จะน่าผิดหวังแค่ไหน หากคำกล่าวอันโด่งดัง “เคยลอง เคยล้ม ไม่เป็นไร ลองใหม่ ล้มใหม่ ล้มได้ดีกว่า”  หรือ “Ever tried. Ever failed. No matter. Try again. Fail again. Fail better.” แท้จริงแล้วอาจไม่ได้มีความหมายในเชิงให้กำลังใจ และไม่ง่ายที่เราจะเข้าใจความหมายของข้อความนี้ตามตัวอักษร

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะถ้อยคำนี้มาจาก Worstward Ho (1983) ผลงานในช่วงท้ายปลายชีวิตของ ซามูเอล เบคเกตต์ (Samuel Beckett) ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความยาก ความยอกย้อนสลับซับซ้อนของภาษา และความคิดทางปรัชญาที่อยู่เบื้องหลัง

ซามูเอล เบคเกตต์ นักเขียนนวนิยายและบทละครชาวไอริชที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน

Worstward Ho เป็นการตั้งชื่อล้อเลียนนวนิยาย Westward Ho! (1855) ของชาร์ลส์ คิงสลีย์ (Charles Kingsley) นักเขียนและอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวอังกฤษ ผู้มีชีวิตร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกับชาร์ลส์ ดาร์วิน และชาร์ลส์ ดิคเกนส์ 2 ชาร์ลส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 19

Westward Ho! เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปยังรัชสมัยของอลิซาเบธที่ 1 มีเนื้อหาว่าด้วยการผจญภัยของอัมยาส ลีห์ที่ลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมนานับประการ ผลงานชิ้นนี้ถูกตีความจากนักอ่านในชั้นหลังว่าเป็นงานต่อต้านศาสนจักร และอาจแทรกซ่อนการสนับสนุนลัทธิจักรวรรดินิยมอังกฤษ แม้คิงสลีย์จะเป็นนักปฏิรูปหัวก้าวหน้า

ในขณะที่ Worstward Ho ของเบคเกตต์เป็นกวีร้อยแก้วความยาวไม่กี่หน้า ไม่มีเนื้อหาหรือกล่าวถึงการผจญภัยใดๆ อย่างชัดเจน แต่เมื่อเราอ่านก็พอจะอนุมาน หรืออนุโลมได้ว่าข้อเขียนดังกล่าวกำลังพูดถึงการต่อสู้ดิ้นรนในท่ามกลางความว่างเปล่า (void) โดยปราศเรื่องราว ตัวละคร ที่แม้จะมีการอ้างถึงชายแก่ เด็ก และผู้หญิง แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มคำที่กระจัดกระจายในตัวบท เช่นเดียวกับถ้อยคำต่างๆ เช่น การพูด การลุก การล้ม การอาเจียน ทุกอย่างดูเป็นนามธรรมมากกว่าจะเป็นห้วงการกระทำจริงๆ หรือถ้อยคำในทำนอง “เคยลอง เคยล้ม ไม่เป็นไร..” ก็มักจะถูกนำมากล่าวซ้ำโดยปรับแปรงรูปแบบและความหมายในอีกหลายครั้ง และแต่ละครั้งก็อาจจะแย่และสิ้นหวังยิ่งกว่าเดิม ดังเช่นย่อหน้าที่ว่า

“ลองอีกครั้ง ล้มอีกครั้ง ดีขึ้นอีกครั้ง หรือแย่ได้ดีกว่าเดิม ล้มได้แย่กว่าเดิม และยังคงแย่กว่าเดิมอีกครั้ง กระทั่งพะอืดพะอมตลอดกาล อาเจียนตลอดกาล จากไปตลอดกาล ในที่ที่ไม่มีตลอดกาล สิ่งที่ดีและทุกอย่าง” (“Try again. Fail again. Better again. Or better worse. Fail worse again. Still worse again. Till sick for good. Throw up for good. Go for good. Where neither for good. Good and all”)

ถ้าจะเรานำถ้อยความเหล่านี้ไปใช้ให้กำลังใจใครก็คงไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก หรือโดยเฉพาะย่อหน้าหลังจากนั้นที่เรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสกว่ามาก เพราะมองไม่เห็นอนาคตกันเลยทีเดียว

“ในนี้ไม่มีอนาคต อนิจจา ใช่แล้ว” (“No future in this. Alas yes.”)

