิ่งของอะไรก็ตามแต่ เขากล่าวว่าความรู้สึกของคนเราต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่ารูปร่างภายนอกที่มองเห็นและจับต้องได้
Suprematism จึงเป็นแนวทางศิลปะที่ให้อิสรภาพทางความรู้สึกนึกคิดกับผู้ชมอย่างเต็มที่โดยไม่ปิดกั้น ผู้ชมไม่จำเป็นต้องถูกบังคับและครอบงำทางความคิดด้วยรูปทรงและเรื่องราวในภาพอย่างที่ศิลปินต้องการให้เป็น จึงนับเป็นศิลปะที่เปิดกว้างทางความคิดอย่างมาก
แนวทางศิลปะกระแสนี้ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่องานศิลปะสมัยใหม่ ด้วยความที่มันเปิดให้มีเสรีภาพทางความคิดและอิสระในการตีความอย่างไร้ขีดจำกัด นับเป็นการปฎิวัติทางความคิดที่ยิ่งใหญ่และกล้าหาญที่สุดครั้งหนึ่งในวงการศิลปะเลยก็ว่าได้
จนกระทั่งผู้นำเผด็จการ โจเซฟ สตาลิน ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1924 พรรคคอมมิวนิสต์ของสตาลินจำกัดและริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน บรรดาศิลปินถูกบังคับให้ทำแต่งานจิตรกรรมและประติมากรรมเหมือนจริงแนวสังคมนิยมที่แสดงภาพโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะสตาลินไม่ต้องการให้ประชาชนมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐโดยไม่มีข้อแม้
ศิลปะแนวนามธรรมของมาเลวิชที่กระตุ้นให้คนใช้สมอง เปิดโอกาสให้คนแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี และสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายทางความคิด จึงเป็นที่ชิงชังของสตาลินเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ผลงานของมาเลวิชส่วนใหญ่ถูกยึดและทำลาย ในปี 1930 ตัวเขาเองก็ถูกจับกุม คุมขัง และถูกเจ้าหน้าที่รัฐเฝ้าคอยอบรมเพื่อปรับทัศนคติ ซึ่งศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นหลายคนก็ได้รับชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน
เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา มาเลวิชก็เริ่มหันมาวาดภาพเหมือนจริงในแบบประเพณี ซึ่งเป็นแนวทางแบบเดียวที่นโยบายทางวัฒนธรรมของสตาลินอนุญาตให้ทำ แต่อย่างไรก็ดี เขาก็แอบใส่รูปสีเหลี่ยมสีดำบนพื้นสีขาวเล็กจิ๋วลงในภาพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศอุดมการณ์ที่แท้จริงของตนเองลงไป
ภายหลังจากที่มาเลวิชเสียชีวิต ภาพวาดสีเหลี่ยมสีดำของเขาหลุดรอดจากการถูกยึดและทำลาย และถูกแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเฮอร์มิเทจในฐานะสมบัติของชาติที่เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและการต่อสู้กับเผด็จการในที่สุด
ศิลปินคนสุดท้าย เป็นศิลปินชาวจีนที่มีชื่อว่า อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei)
ศิลปินร่วมสมัยผู้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีศิลปะระดับโลก นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้อง สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยเขายังเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทางการจีนหมายหัว
หลังจบการศึกษาจากสถาบันการภาพยนตร์ปักกิ่ง อ้าย เว่ยเว่ย ก็ย้ายไปศึกษาต่อในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังเรียนจบ เขาเริ่มทำผลงานศิลปะด้วยการนำวัสดุและข้าวของที่พบเห็นในชีวิตประจำวันอย่าง ไม้แขวนเสื้อ เมล็ดทานตะวัน รองเท้า เสื้อกันฝน ถุงยางอนามัย ฯลฯ มาตัด ปะติดปะต่อดัดแปลงใหม่ ผลงานชุดนี้ไปเตะตาภัณฑารักษ์และนักสะสมงานศิลปะในนิวยอร์ก จนทำให้เขามีชื่อเสียงพอตัว
แต่หลังจากเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาที่ประท้วงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ประจวบกับอาการป่วยของพ่อของเขา เขาจึงเดินทางกลับประเทศจีนในปี 1993 โดยตัดสินใจกลับบ้านอย่างถาวร แล้วเริ่มทำงานศิลปะที่มีประเด็นเกี่ยวกับสังคมและการเมืองของจีนมากขึ้น
