สีทอง! สัญศาสตร์! สงคราม! สำนึกใต้สำนึก! เส้นโค้งดั่งงู สู่เรือนร่างสตรีแพศยา! ถ้าอยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ร้อยเรียงกันอย่างไร ในเบื้องหลังของงานศิลปะมาสเตอร์พีชสไตล์ ‘อาร์ต นูโว’ (แปลไทยตามตำราว่า ‘นวศิลป์’) ที่กำลังถูกนำเสนอใหม่ในนิทรรศการอินเทอร์แอคทีฟ Something Nouveau ของ River City Bangkok วันนี้เราจะขอบอกเล่าแง่มุมประวัติศาสตร์และเทคนิคของศิลปะแนวอาร์ตนูโว ที่น่าจะช่วยให้ผู้ที่จะไปดูโชว์นี้ ถอดรหัสที่อยู่ในลายเส้นและรูปทรงบนจอฉาย เป็นความรู้ควบคู่ประสบการณ์เสพย์ศิลป์แบบสามร้อยหกสิบองศาไปในตัว
ที่สำคัญต้องบอกว่างานนี้ ‘เข้าถึงง่าย’ กว่าโชว์ที่ผ่านๆ มาของริเวอร์ซิตี้เยอะเลย
ศิลปะสไตล์ใหม่ของโลกใหม่
ย้อนเวลากลับไปช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์ของยุโรป ในกลางศตวรรษที่ 19 ช่วงที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมกำลังแผ่ปีกกว้างไปทั่วทวีป เทคโนโลยีอย่างรถไฟไอน้ำกำลังพามวลชนเดินทางไปในที่ที่พวกเขาไม่เคยคิดฝันด้วยความเร็วสูง ในขณะเดียวกันโรงงานมากมายกำลังปล่อยควันพิษขึ้นท้องฟ้า เข้าสู่ปอดของทั้งชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง-เศรษฐีใหม่ที่เรียกกันว่า ‘บัวร์วาซี’ (bourgeoisie) ถนนเส้นเล็กที่เคยคดเคี้ยวในปารีส ถูกทุบทำลายทิ้งเพื่อสร้างเป็นเอเวนูกว้างขวางไว้รองรับการมาถึงของรถยนต์และห้างสรรพสินค้า อีกทั้งโรงละครและคาเฟ่ที่ผุดขึ้นเต็มไปหมด
ทั้งหมดนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตการกินอยู่ของชาวยุโรปไปอย่างก้าวกระโดด และไลฟ์สไตล์ใหม่นี้ย่อมต้องสะท้อนในศิลปะแบบ ‘ใหม่’ เช่นกัน เป็นที่มาของชื่อ Art Nouveau (Nouveau ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘ใหม่’) ที่ผุดขึ้นพร้อมๆ กันในหลายเมืองทั่วยุโรป ภายใต้หลากหลายชื่อ อาทิ Jugendstil ที่เยอรมนีและออสเตรีย, Stile Liberty ที่อิตาลี, Modernisme ในภาษาคาตาลัน หรือ Modern Style ที่อังกฤษ อย่างไรก็ตาม ทุกชื่อนั้นพูดถึงศิลปะแบบเดียวกัน โดยมีลักษณะเด่นที่การผสมผสานเส้นโค้งเว้าที่เลียนแบบทรงในธรรมชาติ เข้ากับนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ ตั้งแต่สิ่งพิมพ์, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องประดับ ยัน สถาปัตยกรรม มีจุดประสงค์เพื่อแหวกม่านความเคร่งขรึมในกรอบของศิลปะชั้นสูงแบบดั้งเดิม เข้าสู่โลกที่ทั้งวิจิตรสวยงามและร่วมสมัยไปพร้อมๆ กัน
ในนิทรรศการ Something Nouveau นี้ ภัณฑารักษ์ได้เลือกพูดถึง 3 ศิลปินจาก 3 ประเทศ ที่มีช่วงชีวิตคาบเกี่ยวกัน แต่มีงานที่ทั้งคล้ายและแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยงและความลื่นไหลของงานสไตล์นี้ไปพร้อมๆ กัน
หนุ่มน้อยอัจฉริยะผู้อื้อฉาว