นี่เป็นเหตุให้เราต้องอ่านข้อความ “เคยลอง เคยล้ม ไม่เป็นไร…” ด้วยสายตาและความเข้าใจแบบใหม่ ผ่านการพิจารณาตีความ Worstward Ho ทั้งชิ้น ซึ่งบางทีแล้วแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เราคิดว่ามีอยู่อย่างแน่นอนนั้นอาจจะริบหรี่ลง หรือดับหายไปได้ง่ายๆ เมื่อเราได้อ่านไปจนถึงย่อหน้าเกือบท้ายสุดที่ว่า

ที่สิ้นสุดของความว่างเปล่าไม่สิ้นสุด เมื่อไม่มีให้ไปอีกแล้ว ก็ไม่มีสิ่งที่แย่กว่าได้ดีที่สุดอีกแล้ว ไม่มีน้อยกว่า ไม่มีมีแย่กว่า ไม่มีไม่มี ไม่มีต่อไป (“At bounds of boundless void. Whence no farther. Best worse no farther. Nohow less. Nohow worse. Nohow naught. Nohow on.”)

คำถามน่าคิดที่ติดตามมาก็คือ เหตุใดเราจึงคิดว่าข้อความ “เคยลอง เคยล้ม ไม่เป็นไร…” มีความหมายในเชิงให้ความหวังและกำลังใจ?

ข้อความหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นไปได้มากที่จะถูกนำมาเชื่อมโยงกัน อยู่ในนวนิยายอีกเรื่องของเบคเกตต์ที่มีชื่อว่า The Unnamable (1958) โดยเฉพาะประโยคจบเรื่อง “ฉันไม่อาจไป ฉันจะไปต่อ” (“I can’t go on, I’ll go on.”) ที่เมื่ออ่านเพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรารู้สึกได้ว่า มันเป็นข้อความที่แสดงถึงความไม่ท้อแท้สิ้นหวัง (แม้อาจจะไม่มีหวัง)

แต่ The Unnamable ก็ไม่ต่างจาก Worstward Ho เท่าใดในแง่ของความคลุมเครือ ที่ถ้าเราไม่อ่านตัวบททั้งหมด เราก็แทบจะไม่สามารถเข้าใจได้เลย (อันที่จริงต่อให้อ่านทั้งหมดก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเข้าใจ)

The Unnamable เป็นหนึ่งในนวนิยายไตรภาคของเบคเกตต์ที่เริ่มต้นด้วย Molloy (1951) ตามมาด้วย Malone Dies (1951) และ The Unnamable ที่ต้องกล่าวว่าเรื่องสุดท้ายในไตรภาคอ่านยากที่สุด เพราะนวนิยายเรื่องนี้ได้ถูกลดทอนลงเป็นเพียงบทรำพึงของตัวละครไร้นาม ไร้ตัวตน และแทบไม่มีเรื่องราวใดๆ แม้จะมีการอ้างถึงตัวละครในเรื่องก่อนหน้า แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็อาจมองได้ว่าเป็นเพียงถ้อยคำ วลี และประโยคอันเหยียดยาวไม่มีจุดเริ่มต้นจุดสิ้นสุด

ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้แปลว่า ผู้เขียนเห็นว่าผลงานของเบคเกตต์ทั้ง Worstward Ho หรือ The Unnamable เป็นงานประเภททำลายกำลังใจผู้อ่าน (ที่ก็จะได้อธิบายในส่วนท้ายของบทความอีกครั้ง) เพียงแต่อยากเน้นย้ำว่า ถ้อยคำสั้นๆ จากงานทั้งสองที่เราอ้างกันอาจไม่ได้หมายความอย่างที่เราเข้าใจ และเป็นถ้อยคำที่มีความคิดยอกย้อนอยู่เบื้องหลัง แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ผู้เขียนอยากเชื้อชวนมารู้จักกับตัวตนและความคิดของซามูเอล เบคเกตต์กันสักเล็กน้อย ซึ่งรับรองว่าชีวิตของเขามีสีสันไม่แพ้นักประพันธ์คนอื่นๆ อย่างแน่นอน

