เคยสังเกตไหมว่ากรุงเทพฯ ในโซนที่สวยๆ มักจะเป็นโซนเมืองเก่า ทั้งแถบถนนราชดำเนิน สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานผ่านภพลีลา สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ฯลฯ ซึ่งมีกลิ่นอายงานสถาปัตยกรรมแบบยุโรป แต่ก็น้อยนักที่เราจะเห็นการประดับตกแต่งประติมากรรมในพื้นที่สาธารณะ หากไม่ใช่ในแถบเมืองเก่า 

งานประติมากรรมสาธารณะในช่วงเริ่มต้นของไทยมักเป็นอนุสาวรีย์หรือเป็นส่วนประดับสะพาน น้ำพุ หรืออาจเป็นส่วนประดับอาคารของราชการ การจัดการอย่างชัดเจนในระยะแรกๆ โดยรัฐ ทำให้ประติมากรรมบนที่สาธารณะสร้างสุนทรียะทางอารมณ์ และสื่อความหมายของผลงานถึงสาธารณชนได้ดี ทั้งยังเป็นหมุดหมายที่ส่งเสริมภูมิทัศน์ของเมือง   

แต่เมื่อเมืองมีการขยับขยายเมืองออกไป งานศิลปกรรมประดับตกแต่งสะพานรวมไปถึงน้ำพุประดับตามแยกถนนสายสำคัญจึงถูกรื้อทำลายลงด้วย สภาพเมืองปัจจุบันจึงไม่เอื้ออำนวยต่อโครงงานประติมากรรมบนที่สาธารณะเช่นในอดีต หรือแม้แต่แถบเมืองใหม่ก็ไม่ได้มีการคิดถึงการสร้างสวยงามของเมืองด้วยประติมากรรม หรือการตกแต่งต่างๆ ในที่สาธารณะ

งานวิจัยโครงการ การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชนของรองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา วิถีชีวิต และการค้าของชุมชน รวมถึงลักษณะทางศิลปกรรมของสถานที่สำคัญในอดีตและโบราณสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเรารู้จักกันดีในช่วงเทศกาลลอยกระทง

สิ่งหนึ่งที่รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล ได้สัมผัสจากการทำการศึกษาย่านชุมชนริมคลองโอ่งอ่างก็คือ แต่ละช่วงทางเดินริมคลองนั้นสามารถติดตั้งงานศิลปะได้หลากหลายลักษณะ รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล จึงเสนอแนวทางการออกแบบงานศิลปะประเภทต่างๆ ทั้งงานประติมากรรมและงานออกแบบศิลปะ 3 มิติ โดยเสนอให้ใช้รูปแบบงานศิลปะหลากหลายร่วมกัน ทั้งประติมากรรมลอยตัว ประติมากรรมนูนต่ำ ม้านั่ง ฝาท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภค ศิลปะกราฟิตี และรั้วกันทางเดินริมน้ำ เพื่อช่วยให้ทางเดินนี้มีองค์ประกอบทางศิลปะที่เป็นเอกภาพและเกิดทัศนียภาพที่งดงาม และเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดทางเดินริมน้ำสายวัฒนธรรม 

จากข้อเสนอดังกล่าว ทำให้กรุงเทพมหานครริเริ่มโครงการ การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน และเสริมภูมิทัศน์ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ด้วยการติดตั้งประติมากรรมฝาท่อระบายน้ำ บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง ให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวร่วมตามหาอัตลักษณ์ของชุมชน ที่สะท้อนจากผลงานศิลปะบนฝาท่อระบายน้ำ จำนวน 5 จุด บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง 

โดยแต่ละฝาจะแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ชุมชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการร่วมหารือกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ อาทิ ฝาท่อสวัสดีแสดงให้เห็นถึงการทักทายของคนไทย ฝาท่อสัมพันธวงศ์’  ก็จะเป็นภาพครอบครัวที่นั่งล้อมวงรับประทานอาหารที่สื่อถึงความเป็นครอบครัวที่อบอุ่น ฝาท่อ ‘พาหุรัด’ ซึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจของชุมชน ผ่านรูปรถเวสป้าขนผ้า โดยทั้งหมดจะปรากฏอยู่ในพื้นที่ชุมชนริมคลองโอ่งอ่างในระยะทาง 750 เมตร 

ไม่เพียงแค่นี้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ยังมีแผนดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ริมคลองรอบกรุงตลอดเส้นทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้จรดทิศเหนือเพื่อใช้งานศิลปะในการส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ สร้างสวยงามของเมืองด้วยประติมากรรม หรือการตกแต่งต่างๆ ในที่สาธารณะ

ซึ่งทั้งหมดนั้นจะต้องผ่านการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา วิถีชีวิต และการค้าของชุมชน รวมถึงลักษณะทางศิลปกรรมของสถานที่สำคัญในอดีตและโบราณสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านชุมชนนั้นๆ และต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชน เพื่อให้การออกแบบสะท้อนอัตลักษณ์โดดเด่นของพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างแท้จริง

Tags: , , ,