อาจพูดได้ว่าอังกฤษเป็นประเทศแรกๆ ที่ประยุกต์สไตล์นี้ขึ้นมาในยุโรป โดยมีปูชนียบุคคล 2 ท่านคือ วิลเลี่ยม มอร์ริส (William Morris) ศิลปิน, นักเขียนและนักสังคมวิทยา บิดาแห่ง ‘Art and Craft Movement’ ผู้ประกาศกร้าวว่า ของทุกชิ้นที่เรามีในครอบครอง ควรมีทั้งประโยชน์ใช้สอย พร้อมด้วยความสวยงาม สอดคล้องกับอีกท่านคือ ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) สไตล์กูรูผู้ขับเคลื่อน ‘ลัทธิแห่งความงาม’ (Cult of beauty) ที่หยิบยกสุนทรียะมาเป็นแก่นสารสำคัญของการดำเนินชีวิต ไวลด์สร้างความอื้อฉาวในสังคมวิคตอเรียนที่เคร่งครัดอย่างมาก ด้วยงานเขียนที่มักจะเกี่ยวกับเพศวิถีสวิงสวาย จิกกัดวัฒนธรรมปากว่าตาขยิบของชนชั้นกลางและสูงอย่างร้ายกาจ อาทิ นิยาย The Picture of Dorian Gray, บทละคร The importance of being earnest เป็นต้น
ในปี 1892 เมื่อไวลด์มีโปรเจกต์โบว์แดงที่จะดัดแปลงบทละครเรื่อง Salomé จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เขาได้เลือกนักวาดภาพหนุ่มดาวรุ่งคนหนึ่ง มาวาดภาพประกอบบทละคร ชื่อของหนุ่มคนนั้นคือ ออเบรย์ เบียร์ดสลีย์ (Audrey Beadleys 1846–1932) เขาคือศิลปินคนแรกในโชว์นี้
เด็กชายเบียร์ดสลีย์เกิดมาพร้อมความอาภัพ เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคโดยพันธุกรรมทั้งแต่ 7 ขวบ ส่งผลให้เป็นคนที่ปวกเปียกกว่าเด็กชายรุ่นเดียวกัน เมื่อโตขึ้นเขาได้รับแรงบันดาลใจจากงานของ วิลเลี่ยม มอร์ริส และ เอ็ดเวิร์ด เบิร์น-โจนส์ อีกทั้งงานภาพพิมพ์อูกิโยะจากมาสเตอร์อย่าง ฮิโรชิเกะ และ โฮคุไซ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุโรปอย่างมาก ทำให้เขาหันมาสเก็ตช์รูปอย่างจริงจัง โดยรูปของเขามักจะจัดวางบนระนาบสองมิติ และให้ความสำคัญกับการตัดเส้นเหมือนงานญี่ปุ่นด้วย งานที่สร้างชื่อให้กับเขามีมากมาย ทั้งการวาดภาพประกอบนิยายเรื่อง Le Morte D’Arthur ที่เขาใช้ดอกไม้ในกรอบภาพช่วยเล่าเรื่องอย่างชาญฉลาด หรือการเป็นผู้กำกับศิลป์ของนิตยสาร Yellow Book
ไฮไลต์สำคัญของงานเบียร์ดสลีย์คือภาพประกอบบทละคร เขาวาดคาแรกเตอร์ผู้หญิงร้าย หรือ ‘Femme fatale’ ได้งดงาม ทั้งนางรำวายร้ายจากพระคัมภีร์อย่าง Salomé หรือตัวละครสตรีหัวขบถจากบทประพันธ์กรีก Lysistrata เบียร์ดสลีย์สามารถออกแบบพวกเธอให้ดูทั้งสวยและอันตราย เขาใช้สีเพียงขาวดำอย่างเรียบง่ายและทรงพลัง ชุดของพวกเธอเป็นแฟชั่นที่ล้ำสมัย ในขณะเดียวกันก็ผสมรายละเอียดยั่วยวนและทะลึ่งชวนหัว น่าเสียดายที่เหล่านี้เป็นงานชิ้นท้ายๆ ของเขา ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1898 ด้วยโรคประจำตัวตอนอายุเพียง 25 ปี
ดั่งที่ไวลด์กล่าวไว้ว่า เบียร์ดสลีย์เสียชีวิต “ในช่วงผลิบานดั่งดอกไม้”
ศิลปินผู้วาดโรงละครจวบจนสงคราม
ศิลปินคนที่สองในโชว์นี้ก็โด่งดังจากงานที่เขาทำให้โรงละครเช่นกัน เรากำลังพูดถึง อัลโฟนส์ มูคา (Alphonse Mucha 1860-1939) หนึ่งในลูก 6 คนของเสมียนศาลผู้ยากจน เติบโตขึ้นในเมืองไอวานเซส อาณาจักรออสโตร ฮังกาเรียน หรือสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน มูคามีความสนใจศิลปะตั้งแต่เด็ก และถึงแม้เขาจะสอบเข้าโรงเรียนศิลปะของกรุงปรากไม่ได้ เขายังอุตสาหะไปเรียนพิเศษในโรงละครท้องถิ่นหลังเลิกงาน เขาทั้งเรียนร้องเพลง จากนั้นจึงวาดฉากละคร และยาวมาถึงการทำโปสเตอร์โฆษณาและบัตรเชิญ
