วันนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์หนึ่งที่เปลี่ยนการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้งระดับโลกไปอย่างไม่มีวันหวนคืน

ย้อนกลับไปเมื่อ 11 กันยายน 2001 เกิดเหตุผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสารของสหรัฐอเมริกา 4 ลำ และบังคับให้เครื่องบินพุ่งชนอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ตึกแฝดระฟ้าในมหานครนิวยอร์ก จนทำให้อาคารทั้งสองถล่มหลังจากนั้นไม่นาน (รวมถึงบินชนอาคารเพนตากอนในอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย และกำลังจะบินไปพุ่งชนอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวอชิงตัน ดี.ซี. แต่ถูกผู้โดยสารพยายามยึดเครื่องกลับคืนมาจนทำให้เครื่องบินตกในทุ่งใกล้กับเมืองแชงค์วิลล์ รัฐเพนซิลเวเนียเสียก่อน) เหตุการณ์นี้ถูกเรียกขานว่า ‘วินาศกรรม 11 กันยายน’ หรือ 9/11 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน และผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก สร้างความบอบช้ำอย่างแสนสาหัสแก่ชาวอเมริกัน รวมถึงคนทั้งโลก 

นอกจากการสูญเสียชีวิตของผู้คนหลากหลายเพศ วัย และสัญชาติ รวมทั้งสูญเสียทรัพย์สินอย่างไม่อาจประเมินค่าได้แล้ว เหตุการณ์นี้ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดระดับสูงสุดในการเดินทางด้วยเครื่องบิน หรือความรู้สึกหวาดกลัวของผู้คนต่อการก่อการร้าย อันเป็นผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ อันเนื่องมาจากความหวาดระแวงและความโกรธแค้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเหล่านี้ถูกสะท้อนผ่านสื่อต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร สารคดี วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี แม้แต่งานศิลปะ ในบทความนี้นี้เราจะขอบอกเล่าถึงผลงานศิลปะที่นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นในยุคหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 มาให้อ่านกันพอสังเขป

ฮานส์-เพียเทอร์ เฟลด์มันน์ Age of Terror: Art Since 9/11 (2017), ภาพจาก https://www.simonleegallery.com/artists/51-hans-peter-feldmann/installation_shots/image1683/

นิทรรศการ Age of Terror: Art since 9/11 ที่จัดขึ้นในปี 2018 ณ พิพิธภัณฑ์ Imperial War (IWM) กรุงลอนดอน นำเสนอผลงานที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์และความขัดแย้งของเหตุวินาศกรรม 9/11 จากศิลปินร่วมสมัยนานาชาติกว่า 40 คน ผ่านผลงานศิลปะหลากสื่อหลายแขนง ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และสิ่งพิมพ์กว่า 50 ชิ้น

ศิลปินถ่ายทอดประสบการณ์อันเป็นผลกระทบจากเหตุวินาศกรรม 9/11 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นผลงานของศิลปินเยอรมัน ฮานส์-เพียเทอร์ เฟลด์มันน์ (Hans-Peter Feldmann) ที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างฉับพลันทันที ด้วยการขอให้เพื่อนๆ ซื้อหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวในวันที่เกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ส่งมาให้เขา หน้าปกของหนังสือพิมพ์หลากหัวจากหลายประเทศในวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่งเฟลด์มันน์นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึงความตื่นตระหนกของคนทั่วโลก และอิทธิพลของสื่อมวลชนที่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้คนต่อโศกนาฏกรรมในนิวยอร์กครั้งนั้น 

ผลงานของศิลปินอเมริกัน โทนี อาวร์สเลอร์ (Tony Oursler) ในรูปของภาพยนตร์สารคดีที่เขาถ่ายทำบรรยากาศหลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงที่เกิดเหตุการณ์เขาอาศัยอยู่ใกล้กับตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์พอดี อาวร์สเลอร์จึงเริ่มต้นถ่ายสารคดีจากอพาร์ตเมนต์ของเขาออกไปยังท้องถนน ท่ามกลางความโกลาหลหลังจากที่เครื่องบินพุ่งชนตึกไม่นาน

อีวาน นาวาร์โร The Twin Towers (2011), ภาพจาก https://www.aljazeera.com/features/2018/5/1/age-of-terror-art-since-9-11-explores-complexities-of