ชาวดับบลินในปารีส

ซามูเอล เบคเกตต์ เกิดที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เป็นลูกชายคนเล็กจากบรรดาพี่น้องสองคน เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยตรินิตีทางด้านภาษาสมัยใหม่ เคยเป็นอาจารย์ที่กรุงเบลฟาสต์ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะย้ายไปเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่ École Normale Supérieure แห่งกรุงปารีสในช่วงปี ค.ศ. 1928-1930 ที่นั่นเองเบคเกตต์ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของเจมส์ จอยซ์ (James Joyce) ในระหว่างที่เขากำลังเขียน Finnegans Wake เขาเคยเข้าร่วมต่อสู้กับกองกำลังต่อต้านของฝรั่งเศส (French Resistance) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกือบถูกเกสตาโปจับได้อยู่หลายครั้ง

เจมส์ จอยซ์ นักเขียนนามอุโฆษที่กำลังผ่าตัดดวงตาและต้องอาศัยเบคเกตต์ในการอ่านต้นฉบับ

คเกตต์ขณะทำงานร่วมกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านของฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามสิ้นสุดลง ปารีสกลายเป็นแหล่งพักพิงถาวรของเขา เบคเกตต์ได้ประพันธ์ผลงานเป็นภาษาฝรั่งเศส และได้กลายเป็นนักเขียนบทละครแนวแอบเสิร์ด (Absurd) ผู้โด่งดังที่สามารถนำเสนอภาพความสิ้นหวังหดหู่ในการดำรงอยู่ของมวลมนุษย์ออกมาได้อย่างแยบคายและมีอารมณ์ขันมากที่สุด

แต่สิ่งที่เรามักไม่ค่อยรู้ก็คือเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น ซึ่งว่าไปแล้วชีวิตรักและเรื่องส่วนตัวของเบคเกตต์ถูกปิดเงียบมานาน นี่เป็นเหตุให้การกลายเป็นคนมีชื่อเสียงภายหลังได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปี 1969 กลายหายนะอันใหญ่หลวงสำหรับเขาและคนรัก ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไป

ก่อนจะเป็นบิดาแห่งการล้ม

ต้องกล่าวว่า ก่อนจะเป็น ‘บิดาแห่งการล้ม’ นั้นเบคเกตต์เคยเป็น ‘ศิลปินแห่งความผิดหวัง’ มาก่อน ในแง่ที่เขาเคยได้สร้างความผิดหวังรุนแรงให้แก่คนที่เขารักและแน่นอนว่ารักเขามากๆ เริ่มตั้งแต่ที่เขายังอยู่ในวัยยี่สิบต้นๆ เขาเคยรักกับญาติสาวคนหนึ่งนามว่า เพกกี้ ซินแคลร์ (Peggy Sinclair)

เรื่องราวของเขากับเพกกี้ถูกแทรกซ่อนไว้ในนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติเรื่องแรกและเรื่องเดียวของเขาที่มีชื่อว่า Dream of Fair to Middling Women (เขาเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมาเมื่อตอนอายุ 26 ปี ขณะพำนักอยู่ในปารีส และภายหลังจากถูกปฏิเสธโดยสำนักพิมพ์ เขาก็จัดเก็บต้นฉบับเข้าลิ้นชัก อาจมีตัดตอนบางส่วนออกมาพิมพ์บ้าง แต่ฉบับสมบูรณ์นั้นถูกนำมาตีพิมพ์ภายหลังเบคเกตต์เสียชีวิตไปแล้วหลายปี) ในเรื่องตัวละครเอกเบลัคควอ ได้พบรักกับหญิงสาวนามว่า สเมอรัลดิน่า ความแตกต่างคนทั้งสองคือ เบลัคควอแยกความรักออกจากตัณหาราคะ ในขณะที่สเมอรัลดิน่า ถ้าเธอรักใครจริง เธอก็จะอุทิศกายใจให้กับคนนั้น ความรักของเธอจึงหลอมรวมกับสิ่งที่เบลัคควอเห็นว่าเป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมเช่นกามารมณ์