ในปี 1881 มูคาไปรับจ๊อบตกแต่งพระราชวังอิมมาคอฟของท่านเคาท์ คาร์ลคุน-บีลาสซี (Karl Kuen-Belassi) เขาประสบความสำเร็จจนได้รับการอุปถัมภ์ ถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนชื่อดังของกรุงปารีส แต่ยังไม่ทันไร ท่านเคาท์ก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งให้ศิลปินของเราต้องทำงานเชิงพาณิชย์ทุกอย่างเพื่อหาเลี้ยงชีพ ทั้งวาดโปสเตอร์โฆษณาสินค้า, งานสิ่งพิมพ์, ปฏิทิน, เมนูอาหาร, นามบัตร, ฯลฯ (งานทุกชิ้นของเขาจะมีภาพของ ‘the new woman’ หรือผู้หญิงที่ดูอิสระเป็นตัวเอกเสมอ พวกเธอตัวแทนของวิถีชีวิตในโลกใหม่ที่รุ่มรวย และชวนฝัน)
กระทั่งช่วงคริสมาสต์ ปี 1894 โชคชะตาปราณีเขาอีกครั้ง เมื่อนักแสดงหญิงดีวาชื่อ ซารา แบร์นาร์ต (Sarah Bernhardt) ปฏิเสธภาพสเก็ตช์สำหรับโปสเตอร์ของเธอที่โรงละครเรอเนสซองซ์นาทีสุดท้าย ทำให้ทีมงานต้องพัลวันวิ่งหานักออกแบบคนใหม่โดยด่วน แน่นอนว่าผู้ที่รับงานนี้ไปคือมูคา ภาพโปสเตอร์ของมูคามีลักษณะพิเศษคือความยาวที่ต้องใช้หินพิมพ์มากกว่าหนึ่งแท่นต่อชิ้น ทำให้ภาพเป็นทรงยาวอลังการ เขาใช้สีพาสเทลอย่างหรูหรา และใส่ใจรายละเอียดยิบย่อยที่บ่งบอกถึงเรื่องราวในละครนั้นๆ ตั้งแต่เครื่องแต่งกายยันออกแบบตัวอักษร และที่สำคัญ เขาวาดซาราออกมาสวยงามวิจิตรจนเธอระบุว่าต่อไปนี้ ผู้ออกแบบโปสเตอร์โชว์ทุกโชว์ของเธอจะต้องเป็นเขาผู้นี้เท่านั้น! ทำให้สไตล์อาร์ต นูโวของเขาได้ไปออนทัวร์กับละครของเธอในหลายประเทศ ข้ามไปถึงฝั่งอเมริกาด้วย
อีกหมุดหมายสำคัญคืองานมหกรรม World Exhibition ที่จัดขึ้นในปารีสปี 1900 มูคามีส่วนร่วมในการตกแต่งพาวิลเลียนของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา เป็นงานที่จุดประกายให้เขาสนใจรากเหง้าของตนในประวัติศาสตร์ของชาวสลาฟ และสร้างสรรค์งานเพนท์ติ้งชิ้นเอกในชีวิต The Slav Epic ในเวลาต่อมา ภาพนี้ใช้เวลากว่า 20 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ทำให้การต่อสู้ในภาพของเขาสะท้อนสังคมที่เข้าสู่สงครามโลกโดยปริยาย
ในปี 1939 การบุกรุกของกองทัพนาซีในเช็กโกสโลวาเกีย ทำให้มูคาสิ้นหวัง หมดเรี่ยวแรงในชีวิตและการงาน อีกทั้งเกสตาโป หรือตำรวจลับของรัฐยังเพ่งเล็งว่าเขาเป็นผู้ต่อต้าน และเรียกเขาไปสอบสวนหลายครั้ง เหตุการณ์รุนแรงต่างๆและการติดเชื้อในปอดทำให้เขาเสียชีวิตในปีแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง
มาสเตอร์ผู้ฉีกขนบเพื่อแสดงจิตใต้สำนึก
ศิลปินคนสุดท้ายเรียกได้ว่าสร้างงานที่ลึกซึ้งที่สุดในบรรดาทั้งสามคน เราเชื่อว่าผู้ชมหลายๆ คนคงคุ้นตาภาพผลงานของ กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt 1862-1918) กับมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่อาจจะไม่ทราบความหมายที่อยู่เบื้องหลังงานของเขา เริ่มจากสีทองนั้นมีความหมายสำคัญสำหรับคลิมท์ เนื่องจากคุณพ่อของเขาเป็นช่างทอง พื้นเพเดิมมาจากเมืองโบฮีเมีย เขาเป็นบุตรคนที่สองในจำนวนลูก 7 คน