ผลงานของศิลปินชาวชิลี อีวาน นาวาร์โร (Iván Navarro) ประติมากรรมจัดวางเรืองแสงรูปทรงสี่เหลี่ยมสองชิ้น ภายในบุกระจกสะท้อนแสงไฟระยิบระยับ สร้างภาพลวงตาคล้ายตึกคู่ที่ดิ่งลึกลงพื้นดินในแนวตั้ง ราวกับเป็นการไว้อาลัยให้กับตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่ถูกพังถล่มลงมาจนกลายเป็นพื้นที่กราวด์ ซีโร (Ground Zero) ก็ไม่ปาน

เจค และ ไดโนส์ แชปแมน Nein! Eleven? (2012–13), ภาพจาก http://artasiapacific.com/Magazine/WebExclusives/AgeOfTerrorArtSince911

ขณะที่ เจค และ ไดโนส์ แชปแมน (Jake & Dinos Chapman) ศิลปินคู่หูจอมฉาวชาวอังกฤษ ก็จำลองตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ขึ้นมาใหม่ในเชิงเสียดสีอย่างน่าสยดสยองพองขน ด้วยการก่อกองตุ๊กตุ่นพลาสติกรูปซากศพทหารนาซีขึ้นเป็นภูเขาแฝดขนาดย่อมสองลูก

อ้าย เว่ยเว่ย Surveillance Camera with Plinth 2015) ภาพจาก https://londonist.com/london/art-and-photography/how-has-9-11-changed-the-art-world-find-out-in-this-stirring-exhibition

หรือศิลปะที่สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับการสอดส่องของรัฐอันเป็นผลกระทบจากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on terror) อันเป็นผลพวงจากวินาศกรรม 9/11 ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ผลงานของศิลปินจีนหัวขบถ อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ในรูปของประติมากรรมหินอ่อนแกะสลักเป็นกล้องวงจรปิด นอกจากจะสะท้อนประสบการณ์ของตัวเขาเอง (รวมถึงประชาชนจีน) ที่ถูกสอดส่องโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดมากกว่า 20 ล้านตัวตามท้องถนนของจีนแล้ว ยังสะท้อนสภาวะของประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกที่ถูกจับตาโดยกล้องวงจรปิดของรัฐบาลในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายอีกด้วย

จิตติศ กัลลัต Circadian Rhyme 1 (2012-2013), ภาพจาก https://londonist.com/london/art-and-photography/how-has-9-11-changed-the-art-world-find-out-in-this-stirring-exhibition

ผลงานของศิลปินชาวอินเดีย จิตติศ กัลลัต (Jitish Kallat) ผ่านประติมากรรมรูปคนขนาดย่อส่วน แสดงตัวอย่างกิจกรรมการรักษาความปลอดภัยในสนามบินอันเข้มงวด จนแทบจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคหลังวินาศกรรม 9/11 ได้อย่างน่าขันขื่น

โคโค ฟัสโก Operation Atropos (2006), ภาพจาก http://designer.org.tw/polysh/test/blog/en_us/2018/02/08/age-of-terror-art-since-911-exhibition/

ผลงานภาพยนตร์สั้นของศิลปินคิวบา-อเมริกัน โคโค ฟัสโก (Coco Fusco) ที่ตีแผ่เทคนิคทางจิตวิทยาที่กองทัพอเมริกันใช้ในการสอบปากผู้ต้องขังในค่ายกักกันอ่าวกวนตานาโม 

เรเชล ฮาวเวิร์ด DHC 6765, Study (2005), ภาพจาก https://londonist.com/london/art-and-photography/how-has-9-11-changed-the-art-world-find-out-in-this-stirring-exhibition

ในขณะที่ศิลปินอังกฤษอย่าง รเชล ฮาวเวิร์ด (Rachel Howard) ก็ถ่ายทอดประสบการณ์ของนักโทษที่ถูกทรมานในเรือนจำอาบู กราอิบ ผ่านภาพวาดบนกระจกของเธอ

ผลงานของศิลปินเหล่านี้ (และอีกหลายคนที่ไม่ได้กล่าวถึง) ในนิทรรศการ Age of Terror: Art since 9/11 ส่งสารกระตุ้นเตือนผู้ชมถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลกระทบถึงผู้คนทั่วโลก ถึงแม้เวลาจะผ่านไปกว่าทศวรรษแล้วก็ตาม