แม้เบคเกตต์จะใช้นามสมมติในเรื่อง แต่จากบทบรรยายฉากสถานที่รายรอบตัวละครก็ทำให้เราจับได้ไม่ยากว่า เบลัคควอก็คือตัวเขาและสเมอรัลดิน่าก็คือเพกกี้ สาวทรงเสน่ห์ที่ไม่ปกปิดเก็บกั้นเรื่องเพศ ซึ่งเขาได้ทอดทิ้งเธอไปในท้ายที่สุด

ความจริงในนวนิยายซ้อนทับกับความจริงในชีวิตของเบคเกตต์ ที่ ณ เวลานั้นเขาไม่ต้องการจะตั้งรกรากสร้างครอบครัว หรือเป็นพ่อคนตั้งแต่วัยยี่สิบต้นๆ (กระทั่งตอนนั้นเขาจะยังไม่มีความคิดเรื่องการเป็นนักเขียนอาชีพเลยก็ตาม) ดังนั้น แม้เขาจะรักเพกกี้เพียงใด แต่สิ่งที่เขาทำก็คือการร้องขอให้เธอลาจากไป และบุคลิกของเพกกี้นั้นก็สอดคล้องกับตัวละครสเมอรัลดิน่าที่ก็พร้อมจะไปโดยไม่ลังเล

เหมือนดังตอนหนึ่งของ Dream of Fair to Middling Women ที่สเมอรัลดิน่าตีตั๋วรถไฟรอบเที่ยงคืนเพียงใบเดียว เพื่อปลดปล่อยให้เบลัคควอเป็นอิสระอีกครั้ง “สเมอรัลดิน่ากัดริมฝีปากด้วยความเชี่ยวชาญและทำเหมือนเช่นหญิงสาวที่กล้าหาญทั่วไป จวบจนกระทั่งพนักงานตรวจตั๋วบนขบวนลับหายไป เธอจึงปล่อยให้น้ำตาไหลออกมาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เสียงสะอื้นนั้นเหมือนจะเขย่าขบวนรถไฟ…”

หรือในช่วงปี 1951 ซึ่งเป็นที่ทราบกันในภายหลังว่าเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทับซ้อนระหว่างนักเขียนบทวิทยุ-หม้ายสาววัยสามสิบชาวอังกฤษ บาร์บาร่า เบรย์ (Barbara Bray) กับเบคเกตต์ที่ตอนนั้นได้เริ่มใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยากับซูซาน เดเชอโวซ์-ดูแมสนิล (Suzanne Déchevaux-Dumesnil) แล้ว

บาร์บาร่า เบรย์ หม้ายสาวชาวอังกฤษที่กลายเป็นรักซ้อนของเบคเกตต์

ความสัมพันธ์ของเบคเกตต์กับเบรย์ดำเนินคู่ขนานไปกับความสัมพันธ์ของเดเชอโวซ์-ดูแมสนิลเรื่อยมา และเมื่อถึงปี 1961 ที่เบรย์ตั้งใจจะย้ายจากลอนดอนมาอยู่ปารีสเป็นการถาวร เบคเกตต์กลับทำในสิ่งที่เบรย์ไม่คาดคิดคือเขาไม่ห้ามเธอ แต่เขาเลือกจดทะเบียนสมรสกับเดเชอโวซ์-ดูแมสนิล เพื่อเป็นหลักประกันว่า ลิขสิทธิ์ในผลงานต่างๆ ของเบคเกตต์จะเป็นของเดเชอโวซ์-ดูแมสนิลด้วย เหมือนดังที่เบคเกตต์เคยกล่าวอยู่เสมอว่า “ผมติดค้างซูซานในทุกๆ เรื่อง”