วัยเด็กของคลิมท์มีแต่ความยากจนแต่เขายังสามารถแสดงออกถึงพรสวรรค์ด้านศิลปะอย่างชัดเจน ในปี 1876 คลิมท์เข้าโรงเรียนศิลปะชื่อดังของประเทศ โดยเรียนเอกจิตรกรรมสำหรับการตกแต่งสถาปัตยกรรม ไม่นานนัก เขาก็ได้รับเกียรติในการออกแบบและเพนต์สถานที่สำคัญอย่าง ผนังโรงละครบูร์กเธียเตอร์ และ เพดานเหนือบันไดของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ จนปี 1888 เขาได้รับรางวัล Golden Order of Merit จากจักรพรรดิ ฟรายซ์ โจเซฟที่ 1 เลยทีเดียว
จุดเปลี่ยนของคลิมท์คือความตายของทั้งบิดาและพี่ชายคนสนิทในปี 1892 ที่ผลักให้เขาละทิ้งนิยามความสวยแบบดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ คลิมท์หันมาสนใจการวาดภาพที่อ้างอิงถึงปรัชญาและสัญลักษณ์ที่มีความหมายเชิงจิตวิเคราะห์ อาจจะด้วยสภาวะสังคมออสเตรียขณะนั้น และการตีพิมพ์ Intepretation of Dreams ว่าด้วยการถอดรหัสในความฝันโดย ซิกมันด์ ฟรอยด์ ด้วย ภาพของคลิมท์เริ่มพูดถึงแรงขับทางเพศอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งการวาด Femme fatale ในรูปทรงของงู สื่อถึงการเลื่อนไหลของจิตใต้สำนึกและแรงขับเคลื่อน นำไปสู่ ความลุ่มหลงต่อสตรีเพศที่เป็นทั้งบ่อกำเนิดแห่งชีวิตและความตาย
หลังจากที่งานขนาดใหญ่ของเขาถูกปฏิเสธโดยมหาวิทยาลัยเวียนนาด้วยข้อหา ‘อนาจาร’ ทำให้เขายิ่งถอยตัวออกห่างจากสถาบันศิลปะ แล้วก่อตั้งกลุ่มของศิลปินอิสระขึ้นมาในนาม ‘เวียนนา ซีเซสชั่น’ มีสัญลักษณ์ของเทพพี พัลลัสอธีนา ใส่หน้ากากพร้อมรบสีทองคำ เป็นนัยยะแห่งความปราดเปรื่องและยุติธรรม ถือเป็นครั้งแรกที่เขาใช้เทคนิคสีทอง (gold leaf) ในภาพอย่างโจ่งแจ้ง สิ่งนี้นำไปสู่ ‘ยุคทอง’ (Golden phase) ของคลิมท์ มีงานโดดเด่นอย่าง Lady in Gold (Portrait of Adele Bloch-Bauer I) และ The Kiss ที่ถือเป็นมาสเตอร์พีชของเขา เป็นยุคที่เขาใช้แพทเทิร์นในการประดับประดาทุกตารางนิ้วของภาพ ประหนึ่งการหล่อหลอมสัญลักษณ์จากโลกแห่งความฝันสู่องคาพยพของความจริง
อาร์ต นูโว ในเมืองไทย
นอกจากในยุโรปแล้ว อิทธิพลของ อาร์ต นูโว ยังต่อยอดมาถึงเมืองไทยด้วยเช่นกัน โดยช่วงเวลานั้นเป็นรัชสมัยของ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งพระองค์เองได้เสด็จประพาสยุโรป ผ่านทั้งสามประเทศของทั้งสามศิลปิน และทรงพอพระทัยสไตล์ศิลปะและการตกแต่งของฝรั่งอยู่มาก เห็นได้จากสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยของพระองค์ อาทิ พระที่นั่งวิมานเมฆ, พระราชวังบ้านปืน, พระราชวังพญาไท ฯลฯ ล้วนมีการใช้เส้นโค้งสไตล์อาร์ต นูโวในการออกแบบทั้งสิ้น แม้หลายพระที่นั่งจะไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม แต่สไตล์ของอาร์ต นูโว ก็ถูกยึดถือในสังคมไทยว่าเป็นมาตรฐานรสนิยมความรุ่มรวยสวยงามตามแบบสากล จวบจนทุกวันนี้
อ่านมาถึงตรงนี้ถ้าใครอยากจะเข้าชมนิทรรศการ Something Nouveau ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 16 เมษายน ส่วนใครอยากจะลงมือลองทำงานศิลปะด้วยตัวเอง ที่นิทรรศการนี้เขาก็ยังมีการจัดเวิร์กชอปที่มี ชื่อว่า The X Project River City Bangkok x Oat Montien Immerse Yourself with Something Nouveau เป็นการนำชม พร้อมด้วยเวิร์กชอปวาดภาพ 2 ชม.เต็ม อีกด้วย
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/RiverCityBangkok/