อ้าย เว่ยเว่ย มักจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อนตรงไปตรงมา ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเพื่อสร้างภูมิทัศน์อันสะอาดตาสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปักกิ่งเมื่อปี 2008 ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ตัวเขาเองก็เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบสนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่งที่เรียกกันในชื่อเล่นว่า “สนามกีฬารังนก” ด้วยซ้ำไป ครั้งนั้นเขาประท้วงด้วยการไม่เข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขัน และให้สัมภาษณ์โจมตีการกระทำของรัฐบาลจีนอย่างรุนแรงในสื่อต่างๆ ทั่วโลก
เขายังวิพากษ์วิจารณ์การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเหตุแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนเมื่อปี 2008 ที่อาคารของโรงเรียนอนุบาลพังถล่มลงมาอย่างง่ายดาย จนทำให้เด็กนักเรียนกว่าห้าพันคนต้องเสียชีวิต เขาลงมือสืบค้นความจริงอย่างกัดไม่ปล่อย และถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ที่เขาบันทึกด้วยกล้องถ่ายภาพและโทรศัพท์มือถือลงในสื่อออนไลน์ให้ประชาชนอ่านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทำผลงานศิลปะจัดวางชื่อRemembering (2009) ซึ่งใช้กระเป๋าเป้เด็กนักเรียนที่จำลองจากกระเป๋าของนักเรียนอนุบาลที่เสียชีวิตจากอาคารถล่มในเหตุการณ์แผ่นดินไหวนำมาติดบนอาคารโดยต่อกันเป็นตัวอักษรจีนว่า “เธอเคยอยู่อย่างมีความสุขเป็นเวลาเจ็ดปีบนโลกใบนี้” ซึ่งได้มาจากคำพูดของพ่อแม่ของเด็กที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น
นั่นทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจและตามเล่นงานเขา ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดเอาไว้หน้าบ้าน ส่งคนคอยติดตามสอดแนม ตัดการสื่อสาร ไปจนถึงการทำร้ายจนบาดเจ็บ แต่เขาก็ยังไม่หยุดและโต้ตอบด้วยท่าทีที่ร้อนแรงกว่า เช่น ถ่ายรูปตัวเองชูนิ้วกลางให้จัตุรัสเทียนอันเหมิน พร้อมกับอัดวิดีโอตัวเองและอาสาสมัครมาร่วมกันกล่าวคำว่า “Fuck You Motherland.” โพสต์ลงยูทูป
จนในที่สุด เขาถูกทางการจับตัวและคุมขังเป็นเวลานานถึง 81 วัน ก่อนจะถูกปล่อยตัวท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากคนหลากหลายวงการทั่วโลก เขาถูกทัณฑ์บนในข้อหาหลบเลี่ยงภาษี ห้ามออกนอกประเทศ และห้ามใช้การสื่อสารออนไลน์ทุกชนิด
หลังได้รับการปล่อยตัว เขาก็ทำงานศิลปะจัดวางชื่อ S.A.C.R.E.D. (2011-2013) ซึ่งบอกเล่าถึงประสบการณ์การถูกจองจำของเขา ด้วยรูปแบบของหุ่นจำลองไฟเบอร์กลาสของตัวเขาเองขนาดย่อส่วน ที่นำเสนอช่วงเวลาที่เขาอยู่ในที่คุมขังและถูกเจ้าหน้าที่คุมเชิงไม่ห่างตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนนอนหลับ กินข้าว เข้าส้วม ทั้งหมดทำออกมาอย่างละเอียดสมจริง โดยจัดแสดงอยู่ในกล่องเหล็กสีดำรูปทรงคล้ายโลงศพขนาดใหญ่ ผลงานชิ้นนี้ถูกแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย Venice Biennale ในปี 2013 นับเป็นการแฉเรื่องราวสกปรกในการใช้อำนาจมืดของรัฐบาลจีนให้ชาวโลกได้เห็นกันอย่างจะแจ้งโดยไม่ต้องพูดให้เปลืองน้ำลายเลยแม้แต่น้อย
หลายคนสงสัยว่าการที่เขากล้าลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์และมีท่าทีแข็งข้อกับรัฐบาลจีนแบบนี้ เขาไม่มีความหวาดกลัวเลยหรือ? อ้าย เว่ยเว่ย กล่าวว่า
“ผมกลัวมากนะ ไม่ใช่ไม่กลัว ผมกลัวมากกว่าคนอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำไมผมถึงทำในสิ่งที่กล้าหาญมากขึ้น เพราะผมรู้ว่าอันตรายมันอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ถ้าคุณไม่ลงมือทำอะไรเลย อันตรายนั้นมันก็จะยิ่งเติบโตและเข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไปอีก”
นอกจากจะเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติแล้ว การเคลื่อนไหวของเขายังเผื่อแผ่ไปโดยไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องผู้ลี้ภัย เขาไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งทั่วโลก และรณรงค์ทำงานศิลปะที่มุ่งนำเสนอสถานการณ์อันเลวร้ายของเหล่าผู้ลี้ภัยให้โลกได้รับรู้
ถามว่า ทำไมศิลปินเหล่านั้นต้องต่อต้านอำนาจรัฐ ทั้งๆ ที่ถ้าพวกเขาสมาทานอำนาจรัฐเผด็จการ ยอมเป็นเครื่องมือเผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยมเหมือนศิลปินบางคน พวกเขาเหล่านั้นอาจได้ผลประโยชน์ ลาภ ยศ สรรเสริฐ อาจได้ตำแหน่งใหญ่เป็นปูชนียบุคคล ไม่ต้องมาถูกหมายหัว ถูกจองจำ จับคุมประพฤติ ถูกกักตัว ตามล้างตามล่าจนต้องลี้ภัยการเมืองอย่างที่เห็นและเป็นอยู่
ถามว่าศิลปินจำเป็นต้องทำงานเรื่องการเมือง ศิลปินจำเป็นต้องมองเห็นความทุกข์ยากของประชาชนของเพื่อนร่วมโลกไหม ผมไม่สามารถตอบได้ แต่ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ผมคิดว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่อาจนิ่งเฉยต่อชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมได้ และด้วยความที่พวกเขารู้ดีว่า ตนเองอยู่ในสถานภาพที่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขาจึงไม่ลังเลที่จะทำมัน
ดังนั้น แทนที่เราจะถามว่า ทำไมต้องมีศิลปินแห่งชาติ เราน่าจะถามว่า ทำไมไม่มี ‘ศิลปินแห่งประชาชน’ มากกว่า ซึ่งอันที่จริง ในโลกนี้ก็มีศิลปินหลายคนที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนผู้ทุกข์ยาก โดยเขาเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินแห่งชาติด้วยซ้ำ แม้แต่ในบ้านเราเองก็มีศิลปินไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลบางคนที่ยืนหยัดเคียงข้างประชาชน ทำงานศิลปะวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงความไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐ
ศิลปินที่ทำงานในประเด็นการเมืองที่นำเสนอเรื่องราวของผู้ประสบภัยทางการเมือง นักโทษการเมือง ผู้ลี้ภัยการเมือง และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง ศิลปินเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะไม่มีโอกาสได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ไม่มีตำแหน่งยศฐาบรรดาศักดิ์ บางคนไม่ได้รับการเหลียวแลจากคนในประเทศของตัวเอง หนำซ้ำผลงานของพวกเขาบางคนไม่สามารถเผยแพร่ในประเทศตัวเองได้ หรือบางกรณีที่แสดงงานไปแล้วถูกเจ้าหน้าที่รัฐตามไปปลดงานก็มี
แต่พวกเขาก็ยังคงทำมันต่อไปเช่นเดียวกับประชาชนคนธรรมดาที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองและเพื่อนร่วมสังคมอย่างตรงไปตรงมา คนเหล่านี้ต่างหากที่เป็นเหมือนความหวัง เป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมนในประเทศของเรายามนี้
เพราะฉะนั้นผมจึงไม่คาดหวังและไม่ตั้งคำถามถึงความเป็นศิลปินแห่งชาติและการมีอยู่ของตำแหน่งนี้ เพราะตราบใดที่รัฐยังต้องการเผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยม ยังต้องการสืบต่อคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรมในแบบของตัวเอง หรือยังต้องการปกปักรักษาอำนาจความเป็นอภิสิทธิ์ของตนเองและพวกพ้อง สิ่งเหล่านี้ก็คงดำเนินต่อไปอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
อ้างอิง:
บทความ โครงการศิลปินแห่งชาติ (ไทย): ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของชุดความคิดและปัญหา ผู้เขียน ARTHIT MULSARN
หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART : อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ผู้เขียน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
หมายเหตุ:
ฟังเสวนาฉบับเต็มได้ที่นี่
ข่าวประกอบบทความ https://goo.gl/9Q6HcC, https://goo.gl/xM5Tzg