ในขณะที่ปัจจุบัน เวลาล่วงผ่านไปจนสองทศวรรษ ก็มีศิลปินอีกคนหนึ่งที่หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 มาพูดถึงอีกครั้ง 

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เมาริซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan) ศิลปินชาวอิตาเลียนเจ้าของฉายา ‘จอมป่วนแห่งโลกศิลปะ’ ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะนักเสียดสีกระตุ้นเร้าผู้ชมด้วยความขี้เล่น เปี่ยมอารมณ์ขัน ตลกร้าย ยียวนกวนอารมณ์ ปั่นป่วน ท้าทายสังคมจนอื้อฉาว ไม่ว่าจะเป็นผลงานกล้วยติดเทปกาวบนผนัง Comedian (2019) หรือผลงานส้วมทองคำ America (2016) ที่ปั่นป่วนยียวนกวนอารมณ์ผู้ชมอย่างสนุกมือ 

คราวนี้คัตเตลานหันมาสร้างผลงานที่เคร่งขรึมจริงจัง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุวินาศกรรม 9/11 ที่เขาเป็นประจักษ์พยานด้วยตัวเอง ผลงานนี้เป็นไฮไลต์ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาชื่อว่า ‘Breath Ghosts Blind’ จัดแสดงที่สถาบันศิลปะร่วมสมัย Pirelli HangarBicocca เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี

Breath Ghosts Blind เป็นนิทรรศการแรกในประเทศบ้านเกิดของคัตเตลาน นับตั้งแต่ครั้งที่เขาประกาศเกษียณตัวเองจากการเป็นศิลปินในปี 2011 (แต่ก็หวนคืนวงการในอีกห้าปีให้หลัง) เป็นนิทรรศการที่สำรวจความหมกมุ่นของคัตเตลานถึงคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้งวัฏจักรของการเกิดและการตาย รวมถึงผลงานที่รำลึกถึงความทรงจำของเขาเกี่ยวกับเหตุวินาศกรรม 9/11

ดังเช่นผลงาน Ghosts (2021) ประติมากรรมจัดวางที่ทำจากนกพิราบสตัฟฟ์จำนวนหลายร้อยตัวเกาะอยู่บนโครงสร้างเสาและคานเหล็กสีดำทะมึน คัตเตลานดัดแปลงผลงานชิ้นนี้จากผลงานเก่าของเขาที่เคยแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยเวนิสเบียนนาเลในปี 1997 และ 2011 เปลี่ยนบรรยากาศของงานเดิมที่สว่างสดใสให้กลายเป็นมืดครึ้ม เพื่อนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสอดแนมมวลชน (Social surveillance) ของรัฐ ด้วยความหวาดผวาการก่อการร้ายอันเป็นผลกระทบจากเหตุวินาศกรรม 9/11

เมาริซิโอ คัตเตลาน Ghosts (2021), ภาพจาก https://www.theartnewspaper.com/news/maurizio-cattelan-milan-exhibition

ผลงาน Blind (2021) ประติมากรรมจัดวางรูปแท่งเสาสีดำสนิทรูปร่างคล้ายตึกระฟ้าที่มีรูปทรงของเครื่องบินตัดขวางเข้าไปอยู่กึ่งกลางเสา อันเป็นการจำลองภาพเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คัตเตลานได้เป็นประจักษ์พยานด้วยตัวเอง

“มันเป็นอะไรที่อยู่ในใจผมมาหลายปีแล้ว ผมอาศัยอยู่ในนิวยอร์กในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ตอนนั้นกำลังจะเดินทางไปขึ้นเครื่องบินพอดี ผมต้องเดินกลับบ้านจากสนามบินลากวาเดียนานหลายชั่วโมง สิ่งที่ได้พบเห็นติดตรึงอยู่ในใจมาจนถึงทุกวันนี้ มันเป็นอะไรที่เลวร้ายราวกับวันสิ้นโลก ผมยังคงจำโศกนาฏกรรมที่ทำให้ผมรู้ซึ้งถึงความเปราะบางของชีวิตมนุษย์ได้อย่างไม่รู้ลืม”