นอกเหนือจากเรื่องราวความรักความสัมพันธ์แล้ว การต่อสู้เพื่อทำงานได้ในห้วงเวลาที่แทบเขียนแทบคิดอะไรไม่ได้ก็นับว่าเป็นอีกเรื่องที่น้อยคนจะรู้ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 นอกจากเบคเกตต์จะมีสุขภาพย่ำแย่แล้วเขายังตกอยู่ในภาวะขาดความสร้างสรรค์ (ภายหลังจากความสำเร็จอันท่วมท้นจากบทละครในช่วงต้นถึงกลางของทศวรรษที่ 60) และเขาก็พยายามแก้ไขด้วยการดื่มอย่างหนัก ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปจากเดิม เมื่อผสมรวมกับความกลัวว่าเขาจะตาบอด ซึ่งเป็นความหวาดวิตกจากประสบการณ์ที่เขาเคยเผชิญเมื่อครั้งทำงานเป็นผู้ช่วยเจมส์ จอยซ์ในทศวรรษ 1930

ความหดหู่ในชีวิตของเบคเกตต์ทวีหนักขึ้นเมื่อเขาได้ทราบข่าวว่า เพื่อนของเขาทอม แม็คกรีวี (Tom MacGreevy) ที่เคยทำงานเป็นผู้ช่วยจอยซ์ร่วมกับเขาได้เสียชีวิตลงกระทันหัน ข่าวร้ายนั้นยิ่งทำให้เขาคิดถึงความตายและจุดจบอันรออยู่เบื้องหน้า แต่วิกฤติชีวิตนี้ดูจะค่อยๆ คลี่คลายตัวลงไปเอง เมื่อเขาได้ไปพักผ่อนในช่วงหน้าร้อนกับเดเชอโวซ์-ดูแมสนิลที่ซาร์ดีเนียช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่สุขภาพเท่านั้น แต่คงรวมถึงความสัมพันธ์ที่กลับมากระชับแนบแน่นขึ้น ซึ่งก็ทำให้เบคเกตต์สามารถกลับมาเขียนและกำกับละครได้อีกครั้ง

ชื่อเสียงคือหายนะ

การมีชื่อเสียงคืออำนาจชนิดหนึ่ง แต่อำนาจชนิดนี้ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียชีวิตส่วนตัวไป อย่างน้อยๆ ก็ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสำหรับเบคเกตต์แล้ว การได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1969 ถือเป็นทุกขลาภอย่างใหญ่หลวง

เป็นที่ทราบกันว่าเขาและเดเชอโวซ์-ดูแมสนิลหวาดกลัวความมีชื่อเสียงมาโดยตลอด ดังนั้นคำพูดแรกที่เบคเกตต์กล่าวกับภรรยาของเขาภายหลังทราบข่าว (ที่ก็เป็นคำพูดคลาสสิกตลอดกาลได้เหมือนกัน) ก็คือ “ฉิบหายแล้ว” เบคเกตต์รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ เพราะเมื่อเราย้อนกลับไปก่อนหน้า ความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ระหว่างคนทั้งสองหลายครั้งก็มาจากการมีชื่อเสียงของอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำลายชีวิตส่วนตัวอีกฝ่ายหนึ่ง

เพราะการไปไหนแล้วถูกจับจ้องเป็นที่รู้จักตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องดีงามสำหรับบางคน โดยเฉพาะคนแบบเบคเกตต์แล้วการมีนักข่าวมาดักรอสัมภาษณ์เป็นร้อยคนจึงเป็นเรื่องที่สร้างความปั่นป่วนอย่างที่สุด แต่ตราบเท่าที่ยังไม่สิ้นลมหายใจ เบคเกตต์ก็ยังคงต้องรับมือกับหายนะนี้ เพื่อให้เขาสามารถมีที่ทางใช้ชีวิตและทำงานอย่างสร้างสรรค์ได้ต่อไป

ล้มได้ดีกว่า?

นับจากทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา เบคเกตต์ยังคงทำงานเขียนและกำกับละครอย่างแทบไม่มีช่วงหยุดพัก ดวงตาของเขาดีขึ้นภายหลังการผ่าตัด สุขภาพโดยรวมยังคงไม่ดีแต่ก็ไม่ย่ำแย่ลงจากเดิมมาก แต่ครั้นเมื่อย่างเข้าสู่วัย 80 ทุกอย่างก็ดูพลิกผัน สภาพร่างกายผ่ายผอมและอิดโรยของเขาตกอยู่ในสภาวะเสื่อมทรุดอย่างเห็นได้ชัด เขาใช้มือเขียนและพิมพ์ดีดด้วยความยากลำบากมากขึ้นทุกที

เบคเกตต์ได้ประพันธ์ผลงานสำคัญ 3 ชิ้น อันได้แก่ Company (1980), Ill Seen Ill Said (1982) และ Worstward Ho ในช่วงก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน สิ่งที่น่าสนใจก็คือนวนิยายสั้นชุดนี้ถูกพิจารณาจากนักวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนการเกิดใหม่อีกครั้งของเบคเกตต์

เจ. เอ็ม. คูทซี (J.M. Coetzee) เห็นว่า งานชุดนี้มีลีลาที่คงความเป็นเบคเกตต์อย่างที่เรารู้จักดี มีความยากและปรัชญาความคิดแฝงอยู่ภายใน แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้าไปก็คือการแทรกใส่ประสบการณ์และชีวิตส่วนตัวลงไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบไม่เคยปรากฏนับจาก Dream of Fair to Middling Women และ Krapp’s Last Tape (1957) เป็นต้นมา

งานชุดนี้และโดยเฉพาะ Worstward Ho แทรกภาพกะพริบจากความทรงจำและประสบการณ์วัยเด็กลงไป การล้ม การลุก การลุกไม่ได้ และจมดิ่งลงไป ในด้านหนึ่งคือการยอมรับสภาพความเป็นไป การดำรงอยู่ที่วันหนึ่งก็จะไม่มีอะไรที่ดีหรือเลวอีกต่อไป สำหรับคูทซีแล้วเขาเห็นว่าการเพิ่มเติมดังกล่าวสร้างความหมายใหม่ ถึงไม่ใช่ความหวัง แต่อย่างน้อยก็เป็นความกล้าหาญที่จะเผชิญกับจุดจบ ที่จะเรียกว่าเป็นการล้มได้ดีกว่าเดิมอีกแบบหนึ่งก็คงจะได้

เบคเกตต์ขณะซ้อมบทละครเรื่อง Endgame ในปี 1980

แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว เบคเกตต์ไม่เคยล้มเพียงลำพังและเพราะเขามีคนที่อยู่ข้างๆ เขาจึงอาจล้มได้ดีกว่า เหมือนที่เขาได้แทรกความรู้สึกนี้ไว้ใน Ohio Impromptu (1980) บทละครสั้นๆ ที่เบคเกตต์เขียนให้เอส. อี. กอนตาร์สกี (S. E. Gontarski) ว่า “โดดเดี่ยวด้วยกันยิ่งมีส่วนร่วมกัน ไม่ สิ่งที่เราทำไปเพียงลำพังไม่อาจแก้ไขได้ ไม่มีอะไรที่เขาทำเพียงลำพังที่สามารถแก้ไขได้ โดยเขาเพียงลำพัง” (“Alone together so much shared. No. What he had done alone could not be undone. Nothing he had ever done alone could ever be undone. By him alone.”)

การล้มด้วยกันจึงอาจดีกว่าในแง่นี้ แต่สำหรับคนที่อยู่เพียงลำพังนั้น ก็คงต้องล้มคนเดียวต่อไป

อ้างอิง

  • Samuel Beckett, Poems · Short Fiction · Criticism, (New York: Grove Press, 2006)
  • Samuel Beckett, Three Novels:Molloy · Malone Dies · The Unnamable, (New York: Grove Press, 1955)
  • C. J. Ackerly and S. E. Gontarski, The Grove Companion to Samuel Beckett: A Reader’s Guide to His Works, Life, and Thought, (New York: Grove Press, 2004)
  • James Knowlson, Damned to Fame : The Life of Samuel Beckett, (London: Bloomsbury, 1996)
Tags: , ,