อันที่จริงคัตเตลานวางแผนที่จะทำงานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 9/11 มานานแล้ว โดยในปี 2017 เขาปรึกษากับ แนนซี สเป็คเตอร์ (Nancy Spector) หัวหน้าภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์ กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก เพื่อทำผลงานชุดนี้ (ซึ่งเธอได้เขียนบทความประกอบนิทรรศการครั้งนี้ของคัตเตลานด้วย) แต่เธอยังคงรู้สึกลังเล เพราะบาดแผลจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนั้นยังไม่จางหายไปจากใจชาวนิวยอร์ก แม้เวลาจะผ่านไป 16 ปีแล้วก็ตาม คัตเตลานเองก็รู้ดีถึงความเสี่ยงในการทำงานชุดนี้ขึ้นมา แต่เขารู้สึกอยู่ในใจเสมอว่าต้องทำงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 ให้ได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

เมาริซิโอ คัตเตลาน Blind (2021) ภาพจาก https://www.theartnewspaper.com/news/maurizio-cattelan-milan-exhibition 

คัตเตลานกล่าวถึง Blind ผลงานชิ้นเด่นสุดล่อแหลมของเขาในนิทรรศการครั้งนี้ว่า 

“ผลงานชิ้นนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเจ็บปวดและมิติทางสังคมของมัน มันแสดงถึงความเปราะบางของสังคมที่ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ความเห็นแก่ตัวและหลงตัวเองที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของผู้คนในยุคปัจจุบัน ผลงานชิ้นนี้ยังเชื่อมโยงความหมายไปถึงการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้เรามองเห็นความตายอย่างใกล้ชิดอีกครั้งในช่วงชีวิตของเรา

“ภาพและวัตถุบางอย่างมีพลังในเชิงสัญลักษณ์อย่างเหลือเชื่อ ภาพเหล่านี้สามารถเปลี่ยนความหมายของบางสิ่งบางอย่างให้กว้างขึ้น และกระตุ้นเตือนให้เรานึกถึงหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ใช่แค่สำหรับเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไหนหรือเมื่อไหร่โดยเฉพาะเจาะจงอย่างเหตุการณ์ 9/11 แต่เป็นการย้ำเตือนให้เราจดจำสิ่งต่างๆ ที่เกิดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาด้วย”

ปัจจุบัน นิทรรศการ Breath Ghosts Blind โดย เมาริซิโอ คัตเตลาน จัดแสดงที่ สถาบันศิลปะร่วมสมัย Pirelli HangarBicocca มิลาน ประเทศอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2021 ไปจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2022 ใครมีโอกาสแวะเวียนไปแถวนั้นก็ไปเยี่ยมชมกันได้ตามสะดวก

ท้ายที่สุด ถึงแม้ผลงานศิลปะเหล่านี้จะเป็นแค่การบันทึกเหตุการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ และไม่อาจเรียกคืนในสิ่งที่สูญเสียไป หรือยุติความขัดแย้ง ยุติความรุนแรง ยุติสงครามได้อย่างเป็นรูปธรรม 

แต่ในทางกลับกัน ผลงานศิลปะเหล่านี้ก็ทำหน้าที่กระตุ้นเตือนและตอกย้ำให้เราไม่หลงลืมบทเรียนจากความผิดพลาดและความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกันเพียงเพราะความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรม 

ดังคำกล่าวของ รัชดี อันวาร์ ศิลปินที่เรากล่าวถึงไปในบทความที่แล้วว่า “ศิลปะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการสร้างพื้นที่แห่งความตระหนักรู้” แต่เราจะจำจดบทเรียนเหล่านี้และไม่หวนกลับไปทำซ้ำได้หรือไม่ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

อ้างอิง

หนังสือ Art & Agenda: Political Art and Activism โดย Silke Krohn

https://www.bbc.com/thai/international-58092615 

https://londonist.com/london/art-and-photography/how-has-9-11-changed-the-art-world-find-out-in-this-stirring-exhibition

https://www.aljazeera.com/features/2018/5/1/age-of-terror-art-since-9-11-explores-complexities-of

https://www.mariangoodman.com/news/287-age-of-terror-art-since-9-11/

https://www.contemporaryartsociety.org/news/friday-dispatch-news/age-terror-art-since-911-imperial-war-museum-london/ 

https://www.theartnewspaper.com/news/maurizio-cattelan-milan-exhibition 

Tags: , , , , , ,